INTERVIEW • EXCLUSIVE INTERVIEW

Exclusive Interview : ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย

ผยง ศรีวณิช

ประธานสมาคมธนาคารไทย

กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย

 

ปรับปรุง ฟื้นฟูเปลี่ยนแปลง

พันธกิจภาคธนาคารกู้เศรษฐกิจไทย

 

เราอยากลดbleeding ของระบบ ประคองความบอบช้ำเพื่อให้เดินผ่านไปได้ เมื่อผู้ประกอบธุรกิจ มีความพร้อมมากขึ้น ภาระน้อยลง พอถึงเวลาที่สิ่งแวดล้อมปัจจัยมหภาคต่างๆเอื้อ วัคซีนมา ก็สร้างความมั่นใจ เกิดกิจกรรมปกติ เขาก็สามารถกลับมาแข็งแรงได้อย่างรวดเร็ว

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2564 และรุนแรงมากขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่เคยคาดว่าจะฟื้นตัวในครึ่งปีหลังอาจจะล่าช้าออกไป และส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนและภาคธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง (เอสเอ็มอี) รวมไปถึงธุรกิจขนาดใหญ่มากขึ้นด้วย

ภาครัฐและเอกชน ต่างร่วมกันที่จะช่วยแก้ไขวิกฤตดังกล่าว โดยเฉพาะสมาคมธนาคารไทย

และธนาคารสมาชิกได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้า

ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปได้โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังต้องเผชิญความท้าทายหลายรูปแบบ

 

วัคซีนปัจจัยแห่งความหวัง

ฟื้นเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2564

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะระลอกเดือนเมษายน ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปีอย่างมากแสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนและความรุนแรง แต่หากสามารถควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ฉีดวัคซีนให้ประชนอย่างรวดเร็ว และครอบคลุมประชากรประมาณ 70% ก็จะช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้

การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จึงเป็นเป้าหมายที่มีความท้าทาย โดยทุกภาคส่วนรวมทั้งภาคเอกชนก็มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันกับภาครัฐในเรื่องนี้เพราะวัคซีนเป็นหนทางเดียวที่จะปูทางไปสู่การกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการกระจายวัคซีนอย่างสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวเร็ว โดย IMF คาดว่าจะเติบโตได้เกิน 5% ในปีนี้หรือกว่า 2 เท่าของค่าเฉลี่ยอัตราการเติบโตก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ สามารถกลับมาดำเนินได้ตามปกติมากขึ้น

ขณะที่ประเทศที่กระจายวัคซีนได้ช้า อย่างกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้5 ประเทศรวมถึงไทย เศรษฐกิจปีนี้มีแนวโน้มเติบโตไม่ถึง 5% และยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอัตราการเติบโตในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกด้วย 

สำหรับประเทศไทย เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะฟื้นตัวในแบบ K-Shape Recoveryโดยธุรกิจที่อิงกับการส่งออกสินค้าจะฟื้นตัวได้ก่อน เพราะความต้องการสินค้าจากต่างประเทศมีแนวโน้มเติบโตได้ดีเห็นได้จากมูลค่าการส่งออก 3 เดือนแรกที่เติบโตกว่า 8% (ไม่รวมทองคำ) และคาดว่าจะเติบโตได้ดีต่อเนื่องไปในครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการ

ประเด็นสำคัญซึ่งเป็นความเสี่ยงระยะสั้นคือการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ให้กระทบกับแรงงานในสายการผลิตที่ยังรอการรับวัคซีนไม่ใช่มาจากเรื่องดีมานด์

ส่วนกลุ่มธุรกิจที่อิงกับกำลังซื้อในประเทศและธุรกิจบริการจะฟื้นตัวได้ช้ากว่ามาก เพราะอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอและการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องล่าช้าออกไป มาตรการช่วยเหลือเยียวยาจึงยังมีความจำเป็นซึ่งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ (Asset Warehousing) และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 เป็นต้น

ด้วยเหตุที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับ Divergence 2 ด้าน การฟื้นตัวจึงยังไม่เต็มที่ เศรษฐกิจในปี 2564 จึงอาจจะเติบโตไม่ถึง 2% แต่หากสามารถกระจายวัคซีนได้ตามเป้าหมายในช่วงที่เหลือของปีนี้ เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจปีหน้า 2565 จะเติบโตได้ 5%”             

 

ปรับปรุง ฟื้นฟู เปลี่ยนแปลง

หลักยึดก้าวข้ามผ่านวิกฤต

ผยงกล่าวด้วยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ส่งผลกระทบรุนแรงและเป็นวงกว้าง การช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจและลูกหนี้รายย่อยจึงเป็นภารกิจเร่งด่วน โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ซึ่งมาตรการรอบแรกเป็นการช่วยเหลือทั่วไปอาจจะไม่พอและมีข้อจำกัด อีกทั้ง SMEsบางกลุ่มต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ที่มีการจ้างงานสูงกว่า 10 ล้านคน ต้องใช้เวลา 4-5 ปี กว่านักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามา

ทั้งนี้ สมาคมธนาคารไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาตรการช่วยเหลือเชิงรุก ภายใต้แนวคิด 3 เสาหลัก คือ ปรับปรุง (Restructure ) ฟื้นฟู (Revive)และเปลี่ยนแปลง (Reform) ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละราย ได้แก่

         มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาทมีเกณฑ์ช่วยเหลือที่เปิดกว้างและยืดหยุ่นกว่าเดิม มีกลไกการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รวมถึงยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตั้งแต่เปิดให้มีการขอสินเชื่อเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมามีการอนุมัติไปแล้ว 11,542 ล้านบาทจากsmes 5,465 ราย (ข้อมูลณ17 พค.64)

         มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้)  วงเงิน 100,000  ล้านบาท เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง แต่ยังมีศักยภาพและไม่สามารถฟื้นตัวได้ในเวลาอันสั้น สามารถหยุดการดำเนินกิจการได้ชั่วคราวด้วยการโอนทรัพย์เป็นหลักประกันกับธนาคารเพื่อหยุดหรือลดภาระหนี้ และรอเศรษฐกิจฟื้นตัวโดยไม่สูญเสียกิจการไป ภายใต้เงื่อนไขสัญญาที่กำหนด เช่น ลูกหนี้หรือเจ้าของทรัพย์ มีสิทธิซื้อทรัพย์ได้ ภายใน 3-5 ปี สามารถเช่ากลับเพื่อไปประกอบธุรกิจต่อได้ เป็นต้น 

มาตรการนี้จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจมีเวลาหายใจ มีเวลาประคองตัวมากขึ้น เรามีเครื่องมือให้ท่านตัวเบา ไม่ต้องกังวลภาระทางการเงิน เพื่อใช้ทรัพยากรมุ่งเน้นการประคองตัว และหารูปแบบธุรกิจที่จะตอบโจทย์เพื่อให้กลับมาแข็งแรงได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ผยงกล่าวว่า ทั้งนี้  2 มาตรการจะช่วยไม่ให้เกิดการบอบช้ำทางเศรษฐกิจอีก ถ้าไม่มีกลไกเหล่านี้จะเกิดการบอบช้ำเพิ่มเติมธนาคารก็จะอ่อนแอ ความมั่นใจของผู้ฝากเงิน รวมไปถึงนักลงทุนที่กำลังจะเข้ามาในประเทศ จะมีคำถาม ขณะที่การจ้างงานก็ไม่เกิดหรือมีน้อยลง คนตกงานก็จะมีมากขึ้น 

เราอยากลด bleeding ของระบบ ประคองความบอบช้ำเพื่อให้เดินผ่านไปได้ เมื่อผู้ประกอบธุรกิจ มีความพร้อมมากขึ้น ภาระน้อยลง พอถึงเวลาที่สิ่งแวดล้อมปัจจัยมหภาคต่างๆเอื้อ วัคซีนมา ก็สร้างความมั่นใจเกิดกิจกรรมปกติ เขาก็สามารถกลับมาแข็งแรงได้อย่างรวดเร็ว

โดย ณ วันที่ 24พฤษภาคม 2564 ยอดการให้ความช่วยเหลือจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ มีทั้งสิ้น 16,060 ล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ 6,697ราย คิดเป็นยอดสินเชื่อเฉลี่ย 2.1 ล้านบาทต่อราย โดยร้อยละ 63 กระจายลงไปยัง SMEs ขนาดเล็ก ขณะที่โครงการพักทรัพย์พักหนี้ มีมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับโอน 910ล้านบาท จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 4ราย

สำหรับลูกหนี้รายย่อย ที่มีสัญญาณความยากลำบากในการชำระหนี้ อีกทั้งมีลูกหนี้ใหม่ที่ต้องการรับความช่วยเหลือจำนวนมาก ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมมือกับผู้ให้บริการทางการเงิน ผ่านสมาคมธนาคารไทย และชมรมต่างๆ 8 แห่ง  ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 มุ่งเน้นช่วยลดภาระหนี้ในระยะยาว มีความยืดหยุ่น และมีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน ครอบคลุมสินเชื่อทั้ง   

           1. บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เน้นขยายเวลาการชำระ จ่ายดอกเบี้ยลดลง 

           2. สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพิ่มทางเลือกการพักชำระค่างวดและมีทางเลือกในการคืนรถ 

           3. สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ที่เน้นการควบคุมอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา (Effective Interest Rate: EIR) ไม่ให้สูงขึ้นกว่าอัตราดอกเบี้ยเดิมและปรับวิธีการคิดดอกเบี้ยช่วงพักค่างวดที่พักชำระหนี้ และ 

          4. สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน  โดยเพิ่มการพักเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วนเป็นทางเลือก และให้ลูกหนี้สามารถทยอยชำระคืนเป็นขั้นบันได (step up) ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแบบไม่คาดคิด ไม่ใช่เป็นความผิดของใคร ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน รอบนี้เราทำงานกันอย่างหนักและเข้มข้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการได้ตรงจุดและช่วยเหลือผู้ประกอบการได้จริงและทั่วถึง” 

 

ธุรกิจไทยต้องมุ่งสู่

Green Economy

ผยงเผยต่อว่า แม้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ท้าทาย แต่ธุรกิจไทยต้องไม่ละสายตาจาก Megatrend ของโลก โดยเฉพาะ การมุ่งสู่ Green Economy” เนื่องจากมหาอำนาจของโลก เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และจีน ต่างหันมาสนับสนุนและจัดสรรเม็ดเงินลงทุนในธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด รวมทั้งมีการกำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของโลกมาบังคับใช้อย่างจริงจัง

ยกตัวอย่าง ในอีก 2 ปีข้างหน้ายุโรปมีแผนจะเก็บภาษีสินค้านำเข้า โดยคำนึงถึงระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ที่แตกต่างกันระหว่างยุโรปกับแหล่งผลิตสินค้าที่อยู่นอกยุโรป ที่อาจมีมาตรฐานและเทคโนโลยีต่ำกว่า

ทั้งนี้ Green Economy มีนัยต่อประเทศไทยใน 2 มิติ

         มิติแรกคือความท้าทายที่เพิ่มขึ้น เพราะอาจก่อให้เกิดกำแพงการค้าหรือกฎกติกาในรูปแบบใหม่ ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ส่งออก ต้องตื่นตัวและปรับกลยุทธ์ให้สอดรับตั้งแต่แรก เช่น ต้องรู้และลด Carbon Footprint ของตนเอง เพื่อไม่ให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก

         มิติที่ 2 คือ มิติของโอกาสใหม่ๆ การมุ่งสู่ Green Economy หรือ BCG Economy เป็นแรงผลักดันให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ และการ upgrade ด้านเทคโนโลยีของภาคธุรกิจที่หยุดชะงักมานานหลายปีซึ่งภาครัฐมีเป้าหมายให้ BCG Economy ขับเคลื่อน GDP ไทยให้เพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านบาท ใน 6 ปีข้างหน้า

 

กรุงไทยดูแลธุรกิจหลัก

แสวงหาธุรกิจใหม่

นอกจากบทบาทในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทยที่ต้องเข้าไปช่วยผลักดันมาตรการเพื่อช่วยเหลือภาคส่วนต่างๆแล้ว ผยงในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ยังต้องมีโจทย์ความท้าทายในการที่จะขับเคลื่อนองค์กรขนาดใหญ่ไปพร้อมกับการช่วยเหลือดูแลลูกค้าให้ก้าวข้ามผ่านวิฤกตไปด้วยกัน

ผยงเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจนั้น ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจด้วย 2 Banking-Model เพื่อต่อยอดการเติบโตของธนาคารผ่าน 2 รูปแบบธุรกิจสำคัญคือ แบบเรือบรรทุกเครื่องบินหรือ Carrierที่มุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการดำเนินงานของหน่วยงานหลักเพื่อปกป้องฐานธุรกิจเดิมและลูกค้าของธนาคาร อีกรูปแบบ คือ แบบเรือเร็วหรือSpeed Boat ที่มุ่งทำธุรกิจในรูปแบบของAgile เพื่อทดลองและเสาะแสวงหาธุรกิจใหม่ พร้อมทั้งต่อยอดธุรกิจจากคู่ค้าของลูกค้า รวมทั้งการให้ความร่วมมือกับโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล ผ่านการทำงานแบบ Fail Fast Learn Fast อาศัยความคล่องแคล่ว รวดเร็ว และวิเคราะห์ข้อมูลบน Digital Platform / Open Bankingภายใต้แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ธนาคารจะดำเนินธุรกิจโดยยึดตามแผนปฏิบัติการ 5 เสาหลักสำคัญ (5 Execution Pillars) เพื่อรับมือกับปัจจัยความไม่แน่นอนและความท้าทายของปัจจัยต่างๆ ในปีนี้ได้แก่

           1. การประคองธุรกิจหลักซึ่งเป็นธุรกิจเดิมให้เติบโตต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพโดยต้องดูแล NPL ควบคู่ไปกับการประคองลูกหนี้รวมทั้งเรื่องการขายข้ามผลิตภัณฑ์ (Cross Selling)

           2. สร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ภายใต้ยุทธศาสตร์คู่ขนานระหว่างเรือบรรทุกเครื่องบิน และเรือเร็ว เช่น การเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการเป็นการขาย การจัดตั้ง อินฟินิธัส บาย กรุงไทยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ เป็นต้น

           3. ลดการใช้กระดาษให้น้อยที่สุด (Paperless)ด้วยการนำระบบ RPA หรือ Robotic Process AutomationและการนำAI เข้ามาใช้ในกระบวนการทำงานภายในมากขึ้น

           4. ต่อยอดธุรกิจจากคู่ค้าของลูกค้า ด้วยกลยุทธ์ X2G2Xที่ยึดภาครัฐเป็นศูนย์กลาง และต่อเชื่อมด้วยคู่ค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อย ที่เชื่อมโยงกันด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยี (Digital Supply Chain)       

           5. สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ เพื่อดูแลคนไทย เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยนโยบาย กรุงไทยเคียงข้างไทยสู่ความยั่งยืน

ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับ 5 Ecosystemsคือกลุ่มหน่วยงานภาครัฐ กลุ่มการชำระเงิน กลุ่มการรักษาพยาบาลและสุขภาพ กลุ่มสถาบันการศึกษาและนักเรียน และกลุ่มระบบขนส่งมวลชน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของธนาคารโดยมุ่งเน้นการคิดค้นนวัตกรรมที่เชื่อมโยง 5 Ecosystems“

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ผลักดันแพลตฟอร์มที่เป็นระบบเปิดของธนาคารโดยร่วมพัฒนากับภาครัฐ โดยเฉพาะแอปพลิเคชัน เป๋าตังและ ถุงเงินซึ่งได้มีการใช้อย่างแพร่หลายในโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง ซึ่งช่วยให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงการใช้บริการทางการเงินผ่านระบบดิจิทัล ได้ง่ายและสะดวก ธนาคารยังได้พัฒนา Digital Platform เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเข้าถึงมาตรการเยียวยาต่างๆ ของภาครัฐ เช่น โครงการ เราชนะโครงการ ม.33 เรารักกันโครงการ คนละครึ่งซึ่งช่วยให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงมาตรการการช่วยเหลือของรัฐอย่างทั่วถึง โปร่งใส และตรวจสอบได้อีกทั้งยังช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงและเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีทางการเงินโดยการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการทำให้ประเทศก้าวสู่สังคมไร้เงินสด สนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0

เชื่อว่า การวางรากฐานโครงสร้างทางการเงินผ่านระบบดิจิทัลครบวงจร ตลอดจนเริ่มต้นสู่การเป็น Open Banking ผ่านการใช้แพลตฟอร์มเป๋าตัง ซึ่งเป็นระบบเปิด จะทำให้ประชาชนสามารถใช้บริการทางการเงินโดยไม่ต้องมีบัญชีธนาคารและเข้าถึงประชาชนมากขึ้น


ติดตามคอลัมน์ Exclusive Interview ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนมิถุนายน 2564 ฉบับที่ 470 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi