NEWS UPDATE • CRYPTOCURRENCY

Satang เปิดโปรเจ็กต์ Space ลุยอุตสาหกรรมอวกาศ

 ตั้ง Satang Space รุกอุตสาหกรรมอวกาศ เตรียมระดมทุนครั้งสำคัญ ผนึกพันธมิตรในจีนและอเมริกา ตั้งเป้าเป็นผู้ให้บริการ Total Solution สำหรับอุตสาหกรรม ใช้โมเดล as a Service พร้อมให้บริการทั่วโลก เร่งพัฒนาระบบ Satellite Tracking หวังประเดิมตลาด


ปัจจุบันอุตสาหกรรมอวกาศกำลังถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ทำกำไรได้มากที่สุดในโลก มีมูลค่าตลาดประมาณ 360,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2561ด้วยอัตราเติบโตต่อปีที่ 5.6% โดยมีการคาดว่า ภายในปี 2569 อุตสาหกรรมอวกาศจะเติบโตอย่างรวดเร็วจนมีมูลค่าสูงถึง 558,000 ล้านดอลลาร์ หลังจากที่หลายประเทศชั้นนำในโลก หันมาลงทุนในอุตสาหกรรมอวกาศอย่างต่อเนื่อง นำโดย อเมริกา จีน รัสเซีย สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ขณะที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการออกพรบ.กิจการอวกาศ ซึ่งคาดว่าการมาของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะช่วยให้ประเทศไทยมีความพร้อมรองรับการสร้างเศรษฐกิจจากกิจการอวกาศที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว


การเงินธนาคาร ได้สัมภาษณ์พิเศษ ปรมินทร์ อินโสม กรรมการบริหาร บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Satang) ถึงการก่อตั้งบริษัทสตาร์ตอัพ Satang Space เพื่อดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมอวกาศอย่างเต็มตัว พร้อมวิสัยทัศน์ และมุมมองที่มีต่ออุตสาหกรรมอวกาศ ตลอดจนความคืบหน้าล่าสุดในขณะนี้


 

แนวโน้มธุรกิจอวกาศกำลังฮอต

Satang ผนึกพันธมิตรบุกตลาด

            



ปรมินทร์กล่าวว่า อุตสาหกรรมอวกาศ ถือเป็นอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองอย่างมากในขณะนี้ โดย Satang มีความสนใจในธุรกิจอวกาศตั้งแต่ช่วงกลางปี 2020 เนื่องจากเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังจะมีการออก พ.ร.บ.กิจการอวกาศ ที่จะเป็นข้อกฎหมายในการกำหนดขอบข่ายการทำธุรกิจของบริษัทเอกชน มีการตั้งหน่วยงานกำกับดูแลชัดเจน รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่จะออกมา ทำให้มีความชัดเจนในการทำธุรกิจมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์นี้เป็นสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับตอนที่ Satang เริ่มทำธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล Satang Pro


Satang มองว่า อุตสาหกรรมอวกาศนั้นต้องใช้ความรู้พื้นฐานด้านฟิสิกส์ ซึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีบุคลากรด้านนี้ไม่มาก จึงมองเห็นโอกาสที่ในตลาดที่เป็น Blue Ocean โดยคอนเซ็ปต์จะคล้ายกับบริการในโลกคอมพิวเตอร์ที่มีบริการคลาวด์ และให้บริการในรูปของ Computer as a Service ซึ่ง Satang จะมาประยุกต์เป็น Satellite as a Service แทน


 “เราเริ่มมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ปัจจุบันเรากำลังจะมี พ.ร.บ.กิจการอวกาศ ซึ่งสถานการณ์นี้จะคล้ายยุคแรกของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับและสุดท้ายก็มีกฎหมายออกมา จึงมองว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะเข้ามาทำธุรกิจนี้


ปรมินทร์ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่สถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ใกล้กับประเทศจีน และด้วยนโยบายของประเทศจีนก็มุ่งเน้นเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ ปัจจุบันได้ส่งยานอวกาศไปหลังดวงจันทร์เรียบร้อยแล้ว ถือได้ว่าเทคโนโลยีอวกาศของประเทศจีนนั้นไม่ด้อยไปกว่าประเทศอเมริกาหรือรัสเซีย เพียงแต่คนทั่วไปยังไม่รู้ว่าประเทศจีนมีเทคโนโลยีอวกาศอยู่ในมือ 


ที่ผ่านมา หากประเทศไทยต้องการปล่อยดาวเทียมขึ้นอวกาศจำเป็นต้องพึ่งพาฝรั่งเศสหรืออเมริกา Satang จึงเห็นโอกาสทางธุรกิจว่า ถ้าประเทศในภูมิภาคต้องการปล่อยดาวเทียมหรือยานอวกาศก็สามารถใช้บริการในประเทศไทยได้ โดย Satang ได้เข้าไปร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทด้านเทคโนโลยีอวกาศในประเทศจีนและอเมริกา เพื่อให้คงความเป็นกลางที่สุดในภูมิภาคนี้

 



ตั้งบริษัทสตาร์ตอัพ Satang Space

มุ่งเป็น Total Solution ของธุรกิจอวกาศ


ปรมินทร์กล่าวว่า จากโอกาสที่มองเห็นในอุตสาหกรรมอวกาศ จึงได้ตั้ง บริษัท สตางค์ สเปซ จำกัด (Satang Space) เพื่อมาเริ่มธุรกิจใหม่อย่างเต็มตัว โดย Satang Space จะเป็นบริษัทใหม่ ไม่เกี่ยวข้องกับ Satang ที่ทำธุรกิจ Digital Asset Exchange แต่จะใช้แบรนด์ Satang เพื่อให้เห็นภาพว่า Satang ไม่ได้ทำแค่สินทรัพย์ดิจิทัล แต่มีการแตกไลน์ไปทำธุรกิจอื่นด้วย เหมือนกับบริษัท Binance และ Binance US ที่แยกออกจากกันชัดเจน ไม่ใช่บริษัทเครือเดียวกัน มีบอร์ดบริหารคนละชุด โครงสร้างการบริหารแยกออกจากกัน แต่คนก่อตั้งเป็นคนเดียวกัน

ตอนนี้จะให้ Satang Space รันธุรกิจไปก่อนเพื่อดูว่ามีรายได้และมีผลการดำเนินการเป็นอย่างไร ถ้าสุดท้ายแล้วต้อง Consolidate ก็อาจตั้งบริษัท Holding ในอนาคต แต่ปัจจุบันให้แยกทั้งทีมงานทีมบริหารออกจากกันไปก่อน เพราะผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษามีความเชี่ยวชาญคนละด้าน มีเพียงส่วนงานบัญชีที่ใช้ร่วมกัน


ปัจจุบัน Satang Space ได้เริ่มศึกษาในส่วนของระบบติดตามดาวเทียม (Satellite Tracking) และอยู่ระหว่างการระดมทุนเพื่อพัฒนาให้กลายเป็นแอปพลิเคชั่นตัวแรกของบริษัท แต่ในมุมมองนักลงทุนทั่วไปอาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว จึงมีการเข้าหานักลงทุนที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านนี้โดยเฉพาะ เพื่อแสดงเห็นว่านักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนอย่างไร ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนที่แสดงความสนใจลงทุนใน Satang Space แล้ว


ธุรกิจอวกาศจะเป็นอีกเทรนด์ที่มาแน่ โดยในช่วงแรกเราเริ่มจากเรื่องที่ลงทุนไม่มาก คือการพัฒนาระบบ Satellite Tracking เพราะสามารถทำได้เลย โดยใช้ความรู้จากการวิเคราะห์ นำเทคโนโลยี AI และ Machine Learning มาประยุกต์ใช้ ทำให้ระบบ Satellite Tracking จะเป็นโปรดักต์ตัวแรกของเรา ซึ่งตอนนี้เรามีงานวิจัยรองรับแล้ว อยู่ในช่วงการระดมทุนเพื่อซื้ออุปกรณ์มาติดตั้ง ส่วนมุมไหนที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ก็จะส่งให้พันธมิตรในประเทศจีนดูแลไปก่อน เช่น การปล่อยกระสวยและดาวเทียม


ปรมินทร์อธิบายว่า คำว่า Space ไม่ได้จำกัดแค่เรื่องดาวเทียม แต่หมายถึงอุตสาหกรรมอวกาศทั้งหมด ดาวเทียมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธุรกิจอวกาศที่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ภาพที่วางไว้ในช่วงแรกของ Satang Space จะคล้ายกับ SpaceX ที่ส่งดาวเทียมขึ้นไปในอวกาศแล้วปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตลงมายังพื้นโลก เพราะมองว่า การทำธุรกิจลักษณะนี้จะสามารถสร้างผลกระทบในเชิงบวกกับประเทศไทยได้มากกว่า

ส่วนโพสิชั่นของ Satang Space นั้น จะเป็นผู้ให้บริการ Total Solution สำหรับธุรกิจอวกาศ ไม่ว่าต้องการสร้างดาวเทียม การยิงดาวเทียม การควบคุมวงโคจร รวมถึงการติดตามตำแหน่งดาวเทียม และการพัฒนาเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยพร้อมให้บริการตั้งแต่ต้นจนจบ คิดค่าใช้จ่ายแบบ as a Service ที่ใช้เท่าไหร่จ่ายเท่านั้น


ปรมินทร์กล่าวว่า เป้าหมายทางธุรกิจของ Satang Space คือการครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในภูมิภาค ด้วยจุดแข็งเรื่ององค์ความรู้ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจนี้ และด้วยโมเดลธุรกิจแบบ as a Service ทำให้สามารถขยายบริการไปยังประเทศอื่นได้ด้วย เพราะทุกประเทศต้องมีความเกี่ยวข้องกับดาวเทียมทางใดทางหนึ่ง ซึ่งบริการของ Satang Space จะมาในรูปของแอปพลิเคชั่นที่รันผ่านคลาวด์ ไม่ว่าอยู่ประเทศไหนก็สามารถใช้บริการได้ 


ธุรกิจอวกาศในประเทศไทยถือเป็นเรื่องใหม่ และคงมีหลายคนที่เห็นโอกาสในธุรกิจนี้เช่นเดียวกับ Satang Space แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นคู่แข่งที่ชัดเจน อาจจะมีที่พัฒนาอยู่แต่ไม่เปิดเผย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธุรกิจอวกาศบางส่วนมีโอกาสกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาหลายมีหลายบริษัทที่พยายามทำธุรกิจในส่วนนี้แต่ต้องมาหยุดชะงักในเรื่องของความมั่นคง ปัญหานี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ Satang Space ต้องพบเจอเช่นกัน แต่ก็ต้องหาช่องทางที่ทำให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้และไม่กระทบความมั่นคงด้วย

 



ธุรกิจอวกาศจะมีบทบาทในชีวิต

ยกระดับการเชื่อมต่อให้เทคโนโลยี IoT


ปรมินทร์กล่าวว่า การเติบโตของเทคโนโลยีอวกาศ จะมีบทบาทใกล้ตัวกับชีวิตผู้คนมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) ที่ต้องมีการส่งข้อมูลสื่อสารระหว่างกัน ซึ่งดาวเทียมจะกลายเป็น 1 ในโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต และการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ด้วยกัน ส่งผลให้ในอนาคตความสำคัญของดาวเทียมจะเพิ่มมากขึ้น


ตัวอย่างเช่น การที่ประเทศอินโดนีเซียมีไฟป่าเกิดขึ้นทุกปี มีควันไฟมาถึงภาคใต้ของประเทศไทย หากมีอุปกรณ์ IoT ที่ใช้ในการตรวจจับกระจายไว้ทั่วผืนป่า และให้ส่งข้อมูลขึ้นดาวเทียมเพื่อบอกสถานะแบบเรียลไทม์ ก็จะสามารถตรวจจับและยับยั้งการเกิดไฟป่าได้ทันเวลา โดยอินเทอร์เน็ตดาวเทียมจะพลิกข้อจำกัดของบริการอินเทอร์เน็ตที่มีในปัจจุบันให้หายไปได้


แม้จะเป็นพื้นที่ กทม. ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกพื้นที่จะมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใช้ เนื่องจากผู้ให้บริการต้องคำนวณสภาพประชากรในแต่ละพื้นที่ว่ามีประชากรอาศัยอยู่คุ้มพอที่จะลากสายอินเทอร์เน็ตไปยังพื้นที่นั้นหรือไม่ ซึ่งถ้าพื้นที่ไหนคนน้อย วางสายแล้วไม่คุ้มต้นทุน พื้นที่นั้นก็อาจไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ แต่ถ้าเป็นดาวเทียม มีต้นทุนแค่การทำดาวเทียมครั้งเดียว กระจายได้ทุกพื้นที่ที่ต้องการ ไม่ต้องเพิ่มต้นทุนในการวางสายหรือตั้งเสาสัญญาณเพิ่ม


นอกจากนี้ ตัวดาวเทียมยังสามารถทำหน้าที่อื่นได้มากกว่าการสื่อสาร หรืออย่างที่เรารู้จักกันดีคือ Google Map ก็ใช้ดาวเทียมถ่ายภาพแล้วนำมาประมวลผลเป็นแผนที่ออกมา นอกกจากนั้นมันยังสามารถวิเคราะห์ไปถึงการแก้ปัญหาด้านภัยพิบัติต่างๆ ได้ เช่น บอกว่า พื้นที่ใดมีความเสี่ยงน้ำท่วม จะมีพายุอันตรายเกิดขึ้นที่ไหน หรือแม้กระทั่งเห็นการเปลี่ยนแปลสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง