INTERVIEW • EXCLUSIVE INTERVIEW

Exclusive Interview : ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ

อธิบดีกรมสรรพากร

 

เดินหน้ายุทธศาสตร์ D2RIVE

กำหนด 4 เป้าหมายปรับโครงสร้างภาษี


 ปัจจุบันสรรพากรยังคงใช้ยุทธศาสตร์ D2RIVE ในการขับเคลื่อนองค์กรเพราะเป็นแผนระยะปานกลางโดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวทำให้มีการขับเคลื่อนการทำงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งจากการประเมินในช่วงที่ผ่านมาถือว่าทำได้มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะเรื่องการบริการที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้เสียภาษี

สรรพากรได้เสนอเป้าหมายการปรับโครงสร้างภาษีทั้งหมด4 เรื่อง ได้แก่ เน้นสร้างความเป็นธรรม เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ภาษีสิ่งแวดล้อม และฐานะทางการคลังและการจัดเก็บรายได้ทางการคลังโดยสรรพากรอยากเน้นสร้างความเป็นธรรม”           

หลังจากดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2561ได้ประกาศใช้ยุทธศาสตร์ D2RIVE และขับเคลื่อนนโยบายนี้อย่างจริงจัง เพื่อมุ่งสู่การเป็นกรมสรรพากรดิจิทัล

ดร.เอกนิติให้สัมภาษณ์พิเศษการเงินธนาคาร ว่า ตลอดระยะเวลากว่า3ปีที่ผ่านมาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์D2RIVE ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในองค์กรและทำให้สามารถจัดเก็บรายได้ภาษีได้ตรงเป้า ออกแบบนโยบายทางภาษีตรงกลุ่ม บริการประชาชนและผู้เสียภาษีตรงใจมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันสรรพากรยังคงใช้ยุทธศาสตร์ D2RIVE ในการขับเคลื่อนองค์กรเพราะเป็นแผนระยะปานกลาง โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวทำให้มีการขับเคลื่อนการทำงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งจากการประเมินในช่วงที่ผ่านมาถือว่าทำได้มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะเรื่องการบริการที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้เสียภาษี

 

D2RIVEช่วยออกแบบนโยบาย

ตรงเป้า ตรงกลุ่ม ตรงใจ ผู้เสียภาษี    

ดร.เอกนิติกล่าวว่า ปัจจุบันกรมสรรพากรยังคงใช้ยุทธศาสตร์D2RIVE มาอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กร เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้ทันสมัย รวดเร็ว และเป็นธรรม ด้วยการเชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)ผ่านระบบดิจิทัล รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้เสียภาษีอย่างรวดเร็ว

โดยการดำเนินยุทธศาสตร์ D2RIVEได้นำ Digital Transformation และ Data Analyticsมาช่วยในกระบวนการทำงานทำให้สรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้ภาษีได้ตรงเป้า ออกแบบนโยบายทางภาษีตรงกลุ่ม บริการประชาชนและผู้เสียภาษีตรงใจมากยิ่งขึ้น

 ตรงเป้าในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของงบประมาณปี 2564 กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้แล้ว1,449,512 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 71,458 ล้านบาท หรือ 5.2% แต่ต่ำกว่าประมาณการ142,767ล้านบาท หรือ 9%ทั้งนี้กรมสรรพากรพยายามหารายได้โดยจัดเก็บภาษีกับธุรกิจที่เติบโตดีในช่วงโควิด เช่น เวชภัณฑ์ โรงพยาบาล ก่อสร้างโดยเฉพาะก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ

ตอนนี้กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้สูงกว่าปีที่แล้วโดยมาจากการใช้Data Analytics เข้ามาช่วย อย่างไรก็ตามการจัดเก็บรายได้ของสรรพากรยังต่ำกว่าเป้าหมายเนื่องจากเป็นเป้าที่ถูกตั้งมาก่อนการระบาดของโควิด-19ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างกังวลเนื่องจากวันนี้ประชาชนและผู้ประกอบการเดือดร้อนสรรพากรต้องช่วยประชาชนด้วย แต่ก็พยายามหารายได้จากแหล่งอื่น เช่น คนที่ได้ประโยชน์จากเรื่องโควิด-19

ตรงกลุ่ม เป็นการออกแบบนโยบายทางภาษีให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย โดยที่ผ่านมาได้มีนโยบาย เลื่อน ลด เร่ง และ แรงจูงใจ เพื่อช่วยเหลือผู้เสียภาษีในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19ได้อย่างตรงกลุ่ม

        1. เลื่อน มาตรการล่าสุดที่ออกมาเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา ได้แก่ ขยายเวลาการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตรา 7% สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณีที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 - 30 กันยายน 2566

        รวมถึงขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการฯ และชำระภาษี ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50 ภ.ง.ด.52 และภ.ง.ด.55) งบการเงิน และ Disclosure Form จากภายในวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ถึงวันที่ 22 กันยายน 2564 ออกไปเป็นภายในวันที่ 23 กันยายน 2564

        ตลอดจนขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการฯ และชำระภาษี ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2564 (ภ.ง.ด.51) จากภายในวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ถึงวันที่ 22 กันยายน 2564 ออกไปเป็นภายในวันที่ 23 กันยายน 2564ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการฯ และชำระภาษี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี สำหรับปีภาษี 2564 (ภ.ง.ด.94) จากภายในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564

        และขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการฯ และชำระภาษี ภาษีเงินได้ หัก ที่จ่าย (ภ.ง.ด.1 ภ.ง.ด.2 ภ.ง.ด.3 ภ.ง.ด.53 และภ.ง.ด.54) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30 และ ภ.พ.36) และภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.40) จากภายในวันที่ 7 หรือ 15 ของเดือนกันยายน-ธันวาคม 2564 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 กันยายน 2564 29 ตุลาคม 2564 30 พฤศจิกายน 2564 และ 30 ธันวาคม 2564

        2. ลด โดยมาตรการล่าสุดที่ออกมาเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา คือ งดหรือลดเบี้ยปรับสำหรับกรณีที่ประชาชนและผู้ประกอบการไม่สามารถยื่นแบบแสดงรายการฯ ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะภายในกำหนดเวลา หรือยื่นแบบแสดงรายการฯ ผิดพลาด สำหรับแบบที่ต้องยื่นภายในเดือนกันยายน-ธันวาคม 2564

         โดยหากยื่นแบบฯ ภายใน 3 เดือน นับแต่พ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบฯ ที่ได้ขยายออกไปข้างต้นจะได้รับการงดหรือลดเบี้ยปรับ โดยงดเบี้ยปรับเมื่อชำระภาษีและเงินเพิ่มครบถ้วน และลดเบี้ยปรับในอัตราต่ำสุด 2% เมื่อชำระภาษีไม่น้อยกว่า 25% ของภาษีที่ต้องชำระ

        นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังได้ลดค่าปรับทางอาญากรณีดังกล่าวให้เหลืออัตราต่ำสุด โดยหากมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ลดเหลือ 1 บาท หากมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ลดเหลือ 2 บาท ทั้งนี้ เนื่องจากค่าปรับทางอาญาเป็นการเปรียบเทียบปรับแทนการฟ้องร้องดำเนินคดี จึงไม่อาจงดค่าปรับให้ได้

        3. เร่ง โดยการเร่งคืนภาษีให้เร็วขึ้นทั้งภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยในปีงบประมาณ 2564 กรมสรรพากรได้คืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปแล้ว 5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า90%ของภาษีที่ขอคืน

        การใช้ Data Analytics ทำให้สามารถคืนภาษีได้เร็วขึ้น โดยปัจจุบันคืนไปแล้วกว่า 90% อีก 10% ที่ยังไม่ได้คืนเป็นกลุ่มที่อาจมีการรายงานหรือแสดงแบบไม่ครบ หักค่าลดหย่อนไม่ตรงตามกฎหมาย

        อย่างไรก็ตามสรรพากรพยายามทำให้คนเข้าไปอยู่ในระบบภาษี เพื่อความเป็นธรรมเนื่องจากหากกรมสรรพากรปล่อยให้คนหลบภาษีก็ไม่เป็นธรรมกับคนเสียภาษี

        4. แรงจูงใจ ที่ผ่านมากรมสรรพากรได้ออกมาตรการทางภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจมาโดยตลอด เช่นจูงใจให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้และสนับสนุนโครงการพักทรัพย์พักหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของสถาบันการเงิน อันเนื่องมาจากมาตรการพักทรัพย์พักหนี้

รวมถึงยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินและสถาบันการเงิน สำหรับการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้า และการกระทำตราสารจากมาตรการพักทรัพย์พักหนี้

ตลอดจนกำหนดให้การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของสถาบันการเงินในส่วนของหนี้

ที่สถาบันการเงินได้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้จากมาตรการพักทรัพย์พักหนี้สามารถทำได้โดยไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ปกติ

สรรพากรได้ออกมาตรการในการสร้างแรงจูงใจมาออย่างต่อเนื่อง เช่น ปีที่ผ่านมาได้มีการออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการคงการจ้างงาน ขณะที่ในปีนี้มีการออกมาตรการ เช่นไม่คิดภาษีการจำหน่ายหนี้สูญ เพื่อจูงใจให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ และสนับสนุนโครงการพักทรัพย์พักหนี้ของธนาคาร

แห่งประเทศไทย

ตรงใจโดยสรรพากรได้มีการนำ Digital Transformation มาใช้ในกระบวนการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมาโครงการด้านDigital Transformation ของสรรพากรได้รับรางวัลมากมาย เช่นVat Refund For Touristsหรือ VRTเป็นการนำเทคโนโลยีBlockchainระบบการคืนภาษีให้นักท่องเที่ยวเป็นที่แรกของโลก

รวมถึงMy Tax Account เป็นช่องทางเข้าถึงข้อมูลและบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียภาษีบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยช่วยให้ผู้เสียภาษีตรวจสอบข้อมูลค่าลดหย่อนต่างๆ ด้วยตนเองก่อนการยื่นแบบแสดงรายการ

ตลอดจนด้านการบริการประชาชน เช่นe-Donation ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ที่สรรพากรพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการรองรับข้อมูลการรับบริจาคของสถานศึกษา ศาสนสถาน โรงพยาบาล องค์กร

สาธารณกุศล และหน่วยรับบริจาคอื่นๆ ที่กฎหมายกำหนดให้สามารถนำการบริจาคมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริจาคให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้โดยไม่ต้องเก็บหลักฐานการบริจาคมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริจาคได้รับเงินคืนภาษีได้รวดเร็วขึ้น

“Data Analytics จะมาช่วยเรื่องขยายฐานภาษีขณะที่ Digital Transformation จะมาช่วยพัฒนาให้บริการของสรรพากรดีขึ้น ซึ่งหวังว่าคนจะเต็มใจเสียภาษีมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ OECD กับ ADB นำโมเดลของไทยเป็นต้นแบบเรื่องดิจิทัลให้กับสรรพากรทั่วโลก

 

ยุทธศาสตร์ D2RIVE ของกรมสรรพากรคืออะไร

        D - Digital Transformation การปรับเปลี่ยนกระบวนงานเพื่อนำไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลโดยจะเน้นที่การปรับปรุงบริการของกรมสรรพากรที่ยึดผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง และสอดคล้องกับพลวัตของเทคโนโลยี(Taxpayer - Centric Solutions)

        D - Data Analytics การเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์ข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)โดยเน้นการนำข้อมูลทั้งภายในและข้อมูลภายนอกมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อให้การออกแบบนโยบายภาษี

        R- Revenue Collection การเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง และเป็นธรรมโดยสรรพากรได้เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีให้ได้ตามประมาณการผ่านกระบวนงานต่างๆ

        I - Innovation การสร้างนวัตกรรม โดยสรรพากรมุ่งเป้าหมายการเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อน ด้วยนวัตกรรม โดยมีการเลือกใช้กระบวนการ Design Thinking ในการจัดทำนวัตกรรม และมีการพัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรม

        V - Values การพัฒนากรมสรรพากรให้เป็นองค์กรคุณธรรมและสร้างอัตลักษณ์ HAS ซึ่งประกอบด้วย Honest ซื่อสัตย์Accountability รับผิดชอบต่อหน้าที่กระตือรือร้นในการปฏิบัติงาน Service Mind มอบใจบริการ เต็มที่ เต็มใจ ให้บริการอย่างเต็มความสามารถ

        E- Efficiency การยกระดับประสิทธิภาพของคนและงาน โดยสรรพากรเร่งผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพ โดยการสร้างคนเก่ง คนดี และมีความสุขรวมทั้งการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน และ การปรับปรุงระบบงาน โดยการนาเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

เตรียมปรับโครงสร้างภาษี

เพื่อสร้างความเป็นธรรม

ดร.เอกนิติกล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างการทำแผนปรับโครงสร้างภาษีโดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นหน่วยงานที่จัดการในภาพรวม ร่วมกับหน่วยงานในด้านการจัดเก็บภาษี ได้แก่กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร

 “การปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันใน 4 หน่วยงานคือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร โดยมีแม่งานคือ สศค. ซึ่งจะเป็นคนดูภาพรวม ส่วนสรรพากรเป็นหนึ่งในกรมต่างๆ เป็นหน่วยปฏิบัติ ไม่ใช่หน่วยนโยบาย

โดยในส่วนของสรรพากรได้เสนอ 4 เป้าหมายใหญ่ในการปรับโครงสร้างภาษี ได้แก่

        เป้าหมายที่ 1 การเน้นสร้างความเป็นธรรม โดยพยายามสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดามากขึ้นโดยอาจมีการปรับให้กลุ่มคนรายได้สูงได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีน้อยลงและคนที่มีรายได้ปานกลางมีสิทธิ์ลดหย่อนภาษีมากขึ้น

        เป้าหมายที่ 2 เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้วยการร่วมมือทางด้านภาษีกับต่างประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

        การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นเรื่องของการแข่งขันระหว่างประเทศไม่ใช่ระหว่างบริษัทในประเทศ ดังนั้นปัจจุบันสรรพากรได้ร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น ประเทศกลุ่ม G7 และ OECD ที่ได้มีการพิจารณากำหนดแนวทางGlobal Minimum Tax Rateโดยกำหนดให้เมื่อไปลงทุนประเทศใดก็ตามต้องเสียภาษีให้ประเทศนั้นขั้นต่ำ 15% และหากประเทศใดอัตราภาษีต่ำกว่า 15% ประเทศแม่มีสิทธิ์เก็บเพิ่มให้ได้ 15% เป็นเรื่องการสร้างความเป็นธรรมทางภาษี

        ขณะที่เป้าหมายที่ 3 คือการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมโดยร่วมกับกับสรรพสามิต และ

        เป้าหมายที่ 4 คือเรื่องฐานะทางการคลังและการจัดเก็บรายได้ทางการคลัง

        สรรพากรได้เสนอเป้าหมายการปรับโครงสร้างภาษีทั้งหมด4 เรื่อง ได้แก่ เน้นสร้างความเป็นธรรม เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ภาษีสิ่งแวดล้อม และรายได้ทางการคลังและฐานะทางการคลังโดยสรรพากรอยากเน้นสร้างความเป็นธรรม


ติดตามคอลัมน์ Exclusive Interview ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนตุลาคม 2564 ฉบับที่ 474 

ในรูปแบบดิจิทัล :  https://goo.gl/U6OnIi