NEWS UPDATE • SPECIAL ARTICLE

5 คำเตือนจาก IMF สัญญาณวิกฤตที่รออยู่ข้างหน้า

โดยดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)  มุมมองผ่าน #ท่องเศรษฐกิจกับดรกอบ 

เมื่อ 2-3 วันที่แล้ว กรรมการผู้จัดการของ IMF ได้ไปกล่าวสุนทรพจน์ เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องก่อนการประชุมใหญ่ประจำปีของ ผู้ว่าแบงก์ชาติและรัฐมนตรีคลังประเทศต่างๆ ที่ DC

มีคำเตือนที่น่าสนใจอยู่ 5 เรื่อง

คำเตือนที่ 1 - เศรษฐกิจโลกกำลังทรุดตัวอย่างน่ากังวลใจ 

โอกาสของ Global Recessions กำลังเพิ่มขึ้น โดยสัปดาห์หน้า IMF จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงเป็นครั้งที่ 4 สำหรับปี 2023  

ที่สำคัญ 1/3 ของเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่การหดตัวของเศรษฐกิจ 2 ไตรมาสต่อกัน ภายในปีนี้และปีหน้า

ความเสียหายจาก Output Loss หรือเศรษฐกิจที่ควรโตแต่ไม่โต อยู่ที่ 4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณเท่ากับเศรษฐกิจเยอรมันทั้งประเทศ !!!!

คำเตือนที่ 2 - ประเทศต่างๆ ต้องระวังการ "เดินนโยบายผิดพลาด" 

เงินเฟ้อยังดื้อแพ่ง ไม่ยอมลง นโยบายการเงินยังต้องเดินหน้าต่อไป ต้องไม่ใจอ่อน ต้องไม่หยุด ก่อนเวลาอันควร การตัดสินใจต้องเด็ดเดี่ยว แม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอลงไม่เช่นนั้น การใจอ่อน จะนำมาซึ่งความเสียหายที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม ในอนาคต

คำเตือนที่ 3 - ประเทศต่างๆ ระวังการออกนโยบายการคลังที่ "ไม่เหมาะสม"

นโนบายการเงินและการคลังต้องไปด้วยกัน อย่าไปคนละทาง อย่างอังกฤษเสนอ ต้องไม่ควรช่วยเป็นการทั่วไป เพราะถ้าช่วยทุกคน จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ บ่อนทำลายการสู้ศึกเงินเฟ้อของแบงก์ชาติ สิ่งที่ควรทำ คือ ช่วยเป็นจุดจุด 

เน้นกลุ่มเปราะบาง เป็นสำคัญ เป็นการชั่วคราว

คำเตือนที่ 4 - มรสุม Emerging Markets Debt Crisis กำลังก่อตัว

ดอลลาร์แข็ง ดอกเบี้ยกู้ที่เพิ่ม เงินที่กำลังไหลออกจาก Emerging Markets กำลังทำให้ประเทศเกิดใหม่เริ่มเซ  โอกาสที่เงินจะไหลออกจากกลุ่ม Emerging Markets ในช่วง 3 ข้างหน้า ได้เพิ่มขึ้นเป็น 40% โดยมากกว่า 25% ของประเทศ Emerging Markets ได้ผิดนัดชำระหนี้หรือราคาพันธบัตรรัฐบาลตกแรงมาอยู่ระดับ "Distressed Level" ที่จะทำให้กู้ยากต่อไป

และถ้าเจาะลึกลงไปที่ประเทศในกลุ่ม Low-income Countries พบว่า เกินครึ่ง หรือ 60% กำลังมีหรือจะมีปัญหา Debt Distress ที่ราคาพันธบัตรตก ดอกเบี้ยพุ่งสูง มีปัญหาในการกู้ยืมจากตลาด !!!

คำเตือนที่ 5 - ต้อง Work together  

จะรอดจากปัญหานี้ได้ จะลดความเสียหายให้น้อยได้ ทุกประเทศต้องทำงานร่วมกัน ไม่ไปคนละทิศคนละทางเหมือนช่วงที่สู้ศึกโควิด

ทั้งหมดนี้ เป็นคำเตือนก่อนประชุมใหญ่ ให้การบ้านทุกคนทำ ทุกคนคิด 

ก่อนที่จะมาเจอกันสัปดาห์หน้า 10-16 ตุลาคม 

ซึ่งปกติแล้ว IMF ก็จะระมัดระวังเรื่องการพูด พยายามที่จะปลอบตลาดให้สบายใจ ไม่ตกใจ 

การที่ออกมาเช่นนี้ ชี้ว่า สถานการณ์คงมีปัญหา 

จนต้องยอมพูด ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์จริงในปีหน้า 2023 คงแย่กว่าที่ท่าน MD ออกมาเตือน 

เพราะปกติแล้ว การประมาณการเศรษฐกิจจะวิ่งตามสิ่งที่เกิดขึ้น โดยช่วงวิกฤต ตัวเลขจะออกมาพลาด สูงกว่าจริงอยู่ระยะหนึ่ง และในส่วนของวิกฤต Emerging Markets นั้น IMF จะเห็นมากที่สุด เพราะเป็นห้องฉุกเฉินที่คอยดูแลประเทศที่เกิดปัญหา

แต่คุณหมอก็คงไม่บอกทั้งหมด ที่คุณหมอรู้ การที่ยอมบอกว่า 1/4 ของ Emerging Markets เริ่มมีปัญหา  และมากกว่าครึ่งของ Low-income Countries กำลังมีปัญหา เป็นระฆังเตือนภัย ครั้งใหญ่ ที่มีนัยยะต่อไปว่า "วิกฤตได้อยู่ข้างหน้าเรียบร้อย"

"ประเทศไทยและเราทุกคนต้องเตรียมความพร้อมให้มากขึ้น ซึ่งหากเราใช้เวลาที่เหลือ เตรียมให้ดี ก็จะสามารถ "ผ่อนหนักเป็นเบา พอผ่านไปได้" ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนครับ"


https://www.imf.org/en/News/Articles/2022/10/06/sp-2022-annual-meetings-curtain-raiser