NEWS UPDATE • SPECIAL ARTICLE

5 ปี พร้อมเพย์ เดินมาไกลแค่ไหนแล้ว

นับจากปี 2560 ที่ประเทศไทยได้พัฒนาระบบพร้อมเพย์ (Promptpay) เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการชำระเงิน ปัจจุบันประชาชนเริ่มรู้จักและใช้งาน “พร้อมเพย์” กันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2565 มีจำนวนผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ทั้งหมด 72 ล้านหมายเลขแล้ว โดยปริมาณเฉลี่ยต่อวัน 42 ล้านรายการ และมูลค่าเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 121 พันล้านบาท

ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นพัฒนาการของพร้อมเพย์เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือน ม.ค. 2560 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดตัวพร้อมเพย์ และได้เริ่มให้บริการโอนเงินรายย่อยผ่านเบอร์มือถือและเลขบัตรประชาชน จนเมื่อมี.ค. 2560 ได้ต่อยอดพร้อมเพย์ ให้สามารถรองรับการโอนและชำระเงินผ่านเลขนิติบุคคลเพื่อรองรับการทำธุรกรรมในเชิงธุรกิจ

ในเดือนพ.ย.2560 เริ่มการจ่ายบิลข้ามธนาคารโดยสามารถชำระเงินบิลค่าสินค้าและบริการข้ามธนาคารได้ และธ.ค.2560 เริ่มใช้ Thai QR Payment (Thai QR Standard) ครั้งแรกของอาเซียน 

  • มี.ค.2561 เริ่มให้บริการ Pay Alert การแจ้งเตือนจ่ายระบบใหม่ที่รองรับการทำธุรกรรม Request-to-Pay หรือบริการเรียกเก็บเงิน อำนวยความสะดวกในการแจ้งเตือนบุคคลอื่นให้ชำระเงิน
  • ก.ค. 2561เริ่มให้บริการ e-Donation หรือการบริจาคเงินอิเล็กทรอนิกส์ ผ่าน QR Code ตอบโจทย์วัฒนธรรมการเป็นผู้ให้ของคนไทย

นอกจากนี้ ยังได้มีการต่อยอดการใช้พร้อมเพย์สำหรับการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR Code (QR Cross Border Payment) โดยปี 2561 ได้เชื่อมต่อระบบการชำระเงินกับประเทศญี่ปุ่น ปี 2562 สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ปี 2563 ราชอาณาจักรกัมพูชา ปี 2564 เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมถึงได้ต่อยอดการให้บริการโอนเงินระหว่างระบบ faster payment ระหว่างประเทศกับสิงคโปร์ (พร้อมเพย์-เพย์นาว) ในปี 2564 อีกด้วย 

สำหรับในประเทศไทยตั้งแต่เริ่มให้บริการพร้อมเพย์ในปี 2560 ประชาชนเริ่มรู้จักและใช้งานกันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนผู้ใช้งานทยอยเพิ่มขึ้น ธ.ค.2562 มีจำนวนผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ 49.8 ล้านหมายเลข ปริมาณการโอนเงินเฉลี่ยต่อวัน 9.6 ล้านครั้ง มูลค่าการโอนเงินเฉลี่ยต่อวัน 47.8 พันล้านบาท จนล่าสุด มีจำนวนผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ทั้งหมด 72 ล้านหมายเลข ปริมาณเฉลี่ยต่อวัน 42 ล้านรายการ และมูลค่าเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 121 พันล้านบาท

จากความสำเร็จในการพัฒนาพร้อมเพย์ ธปท.อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการชำระเงินเพิ่มเติม โดย ธปท. ได้จัดทำ ทิศทางการพัฒนาระบบการชำระเงินภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อกำหนด แผนกลยุทธ์การพัฒนาระบบชำระเงินในระยะ 3 ปี (พ.ศ.2565-2567) โดยสิ่งที่จะเห็นจากการดำเนินกลยุทธ์ดังกล่าว เช่น

1.พร้อมบิส (PromptBiz) เป็นการต่อยอดพร้อมเพย์สู่ภาคธุรกิจ โดยระบบพร้อมบิส ได้มีการนำมาตรฐาน ISO20022 มาใช้ จึงทำให้สามารถรองรับได้ทั้งข้อมูลการชำระเงิน ข้อมูลการค้า รองรับกระบวนการของภาคธุรกิจได้อย่างครบวงจร โดยมุ่งหวังให้ พร้อมบิส เป็น Game Changer ของระบบชำระเงินภาคธุรกิจไทย ครอบคลุมทั้งการค้า การชำระเงิน และระบบภาษีของภาคธุรกิจ ซึ่ง ธปท. คาดว่าจะเริ่มใช้ระบบ PromptBiz ในเฟสแรกได้ในเดือน เม.ย.2566

2.ขยายการให้บริการชำระเงินระหว่างประเทศ ได้แก่ (1) การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินผ่าน QR Code (QR Cross Border Payment) ไปที่อินเดีย และ ฮ่องกง (2) การให้บริการโอนเงินระหว่างระบบ faster payment โดยจะมีการขยายบริการไปยังมาเลเซีย อินเดีย และ อินโดนีเซีย

นอกจากนี้ แผนกลยุทธ์การพัฒนาระบบชำระเงินในระยะ 3 ปี ยังมีเป้าหมายให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการชำระเงินดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงในวงกว้าง โดยจะดำเนินการร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ให้บริการชำระเงินที่สำคัญ ในการขยายการชำระเงินดิจิทัลให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการ เช่น การชำระเงินดิจิทัลในการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ การต่อยอดบริการชำระเงินดิจิทัลกับแอปพลิเคชั่นภาครัฐที่ครอบคลุมการใช้งานในวงกว้าง ตลอดจนมีเป้าหมายในการยกระดับการกำกับดูแลที่ยืดหยุ่นและเท่าทันโดยมุ่งเน้นความมีประสิทธิผลและไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบในวงกว้าง


เรียบเรียงโดย การเงินธนาคาร