NEWS UPDATE • SPECIAL ARTICLE

บทเรียนราคาแพงของอังกฤษ จาก "Big Policy Mistakes"

โดยดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) มุมมองผ่าน #ท่องเศรษฐกิจกับดรกอบ 

หลายคนอยากรู้ว่า เมื่ออังกฤษยอมเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีคลัง ประเภทปลดกลางอากาศ เพื่อสังเวยแนวนโยบาย ที่ตลาด นักเศรษฐศาสตร์ และแม้กระทั่ง IMF มองว่า เป็นนโยบายที่ "ผิดทิศผิดทาง" และเป็น Big Policy Mistakes แล้วเรื่องจะจบหรือไม่

ในประเด็นนี้ หลังจากท่านรัฐมนตรีคลังคนใหม่ ประกาศนโยบายที่เรียกว่า เกือบจะเป็น Complete U-Turn หันหลังกลับจากรัฐมนตรีคลังคนก่อนหน้า 

ยอมหั่นการลดภาระภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จากเดิมที่ตั้งใจไว้ประมาณ 4.5 หมื่นล้านปอนด์ ให้เหลือเพียง 1.3 หมื่นล้านปอนด์ ลดการช่วยเหลือภาระของประชาชนเรื่องพลังงาน ในช่วงปีหน้า พร้อมเตือนว่า ในช่วงปลายเดือนตุลาคม อังกฤษอาจจะมีนโยบายรัดเข็มขัดการใช้จ่ายบางส่วนประกาศออกมาเพิ่มเติม เพื่อเอา "การคลัง" ให้เข้าที่ และสร้างความเชื่อมั่นในตัวรัฐบาล

แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษจะยอมซะขนาดนี้ บาดแผลและความเสียหาย จากการประกาศนโยบายที่ผิดพลาด ก็ยังปรากฏให้เราเห็น

ที่พอจะปรับตัวดีขึ้นบ้าง คงเป็นค่าเงินอังกฤษ ซึ่งกลับไประดับใกล้ๆ ก่อนที่จะมีมาตรการ 1.13-1.14 ดอลลาร์/ปอนด์


อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 30 ปี ซึ่งเคยขึ้นไปถึง 5% แม้จะลงมาบ้างที่ 4.4% แต่ก็ยังสูงกว่าก่อนที่จะออกมาตรการพลาดมา 1% 

ดัชนีตลาดหุ้นของอังกฤษ FTSE100 ยังติดลบอยู่ -4.4% สะท้อนถึงความไม่มั่นใจในฝีมือของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา สะท้อนความเสียหายในเชิง Policy Credibility ที่หมดไป และสะท้อนความเสี่ยงของการที่ท่านนายกจะมีนโยบาย "แปลกๆ" ออกมาอีกที่ตลาด Price-in เผื่อเอาไว้

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลอังกฤษต้องพลิกกลับมาอีกทาง จากการจะกระตุ้นสุดขั่ว มาเป็นรัดเข็มขัด เพื่อดึงความเชื่อถือ หรือ Credibility ให้กลับคืนมา 

หมายความว่า สถานการณ์ได้บังคับให้นโยบายอังกฤษล่าสุดต้อง "เอียงผิดไปอีกข้าง" เพื่อเอา"รถที่แฉลบออกไป" ของรัฐบาลให้เข้ากลับที่

ซ้ำเติมให้อังกฤษมีความเสี่ยงที่จะเกิด Recession ลึกมากขึ้นจากเดิม โดย Goldman Sachs บอกว่าจากที่เคยคิดว่าปีหน้าเศรษฐกิจอังกฤษจะติดลบ -0.4% ตอนนี้ปรับเพิ่มเป็น -1.0%

ที่น่ากังวลใจไปกว่านั้น คนเริ่มพูดกันแล้วว่า หลังจากรัฐมนตรีคลัง Kwarteng ได้ไปแล้ว อีกคนที่ช่วยคิดมาแต่ต้น (และน่าจะอยู่ข้างหลังของ Policy Mistakes ที่ประกาศออกมา) ก็คือ ท่านนายก Liz Truss ก็ควรไปเช่นกัน 

เพราะอังกฤษจะมีการเลือกตั้งใหญ่อย่างช้าที่สุดใน 2 ปีข้างหน้า ความผิดพลาดครั้งนี้ จึงกลายเป็นแรงกดดันสำคัญ ที่จะมาเขย่าเก้าอี้ของนายกอังกฤษคนปัจจุบันต่อไป

"จึงนับเป็นบทเรียนราคาแพงให้กับอังกฤษและประเทศอื่นๆ ว่า ตลาดช่วงนี้ อ่อนไหว และ ไม่ให้อภัยง่าย (unforgiving) นโยบายต่างๆ คงต้องกลั่นกรองออกมาให้ดี หากพลาดพลั้ง จะนำมาซึ่งความเสียหายที่ยิ่งใหญ่ได้"