INTERVIEW • EXCLUSIVE INTERVIEW

Exclusive Interview : เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ

อธิบดีกรมสรรพากร

 

เปลี่ยนโฉมสรรพากรยุคใหม่

ทำงานแบบ Agile มุ่งใช้ Data Analytics

 

“ตั้งแต่วันแรกที่ได้เข้ามาทำงานได้วางรากฐาน เปลี่ยน Culture ขององค์กร โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหรือ Data Analytics เข้ามาช่วย ปรับวิธีการทำงานให้เป็นแบบ Agile มากขึ้น รวมถึงการร่วมมือกับสตาร์ตอัพและให้โอกาสคนรุ่นใหม่ ซึ่งตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าสิ่งที่ได้ทำไว้เริ่มออกดอกออกผลแล้ว”

“การระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์ Omicron อาจส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในอนาคต ขณะที่โลกปัจจุบันยังมีความผันผวน ไม่แน่นอน ดังนั้น วิธีการทำงานต้องมีความ Agile มากขึ้น ซึ่งโชคดีที่สรรพากรมีบุคลากรทุกคนร่วมแรงร่วมใจ มองว่าวิกฤติทำให้เราแกร่งขึ้น อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าวันนี้ระบบที่วางไว้น่าจะรองรับความผันผวนต่างๆ ได้”

หลังจาก ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 ได้ประกาศเดินหน้าปรับองค์กรให้เป็นกรมสรรพากรยุคดิจิทัล โดยประกาศใช้ยุทธศาสตร์ D2RIVE และขับเคลื่อนนโยบายนี้อย่างจริงจัง

จนถึงตอนนี้เป็นเวลากว่า 3 ปี แล้ว ดร.เอกนิติ ให้สัมภาษณ์พิเศษ การเงินธนาคาร ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ปรับกรมสรรพากรให้เป็นองค์กรที่ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและ Data Analytics เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ตลอดจนให้โอกาสคนรุ่นใหม่และทำงานร่วมกับสตาร์ตอัพมากขึ้น เพื่อทำให้การจัดเก็บภาษีได้ตรงเป้า ออกแบบนโยบายทางภาษีตรงกลุ่ม บริการประชาชนและผู้เสียภาษีตรงใจมากยิ่งขึ้น

“ตั้งแต่วันแรกที่ได้เข้ามาทำงาน ได้วางรากฐาน เปลี่ยน Culture ขององค์กร โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Data Analytics เข้ามาช่วย ปรับวิธีการทำงานให้เป็นแบบ Agile มากขึ้น รวมถึงการร่วมมือกับสตาร์ตอัพและให้โอกาสคนรุ่นใหม่ ซึ่งตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าสิ่งที่ได้ทำไว้เริ่มออกดอกออกผลแล้ว”

 

เดินหน้าใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

อำนวยความสะดวกผู้เสียภาษี

ดร.เอกนิติกล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา กรมสรรพากรมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในระบบการให้บริการด้านภาษี เพื่อช่วยส่งเสริมภารกิจด้านการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ และผู้เสียภาษีสามารถทำธุรกรรมภาษีได้ง่าย ลดต้นทุน และให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลและการใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร

“กรมสรรพากรมีเป้าหมายทำให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ มีความง่ายตามความต้องการใช้งานของผู้ประกอบการ ผู้เสียภาษี และมีมาตรฐานระดับสากล โดยปัจจุบัน กรมสรรพากรมุ่งเน้นการพัฒนาสู่องค์กรดิจิทัล ทั้งภายในองค์กร รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐ”

โดยปัจจุบันกรมสรรพากรได้นำ Data Analytics มาช่วยในกระบวนการทำงานและการบริหารจัดเก็บภาษี ดังนี้

      1. นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) มาใช้ในการพัฒนาระบบแชตบอต (Chatbot) น้องอารี เพื่อการตอบคำถามเรื่องภาษีสรรพากรให้กับผู้เสียภาษีแบบอัตโนมัติ

      2. นำระบบวิเคราะห์ข้อมูล Data Analytics มาใช้ในการ บริหารการจัดเก็บภาษีอากร เพื่อการควบคุมและติดตามผลการจัดเก็บภาษีของหน่วยจัดเก็บภาษี ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม รวมถึงสามารถปรับปรุงการให้บริการผู้เสียภาษีอย่าง ถูกต้อง รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์

      3. พัฒนาระบบ VAT Fraud เพื่อมาวิเคราะห์ข้อมูลของผู้เสียภาษี ทำให้สามารถวิเคราะห์การปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีได้อย่างแม่นยำ

      4. ด้านนโยบายภาษีอากร กรมสรรพากรได้พัฒนาระบบ Policy Simulation ในการวิเคราะห์ข้อมูล Data Analytics มาวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจด้านต่างๆ ของประเทศ เพื่อกำหนดนโยบายทางด้านภาษีให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

      5. พัฒนาระบบ Tax Forecasting มาช่วยในการวิเคราะห์และจัดทำประมาณการภาษี ทั้งในระดับประเทศ และระดับหน่วยกำกับดูแล ทำให้กรมสรรพากรสามารถบริหารการจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

      6. พัฒนาระบบ Taxpayer Analysis เพื่อศึกษาพฤติกรรมของผู้เสียภาษี โดยได้นำข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ความผิดปกติ เพื่อจำแนกผู้เสียภาษีเป็นกลุ่มดี กลุ่มเสี่ยง และเป็นข้อมูลสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในการกำกับดูแลผู้เสียภาษีได้อย่างเป็นธรรม

       7. พัฒนาระบบ Social Network Analysis เพื่อศึกษาพฤติกรรมของผู้เสียภาษีในรูปแบบของความสัมพันธ์การเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจต่อกัน ซึ่งทำให้กรมสรรพากรสามารถตรวจสอบและกำกับ ดูแลผู้เสียภาษีได้อย่างเป็นธรรม

ดร.เอกนิติกล่าวว่า นอกจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ Data Analytics มาสนับสนุนกระบวนการทำงานแล้ว กรมสรรพากรยังใช้เทคโนโลยีดังกล่าวมาช่วยในการให้บริการและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เช่น

      1. ปรับปรุงระบบ My Tax Account ใหม่ โดยเพิ่มวิธีการยืนยันตัวตนด้วย NDID ช่วยให้ผู้เสียภาษีเข้าถึงข้อมูลและบริการบนเครือข่าย อินเทอร์เน็ต ตรวจสอบข้อมูลค่าลดหย่อนต่างๆ ด้วยตนเองก่อนยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 เช่น เงินสมทบกองทุน ประกันสังคม เบี้ยประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้ เงินบริจาคผ่านระบบ e-Donation เงินสะสมกองทุนบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการ (กบข.) เบี้ยประกันชีวิต เบี้ยประกันสุขภาพบิดา มารดา เป็นต้น

      2. การพัฒนา Smart Financial Infrastructure for Business ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมข้อมูล 3 ส่วนเข้าไว้ด้วยกันคือ ข้อมูลซื้อขาย ข้อมูลการชำระเงิน และข้อมูลภาษีเพื่อยกระดับการทำธุรกรรมครบวงจรทั้งการค้า การชำระภาษี และสินเชื่อ

       3. ระบบขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินสำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ อ.ส.9 หรือ e-Stamp Duty รองรับการทำธุรกรรม 5 ตราสารอย่างเต็มรูปแบบ และได้เปิดให้บริการตราสาร e-Stamp Duty เพิ่ม 22 ตราสาร ส่งผลให้ครอบคลุมครบทุกประเภทตราสารตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์

        4. ระบบ VES หรือ VAT for Electronic Service เป็นระบบที่กรมสรรพากรได้จัดทำขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจไอทีข้ามชาติที่ ให้บริการ e-Service จากต่างประเทศ

 

เตรียมแผนระยะสั้น-ปานกลาง

เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี

ดร.เอกนิติกล่าวว่า ในไตรมาสแรก ของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.64-ธ.ค.64) กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้จำนวน 411,377 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 57,622 ล้านบาท หรือ 16.3% สูงกว่าประมาณการตาม เอกสารงบประมาณ 49,696 ล้านบาท หรือ 13.7% เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และอากรแสตมป์ จัดเก็บได้สูงกว่าปีก่อน สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว

สำหรับปีงบประมาณ 2565 กรมสรรพากรได้รับเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ตามเอกสารงบประมาณ จำนวน 1,876,100 ล้านบาท ใกล้เคียงผลจัดเก็บในปีงบประมาณ 2564 ภายใต้สมมติฐานการเติบทางเศรษฐกิจที่ 3.0-4.0% และอัตราเงินเฟ้อ 0.7-1.7%

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของ COVID-19 อาจส่งผลกระทบการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในอนาคต หากมีการเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 โดยจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งการจ้างงาน จำนวนนักท่องเที่ยว รายได้ และกำไรของธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลให้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และอากรแสตมป์จัดเก็บ ได้ลดลง นอกจากนี้ หากรัฐบาลมีมาตรการบรรเทาภาระภาษีเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีให้ลดลงด้วย

“การระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์ Omicron อาจส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในอนาคต ขณะที่โลกปัจจุบันยังมีความผันผวน ไม่แน่นอน ดังนั้น วิธีการทำงานต้องมีความ Agile มากขึ้น ซึ่งโชคดีที่สรรพากรมีบุคลากรทุกคนร่วมแรงร่วมใจ มองว่า วิกฤติทำให้เราแกร่งขึ้น อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าวันนี้ระบบที่วางไว้น่าจะรองรับความผันผวนต่างๆ ได้”

อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรได้มีแนวทางและนโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง เพื่อให้การจัดเก็บภาษีอากรเป็นไปตามเป้าหมาย

โดยแบ่งเป็น แผนระยะสั้น ได้แก่

       1. การวิเคราะห์ข้อมูล Sector ศักยภาพเพื่อติดตามการจัดเก็บภาษี การติดตามจัดเก็บภาษีจากธุรกิจที่มีศักยภาพ หรือเติบโต ในสถานการณ์ปัจจุบัน และติดตามเงินงบประมาณ/เงินลงทุนภาครัฐที่ลงไปท้องที่ต่างๆ

       2. การจัดทำ Data Analytics เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี การเชื่อมโยงข้อมูลภายใน ภายนอก การเปรียบเทียบข้อมูล และจัดทำ Data Analytics เพื่อวิเคราะห์ ความเสี่ยงของรายผู้เสียภาษีที่อาจจะมีการยื่นแบบและชำระภาษีไว้ไม่ถูกต้อง

       3. แผนกำกับตรวจสอบภาษีเงินได้นิติบุคคลเชิงลึก ในประเด็นความผิดปกติที่มีนัยสำคัญ การวิเคราะห์แบบแสดงรายการภาษี งบการเงิน การตรวจสอบภาษีในเชิงลึก โดยการวิเคราะห์ประเด็น ที่มีนัยสำคัญทางภาษี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามจัดเก็บภาษีให้ถูกต้องต่อไป

        4. การตรวจสอบราคาโอน และเร่งรัดการจัดทำข้อตกลง การกำหนดราคาเป็นการล่วงหน้า (APA) การตรวจสอบกิจการข้ามชาติที่มีบริษัทแม่ในต่างประเทศและมีบริษัทลูกในไทยที่มีการกำหนดราคาโอน ระหว่างกัน ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามประมวลรัษฎากรและการเจรจาทำความตกลงการกำหนดราคาเป็นการล่วงหน้า (APA) ระหว่างสรรพากรไทย และสรรพากรต่างประเทศ และผู้เสียภาษี

        5. แผนขยายฐานภาษีเชิงกว้างสำหรับผู้เสียภาษีที่อยู่นอกระบบภาษี ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลภายใน ภายนอก และเครื่องมือ Data Analytics โดยมุ่งเน้นไปที่ผู้ประกอบการรายใหม่ หรือผู้ที่อยู่นอกระบบภาษี เพื่อขยาย ฐานภาษีให้เข้าสู่ระบบมากขึ้น

        6. กำกับดูแลและติดตามผู้ประกอบการ e-Service การติดตามผู้ประกอบการ Electronic Platform ต่างประเทศ ที่มีการให้บริการในประเทศไทย เช่น Google, Facebook, Agoda และ Netflix เป็นต้น

        7. ติดตามผู้ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี (แผนติดตาม Non-Filer) การติดตามกลุ่มผู้มีเงินได้จากเงินเดือน ค่าจ้างที่มีเงินได้ถึงเกณฑ์ตามกฎหมาย แต่ไม่ได้ยื่นแบบ แสดงรายการภาษี หรือกลุ่มผู้มีเงินได้ที่เคยยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้แต่ภายหลังขาดการยื่นแบบฯ เพื่อติดตามให้ กลับมายื่นแบบให้ถูกต้อง โดยจะดำเนินการติดตามการยื่นแบบทุกประเภทภาษี

นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังได้กำหนดแผนระยะกลาง โดยการปรับปรุงกฎหมายภาษีระหว่างประเทศเพื่อรองรับมาตรฐานสากล โดยกรมสรรพากรได้มีการเตรียมการเพื่อปรับปรุงกฎหมายภาษีระหว่างประเทศเพื่อรองรับมาตรฐานสากล ซึ่งปัจจุบันกรมสรรพากรอยู่ระหว่างการศึกษาและเตรียมความพร้อมในการนำข้อเสนอการจัดเก็บภาษี ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลของ OECD (Pillar 1 และ Pillar 2) มาปฏิบัติ

ทั้งนี้ การปรับปรุงกฎหมายภาษีระหว่างประเทศเพื่อรองรับมาตรฐานสากลมีวัตถุประสงค์ในการป้องกัน การกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนย้ายกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษี (Tax Haven) สร้างความเป็นธรรม ในการจัดเก็บภาษี รวมทั้งการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี และเพื่อป้องกันประเทศต่างๆ ดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยการเก็บภาษีในอัตราต่ำ

“ที่ผ่านมา เราได้ขยายฐานภาษีโดยการจัดเก็บภาษีใหม่คือ e-Service ขณะที่ปัจจุบันสรรพากรอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายภาษีระหว่างประเทศเพื่อรองรับกติกาโลกในการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลระหว่างประเทศ เพื่อเป็นฐานภาษีใหม่ สร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี รวมทั้งการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้”

นอกจากนี้ กรมสรรพากรมีความร่วมมือกับหน่วยงานจัดเก็บภาษีในต่างประเทศเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีอากรทั้งในรูปแบบความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคี ซึ่งการดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีอากรนั้น เป็นเครื่องมือในการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีอากรและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี

“หลักในการเก็บภาษีของกรมสรรพากรคือเพื่อสร้างความเป็นธรรมโดยการทำให้คนเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น หากปล่อยให้เกิดความไม่เป็นธรรมคนดีหรือคนที่เสียภาษีถูกต้องก็ไม่อยากเป็นคนดี เห็นได้จากหลายประเทศที่ปัจจุบันจัดเก็บรายได้ไม่ได้เพราะคนไม่เสียภาษี เนื่องจากรู้สึกไม่เป็นธรรม”

 

เผยความคืบหน้าภาษี e-Service

จัดเก็บได้แล้วกว่า 2.5 พันล้านบาท

ดร.เอกนิติยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดเก็บภาษี e-Service โดยตั้งแต่ 1 กันยายน 2564 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ประกอบการต่างประเทศมาจดทะเบียนและนำส่งภาษีแล้วกว่า 123 ราย จาก 5 ประเภท Platform ใกล้เคียงกับประเทศต่างๆ ที่มีการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการในประเทศ ขณะที่มีภาษีชำระต่อเดือนกว่า 630 ล้านบาท โดยผลจัดเก็บสะสมถึงเดือนมกราคม 2565 รวมจัดเก็บได้ 2,525.47 ล้านบาท


ติดตามคอลัมน์ Exclusive Interview ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนมีนาคม 2565 ฉบับที่ 479

ในรูปแบบดิจิทัล :  https://goo.gl/U6OnIi   

รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt