NEWS UPDATE • SPECIAL ARTICLE

APEC 2022 THAILAND ชูประเด็นเศรษฐกิจ BCG

ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปค ปี 2565 กำหนดแนวทางหลัก "เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล" (Open. Connect. Balance.) มุ่งเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG

เมื่อวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 ท่ามกลางความท้าทายจากภาวะเงินเฟ้อ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรับมือวิกฤติต่างๆ ในอนาคต โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

โดยชูโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เป็นตัวเร่งการปรับมุมมองและพฤติกรรมไปสู่โมเดลธุรกิจที่สามารถสร้างผลกำไรควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้ กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ร่วมนำเสนอภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2565 และผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคและแขกพิเศษ ได้แก่ มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย และประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้ร่วมหารือกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของภาคเอกชนและคู่ค้าสำคัญนอกภูมิภาคเอเปค

โดยจากการประชุมครั้งนี้ ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ได้รับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ.2022 และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสะท้อนผลสำเร็จของการเป็นเจ้าภาพเอเปค 2565 ของไทยที่ขับเคลื่อนให้เอเปคสามารถเดินหน้าทำงานท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายในปัจจุบัน และคงความสำคัญในการเป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจชั้นนำของภูมิภาค

ในการนี้ ไทยได้ส่งต่อการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2566 ให้แก่สหรัฐฯ โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบ “ชะลอม” ให้แก่ นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งชะลอมเป็นภาพแทนสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย เพื่อส่งต่อให้สหรัฐฯ สานต่อภารกิจในปี 2566

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 จบลงด้วยความสำเร็จอย่างงดงาม ถือเป็นความสำเร็จร่วมกันของสมาชิกเอเปคทั้งหมด เอเปคต้องยืนหยัดทำงานเพื่อสร้างการเจริญเติบโตและอนาคตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยได้ต้อนรับคณะผู้นำ ผู้เข้าร่วมประชุม และสื่อต่างชาติ รวมกว่า 5,000 คน ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้ประชุมแบบพบหน้า

โดยการประชุมนี้ นอกจากจะเป็นเวทีให้การหารือระหว่างผู้นำ ยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับแขกพิเศษ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และ มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย ผู้นำได้พูดคุยกับภาคเอกชน ในการหารือกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค และนายกฯยังได้รับฟังมุมมองของกลุ่มผู้แทนเยาวชนเอเปคจาก APEC Voices of the Future 2022

ขณะที่ที่ประชุมยังได้หยิบยกสถานการณ์การคุกคามด้านนิวเคลียร์ ไทย ในฐานะเจ้าภาพเอเปคเข้าใจและมีความห่วงกังวลต่อผลกระทบ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และพร้อมร่วมมือกับหุ้นส่วนต่างๆ เพื่อหาทางแก้ไขประเด็นปัญหาอย่างใกล้ชิดต่อไป

นอกจากนี้ ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้รับรองปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ.2022 ซึ่งการทำงานของเอเปค 2022 ตลอดทั้งปี ที่มีแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อน ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” โดยมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม 3 ข้อตามที่ไทยตั้งเป้า ได้แก่

          1. การผลักดันให้เอเปคทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิกในบริบทหลังโควิด-19 โดยมีแผนงานการขับเคลื่อนการหารือที่ต่อเนื่องระหว่างปี ค.ศ.2023-2026 เพื่อให้เอเปคสามารถเดินหน้าได้อย่างชัดเจน

          2. การฟื้นฟูการเดินทางข้ามพรมแดนที่สะดวกปลอดภัย โดยคณะทำงานเฉพาะกิจที่ไทยเป็นประธานได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อให้เอเปคมีกลไกและแนวทางการรับมือกับ Disruption ในอนาคต

          3. การรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” ซึ่งเป็นเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนฉบับแรกของเอเปค โดยเน้นเป้าหมายหลัก 4 ข้อ ได้แก่ การจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน การบริหารจัดการทรัพยากรยั่งยืน และการลดและจัดการของเสียอย่างยั่งยืน

การเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2565 ของไทยได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ผมได้ส่งมอบหน้าที่นี้แก่สหรัฐอเมริกา ที่จะเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2566 เชื่อมั่นว่า สหรัฐฯ จะสานต่อการส่งเสริม การเติบโตอย่างครอบคลุมและยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก”


 

ไทยหารือนานาประเทศ

พร้อมขยายความร่วมมือในทุกมิติ

ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 นอกจากจะหารือกันในแนวคิดหลัก ขับเคลื่อนเอเปคด้วยแนวคิดหลัก "เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล" (Open. Connect. Balance.) โดยมุ่งเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG แล้ว ประเทศไทยยังได้หารือกับผู้นำหลายประเทศ ดังนี้

 

ไทย-แคนาดา

ขยายความร่วมมือการค้าการลงทุน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทวิภาคีกับนายจัสติน ทรูโด (The Right Honourable Justin Trudeau) นายกรัฐมนตรีแคนาดา โดยมีประเด็นความร่วมมือ ที่สำคัญ ดังนี้

ด้านความร่วมมือในระดับภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันในการส่งเสริมความสัมพันธ์อาเซียน-แคนาดา เพื่อปูทางไปสู่การเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกันในอนาคต

ด้านเศรษฐกิจ ไทยพร้อมสนับสนุนการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา ให้สำเร็จโดยเร็ว โดยนายกรัฐมนตรีแคนาดา พร้อมสานต่อข้อเสนอดังกล่าว โดยเชื่อมั่นว่า การเจรจาร่วมกันจะช่วยขยายศักยภาพทางทางการค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ด้านการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันทั้งในด้านสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมความเท่าเทียมและบทบาทสตรี ตลอดจนส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

ด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีแคนาดา ยินดีที่ได้ทราบว่า สายการบิน Air Canada จะเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างเมืองแวนคูเวอร์-กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) ในเร็วๆ นี้ ซึ่งถือเป็นการเปิดเส้นทางระหว่างอเมริกาเหนือ และประเทศไทย

 

ไทย-ญี่ปุ่นยกระดับ

เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือกับ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ (H.E. Mr. KISHIDA Fumio) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

ผู้นำทั้งสองต่างยินดีในโอกาสครบรอบ 135 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในปีนี้ และการครบรอบ 10 ปีของความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ โดยไทยและญี่ปุ่นยังได้ยืนยันความพร้อมที่จะร่วมมือกันเพื่อพัฒนา “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นในอนาคต ซึ่งการลงนามและประกาศใช้แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นในระยะ 5 ปี จะยิ่งช่วยสนับสนุนการพัฒนาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านต่อไป

ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทยพร้อมเป็นหุ้นส่วนกับญี่ปุ่นในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน และส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจพลังงานคาร์บอนต่ำ ซึ่งญี่ปุ่นพร้อมพิจารณาใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของอาเซียนด้วย โดยญี่ปุ่นยังได้กล่าวเสนอเพิ่มพูนความร่วมมือธุรกิจ Startup ของทั้งสองประเทศด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ขอให้ญี่ปุ่นพิจารณาขยายการจัดตั้งสถาบันโคเซ็นในไทยเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ในระยะยาว

ด้านพลังงาน ไทยและญี่ปุ่นพร้อมร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานที่ทันสมัยและการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจพลังงานคาร์บอนต่ำร่วมกันผ่านข้อเสนอความร่วมมือด้านพลังงาน (White Paper) ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และภายใต้ข้อริเริ่ม Asia Zero-Emission Community (AZEC) ของญี่ปุ่น ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย

ด้านความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายยังได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการมอบโอนยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศเมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเยือนไทย ซึ่งขณะนี้กระทรวงกลาโหมอยู่ระหว่างการพิจารณาสาขาความร่วมมือที่ประสงค์ร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่นต่อไป

ด้านประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ ไทยพร้อมสานต่อความร่วมมือกับญี่ปุ่นในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีความเชี่ยวชาญและเป็นที่ต้องการของประเทศผู้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

 

ไทย-ฝรั่งเศส

กระชับความร่วมมือในทุกมิติ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทวิภาคีกับ นายเอมานูว์แอล มาครง (H.E. Mr. Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้

          1. การจัดทำความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตรา สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการไทย-ฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรีขอให้ฝรั่งเศสเร่งรัดการดำเนินการดังกล่าวให้มีความคืบหน้า โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมเร่งรัดการดำเนินการ คาดว่าภายในเดือนมกราคม 2566 จะมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

          2. ด้านความมั่นคง นายกรัฐมนตรียินดีกับความร่วมมือทางการทหารที่ใกล้ชิด ตลอดจนยินดีที่ฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมถึงไทย โดยนายกรัฐมนตรีพร้อมเร่งรัดการจัดตั้งกลไกการหารือ 2+2 Dialogue ไทย-ฝรั่งเศส เพื่อหารือในประเด็นท้าทายด้านความมั่นคง

          3. ด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลไทยได้ปรับนโยบายที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิรูปสีเขียวของ EU ไทยร่วมกับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคลดอัตราภาษีนำเข้าทั่วไปสำหรับรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมจำนวน 54 รายการ นายกรัฐมนตรีจึงเชิญชวนให้ฝรั่งเศสใช้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว

          ด้าน ประธานาธิบดีฝรั่งเศส พร้อมมีความร่วมมือกับไทยในด้านการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเกษตรกรรม ตลอดจนพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนา EEC

          4. ด้านการศึกษาและวิชาการ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส พร้อมสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษา นักวิชาการ และนักวิจัยระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งในปีหน้าคาดว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถลงนามในความตกลงด้านการศึกษาระหว่างกันได้

          5. ความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคและภูมิภาค ไทยพร้อมสนับสนุนฝรั่งเศสในการมีส่วนร่วมและมีบทบาทที่สร้างสรรค์ ทั้งในกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) อาเซียน-ฝรั่งเศส และ อาเซียน-EU รวมถึงการขับเคลื่อนวาระสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก และมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ฝรั่งเศสสนับสนุนการรื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทย-EU ด้วยเช่นกัน ซึ่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมสนับสนุนนโยบายระหว่างไทยกับ EU และพร้อมผลักดันการรื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทย-EU อย่างแข็งขัน

 

ไทย-ฮ่องกง กระชับความร่วมมือทางการค้า

การลงทุน และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทวิภาคีแบบสั้น (pull-aside) กับนายจอห์น ลี คา-ชิว (The Honourable John Lee Ka-Chiu) ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

          1. ไทยยินดีร่วมมือกับฮ่องกงในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาคให้รุ่งเรือง ทั้งนี้ ไทยและฮ่องกง มีความร่วมมือที่ใกล้ชิด โดยเฉพาะการค้าและการลงทุน รัฐบาลพร้อมร่วมมือกันในทุกมิติ

          2. ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ยินดีที่ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีในวันนี้ โดยไทยและฮ่องกงมีความร่วมมือที่แน่นแฟ้น อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพในการเพิ่มพูนความร่วมมือกันอีกมาก พร้อมยืนยันความร่วมมือระหว่างกันในการทำงานอย่างใกล้ชิด

          3. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเป็นโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายร่วมแก้ปัญหาท่ามกลางความท้าทาย และเป็นโอกาสให้ยกระดับความร่วมมือ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงแสวงหาความร่วมมือเพิ่มเติมในเรื่องการค้าและการลงทุน และการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนการค้าในผลิตภัณฑ์ทางด้านเกษตร

 

นายกฯ ไทย-นิวซีแลนด์

มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทวิภาคีกับ นางสาวจาซินดา อาร์เดิร์น (H.E. Rt Hon. Jacinda Ardern) นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

          1. ไทยและนิวซีแลนด์ พร้อมเพิ่มพูนความร่วมมือที่มีอยู่เดิมและในสาขาความร่วมมือใหม่ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลพร้อมผลักดันและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันมากยิ่งขึ้นในระดับภูมิภาค อนุภูมิภาค และเวทีพหุภาคี

          2. นิวซีแลนด์ พร้อมสนับสนุนแนวทางที่หารือร่วมกันเพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาค โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่นิวซีแลนด์ให้ความสำคัญ เชื่อมั่นว่าทั้งสองประเทศจะสามารถขยายความร่วมมือในด้านอื่นๆ ได้อีกมาก

          3. ด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์เห็นพ้องกับแนวคิดของไทยเรื่องความสำคัญของการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ และการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

          4. ด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายพร้อมสนับสนุนการเปิดเที่ยวบินตรงไทย-นิวซีแลนด์ โดยนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์เชื่อมั่นว่า จะเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงที่สำคัญเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน

          5. ด้านความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างบทบาท โดยเฉพาะสาขาด้านการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การบริหารจัดการน้ำ การเกษตรอัจฉริยะ นวัตกรรมทางอาหาร พลังงานทดแทน รวมไปถึงการศึกษา ซึ่งนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์เห็นพ้องและพร้อมที่จะขยายความร่วมมือในด้านที่มีศักยภาพร่วมกันในอนาคต