INTERVIEW • PEOPLE

People : สุชาติ ระมาศ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารศักยภาพองค์กรและธรรมาภิบาล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

สุชาติ ระมาศ

 

รองกรรมการผู้จัดการใหญ่

 

บริหารศักยภาพองค์กรและธรรมาภิบาล

 

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

 

 

ผสานความต่าง

 

ขับเคลื่อน ปตท. สู่โลกยุคใหม่

 

การผสมผสานพนักงานทั้ง 2 เจเนอเรชั่น เป็นความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความแตกต่างด้านความคิด ความเชื่อ และความคาดหวังในการทำงาน ซึ่งเราลดช่องว่างระหว่างวัยนั้นด้วยการเสริมสร้างค่านิยม SPIRIT เพื่อปรับจูนความคิด ความเชื่อ ผ่านวิถีการทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดคนเก่งและคนดีขององค์กร

 

พนักงานถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กร โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ที่ก่อตั้งมายาวนาน ซึ่งเป็นแม่เหล็กดึงดูดบรรดาหัวกะทิในด้านต่างๆ ให้มารวมอยู่ในที่เดียวกัน แต่การขับเคลื่อนธุรกิจในปัจจุบัน หลายสิ่งเปลี่ยนไป การดึงดูดคนเก่ง คนดี เข้ามาในองค์กรเพียงอย่างเดียวไม่พอ แต่จะต้องผสานความต่างของแนวคิดการทำงาน จากช่องว่างระหว่างวัยให้ได้อย่างลงตัวด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะถือเป็น 1 ในกุญแจสำคัญที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนธุรกิจสู่โลกยุคใหม่

 

การเงินธนาคาร ได้สัมภาษณ์พิเศษ สุชาติ ระมาศ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารศักยภาพองค์กรและธรรมาภิบาล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถึงแนวทางพัฒนาบุคลากรของ ปตท. ในการขับเคลื่อนองค์กรภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ “Powering Life with Future Energy and Beyond” ที่เป็นการทลายกรอบเดิม มุ่งตรงสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และการใช้ค่านิยมองค์กรอย่าง SPIRIT ในการหลอมรวมพนักงาน ปตท. เดิม กับคนรุ่นใหม่ที่มาพร้อมทักษะ แนวคิด และวิธีการทำงานแบบใหม่ เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

 

 

ขับเคลื่อนองค์กรด้วย SPIRIT

 

ผสาน 2 เจน เดินหน้าสู่ยุคใหม่

 

สุชาติ เริ่มให้สัมภาษณ์พิเศษว่า สิ่งที่อยู่คู่กับองค์กรอย่าง ปตท. มาอย่างยาวนานคือ ค่านิยมองค์กรที่เรียกว่า SPIRIT ซึ่งเป็นแนวทางที่ใช้ส่งเสริมบุคลากรให้เป็นคนดี คนเก่ง ให้สามารถเติบโตได้ เมื่อผสานกับวิสัยทัศน์ใหม่ “Powering Life with Future Energy and Beyond” ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต ที่เป็นการประกาศว่า ปตท. จะก้าวไปสู่สิ่งใหม่นอกเหนือจากธุรกิจเดิมที่ทำอยู่ ยิ่งเสริมให้พนักงานต้องมีการเรียนรู้สิ่งใหม่ ผลักดันให้องค์กรก้าวสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning Organization ที่มุ่งมั่น ปรับตัว ให้สามารถยืนอยู่ในโลกธุรกิจยุคต่อไปได้อย่างแข็งแกร่ง


เรื่องการปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ของพนักงานเป็นสิ่งที่ ปตท. มุ่งเน้นอย่างมาก เพราะการก้าวไปสู่อนาคตภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ ต้องเผชิญความท้าทายมหาศาล ซึ่ง ปตท. มีนโยบายสนับสนุนและให้โอกาสพนักงานทุกคนในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างเต็มที่ เพราะมองว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดขององค์กรคือพนักงาน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ พนักงานถือเป็นฟันเฟืองที่มีความสำคัญที่สุด

  

ปัจจุบัน ปตท. มีพนักงานทั้งหมดประมาณ 3,500 คน สามารถมองได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1. บุคลากรกลุ่มที่มีประสบการณ์ใน ปตท. ทำงานในธุรกิจเดิมที่จำเป็นต้องพัฒนาตัวเองด้วยการ Upskill และ Reskill เพื่อทำให้งานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 2. กลุ่มบุคลากรรุ่นใหม่เฉพาะทางที่จะเข้ามาช่วยเสริมทัพในการผลักดันธุรกิจใหม่ของ ปตท. ซึ่งพนักงานทั้ง 2 กลุ่มนี้ได้ถูกผสมผสานให้อยู่ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน คือการขับเคลื่อน ปตท. สู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน

 

การผสมผสานพนักงานทั้ง 2 กลุ่ม หรือ 2 เจเนอเรชั่น เป็นความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความแตกต่างด้านความคิด ความเชื่อ และความคาดหวังในการทำงาน ซึ่งเราลดช่องว่างระหว่างวัยนั้นด้วยการเสริมสร้างค่านิยม SPIRIT เพื่อปรับจูน ความคิด ความเชื่อ ผ่านวิถีการทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดคนเก่งและคนดีขององค์กร

 

สุชาติ กล่าวต่อว่า ค่านิยม SPIRIT ยังส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ระหว่างรุ่นพี่ รุ่นน้อง นอกจากนี้ ยังเน้นการเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง สร้างบรรยากาศให้พนักงานรุ่นใหม่ ได้แสดงความคิดเห็น ลงมือทำตามแนวคิดสร้างสรรค์ของตนเองโดยไม่ปิดกั้น และยังเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการทำความดีเพื่อสังคม ชุมชน ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมถึงมุ่งมั่นในการเป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจบนหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อเป็นองค์กรที่ดีของประเทศ

 

 

สร้างความผูกพัน รุ่นสู่รุ่น

 

เปิดรับทุกความต่าง ไม่มีแบ่งแยก

 

สุชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา พนักงาน ปตท. ถูกฝึกให้ต้องมีความพร้อม สำหรับการเปลี่ยนแปลง และมุ่งเน้นการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคแรกๆ รวมถึงการทำงานแบบครอบครัวในลักษณะพี่สอนน้อง วันนี้ ปตท. เปิดโอกาสให้คนในองค์กรได้เรียนรู้โดยใช้หลักการ 10-20-70 โดย 10 คือการเรียนรู้ อบรม 20 เป็นการสอนจากรุ่นพี่ และ 70 คือการปฏิบัติจริง ซึ่งใน ปตท. นั้นมีหน่วยงาน และหน้างานที่หลากหลาย พนักงานรุ่นใหม่จะมีโอกาสได้ลงมือปฏิบัติงานจริงหลายรูปแบบ ซึ่งพนักงานของ ปตท. สามารถเลือกได้ว่าในอนาคตอยากทำงานอะไร รวมถึงพนักงานทุกคนจะรู้ข้อมูลของตนเองว่าผลงานในอดีตของตนเองเป็นอย่างไร เพื่อนำมาปรับใช้กับทิศทางการทำงานในอนาคตได้ ส่วนด้านการทำงานก็เปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

 

จากการสำรวจ Employee Engagement ความผูกพันของพนักงาน ปตท. อยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นทุกปี ซึ่งจุดแข็งที่สามารถสร้างความผูกพัน หรือเชื่อมพนักงานไว้กับองค์กรได้คือการยอมรับความแตกต่างของพนักงานแต่ละบุคคล ไม่มีกีดกัน และไม่มีแบ่งแยก

 

สิ่งที่ ปตท. พยายามทำคือใช้ความหลากหลายของพนักงานเป็นจุดแข็ง วันนี้น้องใหม่สามารถเรียนรู้ได้รวดเร็วมีความเก่งในเรื่องความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ

 

ในขณะเดียวกันรุ่นพี่ก็จะคอยสอนน้องในด้านประสบการณ์การทำงานให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นการผสมผสานการทำงานที่กลมกล่อมเกิดเป็นความสำเร็จในการทำงาน

 

สุชาติ กล่าวว่า ปตท. ยังมีโครงการ Alternative Workforce โดยเป็นการมองหาพนักงานกลุ่มใหม่ ที่มีทักษะใหม่ มีความแตกต่างจากเดิม และใช้กลไกด้าน HR รูปแบบใหม่เพื่อดึงดูดคนกลุ่มนี้เข้ามาร่วมงาน โดยในปี 2564 ปตท. สามารถดึงดูดพนักงานที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเข้ามาร่วมงานได้ถึง 94%

 

เด็กรุ่นใหม่มีความคิดที่แตกต่าง บางคนไม่ชอบทำงานเป็นเวลา บางคนอยากทำงานที่ตนเองรัก ดังนั้น ปตท. ต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ขณะเดียวกัน ปตท. มีกลุ่มธุรกิจที่หลากหลาย จึงมีช่องทางที่คนรุ่นใหม่สามารถนำเสนอโปรเจ็กต์ที่เข้ากับธุรกิจของ ปตท. ได้ง่าย เกิดเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่เปิดให้ Startup เข้ามาทำงานร่วมกับ ปตท.

 

ดังนั้น หากนิยามพนักงาน ปตท. นยุคปัจจุบัน จะต้องเป็นคนที่มีความรู้เป็นวงกว้างหลากหลายสาขาวิชา สามารถปรับตัวเรียนรู้ได้ดีในโลกยุคใหม่ ควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ เพราะ ปตท. เป็นองค์กรที่ดูแลด้านพลังงาน เป็นแกนหลักของประเทศ พนักงานทุกคนจึงต้องทำหน้าที่เป็นแบบอย่าง ดูแล และพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคตอย่างมีคุณภาพ

 

 

 เปลี่ยนแปลง มั่นคง ยั่งยืน

 

3 ปัจจัย ดึงหัวกะทิรุ่นใหม่เข้ารั้ว ปตท.

 

สุชาติ กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในการดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมงานได้ ประกอบด้วย 3 ปัจจัยคือ

 

         1. การเป็นองค์กรแห่งการเปลี่ยนแปลง เห็นได้จากการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ เช่น ยา อาหาร รถ EV ซึ่งหลายธุรกิจใหม่นี้ แตกต่างไปจากธุรกิจพลังงานที่ ปตท. คุ้นชิน ส่งให้ ปตท. กลายเป็นองค์กรด้านพลังงานที่ปรับตัวได้เร็ว แม้จะต้องเผชิญความท้าทายหลากหลายด้าน แต่อีกทางหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาร่วมงานได้มากเช่นกัน

 

          2. ความมั่นคง การเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 40 ปี ในประเทศไทยปัจจัยนี้เป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดพนักงานระดับหัวกะทิให้เข้ามาร่วมงาน แม้ว่า ปตท. จะมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว แต่ความมั่นคงขององค์กรก็ยังคงมีแรงดึงดูดให้คนอยากมาร่วมงานกับ ปตท. อยู่เสมอ 

 

         3. ความยั่งยืน ปตท. เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับผู้คน ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจซึ่งในทุกการขับเคลื่อนทางธุรกิจ จะมีการคืนกลับสู่สังคมอยู่เสมอ

 

เมื่อนำทั้ง 3 ปัจจัยเข้ามารวมกัน ปตท. จึงเป็นองค์กรที่มีความมั่นคงแต่สามารถปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ พร้อมคำนึงถึงผลกระทบของสังคม ทำให้คนรุ่นใหม่เห็นถึงทั้งความท้าทาย และความมั่นคงในเวลาเดียวกัน รวมทั้งรู้สึกได้ว่า ปตท. พร้อมที่จะเดินหน้าและเติบโตไปกับคนรุ่นใหม่ด้วยเช่นกัน

 

คนรุ่นใหม่ยังคงต้องการทำงานในบริษัทที่มีความมั่นคงและมีโอกาสเติบโต ซึ่งกลุ่ม ปตท. มีธุรกิจที่หลากหลาย ครบวงจร ทำให้พนักงานสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างรวดเร็ว และ ปตท. ก็ดูแลพนักงานอย่างเต็มที่ด้วยสวัสดิการที่เหมาะสม และยังเปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนไอเดียกันได้อย่างอิสระ รวมถึงวิถีในการทำงานที่มีความเป็น Hybrid Workplace อย่างที่คนรุ่นใหม่ต้องการอีกด้วย

 

สุชาติ กล่าวต่อว่า ปตท. ยังมี โครงการสุขใจดี”  ซึ่งเป็นโครงการที่ ปตท.ใช้สำหรับดูแลพนักงานในเชิงลึก มีที่ปรึกษาด้านจิตวิทยาให้คำปรึกษาเพื่อลดความวิตกกังวล และความเครียดแก่พนักงาน รวมถึงมีการให้คำแนะนำในการบริหารกิจการต่างๆ เพื่อให้พนักงานทุกคนมีสุขภาพจิตที่ดีและมีความพร้อมในการทำงาน ส่งผลให้งานที่ออกมาก็จะมีประสิทธิภาพและสำเร็จไปได้ด้วยดี

  

โดยที่มาของโครงการเกิดจาก การเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายนอกองค์กร ตั้งแต่ปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่จนพนักงานไม่สามารถปฏิบัติงานที่สำนักงานได้ หรือต้องเปลี่ยนที่อยู่อาศัยจากผลกระทบของน้ำท่วม มีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ มาจนถึงการระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา ซึ่งพนักงานต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานในลักษณะ Work From Home ทำให้พนักงานหลายคนต้องอยู่แต่ในบ้านไม่ได้ออกไปไหน หรือพนักงานบางคนต้องโดนเปลี่ยนกิจกรรรมและลักษณะการทำงานจากหน้ามือเป็นหลังมือ ก่อให้เกิดความเครียดสะสมขึ้น ซึ่งบั่นทอนความสุขในการทำงาน

 

วันนี้พนักงาน ปตท. ส่วนใหญ่มีความสุขในการทำงานมากขึ้นเพราะองค์กรสามารถตอบสนองความต้องการมีแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ ให้พนักงานได้ และกิจกรรมที่องค์กรมอบให้แก่พนักงานก็ช่วยผ่อนคลายแรงกดดันได้เช่นกัน

 

 

ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรอย่างไม่หยุดนิ่ง และยึดหัวใจของพนักงานเป็นหลักสำคัญ ทำให้ทุกคนตื่นตัว สนุกในการทำงาน พร้อมจับมือร่วมฝ่าความท้าทายไปด้วยกัน ทุกสิ่งทุกอย่างสะท้อนออกมาด้วยผลงานที่เป็นเลิศ และการเป็นองค์กรที่คนรุ่นใหม่เห็นว่าน่าร่วมงานด้วยมากที่สุดในปี 2565 (Top 50 Employers in Thailand 2022) ซึ่งจัดอันดับโดย Workventure

 

 

 

ติดตามคอลัมน์ People ได้ในวารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนกรกฎาคม 2565 ฉบับที่ 483 ในรูปแบบดิจิทัล :  https://goo.gl/U6OnIi    

 

รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt