THE GURU • FUND FOCUS

แนะ 4 กองทุน SSF & RMF ลดหย่อนภาษีปลายปี

บทความโดย: ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์

SSF และ RMF มีความเหมือนกันในด้านตัวเลือกประเภทกองทุนที่มีหลายหลายระดับความเสี่ยงและโอกาสได้รับผลตอบแทน ส่วนความต่างที่ชัดเจนคือ วงเงินสูงสุดที่ซื้อได้ในแต่ละปี และระยะเวลาการถือครองขั้นต่ำ การตัดสินใจเลือกจึงขึ้นอยู่กับอัตลักษณ์ของผู้ลงทุนแต่ละราย โดยอาจเน้นที่การมีสิทธิขายคืนได้เร็วที่สุดเป็นปัจจัยสำคัญ 

            หากแบ่งเวลาในรอบปีเป็นช่วงต้น กลาง และปลาย ช่วงละ 4 เดือน ก็ถือว่าปัจจุบันเราได้ก้าวเข้าสู่ช่วงปลายปีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นประจำในช่วงปลายปี ที่ผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะให้ความสนใจมากขึ้นกับการเลือกซื้อกองทุนรวมที่ได้สิทธิลดหย่อยภาษี บทความฉบับนี้ จึงจะสรุปหลักเกณฑ์ ตลอดจนแนวทางตัดสินใจเลือกซื้อ และจบท้ายด้วยการแนะนำกองทุนในกลุ่มนี้ที่น่าสนใจ

ประเภทกองทุนที่ได้สิทธิลดหย่อนภาษี

            1.SSF (Super Saving Fund กองทุนรวมเพื่อการออม) มีให้เลือกหลายประเภทตามระดับความเสี่ยงและโอกาสได้ผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการ เป็นประเภทกองทุนที่ออกมาในยุคที่ LTF (กองทุนรวมหุ้นระยะยาว) ยกเลิกไป โดย SSF ลงทุนได้สูงสุด 200,000 บาท แต่ต้องไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมิน ไม่กำหนดยอดซื้อขั้นต่ำ และไม่บังคับซื้อต่อเนื่อง จะซื้อหรือไม่ซื้อปีไหนก็ทำได้อย่างอิสระ โดยต้องถือลงทุนอย่างน้อย 10 ปี

            2.RMF (Retirement Mutual Fund กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ) มีให้เลือกหลายประเภทตามระดับความเสี่ยง และโอกาสได้ผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการ เช่นเดียวกับ SSF ลงทุนได้สูงสุด 500,000 บาท โดยต้องไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมิน ไม่กำหนดยอดซื้อขั้นต่ำ แต่ถ้าเริ่มซื้อแล้วต้องซื้อต่อเนื่องอย่างน้อยปีเว้นปี จะขายได้เมื่อถือหน่วยลงทุนมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี และผู้ลงทุนต้องมีอายุครบ 55 ปีด้วย

            โดยยอดลงทุนของทั้ง SSF และ RMF จะต้องนับรวมกับยอดซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญ กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน ซึ่งในแต่ละปีภาษีจะซื้อรวมกันได้ไม่เกิน 500,000 บาท ดังนั้น การวางแผนซื้อ SSF และ RMF ในแต่ละปีจะต้องพิจารณาร่วมกับยอดซื้อผลิตภัณฑ์กลุ่มเพื่อการเกษียณให้ครบถ้วนด้วย เพื่อไม่ให้ซื้อเกินสิทธิ

แนวทางตัดสินใจเลือกประเภท

            SSF และ RMF มีความเหมือนกันในด้านตัวเลือกประเภทกองทุนที่มีหลายหลายระดับความเสี่ยง และโอกาสได้รับผลตอบแทน ส่วนความต่างที่ชัดเจนคือ วงเงินสูงสุดที่ซื้อได้ในแต่ละปี และระยะเวลาการถือครองขั้นต่ำ การตัดสินใจเลือกจึงขึ้นอยู่กับอัตลักษณ์ของผู้ลงทุนแต่ละราย โดยอาจเน้นที่การมีสิทธิขายคืนได้เร็วที่สุดเป็นปัจจัยสำคัญ 

            กรณีอายุน้อยกว่า 45 ปี หากสามารถซื้อได้มากกว่า 200,000 บาท จะสามารถซื้อได้ทั้ง SSF และ RMF โดยซื้อ SSF ให้เต็มสิทธิก่อน แล้วจึงตามด้วย RMF แต่หากซื้อไม่เกิน 200,000 บาท ก็ควรซื้อ SSF เพียงอย่างเดียว 

            กรณีอายุ 45 ปีขึ้นไป ควรซื้อเฉพาะ RMF เพราะได้วงเงินสูงสุดถึง 500,000 บาท และเป็นช่วงอายุที่ได้รับสิทธิขายคืนเร็วกว่า SSF

คำถามน่าสนใจที่พบบ่อยเกี่ยวกับการลงทุนใน SSF และ RMF

            1.หากถือลงทุนยังไม่ครบระยะเวลา แต่จำเป็นต้องใช้เงิน สามารถขายได้หรือไม่? ขายได้ หากจำเป็นจริงๆ และไม่มีแหล่งสภาพคล่องอื่นเป็นทางเลือกอีกแล้ว แต่ต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้รับและต้องเสียค่าปรับให้กับกรมสรรพากรด้วย การขายกองทุนกลุ่มนี้ก่อนกำหนดจึงต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน และก่อนเริ่มซื้อในแต่ละปี ควรชั่งน้ำหนักระหว่างการได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี แต่ต้องถือลงทุนเป็นระยะเวลานานพอสมควร กับการมีสภาพคล่องติดตัวไว้ยามจำเป็นอย่างเพียงพอ เพื่อลดความเสี่ยงในการต้องขายคืนก่อนกำหนด

            2.สามารถสับเปลี่ยนกองทุนได้หรือไม่? สับเปลี่ยนได้อย่างอิสระ ภายในกองทุนประเภทเดียวกัน เช่น SSF ก็สามารถสับเปลี่ยนไปยัง SSF อีกกองทุนหนึ่งได้ แต่ไม่สามารถสับเปลี่ยนเป็น RMF และหากเป็นกองทุน RMF ก็อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกัน คือสามารถไปเป็น RMF กองอื่นได้ แต่ไม่สามารถสับเปลี่ยนเป็น SSF ได้ นอกจากนั้น การสับเปลี่ยนกองทุนตามแนวทางข้างต้น สามารถทำได้ทั้งในกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เดียวกัน หรือจะข้าม บลจ. ก็ได้ แต่การสับเปลี่ยนในหมู่กองทุนของ บลจ.เดียวกันจะทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่ามาก เมื่อเทียบกับการสับเปลี่ยนข้าม บลจ. ทั้งนี้ จะหมายถึงกรณีที่สับเปลี่ยนอยู่ในบัญชีกองทุนเดียวกัน

            ส่วนการสับเปลี่ยนหรือโอนย้ายกองทุนข้ามบัญชีกองทุน ไม่ว่าจะเป็นบัญชีที่เปิดโดยตรงกับ บลจ. หรือที่เปิดผ่านตัวแทนขาย ทั้งที่เป็นธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) ในบางกรณี บางกองทุน บาง บลจ. ก็สามารถทำได้ โดยแนะนำให้สอบถามยืนยันเป็นรายกรณีกับผู้ให้บริการทั้งต้นทางและปลายทาง 

            3.หากซื้อเกินสิทธิจะมีผลอย่างไร? จะนำยอดซื้อไปใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดเพียงเกณฑ์ที่ราชการกำหนดไว้เท่านั้น และส่วนที่ซื้อเกินก็ยังคงอยู่ภายใต้เกณฑ์ระยะเวลาถือครองไม่ต่างกับส่วนที่ซื้อไม่เกินเกณฑ์ จึงควรคำนวณจำนวนเงินที่ซื้อได้สูงสุดอย่างรอบคอบก่อนทำรายการ

            4.ควรวางแผนอย่างไรจึงจะมั่นใจว่าจะมีเงินสดเพียงพอในการซื้อได้ครบในแต่ละปี? ควรทยอยซื้อต่อเนื่องตลอดปี โดยอาจแบ่งซื้อรายเดือนทันทีเมื่อได้รับเงินเดือน หรืออย่างน้อยควรแบ่งซื้อ 4 ก้อนในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 

            5.ควรซื้อในจังหวะตลาดใดหรือในช่วงเดือนใดเป็นพิเศษหรือไม่? เนื่องจากเป็นการถือลงทุนยาวหลายปี พลังจากการถือครองระยะยาวควรส่งผลแรงกว่าความพยายามจับจังหวะย่อยในรอบปี และการจับจังหวะได้แม่นยำอยู่เสมอนั้นทำได้ยาก แม้จะเป็นนักลงทุนมืออาชีพก็ตาม จึงแนะนำให้ใช้แนวทางตามข้อ 4 จะสะดวกกว่ามาก เว้นแต่ว่าในช่วงปีจะเกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่งยวดซึ่งเชื่อได้อย่างมีเหตุผลว่าควรเร่งซื้อในจังหวะนั้นมากเป็นพิเศษ แต่กระนั้น หากมองย้อนหลังกลับมาเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว หลายปี ก็อาจพบว่าให้ผลไม่ต่างกันมากนัก

แนะนำกองทุนน่าสนใจ 

            ซึ่งในที่นี้จะแนะนำกองทุนระดับความเสี่ยงปานกลางขึ้นไป เพื่อเปิดโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีขึ้น เนื่องจากอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางภาษีที่ต้องถือลงทุนเป็นเวลานาน และทั้งนี้ SSF เป็นประเภทกองทุนที่จัดตั้งขึ้นไม่นาน จึงมีข้อมูลย้อนหลังไม่มากนัก และการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาอาจให้ผลงานไม่โดดเด่น อย่างไรก็ดี SSF ต้องถือครอง 10 ปีเต็ม และการลงทุนคือการมองไปในอนาคต การแนะนำจึงจะอ้างอิงกับ RMF ที่เป็นกองทุนเดียวกันแต่แยกประเภทย่อยเป็น RMF และ SSF (ถ้ามี) โดยเป็นตัวเลขเท่าที่ปรากฏ ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2565


            กองทุนผสม SSF แนะนำ ONE-TCMSSF-SSFX (กองทุนเปิด วรรณ สนับสนุนตลาดทุนไทย เพื่อการออม หน่วยลงทุนชนิดเพื่อการออม) ของ บลจ.วรรณ เน้นลงทุนในหลักทรัพย์ไทย ทั้งตราสารทุน ตราสารหนี้ และสินทรัพย์ทางเลือก กองทุนนี้ให้ผลตอบแทนหนึ่งปีล่าสุด 1.23% และให้ผลตอบแทน 3 เดือนล่าสุด 0.37%

            กองทุนหุ้น SSF แนะนำ KKP GNP-SSF (กองทุนเปิดเคเคพี โกลบอล นิว เพอร์สเปกทีฟ ชนิดเพื่อการออม) ของ บลจ.เกียรตินาคินภัทร เน้นลงทุนในกองทุนหลักคือ Capital Group New Perspective Fund ที่กระจายลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัททั่วโลก ที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงด้านการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศของโลกในอนาคต กองทุนนี้ให้ผลตอบแทนจากต้นปี -16.42% แต่ให้ผลตอบแทน 3 เดือนล่าสุด 7.97% และสามารถอ้างอิงผลตอบแทนระยะยาวเสมือนในระดับหนึ่งได้จากกองทุน KKP GNP RMF-UH

            กองทุนผสม RMF แนะนำ SCBRMPOP (กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Global Population Trend เพื่อการเลี้ยงชีพ) ของ บลจ.ไทยพาณิชย์ เน้นลงทุนในกองทุนหลักคือ Fidelity Global Demographics Fund ที่กระจายลงทุนในหลักทรัพย์ทั่วโลกที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้งประชากร กองทุนนี้ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 ปีเฉลี่ย 6.97% ต่อปี

            กองทุนหุ้น RMF แนะนำ KKP GNP RMF-UH (กองทุนเปิดเคเคพี โกลบอล นิว เพอร์สเปกทีฟ เพื่อการเลี้ยงชีพ อันเฮดจ์) ของ บลจ.เกียรตินาคินภัทร เน้นลงทุนในกองทุนหลักคือ Capital Group New Perspective Fund ที่กระจายลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัททั่วโลกที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงด้านการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศของโลกในอนาคต กองทุนนี้ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 ปีเฉลี่ย 14.92% ต่อปี


เกี่ยวกับนักเขียน

ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์เทรเชอริสต์ ผู้ให้บริการ Treasurist.com ผู้ก่อตั้ง Thailand Investment Forum นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์และผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1 รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. และ นักแปลอาสาของ TED.com

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน