INTERVIEW • EXCLUSIVE INTERVIEW

Exclusive Interview : อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
 
เดินหน้าพัฒนาเครื่องยนต์ใหม่
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วย New Growth


“เศรษฐกิจปี 2564 จะดีแค่ไหนขึ้นอยู่กับครึ่งปีหลังจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไม่ชะลอตัวมากเกินไป โดยการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ จะช่วยกระตุ้นภาคท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ต้องควบคุมการระบาดไปพร้อมการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีมาตรการป้องกันตามแนวทางสาธารณสุข พร้อมเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชน ซึ่งรัฐบาลรับประกันว่า ในสิ้นปีนี้จะได้ฉีดวัคซีน 70% ของประชากร และได้ยืดเป้าหมายขึ้นไปเป็น 80%”

“บางคนเอาเศรษฐกิจไทยไปเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมองว่าเราโตต่ำสุดในอาเซียน แต่ต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจของเราใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย ซึ่งการที่เศรษฐกิจใหญ่การฟื้นตัวไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าไม่มีเครื่องยนต์ใหม่ หรือ New Growth ดังนั้น ในช่วงหลังการระบาดของโควิด-19 จะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและมุ่งเน้นเครื่องยนต์ใหม่ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโยได้ในระยะยาว และสามารถแข่งขันกับเวทีโลกได้”

 

เศรษฐกิจไทยปี 2564 ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงเร่งผลักดันมาตรการ โดยเฉพาะด้านการเยียวยาประชาชน ไปพร้อมกับการกระตุ้นการใช้จ่าย พร้อมเดิมหน้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ในระยะยาว

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์พิเศษ การเงินธนาคาร ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ทำให้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังได้รับผกระทบจากมาตรการคุมการระบาดที่ออกมาเพิ่มเติม ดังนั้น รัฐบาลจึงเริ่มผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด-19 พร้อมเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ เพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงท้ายของปีไม่ให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ชะลอตัวมากเกินไป

“เศรษฐกิจปี 2564 จะดีแค่ไหนขึ้นอยู่กับครึ่งปีหลังจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไม่ชะลอตัวมากเกินไป โดยการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. จะช่วยกระตุ้นภาคท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ต้องควบคุมการระบาดไปพร้อมการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีมาตรการป้องกันตามแนวทางสาธารณสุข พร้อมเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชน ซึ่งรัฐบาลรับประกันว่า ในสิ้นปีนี้จะได้ฉีดวัคซีน 70% ของประชากร และได้ยืดเป้าหมายขึ้นไปเป็น 80%”

 

มองจีดีพีปี 64-65 ไม่ติดลบ

พร้อมออกมาตรการกระตุ้นต่อเนื่อง

อาคมกล่าวว่า หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลัง คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะเติบโตได้เฉลี่ย 0.7-1.3% โดยมองว่าในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 มี 3 ปัจจัยในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ได้แก่ 1.การส่งออกที่ขยายตัวได้ดีขณะที่เงินบาทอ่อนค่า 2.การใช้จ่ายภายในประเทศ และ 3.การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวหลังจากเปิดประเทศ

“ธปท. สภาพัฒน์ และกระทรวงการคลัง คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะเติบโตได้เฉลี่ย 0.7-1.3% ขณะที่หน่วยงานเอกชนบางแห่งคาดการณ์ว่าจีดีพีจะติดลบ ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท เราต้องมาพิจารณาว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เศรษฐกิจติดลบในปีนี้ โดยกระทรวงการคลังมองว่าในช่วงมาส 3 มี 3 แรงที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจคือ การส่งออกที่ขยายตัวได้ดีขณะที่เงินบาทอ่อนค่า การใช้จ่ายภายในประเทศ และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวหลังจากเปิดประเทศ”

อาคมกล่าวต่อว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2565 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 3-4% ขณะที่รัฐบาลมองว่าจะขยายตัวได้ 4-5% โดยปัจจัยที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้าคือกระทรวงการคลังจะยังออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการออกมาตรการสนับสนุนสินเชื่อและมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

“สิ่งที่จะมาช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีหน้าคือการกระตุ้นการใช้จ่ายที่ยังมีต่อเนื่อง โดยอาจเป็นโครงการเดิมแต่เอามาทำใหม่ เช่นโครงการคนละครึ่งเฟส 4 และโครงการช้อปดีมีคืน รวมถึงมาตรการสินเชื่อและพักชำระหนี้ที่ ธปท. ดำเนินการอย่างเต็มที่”

นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คือการใช้จ่ายงบประมาณจากภาครัฐ โดยเม็ดเงินที่จะใช้สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2565 มีด้วยกัน 3 ส่วน ได้แก่        

       1. เงินกู้จาก พ.ร.ก.เงินกู้ แบ่งเป็น 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ.2563 หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

       “พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทได้จบลงแล้วเนื่องจาก พ.ร.ก. กำหนดให้กระทรวงการคลังกู้เงินได้จนถึงสิ้นเดือน ก.ย. 64 โดยกระทรวงการคลังกู้ไม่เต็มจำนวน ขาดไปประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากความล่าช้าของโครงการและการกู้เราไม่ได้กู้เอาเงินมากองไว้แต่กู้เมื่อมีความต้องการใช้เงิน ขณะที่เงินกู้ก้อนที่ 2 จำนวน 5 แสนล้านบาท ก็ใช้หลักการเดียวกัน”

       2. งบประมาณปี 2565 ซึ่งเริ่มประกาศใช้ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2564 ดังนั้น งบประมาณปี 2565 จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของปี 2564 ในไตรมาสสุดท้ายด้วย โดยจะประกอบด้วยโครงการลงทุนต่าง เงินเดือนราชการ และรายจ่ายประจำ และ

        3. เม็ดเงินของรัฐวิสาหกิจจำนวน 3 แสนล้านบาท

       “ในปี 2565 มีเม็ดเงินที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยกัน 3 ส่วน ได้แก่ เงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน เงินงบประมาณประจำปี และเม็ดเงินของรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น หากราชการพร้อม รับวิสาหกิจพร้อม เม็ดเงินของรัฐบาลออกตามกำหนดการแน่นอน”

 

4 แนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ให้พร้อมแข่งขัน-โตได้ในระยะยาว

อาคมกล่าวว่า รัฐบาลคาดว่าภายในสิ้นปี 2564 จะเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นบวกได้ โดยภาคการส่งออกสินค้าจะเป็นกุญแจขับเคลื่อนที่สำคัญ ส่วนในปี 2565 เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะฟื้นกลับมาขยายตัวได้แข็งแกร่งกว่าเดิม

สำหรับนโยบายการหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะต้องมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถเติบโตได้ในระยะยาว ได้แก่

การส่งเสริม Bio-Circular-Green Economy model หรือ BCG model ซึ่งรูปแบบทางเศรษฐกิจดังกล่าวนี้ จะให้ความสำคัญในการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างสินค้าที่มีมูลค่าสูง คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรแก่สิ่งแวดล้อม

ซึ่งรัฐบาลได้มีการดำเนินมาตรการไปบ้างแล้ว เช่น  การออกพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสังคมและเพื่อความยั่งยืน การส่งเสริมการลงทุนในยานยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2573 และในต้นปีนี้ รัฐบาลได้ประสบความสำเร็จในการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืน และได้รับการจดทะเบียนใน Luxembourg Green Exchange (LGX) ของตลาดหลักทรัพย์ลักเซมเบิร์ก

นอกจากนี้ หนึ่งในหัวข้อหลักของ BCG คือ การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งการเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ที่สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกธุรกิจไม่ว่าขนาดใดต้องคำนึงถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยโครงการของรัฐที่พยายามขับเคลื่อนคือรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้ามาหมายว่าต้องมีรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 2 แสนคัน ในปี 2573 โดยต้องพิจารณาแนวทางต่างๆ ให้รอบด้าน เช่น ใช้มาตรการภาษีจูงใจ มีเงินอุดหนุนเพื่อลดราคาลง ตลอดจนต้องพิจารณาเรื่องภาษีแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ลดค่าไฟ และลดภาษีให้ Charging Station

การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ โดยการเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ พร้อมทั้งมุ่งเน้นการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

ตลอดจนการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เพื่อเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาผลิตภาพทางการผลิตของประเทศ

“การกระตุ้นเศรษฐกิจต้องมี New Growth หรือเครื่องยนต์ตัวใหม่ ซึ่งก็คือโครงการใน EEC ที่ยังมีความต่อเนื่อง เราแบ่งเป็นสามส่วน ส่วนแรกคือ โครงสร้างพื้นฐาน สองคือโครงการของรัฐด้านนวัตกรรม และสามคือโครงการของเอกชน ทั้งหมดนี้จะเป็นโครงการ 3 ประเภทหลักที่จะสร้างความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 เป็นต้นไป”

การปรับเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล (Digitalization) เป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ทั้งภาคส่วนเอกชนและรัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีทางดิจิทัลมาปรับใช้ โดยทางรัฐบาลได้อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนด้วยบริการยื่นแบบและชำระภาษีออนไลน์ และการทำธุรกรรมออนไลน์กับรัฐวิสาหกิจ เพื่อลดต้นทุนต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมเงินสด

การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขั้นสูงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในระบบขนส่งมวลชน และพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด รวมถึงสนับสนุนผู้ผลิตพลังงานรายย่อย และส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ นวัตกรรมการจัดหาเงินทุนก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยอาจเริ่มจากการสนับสนุนให้เกิดการระดมทุนในโครงการหรือกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งคณะที่ปรึกษาหารือด้านการจัดหาทุน (A consultative group in financing) อาจจะสามารถจะเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพ

 “บางคนเอาเศรษฐกิจไทยไปเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมองว่า เราโตต่ำสุดในอาเซียน แต่ต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจของเราใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย ซึ่งการที่เศรษฐกิจใหญ่การฟื้นตัวไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าไม่มีเครื่องยนต์ใหม่หรือ New Growth ดังนั้น ในช่วงหลังการะบาดของโควิด-19จะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและมุ่งเน้นเครื่องยนต์ใหม่เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโยได้ในระยะยาวและสามารถแข่งขันกับเวทีโลกได้”

 

ขยายเพดานหนี้เพิ่มพื้นที่การคลัง

เดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างภาษี

อาคมยังได้กล่าวถึงการที่รัฐบาลได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจาก 60% เป็น 70% ว่า การขยายเพดานหนี้สาธารณะ ไม่ได้หมายความว่าขยายแล้วต้องกู้ให้เต็มเพดาน แต่เป็นการเปิดช่องไว้ให้มีพื้นที่เมื่อมีความจำเป็นต้องกู้ นอกจากนี้ การขยายเพดานหนี้สาธารณะไม่ได้ระบุไว้ว่าเฉพาะการกู้จาก พ.ร.ก. กู้เงินเท่านั้น แต่รวมถึงการกู้เงินในกรณีอื่นด้วย เช่น การกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้ หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินกู้ในการเยียวยาเศรษฐกิจจะน้อยลงเช่นกัน ดังนั้น ในอนาคตการกู้เงินจะมีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนเป็นการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจผ่านโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูง ตลอดจนการลงทุนด้านนวัตกรรม เช่น 5G

 “เรื่องการยกเพดานหนี้ของเรายกเผื่อไว้ในกรณีที่จำเป็น ขณะที่ขีดความสามารถในการชำระหนี้ไม่ได้มีปัญหา Rating Agency ยังให้ Rating ประเทศเราดีอยู่ ซึ่งหากโควิดคลี่คลายแล้วกลายเป็นโรคประจำถิ่น ความจำเป็นที่ต้องใช้เงินมาอัดฉีดพวกนี้จะน้อยลง เงินที่จะกู้มาจะใช้เรื่องของการลงทุนมากขึ้น เน้นเรื่องการลงทุนที่เกิดผลตอบแทน”

อาคมกล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมา ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ทุกประเทศเน้นมาตรการด้านการคลังคือการที่รัฐบาลกู้เงินมาใช้ในการช่วยเหลือประชาชน ดังนั้น อีกด้านต้องดูเรื่องข้อจำกัดทางด้านรายได้ โดยต้องมีการจัดเก็บรายหรือหาได้ให้มากขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของการปฏิรูปภาษีและการขยายฐานภาษี

โดยการปฏิรูปภาษีต้องพิจารณาจากหลักการของภาษีคือการสร้างความเป็นธรรม การกระตุ้นให้เกิดการลงทุน กระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน เช่น ในเรื่องโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะพิจารณาเรื่องของการหักค่าลดหย่อนให้มีความเป็นธรรมและเท่าเทียมมากขึ้น

“วันนี้กองทุนต่างๆ ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีค่อนข้างมากเพราะมีหลายกองทุน ดังนั้น เราจึงพยายามที่จะรวมเข้ามาให้เป็นกลุ่มเดียวกัน แล้วกำหนดว่ารวมทุกกองทุนแล้วลดหย่อนได้ไม่เกินเท่าไร ซึ่งจะช่วยทำให้เม็ดเงินเข้ามาสู่ภาครัฐมากขึ้น”

สำหรับการขยายฐานภาษีต้องทบทวนการจัดเก็บภาษีที่ไม่เคยเก็บมาก่อน เช่น

การจัดเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นในตลาด ซึ่งปัจจุบันมี 2 แนวคิดบางประเทศเก็บเฉพาะ Capital Gain ขณะที่บางประเทศเก็บเฉพาะ Transaction หรือบางประเทศเก็บทั้ง 2 อย่าง ขณะที่แนวคิดของประเทศไทยคือไม่ได้เก็บเฉพาะ Transaction

“เรื่องนี้อาจเป็นตัวหนึ่งที่เราคิดไว้แต่ยังไม่รู้ว่าเริ่มเมื่อไร ต้องดูสภาพเศรษฐกิจและต้องดูตลาดด้วย เรามีการพูดคุยกับทางตลาดหลักทรัพย์ฯ และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย โดยเขาเป็นห่วงว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้น แต่เราบอกว่าเขามีการเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ไว้ก็ต้องไปลดตรงนั้น แต่ในส่วนนี้เราไม่ได้เก็บมา 30 ปี เพื่อให้ตลาดโต ดังนั้น ตอนนี้น่าจะเก็บได้แล้ว”

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ร่วมมือทางด้านภาษีกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ในการดำเนินการเรื่องภาษีระหว่างประเทศ โดยแบ่งเป็น 2 Pillar ได้แก่

       1. การแบ่งปันภาษีแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ โดยแพลตฟอร์มจากต่างประเทศที่มีรายได้ในประเทศต่างๆ โดยไม่ได้มีที่ตั้งในประเทศนั้น หากมีกำไรเกิน 10% ต้องแบ่งให้ประเทศที่ไปหารายได้

       “แพลตฟอร์มจากต่างประเทศที่มีรายได้ในประเทศต่างๆ โดยไม่ได้มีที่ตั้งในประเทศนั้น หากมีกำไรเกิน 10% ต้องแบ่งให้ประเทศที่ไปหารายได้ สมมติกำไร 20% เก็บไว้ได้ 10% อีก 10% ต้องแบ่งไปคำนวณภาษีในประเทศนั้น ซึ่งเดิมคาดว่ากำหนดใช้ในปี 2566-2567 แต่มองว่าปี 2566 เร็วไป จึงขอยืดเวลาออกไปเป็นปี 2567 ซึ่งอันนี้ได้ประโยชน์กันทั่วโลก”

       2. Global Minimum Tax Rate โดยกำหนดให้เมื่อไปลงทุนประเทศใดก็ตามต้องเสียภาษีให้ประเทศนั้นขั้นต่ำ 15%และหากประเทศใดอัตราภาษีต่ำกว่า 15% ประเทศแม่มีสิทธิ์เก็บเพิ่มให้ได้ 15% โดยวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้แข่งกันลดภาษี เนื่องจากปัจจุบันทุกประเทศที่แข่งกันดึงดูดการลงทุนแข่งกันลดภาษี ซึ่งทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ

        “เราไม่ได้หวังว่ารายได้ของเราจะเติบโนเท่าในภาวะปกติเพราะต้องยอมรับว่าในปี 2565 จะยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเนื่องจากปีนี้ ภาษีนิติบุคคลอาจไม่ได้เป็นไปตามเป้าแต่เชื่อว่าเราจะเก็บได้มากกว่าปีนี้ ซึ่งการเก็บภาษีปีนี้เก็บไม่ได้ตามเป้าหมายแต่เก็บได้สูงกว่าปีที่แล้ว ปีหน้าก็เช่นเดียวกัน”

 

ติดตามคอลัมน์ Exclusive Interview ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2564 ฉบับที่ 475

ในรูปแบบดิจิทัล :  https://goo.gl/U6OnIi  


รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt