NEWS UPDATE • SPECIAL ARTICLE

Money Fly Back Home อะไร? ทำให้มหาเศรษฐีไทยต้องขนทรัพย์สินกลับบ้าน

บุคคลที่มีความมั่งคั่งสูงมากๆหรือที่เรียกกันติดปากว่า “มหาเศรษฐี” ที่ในประเทศไทยมีการคาดไว้ว่าจะมีบุคคลที่มีทรัพย์สินในการถือครอง 50 ล้านบาทขึ้นไป 30,000-40,000 คน คิดเป็นมูลค่าถือครองสินทรัพย์มูลค่ารวมกว่า 8.8 ล้านล้านบาท ยังไม่นับสินทรัพย์ที่คนกลุ่มนี้ถือครองในต่างประเทศ โดย Private Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เคยคาดการณ์ว่าทรัพย์สินของกลุ่มมหาเศรษฐีชาวไทยที่ถือครองทั้งในประเทศและต่างประเทศจะมีมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านบาท (อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชื่อดังที่เคยขึ้นแท่นบุคคลรวยที่สุดในโลกมีมูลค่าความมั่งคั่ง 7.7 ล้านล้านบาท)

กลุ่มมหาเศรษฐีเหล่านี้มักจะมีวิธีการบริหารความมั่งคั่งที่หลากหลาย กระจายทรัพย์สินที่ถือครองไว้ในประเทศและในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นดินแดนภาษีต่ำ (Tax Haven) เช่น หมู่เกาะเคย์แมน , หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน , สวิตเซอร์แลนด์ เพราะประเทศเหล่านี้จะไม่มีการเก็บภาษีเงินได้หรือเก็บภาษีเงินได้ในระดับต่ำ ไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างประเทศ 

การกระจายทรัพย์สินไว้ในต่างประเทศของบรรดามหาเศรษฐีเหล่านี้เริ่มจะมีอุปสรรค เมื่อมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีระหว่างกันของนานาประเทศ ในประเทศใหญ่ๆเช่น สหรัฐอเมริกาออกกฎหมายป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีเกิดขึ้น คือ Foreign Account Tax Compliance Act (FATCA) ที่กำหนดให้สถาบันทางการเงินในต่างประเทศมีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลทางบัญชีของลูกค้าชาวอเมริกันต่อกรมสรรพากรของสหรัฐ

นั่นทำให้เวลาที่ผู้บริโภคชาวไทยสมัครใช้บริการต่างๆกับธนาคารต้องตอบคำถามว่า “เป็นบุคคลอเมริกัน” ถ้าคนไทยที่ไม่ได้เป็นหรือมีข้อบ่งขี้ว่าเป็นบุคคลอเมริกันข้อมูลจะไม่ถูกเปิดเผยไปยังสหรัฐอเมริกา

แล้วมหาเศรษฐีคนไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไรกับกฎระเบียบเหล่านี้ ?

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย ผู้คร่ำหวอดในบริการด้านจัดการทรัพย์สินของเหล่ามหาเศรษฐีมายาวนาน เล่าว่า  FATCA เองก็มีผลต่อเศรษฐีไทยด้วยก็เพราะบางคนถือสองสัญชาติ ทั้งไทย และ อเมริกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่ามหาเศรษฐีบางคนไม่ได้ยื่นภาษีกับทางอเมริกัน เมื่อกฎระเบียบมีกำหนดไว้ก็เริ่มมองหาแนวทางสละสัญชาติอเมริกันบ้างแล้วเพราะอาจจะมีความยุ่งยากตามมา ซึ่งเริ่มเห็นกระแสนี้ในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา

ส่วนอีกเรื่องที่กำลังจะมีผลในปี 2566 คือ กรอบความร่วมมือเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development : OECD) ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 2560 และต้องดำเนินการยกระดับการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยต้องเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติตามมาตรฐานที่ OECD กำหนด เรียกว่า Common Reporting Standard (CRS) ในเดือนกันยายน ปี 2566 ก็เป็นอีกเรื่องที่ทำให้การมีทรัพย์สินในต่างประเทศของมหาเศรษฐีไทยไม่ง่ายเหมือนเก่า

ด้วยกฎระเบียบทางกฎหมายที่เข้มงวดขึ้นทำให้มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “Money Fly Back Home” หรือ การขนเงินกลับบ้านตามมา เพราะในเมื่อการเอาเงินออกไปไว้ข้างนอกเริ่มไม่ง่ายอย่างเดิมแล้วก็สู้เอากลับมาไว้ที่บ้านเสียดีกว่า โดยเรื่องนี้เกิดกับมหาเศรษฐีทั่วโลกรวมทั้งมหาเศรษฐีชาวไทยที่ก็เริ่มวางแผนบริหารทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศของตัวเองแล้วเหมือนกัน 

“ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่าทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศของกลุ่มเศรษฐีไทยมีเท่าไหร่ แต่ก็เป็นจำนวนที่มหาศาล ซึ่งด้วยข้อกำหนดของนานาประเทศที่ต้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลระหว่างกัน ไม่ว่าทรัพย์สินจะอยู่ที่ไหนก็ต้องรายงานกลับไปประเทศของตัวเอง แม้แต่การจัดตั้งกองทรัสต์ในต่างประเทศที่เคยเป็นวิธียอดนิยมของมหาเศรษฐีเพราะไม่สามารถระบุตัวผู้ตั้งกองทรัสต์แต่ละกองได้ก็เริ่มจะมีข้อจำกัดให้ต้องเปิดเผยแล้ว ดังนั้นในช่วงระยะข้างหน้าจะเห็นการทยอยนำทรัพย์สินกลับบ้านของมหาเศรษฐีไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” จิรวัฒน์กล่าว

เขายังเล่าอีกว่า Money Fly Back Home ไม่เพียงแต่จะสะเทือนกลุ่มลูกค้ามหาเศรษฐีเท่านั้น ยังมีแรงกระเพื่อมไปยังธุรกิจ Private Banking ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะบรรดา Private Banking ในประเทศที่เคยเป็น Tax Haven ก็ต้องตื่นตัวมากขึ้นเพราะทรัพย์สินภายใต้การบริหาร( AUM) ของพวกเขาก็ต้องถูกโยกย้ายออกไปด้วย นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เห็นว่ามีธุรกิจ Private Banking ต่างชาติทยอยเข้ามาปักหลักนอกประเทศและมีบ้างที่เข้ามาเริ่มธุรกิจในประเทศไทย แต่ก็นับเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจ Private Banking ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน เมื่อกฎระเบียบมากขึ้นเท่ากับลูกค้ามั่งคั่งสูงเหล่านี้ก็ต้องการคนมาช่วยดูแลทรัพย์สินของตัวเองเพิ่มขึ้นด้วย 

“KBank Private Banking ดูแลลูกค้าที่มีความมั่งคั่ง 50 ล้านบาทขึ้นไป และมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารในปี 2565 รวมกว่า 900,000 ล้านบาทแล้ว ด้วยกระแส Money Fly Back Home ที่กำลังเกิดขึ้นก็มองว่าอาจจะช่วยทำให้สินทรัพย์ภายใต้การบริหารของเราเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดได้เช่นกัน” จิรวัฒน์กล่าว