NEWS UPDATE • SPECIAL ARTICLE

Spotlights ของวิกฤตเริ่มเคลื่อน สู่โลกของเศรษฐกิจจริง

โดย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)  มุมมองผ่าน #ท่องเศรษฐกิจกับดรกอบ  ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา จุดที่ทุกคนจับตามองมีอยู่ 3 เรื่อง คือ เงินเฟ้อ การตัดสินใจของเฟด และธนาคารกลางต่างๆ และ การปรับตัวของตลาดต่างๆ ที่ตกกันอย่างระเนระนาด ทั้งที่เป็นหุ้น พันธบัตร ทอง คริปโต สินค้าโภคภัณฑ์ ค่าเงินสกุลต่างๆ (ยกเว้นดอลลาร์)

แต่มาถึงจุดนี้ เมื่อผ่านไปได้ประมาณ 25% ของวิกฤต จุดที่ทุกคนเริ่มสนใจ เริ่มเคลื่อนออกไปเพิ่มอีก 3 เรื่อง

       - เศรษฐกิจจริง

       - Policy Mistakes

       - IMF


เรื่องที่ 1 : เศรษฐกิจจริง

ตอนนี้ ผลกระทบจากการสู้ศึกกับเงินเฟ้อ ได้เริ่มกระจายออกไป จากวงเล็กๆ ระหว่างเฟดกับนักลงทุนทั่วโลก เริ่มจะส่งผลต่อการทำมาหากินของทุกคน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลิต การบริโภค การส่งออก ผลประกอบการของบริษัทต่างๆ

อย่างที่เขาพูดกัน ออกจาก Wall Street ไปยัง Main Street จากโลกการลงทุน ไปสู่โลกของคนทั่วๆ ไป โดยล่าสุด ตัวเลข PMI ของประเทศต่างๆ สหรัฐ ยุโรป อังกฤษ ญี่ปุ่น จีน ได้ลดลงเมื่อเทียบกับ 1 ปีที่ผ่านมา อย่างเรียกได้ว่า เป็นหนังคนละม้วน ทำให้หลายคน เริ่มตั้งคำถามกับเฟดว่า ความเสียหายกับเศรษฐกิจ จากการสู้ศึกครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจสหรัฐที่คิดว่าจะโต 4% ปีนี้ ซึ่งตอนนี้เหลือ 0.2% อัตราการว่างงานสหรัฐจากเดิมที่ 3.5% ตอนนี้เฟดคาดว่าจะเพิ่มไปที่ 4.4% รวมถึงราคาสินทรัพย์ที่ตกลงอย่างน่าใจหาย นั้น เริ่มจะเสียหายเกินไปแล้วใช่หรือไม่ ? และมันคุ้มไหมกับการที่เฟดทำเช่นนี้ ถ้าทุกอย่างจะเสียหาย เพียงเพราะเฟดจะสยบเงินเฟ้อให้ได้ ?

ซึ่งเฟดก็ได้ตอบแล้วว่า “ยังต้องไปต่อ ยังเลิกไม่ได้ จนกว่างานจะสำเร็จ” !!!!

หากทุกอย่างจะเดินไปเช่นนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้น ก็จะเริ่มกระจายวงกว้าง ไปที่ต่างๆ โดยเฉพาะคนทั่วๆ ไป จะได้รับผลจากสิ่งที่เรียกว่า Global Recessions และผลพวงของ Global Recessions ต่อไป อย่างประเทศไทย เราก็เริ่มได้รับผลแล้ว แม้ค่าเงินบาทจะอ่อนลง จาก 32 บาท/ดอลลาร์ เมื่อต้นปี มาที่ 37-38 บาท/ดอลลาร์ ในปัจจุบัน แต่มูลค่าการส่งออกของเรา (ที่ปรับฤดูกาลแล้ว) ได้ลดลงเป็นเดือนที่ 3 เรียบร้อย ทั้งๆ ที่ ค่าเงินบาทซึ่งอ่อนลง น่าจะช่วยให้ส่งออกดีขึ้นบ้าง !!! 


เรื่องที่ 2 : Policy Mistakes

ต่อไปนี้ คำศัพท์ที่จะได้ยินกันหนาหูมากขึ้น ก็คือคำว่า Policy Mistakes การเลือกนโยบายที่ผิด หรือ การเดินผิดทาง ทำให้ปัญหาลุกลามมากกว่าเดิม จาก 5 กลายเป็น 10 โดยช่วงแรกๆ คนจะใช้คำนี้ กับเฟด ถามว่า เฟดเดินผิดทางหรือไม่ แต่ล่าสุด จากปัญหาที่กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ รัฐบาลจึงไม่สามารถนิ่งเฉย พยายามออกมาตรการต่างๆ มาแก้เกมส์ แต่หลายครั้ง มาตรการที่ออกมานั้น หรือ แค่คิดนั้น กลายเป็นสิ่งที่บั่นทอนความเชื่อมั่น ทำให้เสียหายยิ่งขึ้นไปจากเดิม

       • อังกฤษ เป็นตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้ รัฐบาลใหม่ อดไม่ได้ที่จะต้องเอาใจประชาชน ประกาศลดภาษี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สวนทางการสู้ศึกเงินเฟ้อของแบงก์ชาติอังกฤษ จากนโยบายที่ผิดทาง จึงเกิดวิกฤตย่อมๆ ในตลาดพันธบัตรและค่าเงินของอังกฤษ 

       • ญี่ปุ่น ที่ออกมาดูแลค่าเงิน ใช้เงินไปมาก 7-8 แสนล้านบาท แต่ทุกอย่างก็ละลายหายไปในพริบตา แทบจะไม่ช่วยอะไร ล่าสุดอ่อนลงไปที่ 145.5 เยน/ดอลลาร์อีกครั้ง

        • ตุรกี ที่ท่านประธานาธิบดี Erdogan ออกมาบอกว่า ถ้าเขายังมีอำนาจอยู่ ดอกเบี้ยของตุรกีจะลดลงต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น !!! ล่าสุดค่าเงินตุรกีได้อ่อนค่าลง จากเมื่อปีที่แล้ว 8-9 ไลร่า/ดอลลาร์ ล่าสุดมาอยู่ที่ 18.5 ไลร่า/ดอลลาร์ ส่วนเงินเฟ้อเพิ่มจากประมาณ 17-18% มาเป็น 83.5% !!!

       • โคลัมเบีย ที่ท่านประธานาธิบดี Petro อดไม่ได้ ออกมาพูดว่า กำลังคิดถึงมาตรการภาษีสำหรับเงินไหลออก หรือ Tax on Capital Outflow เพื่อลดการไหลออกของเงิน และเพื่อช่วยพยุงค่าเงินเปโซที่อ่อนลงจาก 3,800 เปโซ/ดอลลาร์ มาที่ 4,500 เปโซ/ดอลลาร์ ในปีนี้

สุดท้าย คำพูดดังกล่าว ได้นำไปสู่การอ่อนลงเพิ่มเติมของค่าเงินเปโซ และการเทขายพันธบัตรสกุลเปโซของโคลัมเบีย !!!

ที่เล่ามาสี่ประเทศนี้ เป็นเพียงหนังตัวอย่างของ Policy Mistakes ที่จะออกมาอย่างต่อเนื่อง และยิ่งสถานการณ์คับขันมากขึ้น ความผิดพลาดก็จะมากยิ่งขึ้น ทำให้วิกฤตที่แย่อยู่แล้ว บานปลายไปอีกระดับ


เรื่องที่ 3 : IMF

จากแต่เดิม ทุกคนจะพูดถึงเฟด พูดถึงการขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติต่างๆ แต่ตอนนี้ คนจะเริ่มมาติดตาม IMF มากขึ้นเรื่อยๆ ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะเวลาเกิดวิกฤต IMF คือ ห้องฉุกเฉิน หรือ Emergency Room ที่เป็นด่านแรกในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งล่าสุด ข้อมูลชี้ว่าเงินช่วยเหลือของ IMF กับสมาชิก ได้ไต่ขึ้นไประดับสูงสุด “Record High” เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ  เพราะจากดอลลาร์แข็ง ดอกเบี้ยเพิ่ม และเงินไหลออก ประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง เริ่มไม่สามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้ จากตลาดพันธบัตรโลกที่เริ่มปิด จากการขาดสภาพคล่อง

จึงต้องหันมาหา IMF แทน ศรีลังกา ปากีสถาน กาน่า แซมเบีย บังคลาเทศ อาร์เจนติน่า และยังมีประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหาอีก เช่น สปป ลาว เมียนมาร์ อียิปต์ ชิลี เป็นต้น ยิ่งต่อไป ส่งออกเริ่มลดลง แต่ราคาพลังงาน ราคาอาหารยังแพง นำไปสู่การขาดดุลการค้ามากขึ้น

และสุดท้าย นำไปสู่การลดลงของเงินสำรองของประเทศต่างๆ จากการเข้าไปสู้เรื่องค่าเงิน และจากการต้องใช้เงินซื้อสินค้าต่างๆ เพิ่มเติมจากการตีราคา ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดพบว่า เงินสำรองของแบงก์ชาติต่างๆ รวมกันทั้งโลก ได้ลดวูบลง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ในครึ่งแรกของปีนี้จาก 13 ล้านล้านดอลลาร์ เหลือ 12 ล้านล้านดอลลาร์

ยังไม่นับไตรมาสล่าสุด ที่น่าจะลดลงอีกพอสมควร ทำให้หลายคน มาเริ่มจับตาเรื่องนี้ เพราะเงินสำรอง คือ เงินที่จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา ในยามคับขัน ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน  ซึ่งยิ่งมีข่าวว่า ญี่ปุ่นเอาเงินสำรองไปทิ้งน้ำ โดยแทบไม่มีผล คนก็ยิ่งเห็น ถึงความคับขัน ของแนวรบในด้านนี้มากขึ้น

ทั้งหมดจึงเป็นอีก “จุดเปลี่ยน” ที่วิกฤตกำลังย้ายวิก จากเฟดและแบงก์ชาติ ออกมาสู่โลกของเศรษฐกิจจริง รัฐบาลประเทศต่างๆ และ IMF 

ส่วน Sideshows ของสัปดาห์ที่ผ่านมา การประชุม OPEC ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐ และสงครามของท่าน Putin ได้ช่วยเพิ่มสีสันอีกด้านให้กับ Perfect Storm และช่วยสะสมพลังให้วิกฤตต่อไป