INTERVIEW • PEOPLE

People : พีระภัทร ศิริจันทโรภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SHARGE)

พีระภัทร ศิริจันทโรภาส

กรรมการผู้จัดการ

บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SHARGE)


สร้างระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้า

ผู้ให้บริการด้านการชาร์จครบวงจร

 

เมื่อภาครัฐและองค์กรต่างๆ เริ่มหันมาสนใจในเรื่องพลังงานสะอาดมากขึ้น จึงเปรียบเสมือนตลาดด้านพลังงานกำลังจะถูกรีเซ็ตใหม่ทั้งหมดและสร้างโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่ที่ไม่ใช่ผู้ผลิตพลังงานแบบเดิม เช่น บริษัทเทคโนโลยี บริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งบุคคลธรรมดาที่มีพื้นที่ว่างสามารถก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมพลังงานสะอาดสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าได้ทั้งสิ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นปั๊มน้ำมันเหมือนเดิมเสมอไป


ปัจจุบัน กระแสการใช้พลังงานทางเลือกกลายมาเป็นกระแสที่ได้รับการตอบรับและการสนับสนุนในระดับสากล เห็นได้จากนโยบายหลายประเทศทั่วโลกมีแนวทางให้ทุกภาคส่วนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสนับสนุนการลงทุนในพลังงานสะอาดเพื่อพัฒนาสภาพภูมิอากาศให้ดีขึ้น และหนึ่งในเทรนด์พลังงานสะอาดที่น่าจับตามองที่สุดในปัจจุบันคือ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า

 

การเงินธนาคาร ได้สัมภาษณ์ พีระภัทร ศิริจันทโรภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SHARGE) ผู้นำด้านการสร้าง EV Charging Ecosystem เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนที่มาของ SHARGE และมุมมองต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

 

 

สร้างระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้าครบวงจร

คือหัวใจหลักของ SHARGE

 

พีระภัทรเล่าว่า ก่อนที่จะก้าวสู่ผู้ก่อตั้งธุรกิจเกี่ยวกับ EV Charging นั้น เดิมเคยทำงานเป็นนักวิเคราะห์ทางการเงินที่ KPMG ก่อนจะมาทำงานที่ปรึกษาของ The Quant Group เกี่ยวกับมาตรการทางกฎหมายและนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในต่างประเทศ

ผมสนใจเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่เมื่อครั้งที่ยังศึกษาอยู่ ประกอบกับช่วงที่อยู่ต่างประเทศนั้นเป็นช่วงที่ Tesla กำลังเริ่มทำตลาดในอเมริกา ทำให้มีโอกาสได้ผ่านโชว์รูมของ Tesla ทุกวันขณะเดินทาง บวกกับผมเป็นคนที่ชื่นชอบรถยนต์อยู่แล้ว จึงได้จุดประกายความคิดในการทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าและคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าจะเติบโตในอนาคต

เมื่อลองเข้ามาศึกษาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า พีระภัทรบอกว่า สิ่งที่เห็นจริงๆ คือ โอกาสการเติบโตด้านพลังงานที่มีอยู่มากมาย จะเห็นได้ว่า เทรนด์เรื่องโลกร้อนนั้นถูกพูดกันมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นหนึ่งในมิติหลักของโลกที่คนหันมาสนใจ ปัญหามลพิษและสุขภาพกลายมาเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกใส่ใจมากขึ้น อีกทั้งภาครัฐและองค์กรต่างๆ ทั่วโลกนั้น เริ่มหันมาสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนมากยิ่งขึ้น 

 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่หลายราย เริ่มหันมาผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับการกำกับดูแลของภาครัฐในหลายประเทศ ดังนั้น เมื่อภาครัฐและองค์กรต่างๆ เริ่มหันมาสนใจในเรื่องพลังงานสะอาดมากขึ้น จึงเปรียบเสมือนตลาดด้านพลังงานกำลังจะถูกรีเซ็ตใหม่ทั้งหมด และสร้างโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่ที่ไม่ใช่ผู้ผลิตพลังงานแบบเดิม เช่น บริษัทเทคโนโลยี บริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งบุคคลธรรมดาที่มีพื้นที่ว่างก็สามารถก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมพลังงานสะอาดสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าได้ทั้งสิ้น โดยไม่จำเป็นต้องเป็นปั๊มน้ำมันเหมือนเดิมเสมอไป

 

หลังจากที่เริ่มเห็นโอกาส เราก็เริ่มศึกษาจากผู้ให้บริการเครื่องชาร์จไฟในรถยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มประเทศที่เริ่มมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างแพร่หลายอย่างโซนยุโรป ว่ามีการเซ็ตอัพตลาด สถานี ระบบของเครื่องชาร์จ รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในยุโรปตัวไหนเหมาะสมกับการจะนำมาใช้ในไทย แล้วจึงนำเข้ามาทดลองติดตั้ง และทำการตลาดจนกระทั่งสามารถเปิดตลาดด้วยการติดให้ที่เซ็นทรัลเอ็มบาสซีเป็นครั้งแรก

 

ก้าวแรกแห่งการเป็นผู้ให้บริการด้านการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของ SHARGE จึงเติบโตขึ้น ถือเป็นธุรกิจเพื่อเข้ามาสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศต่อการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัว ด้วยการเป็นผู้ให้บริการด้านการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร ทั้งในรูปแบบของการจำหน่ายอุปกรณ์ชาร์จสำหรับติดตั้งตามที่อยู่อาศัย และแหล่งไลฟ์สไตล์ รวมถึงการพัฒนาสถานีชาร์จ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ   



 

 

อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยอยู่ในขั้นเริ่มต้น

 

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยนั้น พีระภัทรมีมุมมองว่า สิ่งที่ยังจัดว่าสู้ต่างประเทศไม่ได้คือ ไทยยังไม่มีแบรนด์รถยนต์เป็นของตนเองบวกกับแบรนด์รถยนต์ ทั้งจากจีนและยุโรปก็เริ่มนำรถไฟฟ้าเข้ามาทำตลาดในไทยบางส่วนแล้ว จึงทำให้เบื้องต้น คนไทยต้องพึ่งการเข้ามาทำตลาดจากแบรนด์ต่างประเทศอยู่ แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ในปัจจุบันถือว่าคนไทยเริ่มหันมาสนใจรถยนต์ไฟฟ้าแล้วบ้าง

 

ราคารถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยนั้นอยู่ในระดับเดียวกับรถยนต์ระดับลักซ์ชัวรี่เป็นส่วนใหญ่ ส่วนระดับราคาที่เทียบเท่ารถยนต์ทั่วไปปัจจุบันก็นับว่ายังมีตัวเลือกน้อย ทำให้ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าถือว่าเป็นของแพง และการยอมรับยังไม่แพร่หลายมากนัก

 

นอกจากนี้ หากเทียบกับทั่วโลกไทยยังถือว่าอยู่ในจุดเริ่มต้นเพราะถ้ามองจากยอดขายไทยมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเทียบกับรถยนต์ทั้งหมดในตลาดไม่ถึง 1% ซึ่งถ้าเทียบกับยุโรปอยู่ที่ 5% และจีน 20 % เนื่องจากภาครัฐของประเทศที่มีอัตราการใช้รถยนต์ไฟฟ้าสูงนั้นลงมาผลักดันการใช้รถไฟฟ้าอย่างมาก แต่ก็ยังมีสิ่งที่น่าแปลกใจคือถ้าวัดจากยอดขายจริงๆ ประเทศที่มีสัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าใกล้เคียงกับไทยคือสหรัฐอเมริกา

 

แม้ว่าอเมริกาจะมี Tesla ซึ่งถือเป็นเรือธงแห่งรถยนต์ไฟฟ้า แต่ด้วยตลาดรถยนต์ในอเมริกามีขนาดใหญ่มาก เมื่อเทียบสัดส่วนรถยนต์ทั้งหมดต่อรถยนต์ไฟฟ้าจึงทำให้ตัวเลขของผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในอเมริกายังดูไม่สูงมากนัก” 

พีระภัทรเสริมว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันได้รับความนิยมนั้น หัวใจหลักมาจากการอำนวยความสะดวกของภาครัฐให้กับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค หากสังเกตในประเทศที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตมากๆ อย่างจีนและนอร์เวย์นั้น มีผลมาจากการสนับสนุนของภาครัฐทั้งสิ้น ทั้งในเรื่องกฎหมายภาคบังคับในเรื่องมลพิษ การอำนวยความสะดวกให้ผู้ผลิต และการช่วยเหลือในเรื่องเพดานราคารถสำหรับผู้บริโภค

 

อย่างไรก็ดี แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะยังไม่เป็นที่นิยม แต่สิ่งที่รถยนต์ไฟฟ้ายังคงครองความได้เปรียบรถยนต์สันดาป นั่นก็คือ ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาที่ถูกกว่ารถยนต์ทั่วไปในเกือบทุกด้าน ทั้งค่าดูแลรักษาที่ไม่จุกจิก จำนวนชิ้นส่วนอะไหล่ที่น้อยลง ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องหรือน้ำมันเกียร์แบบรถสันดาปทั่วไป และค่าใช้จ่ายด้านการเติมพลังงาน ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้านั้นมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่ารถยนต์สันดาปประมาณ 3 เท่า ดังนั้น เรื่องราคาจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดยานยนต์ทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ

 

สำหรับการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกนั้นในปัจจุบันถ้านับเป็นจำนวนที่วิ่งอยู่บนถนนนั้นยังมีเพียงแค่ 2-4% ทั่วโลกเนื่องจากรถยนต์ที่เป็นเครื่องสันดาปมีฐานการผลิตและการใช้งานมามากกว่า 50 ปีโดยประมาณทั่วโลก แต่หากมองจากยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าต่อปี จะเห็นได้ว่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 10% เมื่อเทียบกับยอดขายรถทั้งหมด 

 

ดังนั้น ด้วยการผลักดันของภาครัฐในหลายประเทศที่เริ่มออกกฎหมายให้ผู้ผลิตรถยนต์จำเป็นต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกจำหน่ายเพื่อลดมลพิษ รวมถึงในด้านผู้บริโภคเองหลายประเทศภาครัฐก็มีการสนับสนุนทางด้านราคาให้ถูกลง ผู้บริโภคก็เริ่มหันมาสนใจรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น อีกทั้งผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในปัจจุบันเริ่มหันมาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจังมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น Volkswagen, Mercedes-Benz และ BMW ทำให้ในภาพรวมผู้คนจะเริ่มสนใจรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นในทุกๆ ปี



 

 

เปิดโมเดล SHARGE ผู้ให้บริการเครื่องชาร์จ

ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้อย่างแท้จริง    

 

สำหรับโมเดลธุรกิจของ SHARGE พีระภัทรอธิบายว่า จะแบ่งเป็น 2 โมเดลหลักด้วยกันคือ 1. ขายเครื่องชาร์จและโซลูชั่น และ 2. การเซ็ตอัพสถานีและขายการเติมพลังงาน ในส่วนของพันธมิตรทางธุรกิจหลักๆในส่วนแรกคือ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทรถยนต์ที่ทาง SHARGE เข้าไปร่วมเซ็ตอัพสถานีชาร์จให้ตามหมู่บ้านหรือคอนโดมิเนียม รวมถึงให้บริการติดตั้งเครื่องชาร์จสำหรับลูกค้าบริษัทรถยนต์ที่จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า และในส่วนที่สองคือ พันธมิตรที่เป็นจุดให้บริการตามสถานที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานีบริการน้ำมัน และอาคารสำนักงาน

 

ในส่วนของการบริหารจัดการเครื่องชาร์จนั้น ถ้าเป็นเครื่องที่ติดตั้งตามสถานที่ต่าง SHARGE สามารถเช็คสเตตัสของเครื่องได้ว่าเครื่องไหนทำงานอยู่ เครื่องไหนเสีย แต่สำหรับลูกค้าที่ซื้อเครื่องไปติดตั้งที่บ้านหรือคอนโดมิเนียมนั้น บริษัทไม่สามารถเช็กได้ว่าเครื่องทำงานอยู่หรือไม่เนื่องจากเป็นสิทธิส่วนบุคคลของลูกค้า แต่หากเครื่องมีปัญหาทางบริษัทก็มีทีมงานให้โทรติดต่อพร้อมจะให้ช่วยเหลือตลอดเวลา

 

นอกจากนั้น SHARGE ยังมีแอปพลิเคชั่นให้สำหรับลูกค้าไว้เช็กว่าตามที่สาธารณะจุดไหนมีเครื่องชาร์จให้บริการอยู่ โดยลูกค้าสามารถจองคิวและเลือกประเภทการชาร์จไว้ล่วงหน้า สามารถตรวจสถานะสอบการชาร์จและจ่ายค่าพลังงานผ่านแอปพลิเคชั่นได้ 

 

ล่าสุด SHARGE ได้เตรียมการออก TOKEN เพื่อให้เพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าในการใช้จ่ายค่าพลังงานและในอนาคตอาจจะสามารถเพิ่มลูกเล่นอย่างอื่นได้ด้วย ซึ่งส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ลูกค้าสามารถสัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรมได้เร็วที่สุดเนื่องจากผู้ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า แอปพลิเคชั่นที่ใช้ระบุจุดชาร์จเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีติดตัวไว้ด้วยเช่นกัน

 “ปัจจุบัน SHARGE มีความพร้อมในการให้บริการผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร เพราะอุปกรณ์ต่าง เครื่องชาร์จ ของ SHARGE นั้นเป็นอุปกรณ์มาตรฐานระดับโลก รวมถึงแอปพลิเคชั่นก็เป็นสิ่งที่บริษัทพัฒนาและดูแลระบบทั้งหมดด้วยตนเอง ทำให้บริษัทสามารถปรับเปลี่ยนแอปพลิเคชั่นให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้ตลอดเวลา ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้อย่างแท้จริง

 



ชูโรดแมป 5 ปี

ตั้งเป้ายอดขาย 3,000 ล้านบาท 

 

พีระภัทรมีมุมองว่า ภายใน 5 ปี การใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาจากทั้งปัจจัยที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลกและการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น สำหรับไทยเองก็พบว่าปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาเรือนกระจกมาจากภาคการขนส่งถึง 27% จึงคาดว่าไทยจะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ตื่นตัวกับเทรนด์ดังกล่าวได้

 

ดังนั้น SHARGE ได้วางโรดแมป 5 ปีตั้งเป้ายอดขาย 3,000 ล้านบาท ดำเนินผ่านกลยุทธ์ LIFESTYLE CHARGING ECOSYSTEM เพื่อเติมเต็มไลฟ์สไตล์และอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตของลูกค้าอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการใช้รถพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายตามพฤติกรรมของผู้บริโภค 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

         

        NIGHT : กลุ่มผู้ใช้บริการชาร์จที่เน้นการชาร์จที่บ้าน ซึ่งกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนสูงสุดหรือคิดเป็น 80% ของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด เพราะจากการศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าใน สหรัฐฯ จีน และยุโรป พบว่า ส่วนใหญ่จะนิยมชาร์จที่บ้านในเวลากลางคืน เพราะสะดวกและเหมาะกับไลฟ์สไตล์ประจำวันที่คนส่วนใหญ่จะจอดรถไว้บ้านในเวลากลางคืน รวมถึงการชาร์จตามบ้านมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ถูกกว่า

 

         DAY : กลุ่มผู้ใช้บริการชาร์จที่เน้นการชาร์จที่จุดหมายปลายทาง เช่น การชาร์จตามศูนย์การค้า แหล่งไลฟ์สไตล์ต่างๆ สถานศึกษา และอาคารสำนักงาน โดยกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 15%

 

         ON THE GO : กลุ่มผู้ใช้บริการชาร์จที่เน้นการชาร์จที่ต้องการชาร์จตามสถานีชาร์จระหว่างการเดินทางข้ามจังหวัด หรือการท่องเที่ยว ซึ่งกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนน้อยที่สุดคือ 5% ของจำนวนผู้บริโภคทั้งหมด

 

สำหรับกลยุทธ์การเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้ง 3 กลุ่มนั้น SHARGE ได้จับมือกับพันธมิตรที่หลากหลายกลุ่มธุรกิจเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้ตรงกับพฤติกรรมผู้บริโภคมากที่สุด รวมถึงจัดหาโซลูชันการชาร์จให้กับพันธมิตร เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในทุกกลุ่มแบบเฉพาะเจาะจง

 

โดยเริ่มจากกลุ่ม NIGHT ที่ได้ร่วมมือกับบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย 5 ราย ในการติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จให้กับโครงการที่อยู่อาศัยทุกประเภททั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียม ทำให้ปัจจุบันมีหัวชาร์จครอบคลุมการให้บริการมากกว่า 25,000 ครัวเรือน ที่อยู่ในแผนที่จะมาใช้บริการติดตั้งอุปกรณ์จากชาร์จ ซึ่งจากกลุ่มลูกค้าที่ต้องการติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จตามที่อยู่อาศัยนี้จะสนับสนุนให้ SHARGE ก้าวสู่การเป็นเบอร์หนึ่งของผู้ให้บริการได้ 

 

ส่วนกลยุทธ์การเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่ม DAY นั้น SHARGE ได้จับมือกับศูนย์การค้าและค่ายรถยนต์ชั้นนำกว่า 7 ราย แบ่งเป็น ศูนย์การค้า 5 แห่ง ค่ายรถยนต์ 2 แห่ง ในการติดตั้งหัวชาร์จที่ศูนย์การค้าและโชว์รูม ซึ่งล่าสุดได้ทำการติดตั้งหัวชาร์จที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี และเซ็นทรัล ชิดลม และดูแลงานด้านระบบการให้บริการการชาร์จ

 

พีระภัทรเสริมว่า สำหรับเครื่องชารจ์ที่ทาง SHARGE จัดไว้บริการนั้นมีหัวชาร์จที่สามารถรองรับการชาร์จได้ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นการชาร์จธรรมดาหรือการชาร์จด่วนขึ้นอยู่กับรถที่นำมาใช้บริการว่ารองรับการชาร์จแบบใด และส่วนใหญ่รถยนต์ที่เป็นระบบไฟฟ้าล้วนจะสามารถชาร์จได้ทั้งชาร์จด่วนและชาร์จธรรมดาขึ้นอยู่กับว่ารถคันนั้นใช้หัวชาร์จประเภทไหนเช่นกัน แต่สำหรับรถปลั๊กอินไฮบริดนั้นจะชาร์จได้แค่แบบธรรมดา ซึ่งความเร็วในการชาร์จไฟก็มีตั้งแต่ 5 นาทีไปจนถึงเป็น 10 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิดของแบตเตอรี่

 

แน่นอนว่า การชาร์จไฟฟ้าจะยังเสียเปรียบเรื่องระยะเวลาในการชาร์จหากเทียบกับการเติมน้ำมันทั่วไป แต่สิ่งที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้า ได้เปรียบกว่ารถสันดาปทั่วไปคือสามารถเติมพลังงานที่ไหนก็ได้ที่มีเครื่องชาร์จ ไม่ว่าจะที่บ้าน ที่ทำงาน หรือที่ห้างสรรพสินค้า ไม่เหมือนรถยนต์ใช้น้ำมันที่จำเป็นต้องขับไปเติมที่ปั๊มน้ำมันอย่างเดียว อีกทั้งเทคโนโลยีการชาร์จและก็ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นทุกวัน ปัจจุบันจึงถือว่ายังเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น



ติดตามคอลัมน์ People ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนสิงหาคม 2564 ฉบับที่ 472 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi