INTERVIEW • EXCLUSIVE INTERVIEW

Exclusive : บัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์

บัณฑิต อนันตมงคล

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์

 

ผุดไอเดียสร้าง NEW S-CURVE

มุ่งพลิกฟื้นสินทรัพย์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย


“ช่วง 11 เดือนที่ผ่านมาหลังรับตำแหน่งเป็นช่วงที่โควิด-19 ระบาด ทำให้มีเวลาดูแลโครงสร้างภายในได้อย่างเต็มที่ โดยเรื่องที่เราให้ความสำคัญอย่างมากคือการบริหารคนหรือ Human Resource Managementเพื่อยกระดับให้พนักงานในองค์กรมีความรู้ความสามารถที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งหากคนในองค์กรและโครงสร้างภายในแข็งแรง BAMจะก้าวไปสู่NEW S-CURVE ได้ ดังนั้นบ้านต้องพร้อม”

 “ผมมีไอเดียในการทำ Joint Ventureกับธนาคารพาณิชย์เป็นแบบที่วางไว้เราโฟกัสของที่เราเก่งเท่านั้นยืนยันว่าภายใต้การบริหารของผมและบอร์ดชุดนี้เราไม่ออกนอกธุรกิจ AMC แน่นอน”

เป็นเวลากว่า 20 ปีที่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จํากัด (มหาชน)หรือ BAMมีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการบริหารสินทรัพย์ครบวงจร ทั้งสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL)รวมทั้งทรัพย์สินรอการขาย (NPA) เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงินพลิกฟื้นสินทรัพย์ให้กลับเป็นหนี้ที่มีคุณภาพกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจปกติ

บัณฑิต อนันตมงคลประธานเจ้าหน้าที่บริหารให้สัมภาษณ์พิเศษ “การเงินธนาคาร” ว่า หลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 64 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ดังนั้นจึงได้มุ่งเน้นในการช่วยเหลือลูกหนี้ลูกค้าไปพร้อมกับการดูแลโครงสร้างภายในบริษัทให้แข็งแรงพร้อมเดินหน้าเป้าหมายใหม่หรือ NEW S-CURVE

“ช่วง 11 เดือนที่ผ่านมาหลังรับตำแหน่งเป็นช่วงที่โควิด-19 ระบาด ทำให้มีเวลาดูแลโครงสร้างภายในได้อย่างเต็มที่ โดยเรื่องที่เราให้ความสำคัญอย่างมากคือการบริหารคนหรือ Human Resource Managementเพื่อยกระดับให้พนักงานในองค์กรมีความรู้ความสามารถที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งหากคนในองค์กรและโครงสร้างภายใน แข็งแรง BAM จะก้าวไปสู่NEW S-CURVE ได้ดังนั้นบ้านต้องพร้อม”


ยังทำผลงานได้ดีต่อเนื่อง

แม้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

บัณฑิตกล่าวว่า อุตสาหกรรมบริษัทบริหารสินทรัพย์หรือ AMC ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างมากเนื่องจากประเทศไทยพึ่งพาภาคบริการเป็นหลักซึ่งคนจีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ ดังนั้นเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ประเทศจีนได้มีเงื่อนไขในการออกนอกประเทศทำให้นักท่องเที่ยวจีนยังไม่เดินทางเข้าไทยซึ่งส่งผลกระทบกับทั้งภาคท่องเที่ยว ขนส่ง รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์

 อย่างไรก็ตามในภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2564 BAM ทำได้ดีมาก โดยตัวเลขการเรียกเก็บเงินสด (Cash Collection) อยู่ที่ 12,000 ล้านบาท จากเป้าหมายปี 2564 ที่ 17,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563 ทั้งปี อยู่ที่ 13,000 ล้านบาท

“เราเซอร์ไพร์สมากเพราะภายใต้สถานการณ์ของปีนี้ที่แย่กว่าปีที่แล้ว ลูกหนี้อยู่ในสถานการณ์ที่แย่ขณะที่เศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้น แต่เราทำได้ดีมาก ตัวเลข Cash Collection หรือการเรียกเก็บเงินสดของเราดีกว่าที่คาด ถึงแม้ว่าจะไม่ดีเท่าเป้าหมายเนื่องจากเป้าหมายตั้งไว้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วซึ่งเราคาดว่าสถานการณ์โควิดในปีนี้จะดีขึ้นแต่กลับแย่กว่าเดิม”

บัณฑิตกล่าวว่าสาเหตุที่สามารถรักษาอัตราการเติบโตได้อย่างดีภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คือการปรับกลยุทธ์โดยไม่เน้นเรื่อง Commercial เป็นหลัก แต่เน้นเรื่องการช่วยเหลือลูกค้า เช่นด้านการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL)สำหรับลูกหนี้ที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง มีการช่วยเหลือโดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตลอดจนมีมาตรการที่หลากหลายในการประนอมหนี้เช่น มาตรการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและลูกค้า SMEมาตรการฝ่าวิกฤติโควิดไปกับ BAM อาทิ โครงการสุขใจได้บ้านคืน โครงการ BAM ช่วยฟื้นคืนธุรกิจ

“มาตรการต่างๆที่BAM ออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้จะทำให้ลูกหนี้รายย่อยได้ทรัพย์หลักประกันซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินกลับคืนไป และลูกหนี้รายใหญ่สามารถดำเนินธุรกิจหรือหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจปกติต่อไปได้”

ในส่วนของการบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPA)มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพย์ให้มีศักยภาพ ตามนโยบายในการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งส่งเสริมการจำหน่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสให้ลูกค้าหรือผู้มีรายได้น้อยสามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น

รวมไปถึงการช่วยเหลือประชาชน และนักลงทุนในช่วงภาวะเศรษฐกิจซบเซาให้สามารถเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ หรือมีสถานที่ประกอบกิจการด้วยโครงการช่วยเหลือผู้ซื้อทรัพย์ตามโครงการซื้อทรัพย์แบบผ่อนชำระกับ BAMอาทิ โครงการคอนโดราคามหาชน โครงการ BAM for SME และ โครงการอสังหาฯ เพื่ออนาคต

“สิ่งที่ทำให้BAM รักษาอัตราการเติบโตได้ดีภายใต้สถานการณ์โควิด-19 คือเราปรับกลยุทธ์โดยไม่มุ่งเน้น Commercialเป็นหลัก เราไม่ Maximize แต่เรา Optimizeเพราะเรามาจากรัฐวิสาหกิจถึงแม้เราปรับเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แล้วแต่หน้าที่หลักของBAM คือการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”

บัณฑิตกล่าวต่อว่า ในส่วนของกลยุทธ์การดูแลพนักงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 BAM ได้ให้พนักงานWork From Home โดยใช้เทคโนโลยีที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเมื่อเปิดประเทศวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมาพนักงานในส่วนที่ได้รับวัคซีนครบได้กลับมาทำงานภายใต้มาตรการป้องกันโรคอย่างเต็มที่ขณะที่พนักงานส่วนที่ยังฉีดไม่ครบหรือยังไม่ได้รับวัคซีนบูสเตอร์โดสบางส่วนยังให้ Work From Home

“พนักงานของBAM ทำงานอย่างเต็มที่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ตามเราเน้นย้ำว่าต้องอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันโรค เพราะหากเขาเป็นอะไรไปก็ไม่สามารถทำยอดขายได้ เหนือสิ่งอื่นหากพนักงานติดโควิดแล้วไปติดลูกค้าอันนี้ยิ่งแย่ เพราะฉะนั้นเรากำชับทีมเสมอว่าสุขภาพเราสำคัญมากทั้งกับตัวเองลูกค้าและบริษัท”           

 

ผุดไอเดียทำ JV

ให้เป็น BAM NEW S-CURVE           

บัณฑิตกล่าวว่าสำหรับยุทธศาสตร์ของBAM ในปี 2565 คือการพยายามลดระยะเวลาการคุ้มทุน เนื่องจากก่อนช่วงก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ BAM ใช้เวลาในการคุ้มทุนอยู่ที่ประมาณ 6 ปี ขณะที่หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วมีสถานการณ์โควิดระยะเวลาคุ้มทุนอยู่ที่ประมาณ 7 ปี ซึ่งหากลดเวลาเหลือ 5 ปีได้จะทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น  นอกจากนี้ยังอยากเห็นการหมุนของสินทรัพย์ที่ขายผ่านกรมบังคับคดีมีความรวดเร็วมากขึ้นซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับกรมบังคับคดีอย่างต่อเนื่อง

“ตอนนี้ยุทธศาสตร์ที่เป็นหัวใจของเราคือการพยายามจะลดช่วงเวลาการคุ้มทุนจาก 7 ปีเหลือ 5 ปี เนื่องจากจะทำให้มีกำไรเพิ่มมากขึ้นเพราะต้นทุนดอกเบี้ยหายไปแล้ว อย่างไรก็ตามเนื่องจากธุรกิจของเรามีขนาดใหญ่ การลดระยะเวลาคุ้มทุนต้องไม่ทำให้เกิดMoral Hazard ในระบบ”

ขณะที่การสนับสนุนให้ลูกหนี้เข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้จะเป็นสิ่งที่BAM ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายในการช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากปัจจุบันลูกค้าบางส่วนยังไม่มีความเข้าใจและไม่กล้าเจรจาเพราะกลัวว่าจะปรับโครงสร้างได้ไม่สำเร็จ

“เราอยากปรับโครงสร้างหนี้เยอะขึ้นเพราะลูกค้าบางส่วนยังไม่เข้าใจ ยังไม่กล้าเข้ามาปรับ อย่างไรก็ตามเราอยากให้ลูกค้าเข้ามาคุยจะจ่ายมากหรือน้อยBAM ยินดีคุยเพราะเราไม่อยากให้ลูกค้าไปถึงกระบวนการขึ้นศาล ซึ่งที่ผ่านมาลูกค้าที่มาปรับโครงสร้างหนี้กับเราส่วนใหญ่จะเป็นอิสระได้เร็วขึ้น”

ทั้งนี้BAM อยู่ระหว่างการเจรจากับพาร์ตเนอร์เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ได้ง่ายขึ้น ตลอดจนเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าชำระหนี้ผ่านช่องทางต่างๆ ได้ง่ายขึ้นโดยมีแผนในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้ครอบคลุม เข้าใจง่าย และประหยัดเวลาของลูกค้า

 “คนมี 2 แบบ มี Willingness กับ ไม่มี Willingness คนที่เขามี Willingness เราเห็นได้ว่าพอเขามีเขามาจ่าย คนที่ไม่มีความตั้งใจอยากจะจ่ายต่อให้มีเขาก็ไม่จ่าย ซึ่งกลุ่มนี้เราใช้กลไกทางกฏหมายมาช่วย เนื่องจากหากปล่อยไว้เขาก็ไม่เห็นความตั้งใจของเราและทำตัวเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้กับสังคม สำหรับคนที่ดีมีความตั้งใจเราก็จะช่วยอย่างสุดทาง”

 บัณฑิตกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีแนวคิดในการสร้าง NEW S-CURVE ได้แก่ การทำ Joint Venture(JV) “ผมมีไอเดียในการทำ Joint Venture กับธนาคารพาณิชย์ เป็นแบบที่วางไว้ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน อย่างไรก็ตามBAMจะไม่เป็นDeveloper เพราะหน้าที่เราคือรีไซเคิลสินทรัพย์ ดังนั้นเราโฟกัสของที่เราเก่งเท่านั้นยืนยันว่าภายใต้การบริหารของผมและบอร์ดชุดนี้เราไม่ออกนอกธุรกิจ AMC แน่นอน”

โดยปัจจุบัน Joint Venture(JV) ได้ดำเนินการศึกษาถึงแนวทางความเป็นไปได้เรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างหารือเกี่ยวกับกฎเกณฑ์หรือข้อจำกัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างไรก็ตาม BAM มีความพร้อมที่จะร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งที่สนใจมาร่วมทุนจัดตั้ง JV เพื่อบริหารหนี้เฉพาะพอร์ตหนี้ของธนาคารพาณิชย์นั้นๆ

“เราแพลนไว้ว่ากรรมการJVจะเชิญคนนอกเข้ามานั่งเพื่อความโปร่งใสและเพื่อลดปริมาณคนและค่าใช้จ่าย อาจจะเป็นอดีตพนักงานของเราที่เกษียณไปแล้วแต่ยังมีศักยภาพสูง เพราะมีความเชี่ยวชาญสูง เหมือนทหารเกณฑ์ที่พ้นประจำการ พร้อมลุยเพราะรู้วิธีรบแล้ว หรือเป็นคนจากคู่แข่งที่เกษียณแล้วก็ได้ เพราะคู่แข่งเราอีกนัยนึงก็เป็นคู่ค้าไม่มีศัตรูถาวรเพียงแต่ต้องอาศัยความWIN-WIN ทั้งสองฝ่าย อันนี้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ”

บัณฑิตกล่าวต่อว่า อีกแนวคิดที่ต้องการทำคือเรื่อง Coin Offering หรือ การระดุมทุนด้วยเหรียญดิจิทัล ซึ่งต้องการทำแบบที่BAMไม่ต้องถือ Coin ด้วยตัวเอง โดยให้ลูกค้าที่สนใจ NPL หรือ NPA ของBAM ออก Coin แล้วนำเงินที่ได้จาก Coin มาซื้อ “เรามีไอเดียเรื่องการทำ Coin Offering แต่ท้ายที่สุดจะออก Coin ได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับลูกค้า  ทั้งหมดนี้เป็นฝันที่อยากทำที่ผ่านมาผมพยายามจะฝันแล้วแชร์ฝันให้กับทีม พอเราแชร์ฝันกันมันก็ทำให้ขับเคลื่อนทุกอย่างไปได้ 11 เดือนที่ผ่านมาเราจึงมาได้ขนาดนี้”

 

เดินหน้าพัฒนาระบบ IT

สู่ BAM Digital Enterprise

บัณฑิตกล่าวว่าBAMได้เริ่มต้นพัฒนาระบบ IT สู่การเป็น BAM Digital Enterprise เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงลดระยะเวลาและขั้นตอนในการทำงานให้เร็วขึ้น (Re-Process)โดยในฝั่งของBAM ได้มีโปรเจ็กต์ Ease of Doing Businessลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็นโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยไปพร้อมกับการรักษาความมั่นคงทางข้อมูลให้ไม่รั่วไหล โดยในเฟส 1 ได้ตั้งทีมทำงาน 4 ทีมเพื่อดูแลเรื่องโดยเฉพาะคาดว่าจะเสร็จในปลายปี 2565

ทั้งนี้เมื่อเฟส 1 เสร็จแล้วจะดำเนินการต่อในเฟสที่ 2 ทันทีซึ่งประกอบด้วยการทำ Data Intelligence และ Data Analytics เพื่อนำข้อมูลที่BAM มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“เมื่อพัฒนาเรื่อง IT เสร็จแล้วจะทำให้ในฝั่งของผู้บริหารรู้ได้เลยวันนี้มีใครมาติดต่อเรื่องอะไรบ้างสำหรับพนักงานจะสามารถวางแผนได้ล่วงหน้าว่าจะต้องไปเจอลูกค้ารายไหนบ้างและลูกค้ารายไหนที่ไม่ว่างเพื่อให้สามารถวางแผนการทำงานได้ เป็นการประหยัดเวลาการทำงานของเรา”

ในฝั่งของลูกค้า BAMได้มีการทำศูนย์ประนอมหนี้ออนไลน์ By BAM เพื่อให้ลูกค้าที่ไม่สบายใจเมื่อต้องคุยกับพนักงานโดยสามารถคุยตรงผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ก่อนได้ เพื่อทำการประเมินและแนะนำโครงการBAM ที่ตอบโจทย์ลูกค้าในเบื้องต้น และเมื่อลูกค้าเลือกได้แล้วจึงติดต่อเจ้าหน้าที่ภายหลัง

นอกจากนี้ยังต้องการทำแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายทรัพย์มือสองเพื่อให้เป็น One Stop Service โดยให้ผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้กู้ บริษัทรับเหมาก่อสร้าง บริษัทวัสดุก่อสร้าง บริษัทออกแบบ มาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน

 

ขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน

เดินหน้า Zero Carbon

บัณฑิตกล่าวต่อว่า นอกจากการพัฒนาระบบไอทีแล้วBAM ยังมีเป้าหมายในการเดินหน้าเรื่อง Zero Carbon โดยได้ให้นโยบายว่าBAM 1 สาขา ต้องมีรถที่ใช้ไฟฟ้า 1 คันรวมถึงการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อช่วยประหยัดไฟที่ตึกของBAM โดยให้งบประมาณในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เฟสแรกของสาขาไว้แล้วประมาณ 3-4 ล้านบาท

“ตอนนี้ตึกเราลดค่าไฟเป็นหลายแสนเพราะมีการติดแผงโซลาร์เซลล์ นอกจากนี้ผมให้นโยบายไปว่า 1 สาขาต้องมีรถที่ใช้ไฟฟ้าแล้ว 1 คัน ดีที่สุดคือหากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดไว้ที่ตึกมีไฟเหลือสามารถเก็บไว้ในแบตเตอรี่แล้วนำมาใช้กับรถไฟฟ้าซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการศึกษา”

นอกจากนี้ยังมีโครงการลดการใช้กระดาษด้วยการTransform ข้อมูลต่างๆ ให้เข้าไปอยู่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีการลงทุนเพิ่ม อย่างไรก็ตามได้มีโครงการในการจูงใจให้พนักงานมีส่วนร่วมในการลดการใช้กระดาษโดยมีรางวัลให้กับสายงานที่สามารถลดการใช้กระดาษได้ 30% และ 50%

“เราต้องเริ่มเรื่อง Zero Carbonเพราะเป็นเรื่องของความยั่งยืนความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งคือ ธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมคือธุรกิจที่ดีและสิ่งที่จะได้กลับมาคือผลกำไรและยอดขายที่ดี”



 

ติดตามคอลัมน์ Exclusive ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม  2564 ฉบับที่ 476

ในรูปแบบดิจิทัล :  https://goo.gl/U6OnIi  

 รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt