INTERVIEW • EXCLUSIVE INTERVIEW

Exclusive Interview : กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปลี่ยนผ่านพลังงานไทย สู่ยุคพลังงานหมุนเวียน

กุลิศ สมบัติศิริ

ปลัดกระทรวงพลังงาน

 

เปลี่ยนผ่านพลังงานไทย

สู่ยุคพลังงานหมุนเวียน


“กระทรวงพลังงาน ดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อเข้าสู่โครงสร้างพลังงานยุคใหม่ ที่จะครอบคลุมการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในทุกระดับ ปูทางเข้าสู่แนวทางการประกอบธุรกิจตามหลักความยั่งยืน หรือ ESG ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ จากมาตรการต่างๆ รวมถึงกฎ กติกา ที่เป็นธรรม สนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน และประกอบธุรกิจด้านพลังงานสะอาด เป็นการกระจายเม็ดเงินลงทุนสู่ชุมชน”


ปัจจุบัน อุตสาหกรรมพลังงานกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วไป โดยมีฟันเฟืองสำคัญอย่างเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือพลิกโฉมรูปแบบพลังงาน เปลี่ยนผ่านจาก “พลังงานฟอสซิล” ไปสู่อนาคตคือ “พลังงานหมุนเวียน” ซึ่งเป็นพลังงานที่ได้จากแหล่งพลังงานตามธรรมชาติ ใช้แล้วไม่หมดไป เช่น แสงแดด ลม น้ำ ชีวมวล จนถึงความร้อนใต้พิภพ ซึ่งเทรนด์เรื่องพลังงานหมุนเวียนนี้ถูกให้ความสำคัญอย่างมากบนเวทีโลก นานาประเทศล้วนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก รวมถึงประเทศไทยด้วย

การเงินธนาคาร ได้สัมภาษณ์พิเศษ กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กับภารกิจสุดท้าทายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศไทย ข้ามผ่านกำแพงความเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้งานพลังงานหมุนเวียน พร้อมมาตรการทั้งระยะสั้น-ยาว ที่วันนี้ไม่ได้เพียงแค่นโยบาย แต่ลงมือทำไปแล้วทั้งสิ้น รวมทั้งยังฉายมุมมองเกี่ยวกับวิกฤติราคาพลังงาน ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตลอดจนสถานะของกองทุนน้ำมัน ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้เต็มๆ

               

ไทยประกาศเป็นกลางทางคาร์บอน

เร่งเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 50%

 กุลิศ เริ่มให้สัมภาษณ์พิเศษว่า ในการประชุม COP21 รัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปี 2558 ที่มี 196 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม ได้มีการตกลงที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ หรือ CO2 สู่อากาศ เป็นมลพิษมาห่อหุ้มชั้นบรรยากาศโลก และดูดซับรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ เป็นผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นจนเกิดเป็นสภาวะโลกร้อน โดยการประชุมตั้งเป้าจะลดให้ได้เกินกว่า 25% และควบคุมระดับอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส

ต่อมาในการประชุม COP26 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ผู้นำประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ประกาศเป้าหมายให้ประเทศของตน เข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และเข้าสู่ Net Zero Green House Gas Emission ในปี 2608 ซึ่งเป้าหมายที่ผู้นำประเทศต่างๆ ได้ประกาศ นำไปสู่การวางแผน และกำหนดนโยบายที่ท้าทายว่า ทุกประเทศต้องลงมือนำแผนไปสู่ภาคปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้

กุลิศเผยว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สู่อากาศรวมทั้งสิ้น 244 ล้านตัน โดย 156 ล้านตัน ถูกปล่อยจากภาคพลังงาน 36% ภาคขนส่ง 28% และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นี้มาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลผลิตไฟฟ้าถึง 87% (ก๊าซธรรมชาติ 70% ถ่านหินและน้ำมัน 17%)

 ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เป็นพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ลม น้ำ และชีวมวลที่ผลิตจากพืช วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ชีวภาพหมักชีวมวลและมูลสัตว์ มีสัดส่วนเพียง 11% ส่วนภาคขนส่งในประเทศไทยนั้น ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับ รถ เรือ เครื่องบิน เป็นสัดส่วนถึง 97% ใช้ก๊าซ NGV 2% และใช้ไฟฟ้าเพียงแค่ 1% เท่านั้น

 “หากเราปล่อยให้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มสัดส่วนเอง โดยไม่มีมาตรการหรือนโยบายสนับสนุนใดๆ จากภาครัฐ ใน 20 ปีข้างหน้า สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นได้ไม่เกิน 30% หรือหากปล่อยให้การใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถ EV โตขึ้นเองจาก 1% ประเทศไทยจะไม่มีทางไปถึงเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 หรือ Net Green House Gas Zero Emission ในปี 2608 ตามที่ประกาศไว้ในการประชุม COP26 ได้อย่างแน่นอน”

ดังนั้น เพื่อเป็นการเร่งรัดให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่เป้าหมาย รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจึงได้จัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ เป็นแผนยุทธศาสตร์ทางพลังงาน 20 ปีของประเทศขึ้น เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่อากาศในระยะยาว

แผนพลังงานแห่งชาติจะเป็นแนวทางที่ดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม การเติบโตทางเศรษฐกิจ ไปสู่แนวการดำเนินธุรกิจใหม่ที่มุ่งเน้นเรื่อง ESG โดยแผนพลังงานแห่งชาติฉบับนี้ได้กำหนดนโยบายในการดำเนินการเอาไว้ 3 ด้านคือ

                1. เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนให้ไม่น้อยกว่า 50%

                2. ปรับเพิ่มประสิทธิภาพ และลดการใช้พลังงานให้มากกว่า 30%

                3. ปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่ง จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก ให้เป็นพลังงานสะอาด ผ่านการเพิ่มการใช้รถ EV ภายในประเทศ ตามนโยบาย 30@30 ที่ประเทศไทยจะมีการผลิตรถ EV 30% จากยอดการผลิต ให้ได้ภายในปี 2030 หรือ พ.ศ.2573 พร้อมออกแพ็กเกจสนับสนุนการไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งในด้านของการ Subsidize ราคา การเพิ่มสถานีชาร์จ และมาตรการทางภาษี

 

ใช้มาตรการ “4 สหายตัว D”

แปลงแผนงานสู่การปฏิบัติจริง

กุลิศกล่าวว่า สำหรับการดำเนินนโยบายพลังงานในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โครงสร้างพลังงานใหม่ ที่เป็นพลังงานสะอาด (Energy Transition) ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ สู่อากาศ จะใช้มาตรการที่เรียกว่า “4 สหายตัว D” ในการแปลงแผนสู่ภาคปฏิบัติ โดย D ทั้ง 4 จะประกอบด้วย

       1. Decarbonization เป็นการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศให้ได้ 10,000 เมกะวัตต์ ใน 20 ปีข้างหน้า โดยจะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ 4,500 เมกะวัตต์ ผ่านโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ (Floating Solar) และแผงโซลาร์หลังคาบ้าน (Solar Rooftop) พลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวมวล/ชีวภาพ ผ่านโรงไฟฟ้าชุมชน 800 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขยะ 600 เมกะวัตต์ และซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำจาก สปป.ลาว 2,700 เมกะวัตต์

      นอกจากนี้ จะมีการนำร่องทดสอบระบบดักจับ กักเก็บ และใช้ประโยชน์จากคาร์บอนไดออกไซต์ที่เรียกว่าระบบ Carbon Capture, Utilization and Storage : CCUS โดยเริ่มใช้กับกระบวนขุดเจาะก๊าซ ที่แท่นขุดเจาะในแหล่งอาทิตย์ของ ปตท.สผ. แล้ว และกำลังร่วมกับกรมเชื้อเพลิง และองค์กรบริหารก๊าซเรือนกระจก เพื่อขยายการใช้งานไปยังพื้นที่อ่าวไทยตอนบนต่อไป

        รวมถึงรองรับการขยายตัวของรถยนต์ EV ด้วยระบบชาร์จแบตเตอรี่ในที่พักอาศัย และสถานีชาร์จรถ EV ทั่วประเทศ ตลอดจนการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าด้วย Green Hydrogen ที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “อิเล็กโทรลิซิส” ที่เป็นการเก็บก๊าซไฮโดรเจนเอาไว้ หากมีความต้องการใช้ไฟฟ้าก็สามารถแปลงไฮโดรเจนมาเป็นกระแสไฟฟ้าได้ทันที

       2. Digitalization เป็นการนำเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) เข้ามาใช้ในภาคพลังงาน มีการใช้ Artificial Intelligence (AI) สำหรับการจัดเก็บ วิเคราะห์ และพยากรณ์ข้อมูลทางพลังงานหมุนเวียน เป็น Data Platform สำหรับรับ-จ่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบ Grid ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ แทนการส่งไฟฟ้าแบบปัจจุบันคือ ผลิตจาก กฟผ. ไปยังผู้จำหน่ายไฟฟ้าคือ กฟน. และ กฟภ. เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าบ้านหรืออาคารสำนักงาน

       3. Decentralization เป็นการเปลี่ยนวิธีการผลิตไฟฟ้า จากเดิมที่ใช้การสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มาเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก กำลังผลิตเพียงแค่ 1-10 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และใช้ระบบดิจิทัลในการควบคุม เช่น โรงไฟฟ้าชุมชมที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ แล้วสร้างเครือข่ายสายส่งขนาดเล็กที่เรียกว่า Micro Grid รับไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่งเข้าระบบ และนำไฟฟ้านั้นไปขายให้กับประชาชนในราคาถูก เพราะไม่มีต้นทุนในการสร้างโรงไฟฟ้า

        4. Deregulation เป็นการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย เพราะการปรับโครงสร้างพลังงานสู่ยุคของพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้น กฎหมายเดิมที่เคยใช้ในอดีตไม่ได้ครอบคลุมถึงเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ยังไม่เคยเกิดการใช้งานในปัจจุบันหรืออนาคต จึงต้องมีการออกกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และกติกาใหม่มารองรับให้เทคโนโลยีสามารถมีบทบาทและอยู่ได้อย่างยั่งยืน พร้อมเปิดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตพลังงานหมุนเวียนได้มากขึ้น

“กระทรวงพลังงาน ดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อเข้าสู่โครงสร้างพลังงานยุคใหม่ ที่จะครอบคลุมการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในทุกระดับ ปูทางเข้าสู่แนวทางการประกอบธุรกิจตามหลักความยั่งยืน หรือ ESG ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ จากมาตรการต่างๆ รวมถึงกฎ กติกา ที่เป็นธรรม สนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน และประกอบธุรกิจด้านพลังงานสะอาด เป็นการกระจายเม็ดเงินลงทุนสู่ชุมชน” 

 

วิกฤติพลังงานส่อลากยาวถึงปี 66

แจงค่าการกลั่นสูงเป็นตามกลไกโลก

กุลิศกล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ราคาพลังงานโลกโดยเฉพาะน้ำมัน มีราคาลดต่ำลงมาถึงระดับ 22 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในเดือนเมษายน 2563 จนถึงช่วงกลางปี 2564 ซึ่งมีวัคซีนป้องกันออกมา ความตึงเครียดจากการระบาดของไวรัสเริ่มผ่อนคลายลง เศรษฐกิจโลกทยอยฟื้นตัว ราคาน้ำมันดิบโลกก็เริ่มปรับราคาสูงขึ้นจาก 30-50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาเป็น 60 ดอลลาร์ และขยับเป็น 80 ดอลลาร์ ในช่วงสิ้นปี 2564 โดยมีปัจจัยหนุนจากการลดกำลังผลิตของกลุ่มประเทศผลิตน้ำมัน OPEC+

จนมาถึงช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ก็เกิดวิกฤติการณ์สงครามการสู้รบระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งสูงขึ้นถึง 160 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนมีนาคม ก่อนกลับมาในระดับ 100 ดอลลาร์ในเดือนพฤษภาคม ปัจจุบันราคาขยับอยู่ในระดับ 118-120 ดอลลาร์ ด้านราคาน้ำมันดีเซลโลกปัจจุบันพุ่งสูงไปถึง 170-180 ดอลลาร์ มีส่วนต่างจากราคาน้ำมันดิบมากถึง 50 ดอลลาร์

สำหรับก๊าซธรรมชาติ ขณะนี้ ภายหลังการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทาน และผู้ประกอบการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ ส่งผลให้การผลิตก๊าซในอ่าวไทยลดลง ขณะเดียวกันราคาก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG ณ ตลาดญี่ปุ่น เกาหลี ที่เรียกว่า JKM จากที่ราคา 7-8 ดอลลาร์ต่อ MMBTU ในปี 2563 ขึ้นมาสูงสุดที่ 85 ดอลลาร์ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของภาวะสงคราม ก่อนลดลงมาอยู่ที่ 34-45 ดอลลาร์ ปัจจุบันอยู่ที่ 25 ดอลลาร์ต่อ MMBTU ส่วนราคาก๊าซหุงต้มนั้น ราคาตลาดโลกพุ่งจาก 370 บาทต่อถัง (15 ก.ก.) มาเป็น 460 บาทต่อถัง

กุลิศเผยอีกว่า สำหรับที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับค่าการกลั่นน้ำมันที่สูงถึง 8 บาทต่อลิตรนั้น จากการตรวจสอบโครงสร้างค่าการกลั่นน้ำมันของไทย โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พบว่า ค่าการกลั่นเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค. 2565) อยู่ที่ 3.27 บาทต่อลิตร และในเดือนพฤษภาคม ค่าการกลั่นอยู่ที่ 5.20 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงขึ้นจากในสภาวะปกติก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่เคยอยู่ที่ 2.00-2.50 บาท แต่ค่าการกลั่นที่สูงขึ้นนี้ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าการกลั่นในตลาดโลก โดยเริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติ Covid-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน

โดยค่าการกลั่นที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลมาจากส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันอ้างอิงของทุกผลิตภัณฑ์ปรับสูงขึ้นจากความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลก รวมถึงการที่หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการป้องกันการระบาดของ Covid-19 และความตึงเครียดจากวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งนำไปสู่การที่หลายประเทศประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก ทำให้อุปทานในตลาดเกิดการตึงตัว

นอกจากนี้ ประเทศจีนยังมีการลดการส่งออกน้ำมันเพื่อสำรองไว้ใช้ในประเทศด้วย ทำให้ค่าการกลั่นที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นไปตามตลาดโลก ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามเต็มที่ในการใช้กลไกต่างๆ ลดภาระประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้น และขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการหารือเพื่อขอความร่วมมือกับโรงกลั่นในการบริหารจัดการสำหรับช่วงที่เกิดวิกฤติด้านราคาพลังงาน

“เชื่อว่าวิกฤติพลังงานจะยังคงอยู่ไปจนถึงสิ้นปี 2565 ต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 2566 และน่าจะยืดเยื้อต่อไปจากมาตรการคว่ำบาตรที่ยังคงมีอยู่ ทำให้ราคาพลังงานโลกยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น ประเมินว่าในสิ้นปีนี้ราคาน้ำมันดิบน่าจะอยู่ที่ 110-120 ดอลลาร์ น้ำมันดีเซล 150-170 ดอลลาร์ LNG 25 ดอลลาร์ ในฤดูหนาวน่าจะขยับขึ้นเป็น 35 ดอลลาร์ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะดำเนินการทุกวิธีเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ทุกรูปแบบให้ดีที่สุด”

 

กองทุนน้ำมันติดลบ 90,000 ล้านบาท

แต่ความมั่นคงทางพลังงานยังดีเยี่ยม

กุลิศกล่าวว่า สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2565 มีสถานะติดลบประมาณ 96,500 ล้านบาท เกิดจากการช่วยพยุงราคาน้ำมันดีเซล 60,000 ล้านบาท และช่วยตรึงราคา LPG ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน แม้จะมีการขยับขึ้นราคาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 ก็ยังติดลบ 36,500 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบด้านราคาได้อย่างต่อเนื่อง

“ตามกฎหมายแล้ว กองทุนน้ำมันจะมีเงินเกิน 40,000 ล้านบาทไม่ได้ ถ้าเกินจากนั้นต้องนำส่งคลังทั้งหมด ซึ่งในช่วงที่ Covid-19 ระบาด ผู้คนไม่ได้ใช้น้ำมัน จึงนำเงินไปช่วยอุดหนุนราคา LPG ในช่วงที่ประชาชนอยู่บ้าน จากราคา 363 บาท ตรึงไว้ที่ 318 บาทต่อถัง และในช่วงต้นปีนี้ ราคา LPG ก็พุ่งสูงเป็น 460 บาทต่อถัง ทำให้ต้องมีการปรับราคาขึ้นเป็น 363 บาทต่อถัง ซึ่งก็ยังต้องใช้เงินกองทุนเข้าไปอุดหนุนเป็นจำนวนมากอยู่ดี แล้วมาซ้ำด้วยวิกฤติราคาน้ำมันอีก ส่งผลให้สถานะกองทุนติดลบหนักในปัจจุบัน”

กุลิศกล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการจัดหาสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ปัจจุบันกระทรวงพลังงานกำลังดำเนินการอยู่ มีการเจรจากับฝั่งธนาคารพาณิชย์เพื่อจะขอกู้เงินมาเพิ่มสภาพคล่องแล้ว ขณะที่ทุนสำรองและน้ำมันสำรองของประเทศไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยมีน้ำมันสำรองการใช้งานได้ถึง 2 เดือนเต็ม

ส่วนแผนงานต่างๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ดำเนินการหมดแล้ว จากนี้เหลือเพียงต้องผ่านพายุวิกฤติพลังงานไปให้ได้ และจะดียิ่งขึ้นไปอีกหากภาคประชาชน ธุรกิจ ผู้ประกอบการ ร่วมเป็นอีกหนึ่งกลไกในการช่วยประหยัดพลังงาน เพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ รัฐบาลได้เตรียมการช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชนโดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 เห็นชอบมาตรการด้านพลังงานที่จะคงราคาขายปลีก ก๊าซ NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม และคงราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ใน กทม.และปริมณฑล ไว้ที่ 13.62 บาท ต่อกิโลกรัม ไปจนถึงวันที่15 กันยายน 2565

นอกจากนี้ ยังช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 100 บาทต่อ 3 เดือนต่อคน ให้กับผู้ถือบัตร 4 ล้านคน จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 ด้านผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เป็นร้านค้าหาบเร่ แผงลอย ที่มาลงทะเบียนกับปตท. ก็สามารถได้รับสิทธินี้เช่นกัน


ติดตามคอลัมน์ Exclusive Interview  ได้ในวารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนกรกฎาคม 2565 ฉบับที่ 483 ในรูปแบบดิจิทัล :  https://goo.gl/U6OnIi   

รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt