INTERVIEW • EXCLUSIVE INTERVIEW

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ผู้ว่าการ ธปท. จับตาตัวเลขผู้เสมือนว่างงานพุ่งหลังการระบาด COVID-19 ระลอก 3 คีย์หลักคือ การบริหารวัคซีน ประเมินเศรษฐกิจไทย 5 ปีต่อจากนี้ 2565-2569 โตเฉลี่ย 3% มั่นใจไม่เกิดวิกฤติ เหตุหนี้ต่างประเทศน้อย ทุนสำรองระหว่างประเทศยังเพียงพอ แบงก์แข็งแรง ฐานะการคลังยังมั่นคง พร้อมเร่งผลักดันมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ให้เกิดผลจริง

 

ปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ดีขึ้นเท่าไรขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวจะฟื้นได้แค่ไหน ขณะที่จากโครงสร้างประชากร ประสิทธิภาพแรงงาน และการลงทุนของประเทศ หากมองในระยะยาว 5 ปีข้างหน้าหลังจากพ้นวิกฤติคิดว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจไทยระยะยาวจะอยู่ที่ 3%”



การระบาดของ COVID-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การกลายพันธุ์ของไวรัสและการระบาดระลอก 3 ในประเทศไทยอาจซ้ำเติมปัญหาเดิม และทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้าลง

 

สกู๊ปปกฉบับนี้ การเงินธนาคาร สัมภาษณ์พิเศษ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เจาะลึกถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยหลัง COVID-19 ซึ่งแม้ว่าประเทศไทยจะฟื้นตัวได้ช้าลง แต่ผู้ว่าการ ธปท. ให้ความมั่นใจว่าไม่เกิดวิกฤติอย่างแน่นอน

 

 

จับตาตัวเลขผู้เสมือนว่างงาน

คีย์สำคัญคือการบริหารวัคซีน

 

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2566 อย่างไรก็ตาม ยังมีสัญญาณบวกที่อาจทำให้การฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้

 

โดยปัจจัยแรกคือ การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาด ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ครั้งนี้เศรษฐกิจโลกในภาพรวมไม่ได้มีปัญหา ภาคธุรกิจยังแข็งแรง แต่มีปัญหาในด้านสาธารณสุขทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ดังนั้น หากสามารถแก้ปัญหาสาธารณสุขได้เศรษฐกิจก็สามารถฟื้นตัวได้เร็ว ต่างจากวิกฤติที่ผ่านมา เช่น วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ซึ่งเป็นวิกฤติการเงิน มีปัญหาที่ระบบธนาคาร การฟื้นตัวจึงช้า

 

ขณะที่ปัจจัยที่สองคือ กิจกรรมภายในประเทศในด้านภาคบริการ โดยหากประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนและสามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้ ประชาชนจะเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยและท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น

 

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ตัวเลขจีดีพีจะดีขึ้นหรือฟื้นกลับสู่ระดับเดิมได้ แต่คนอาจไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น เนื่องจากจากฟื้นตัวเป็นผลมาจากการส่งออกที่ขยายตัว แต่สำหรับประชาชน สิ่งที่สำคัญที่จะทำให้รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นได้มาจากรายได้และการจ้างงาน


 “เราใส่ใจกับตัวเลขจีดีพีมากเกินไป โดยเฉพาะจีดีพีในบ้านเราที่ถูกขับเคลื่อนจากตัวเลขไม่กี่ตัว แต่สิ่งสำคัญสำหรับคนทั่วไปเป็นเรื่องของรายได้และการจ้างงาน ซึ่งเรื่องนี้ตราบใดที่ท่องเที่ยวยังไม่กลับมารายได้และการจ้างงานก็กลับมาได้ลำบาก ดังนั้น การกลับมาในแง่ของตัวเลขอาจเป็นไปได้ที่จะเร็วขึ้น แต่ในแง่ของความรู้สึกคนต้องอิงกับเรื่องการท่องเที่ยวว่าจะสามารถกลับมาฟื้นตัวเมื่อไร ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลานานมากเพราะว่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย

 

โดยรายได้ของไทยเป็นเรื่องที่น่าห่วง เนื่องจากไม่มีการเพิ่มขึ้นเป็นเวลานานในทุกเซ็กเตอร์ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าประสิทธิภาพแรงงานไม่ค่อยดีขึ้น และส่วนหนึ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพแรงงานไม่ดีขึ้นคือการขาดการลงทุนมานาน ผลิตของแบบเดิมที่มีคู่แข่งจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศมากเกินไป ทำให้เกิดการกดค่าแรง และไม่มีการปรับตัวในการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาเพิ่มประสิทธิภาพ  

 

นอกจากนี้ ตัวเลขที่ ธปท.มีการติดตามอย่างใกล้ชิดคือตัวเลขเสมือนการว่างงานหรือผู้ที่ทำงานน้อยกว่าที่ควรทำ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนภาพรวมของเศรษฐกิจได้ดี โดยในการระบาดของ COVID-19 ในระลอกแรกตัวเลขผู้เสมือนว่างงานสูงถึง 5-6 ล้านคน เนื่องจากมีการล็อกดาวน์ หลังจากนั้นเมื่อมีการผ่อนคลายการเปิดเมืองตัวเลขนี้จึงค่อยๆ ลดลงเหลือ 2-3 ล้านคน อย่างไรก็ตาม การระบาดของ COVID-19 ในระลอก 3 นี้ ตัวเลขผู้เสมือนว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก

 

ตัวเลขผู้เสมือนว่างงาน สะท้อนความเป็นอยู่ของคนได้ดีกว่าตัวเลขจีดีพี เนื่องจากบ้านเราถ้าดูตัวเลขการว่างงานไม่ได้สูง แต่มีคนที่เขาทำงานน้อยกว่าที่เขาควรจะทำ เช่น ชั่วโมงการทำงานน้อย 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์” 

 

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นและมีการจ้างงานอีกครั้ง โดยเฉพาะในภาคบริการ คือวัคซีนและการบริหารวัคซีน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยจะสามารถบริหารจัดการวัคซีนได้ แต่ต้องดูว่าหากเปิดประเทศแล้วนักท่องเที่ยวจะเข้ามาหรือไม่ เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวของไทยมีการพึ่งพานักท่องเที่ยวจากประเทศจีนค่อนข้างมาก ซึ่งปัจจุบันจีนยังไม่มีแนวโน้มที่จะเปิดให้ประชาชนเดินทางออกมาท่องเที่ยงต่างประเทศ และมีมาตรการคุมการระบาดที่ค่อนข้างเข้มข้น

 

ขณะที่ประเทศทางยุโรปการฉีดวัคซีนทำได้ค่อนข้างดี แต่ประเทศที่มีการอิงกับการท่องเที่ยว เช่น สเปน โปรตุเกส ที่คาดว่าจะเปิดประเทศได้แต่ยังต้องเผชิญข้อจำกัดต่างๆ เช่น มีผู้ติดเชื้อมากขึ้นจนต้องมีการกักตัว ทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มไม่เดินทางไปท่องเที่ยว

 

ดังนั้น โอกาสที่ประเทศต่างๆ จะเปิดประเทศให้ประชาชนออกนอกประเทศจึงเป็นเรื่องยาก การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอาจไม่ราบรื่นมากนัก นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการกลายพันธุ์ของไวรัสที่อาจลดประสิทธิภาพของวัคซีน ทำให้การฟื้นตัวต้องใช้เวลามากขึ้น สำหรับโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ของไทย สามารถทำได้ และคาดว่าจะช่วยภาคท่องเที่ยวและบริการได้บ้าง แต่อาจไม่ได้ช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วมากนัก 

 

ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ คาดว่าจะช่วยให้ภาคท่องเที่ยวฟื้นได้ อย่างไรก็ตาม การทำให้ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวในระยะยาวยังต้องใช้เวลา อาศัยการปรับตัว ซึ่งคิดว่าการที่นักท่องเที่ยวกลับมาถึง 40 ล้านคนซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 ได้นั้น อาจจะอยู่ในช่วงหลังปี 2566”

 

 



มองจีดีพีไทย 5 ปีโตเฉลี่ย 3%

แต่มั่นใจไม่เกิดวิกฤติรุนแรง 

 

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ปี 2564 โอกาสที่จะเห็นจีดีพีของไทยเกิน 2% มีน้อยมาก เนื่องจากถูกกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ระลอก 3 ค่อนข้างมาก นอกจากนี้ถึงแม้การฉีดวัคซีนจะช่วยลดผลกระทบได้บ้างแต่นักท่องเที่ยวอาจไม่ได้กลับมาทันที ขณะที่เม็ดเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5แสนล้านบาทอาจลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในไตรมาส 4 ของปีนี้จึงอาจยังช่วยดึงตัวเลขจีดีพีให้ดีขึ้นได้ไม่มากนัก

โดยหากจีดีพีโตไม่เกิน 2% อาจไม่เพียงพอในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ทั้งในแง่ของการจ้างงาน เนื่องจากหากเศรษฐกิจไม่เติบโต โอกาสในการจ้างงานจะมีน้อยลง ขณะที่มีนักศึกษาจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานปีละหลายแสนคน

 

นอกจากนี้ รายได้ของประชาชนอาจเติบโตได้ไม่เพียงพอ ซึ่งหากรายได้คนไม่เพิ่มขึ้นจะไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ ซึ่งปัญหาที่เป็นภาระของไทยมานานคือปัญหาหนี้ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือน โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีช่วงก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 อยู่ที่ประมาน 79%ขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาน 89% ต่อจีดีพี

 

ถ้าปล่อยให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีสูงขึ้นแล้วจีดีพีโตช้า สัดส่วนนี้ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเร็ว เนื่องจากหนี้ครัวเรือนถึงแม้ไม่ได้กู้ใหม่แต่ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยบนหนี้เก่า ภาระหนี้ก็จะเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงต้องแก้จากทำให้จีดีพีโต ให้รายได้คนมากขึ้น แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ภาระหนี้ของครัวเรือนดีขึ้นกว่าเดิม

 

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ตัวเลขจีดีพีที่คาดว่าจะเพียงพอต่อการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้นั้น ควรจะอยู่ในระดับ 5% อย่างไรก็ตาม หากดูจากโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย ซึ่งประสิทธิภาพการผลิตไม่ค่อยเติบโต และโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น จำนวนคนวัยทำงานน้อยลง ทำให้คาดว่าจีดีพีไทยจะเติบโตได้ไม่เกิน 4% หรืออยู่ที่ประมาน 3% ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นต้องหาเครื่องยนต์ใหม่ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้โดนเฉพาะการลงทุน

 

ปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ดีขึ้นเท่าไรขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวจะฟื้นได้แค่ไหน ขณะที่จากโครงสร้างประชากร ประสิทธิภาพแรงงาน และการลงทุนของประเทศ หากมองในระยะยาว 5 ปีข้างหน้า คือ ปี 2565-2569 หลังจากพ้นวิกฤติ คาดว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ 3%”

 

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าประเทศไทยจะไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจหลักมาจากสามเรื่องคือ หนึ่ง วิกฤติที่เกิดจากค่าเงิน โดยเกิดจากประเทศอาจหารายได้ไม่พอไปชำระเงินต่างประเทศ ซึ่งจะเห็นได้ว่าไทยไม่มีปัญหานี้ เพราะหนี้ต่างประเทศของไทยน้อยมาก ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศยังมีเพียงพอ 

สองคือ วิกฤติของธนาคาร เกิดจากการที่มีหนี้เสียจำนวนมากแล้วส่งผลให้ธนาคารมีปัญหา ซึ่งไทยมีโอกาสเกิดวิกฤติในลักษณะนี้ต่ำมาก เนื่องจากธนาคารของไทยค่อนข้างเข้มแข็ง

 

สิ่งที่เราเป็นห่วงเป็นเรื่องของลูกหนี้มากกว่าเจ้าหนี้โดยเฉพาะครัวเรือนและเอสเอ็มอี รอบนี้ที่ต่างจากปี 40 คือ ลูกหนี้รายใหญ่ค่อนข้างแข็งแรง อย่างไรก็ตาม โอกาสของลูกหนี้ครัวเรือนและเอสเอ็มอีจะหนักจนกระทั่งกลายเป็นวิกฤติของสถาบันการเงินมีน้อยมาก” 

 

สามคือ ฐานะการคลังของรัฐบาล เกิดจากเศรษฐกิจไม่โต รัฐบาลจัดเก็บรายได้ไม่ได้ มีหนี้มากและไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งโอกาสในการเกิดวิกฤติในลักษณะนี้ของไทยมีน้อยมาก เห็นได้จากปัจจุบันที่รัฐบาลสามารถกู้เงิน 10 ปี ด้วยดอกเบี้ยที่ 1.66% ซึ่งถือเป็นอันตราที่ต่ำมาก แสดงให้เห็นว่าสภาพคล่องยังมีเพียงพอ โดยหากรัฐบาลมีปัญหาในการกู้เงินดอกเบี้ยจะต้องสูงกว่านี้ 

 

 “แม้เศรษฐกิจไทยจะโตช้าแต่มั่นใจว่าไม่เกิดวิกฤติแน่นอน เนื่องจากการที่เศรษฐกิจโตช้าโอกาสที่เกิดวิกฤติแล้วเศรษฐกิจจะดิ่งลงอย่างรุนแรงก็ไม่มีเช่นกัน ปัญหาของเราไม่ใช่เรื่อง Downside เยอะ แต่ปัญหาคือ Upside ช้า สร้างงานให้คนไม่ได้ รายได้ไม่โต ก็จะสะท้อนออกมาทางสังคม ดังนั้น วิกฤติเศรษฐกิจไม่ได้กลัวแต่กลัวปัญหาสังคมที่ตามมา

 

 

เร่งช่วยเหลือลูกหนี้ทุกช่วงปัญหา

เน้นผลักดันมาตรการให้เกิดผลจริง


ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า เรื่องหนี้ยังเป็นเรื่องที่ ธปท. ค่อนข้างกังวล และให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยเฉพาะหนี้รายย่อยและหนี้ครัวเรือน เนื่องจากเป็นเรื่องที่กระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้น มาตรการที่ ธปท. ออกในช่วงแรกจึงเป็นลักษณะที่ช่วยพยุงลูกหนี้ให้อยู่ได้ เช่น ลดค่างวด ขยายเวลาชำระหนี้ และการปรับโครงสร้างหนี้

 

ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ก็อาจจะไม่พอสำหรับลูกหนี้บางรายจนทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ และทำให้ลูกหนี้ติดกับดักของหนี้ได้ ดังนั้น ธปท.จึงได้ออกมาตรการเรื่องผิดนัดชำระหนี้ โดยให้คิดค่าปรับจากยอดที่ผิดนัดชำระไม่ใช่ยอดเงินต้นทั้งหมดเหมือนที่ผ่านมา ขณะที่ลูกหนี้กลุ่มที่เข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง ธปท. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ศาลยุติธรรม เพื่อช่วยไกล่เกลี้ยหนี้ให้ลูกหนี้กลุ่มนี้

 

ธปท.พยายามออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ให้ครอบคลุมทุกช่วงของปัญหา เช่น ในช่วงแรกรายได้ถูกกระทบก็สนับสนุนให้มีการพักหนี้ ส่วนกลุ่มที่กระทบรุนแรงหรือกระทบนานต้องปรับโครงสร้างหนี้ และกลุ่มที่เข้าสู่การฟ้องร้องก็มีการช่วยไกล่เกลี้ยหนี้

 

สำหรับในด้านของลูกหนี้เอสเอ็มอี ในช่วงที่มีการระบาดรอบแรก ธปท.มองว่าจะเป็นปัญหาที่รุนแรงแต่สั้นจึงออกนโยบายในลักษณะปูพรม โดยหลังจากนั้นจึงเห็นว่าเป็นวิกฤติที่ยาวและผละกระทบมีความไม่เท่าเทียม โดยมาตรการในลักษณะปูพรมและมาตรการระยะสั้นอาจแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด ดังนั้น จึงค่อยๆ ปรับมาตรการโดยมุ่งเป้าที่กลุ่มที่มีปัญหา 

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะปรับมาตรการแล้วแต่ยังพบช่องว่าง 2 เรื่องคือ สินเชื่อเอสเอ็มอีที่ยังหดตัวและการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับเอสเอ็มอีที่ยังทำได้ไม่มากเท่าที่ควร จึงเป็นที่มาของการออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและโครงการพักทรัพย์พักหนี้เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงสินเชื่อและช่วยลูกหนี้ที่ขาดรายได้ให้มากขึ้น

 

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการออกมาตรการใหม่คือการจัดการให้มาตรการที่ออกมาแล้วสามารถใช้ได้จริง โดยในส่วนของสินเชื่อฟื้นฟูตัวเลขเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 25664 อยู่ที่ 30,900 ล้านบาท จำนวนผู้ขอสินเชื่อประมาน 10,000 ราย และยอดสินเชื่อต่อรายอยู่ที่ 2.8 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าสินเชื่อได้กระจายไปสู่รายเล็กรวมถึงมีสัดส่วนอยู่ในต่างจังหวัดค่อนข้างสูง

 

โดย ธปท.ได้หารือกับสมาคมธนาคารไทยในการผลักดันให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูได้มากขึ้น โดยต้องการเห็นตัวเลขการขอสินเชื่อฟื้นฟูในเฟสแรกที่ 100,000 ล้านบาทภายใน 6 เดือน ซึ่ง ธปท.คาดมีความเป็นไปได้ รวมถึงยังมีการทำงานร่วมกับสมาคมต่างๆ กลุ่มธุรกิจที่มีซัพพลายเชน เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้าที่ทำงานกับธนาคารเพื่อผลักดันให้สินเชื่อฟื้นฟูไปถึงเอสเอ็มอีได้มากขึ้น

 

ที่มาคือเราเห็นภาพรวมของสินเชื่อไตรมาส 1 ขยายตัวที่ 3.8% สินเชื่อรายใหญ่ยังโตอยู่ที่ 3% ขณะที่สินเชื่อรายย่อยก็ยังโต 5.3% สื่อให้เห็นว่าสภาพคล่องในระบบยังมีอยู่ แต่การปล่อยสินเชื่อใหม่ของเอสเอ็มอีหดตัว ตรงนี้จึงเป็นช่องว่างที่ ธปท. ต้องปิดให้ได้จึงเป็นที่มาของการออกสินเชื่อฟื้นฟู

 

ด้านโครงการพักทรัพย์พักหนี้มีที่มาจากการที่ ธปท. ได้สนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับเอสเอ็มอีมาอย่างต่อเนื่อง แต่เอสเอ็มอีบางกลุ่มการปรับโครงสร้างหนี้แบบเดิมอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากไม่มีรายได้ เช่น โรงแรม ท่องเที่ยว ดังนั้น จึงออกมาตรการพักทรัพย์พักหนี้เพื่อจัดการปัญหาหนี้เก่าสำหรับกลุ่มนี้ โดยเปิดโอกาสให้กลับมาซื้อคืนหรือเช่าเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวได้

 

โดยปัจจุบันยังมีผู้เข้าร่วมโครงการอยู่ที่ 4 ราย ยอดหนี้ประมาน 900 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังมีส่วนที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยคาดว่าจะเห็นผู้เข้าร่วมโครงการที่เพิ่มมากขึ้น

 

โครงการพักทรัพย์พักหนี้ ต้องยอมรับว่าเป็นของใหม่และรายละเอียดเยอะ สินเชื่อฟื้นฟูแบงก์คุ้นอยู่แล้วในการจัดการเลยค่อนข้างปล่อยได้เร็ว แต่โครงการนี้เป็นโครงการใหม่ ลูกหนี้และเจ้าหนี้ไม่คุ้น ซึ่ง ธปท.ก็ตระหนักถึงปัญหานี้ โดยพยายามทำสัญญามาตรฐานเพื่อบรรเทาปัญหาและลดความระแวงของทั้งสองฝ่าย

สำหรับมาตรการล่าสุดที่ ธปท.ออกมาคือ มาตรการพักหนี้สำหรับเอสเอ็มอีโดยขยายไปถึงสิ้นปี 2564 สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก และเพิ่มการออกมาตรการจูงใจให้สถาบันการเงินในการปรับโครงสร้างหนี้ให้เอสเอ็มอีพร้อมกับลดภาระให้ลูกหนี้

 

มองไปข้างหน้า ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจและพร้อมจะออกมาตรการอื่นๆ หากจำเป็นและเห็นว่ามาตรการที่ออกไปแล้วไม่เพียงพอ แต่ปัจจุบันในภาพรวมก็ได้ปิดช่องว่างไปได้หลาอย่างพอสมควรแล้ว ดังนั้น สิ่งสำคัญในตอนนี้คือ ต้องพยายามขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการที่ได้ออกไปแล้วให้เกิดผลได้จริง

 

อย่างไรก็ตาม ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า โจทย์ของลูกหนี้รายย่อยกับเอสเอ็มอีต่างกัน โดยเอสเอ็มอีต้องดูทั้งหนี้เก่าและหนี้ใหม่ เพราะสินเชื่อใหม่จะปล่อยได้กับรายใหญ่ แต่ไปไม่ถึงเอสเอ็มอีเพราะความเสี่ยงเอสเอ็มอีมีมากกว่า จึงต้องออกมาตรการให้ บรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาค้ำประกันเงินกู้ ช่วยดูแลเรื่องความเสี่ยง แต่สำหรับรายย่อยโจทย์หลักคือการจัดการหนี้เก่า ไม่ใช่การเอาหนี้ใหม่มาให้เพิ่ม ปัญหาที่แท้จริงของรายย่อยเป็นเรื่องรายได้ ที่ต้องทำให้เขามีรายได้ไม่ใช่ให้สินเชื่อเพิ่ม 

 

ธปท.ไปดูเรื่องรายได้มากไม่ได้ สิ่งที่เราจัดการคือเรื่องหนี้เก่า โดยลดภาระหนี้เก่ามากกว่าให้รายย่อยเข้าถึงสินเชื่อเพิ่มเติม การจัดการหนี้เก่าคิดว่าที่ออกมาในแง่การปิดช่องว่างค่อนข้างครบครอบคลุมลูกหนี้ทุกช่วง แต่ถ้าไม่เพียงพอก็พร้อมที่จะออกมากได้อีก แต่ตอนนี้เน้นเรื่องการจัดการ ที่ออกไปต้องใช้ได้จริง

 

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวย้ำว่า สถานการณ์ตอนนี้การเงินการคลังเป็นตัวรอง สิ่งที่เป็นตัวเอกคือวัคซีนเพื่อให้การท่องเที่ยวฟื้นตัว แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้เพราะขึ้นอยู่กับต่างประเทศ ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับมีการกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้เกิดความกังวลว่าวัคซีนที่ฉีดไปแล้วจะป้องกันได้แค่ไหน ฉีดแล้วคุมได้นานเท่าไหร่ อีกสิ่งที่สำคัญคือ ต้องมีวิธีรักษาเพราะจะทำให้คนกลัวเรื่องนี้ลดลง หากคุมเรื่องนี้ได้แล้วท่องเที่ยวเปิดได้ก็จะดีมาก ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยจะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นทันทีได้ยาก 

 

ลักษณะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่ผ่านมา เราคุยเรื่องเยียวยาต่างๆ ให้ผ่านเรื่องนี้ไปได้ แต่เรื่องหลังจากนี้เรายังไม่ได้คุย เราไม่อยากให้แค่ฟื้นวันนี้ รอดวันนี้แล้วไปตายวันหน้า ดังนั้น ต้องคิดไว้เลยว่าโลกหลังโควิดเราจะอยู่อย่างไร การจ้างงานจะมาจากไหน เรื่องพวกนี้ต้องคิดไว้ ธปท.ก็พยายามศึกษา ต้องช่วยกันคิดในทุกฝ่าย อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ เพราะพยุงให้รอดแล้วโลกเปลี่ยนเยอะคู่แข่งเปลี่ยนเยอะก็จะแย่ลงไปอีก แล้วการที่เราฟื้นคือฟื้นแบบมีกรรมเก่าติดมาด้วยคือมีหนี้เยอะ ไม่ใช่ฟื้นแบบฟิตเต็มที่ เรื่องนี้ต้องคิดเยอะ

 

 

ยุโรป-สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย

ไม่กระทบเศรษฐกิจไทย

 

ดร.เศรษฐพุฒิยังได้กล่าวถึงกรณีผลกระทบกับประเทศไทยหากยุโรปและสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยเนื่องจากปัจจุบันอยู่ในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำ โดยมองว่า ไทยอาจได้รับผลกระทบบ้างแต่ไม่ได้รุนแรงมากและไม่เป็นความเสี่ยงที่ ธปท.กังวล เนื่องจากการได้ประชุมกับธนาคารกลางของต่างประเทศมีความตระหนักว่า การหยุดทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE เร็วเกินไป จะส่งผลต่อตลอดการเงินโลกอย่างรุนแรง จึงมีความระมัดระวังจากปัญหานี้สูงมาก

เห็นได้ชัดว่าวิธีที่เขาสื่อสารตอนนี้เปลี่ยนไป อย่าง Fed ก็เปลี่ยนมาเป็น Outcome Base Guide ส่งสัญญาณให้คนค่อนข้างมั่นใจว่าเขาจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยเร็ว ดังนั้น การตระหนักถึงปัญหาและการที่เขาเปลี่ยนวิธีสื่อสารเรื่องนโยบาย สองอย่างนี้ก็ลดโอกาสที่ดอกเบี้ยของประเทศเหล่านี้จะดีดขึ้นเร็ว

 

นอกจากนี้ หากดอกเบี้ยดีดขึ้นอย่างรวดเร็ว จะมีผลต่อประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่รวมทั้งประเทศไทยไม่มาก แต่อาจกระทบประเทศที่พึ่งเงินตราต่างประเทศค่อนข้างสูงเนื่องจากหากดอกเบี้ยสหรัฐฯ ขึ้นโอกาสที่เงินจะไหลออกจากประเทศนั้นไปสหรัฐฯ ก็สูงขึ้น

 

สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเปราะบางด้านต่างประเทศและการพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศต่ำ โดยหากเปรียบเทียบสัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศในตลาดตราสารหนี้ของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคจะพบว่าของประเทศไทยต่ำกว่า แสดงให้เห็นว่าไทยพึ่งพาต่างชาติน้อยขณะที่สภาพคล่องของไทยยังอยู่ในระดับสูง

 

หากดอกเบี้ยอเมริกาขึ้นจริงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริงไม่มาก เพราะในตลาดบ้านเรา 90% ของภาคการเงินเอกชนมาจากแบงก์ มีแค่ 10% ที่มาจากตลาดตราสารหนี้ ดังนั้นแม้บอนด์ยีลด์ขึ้นจริงจะไม่กระทบมาก ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ ธปท. ตระหนักแต่ไม่ได้กังวล

 

 

เปิดกว้างเอกชนทำดิจิทัลเคอร์เรนซี่

 แต่ต้องปลอดภัย-ตอบโจทย์ได้ชัด

            

จากกระแสความนิยมในดิจิทัลเคอร์เรนซี่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดร.เศรษฐพุฒิ ให้ความเห็นว่า การดูแลดิจิทัลเคอร์เรนซี่ส่วนมากจะอยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 (พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) โดยอาจบางส่วนอาจเกี่ยวข้องกับ ธปท. บ้างหากสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมาเกี่ยวข้องกับกฎหมาย 3 ฉบับคือ พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน และ พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน 

 

ถ้าคริปโทฯมากระทบกฎหมาย 3 ฉบับของ ธปท. จะอยู่ภายใต้การดูแลของเรา เช่น กรณีของเทอร่าที่เราเทกแอ๊กชั่นอย่างเร็ว เพราะตอนนั้นชัดเจนว่าเขาออกมาเพื่อต้องการทดแทนเงินบาท จึงผิดต่อ พ.ร.บ.เงินตรา

 

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ดิจิทัลเคอร์เรนซี่จะมีหลายรูปแบบ แต่ ธปท.มองว่าต้องการให้ประชาชนมีทางเลือกที่เป็นของธนาคารกลาง หรือ Central Bank Digital Currency (CBDC) เนื่องจากดิจิทัลเคอร์เรนซี่ต้องมีความปลอดภัย ทุกคนเข้าถึงได้ และไม่ได้ทำเพื่อหวังกำไรอย่างเดียว ซึ่งจากสามเรื่องนี้หน่วยงานที่ต้องออกจึงควรจะเป็นธนาคารกลาง


โดยที่ผ่านมา ธปท. ได้ดำเนินการแล้วในรูปแบบการใช้งานระหว่างภาคธุรกิจ (Wholesale CBDC)และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาสำหรับรายย่อย (Retail CBDC) ซึ่งยืนยันว่า CBDC ของไทยไม่ได้ล้าหลังกว่าประเทศอื่นเนื่องจากทำในภาคธุรกิจมาก่อนประเทศอื่น ในเรื่องของรายย่อยอย่าง บาทดิจิทัล” จึงต้องการมั่นใจว่าจะมีโซลูชั่นที่สามารถนำมาใช้ได้จริง โดยอาจให้ประชาชนเข้าถึงผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ 

 

 “เรื่องดิจิทัลเคอร์เรนซี่ ธปท.มองว่าจะมีบทบาทสำคัญในการตอบโจทย์ช่องว่างในระบบการเงินของไทย เช่น ช่วยลดค่าธรรมเนียม เพิ่มการแข่งขัน เพิ่มการเข้าถึงของประชาชน ซึ่ง ธปท.ยินดีที่จะให้เอกชนพัฒนานวัตกรรมต่างๆ แต่อยากให้มีการตอบโจทย์ประโยชน์เหล่านี้ให้ชัดเจน



ติดตามคอลัมน์ Exclusive Interview ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนกรกฎาคม 2564 ฉบับที่ 471 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi