HEALTH&WELLNESS

HEALTH&WELLNESS • HEALTH&WELLNESS

ชานิ้วมือช่วงกลางคืนบ่อย ๆ อาจเกิดจากพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท

หญิงวัยทำงานระวังพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท ถ้าไม่รีบรักษาอาจทำให้กล้ามเนื้อโคนนิ้วหัวแม่มือลีบถาวร 

สัญญาณของโรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท มักเริ่มจากอาการชานิ้วมือ ไม่ว่าจะเป็นนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง ซึ่งอาการชาจะถี่ขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนและช่วงหลังตื่นนอน เมื่อโรครุนแรงขึ้นจะมีอาการชาขณะหลับจนต้องลุกขึ้นมาหรืออาจจะชาเกือบตลอดเวลา ต่อไปอาจมีอาการอ่อนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้งานที่ละเอียดอ่อนอย่างการติดกระดุม และอาจทำให้ถือของได้ไม่มั่นคง เช่น ถือจาน ถือแก้ว แล้วหล่นง่าย เป็นต้น หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาจะมีโอกาสทำให้กล้ามเนื้อโคนนิ้วหัวแม่มือด้านนอกลีบถาวรได้ 

นายแพทย์กวี ภัทราดูลย์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านมือ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า พังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท เกิดจากพังผืดที่ข้อมือหนาตัวขึ้นโดยสามารถหนาได้ถึง 1.5 – 3 มิลลิเมตร จากปกติไม่ควรเกิน 1 มิลลิเมตร จนทำให้ช่องที่อยู่ของเส้นประสาทซึ่งอยู่ร่วมกับเส้นเอ็นที่ใช้งอนิ้วมือหลายเส้นตีบแคบลง โดยเฉพาะในขณะงอหรือกระดกข้อมือ จะทำให้ช่องนี้ตีบแคบมากขึ้นและไปกดทับเส้นประสาท ส่งผลให้มีอาการปวดและชาตามมือ รวมถึงนิ้วมือ ซึ่งโรคนี้พบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะวัยกลางคนหรือวัยทำงาน รวมถึงคนที่ใช้งานมือและข้อมือมาก ๆ หรือใช้งานในลักษณะงอหรือแอ่นข้อมือซ้ำ ๆ รวมถึงเกิดแรงสั่นสะเทือนอย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้อุปกรณ์ชนิดเจาะ การพิมพ์แป้นคีย์บอร์ด การใช้โทรศัพท์มือถือในท่าเดียวนาน ๆ รวมถึงการเล่นกีฬาที่ต้องใช้ข้อมือมาก ๆ เป็นต้น 

“การรักษาโรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท ในอาการที่ไม่รุนแรงแพทย์จะเริ่มจากให้ปรับพฤติกรรมการใช้งานมือร่วมกับประคบเย็นเพื่อลดบวม ใส่เฝือกอ่อนหรืออุปกรณ์พยุงข้อมือ รับประทานยาแก้อักเสบ ยาบำรุงฟื้นฟูเส้นประสาท กายภาพบำบัด ฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงข้อมือรอบเส้นประสาทเพื่อลดการอักเสบ ส่วนผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดข้ออักเสบ เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ เบาหวาน อาจใช้การฉีดสเตียรอยด์ไม่ได้ แต่ต้องใช้ยาควบคุมโรคที่เป็นอยู่ไม่ให้กำเริบจนส่งผลข้างเคียงต่อโรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาท” นายแพทย์กวีกล่าว 

ในกรณีที่อาการรุนแรงหรือใช้การรักษาข้างต้นแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาให้ผู้ป่วยได้ แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัด (Open carpal tunnel release) โดยเปิดแผลบริเวณฝ่ามือถึงข้อมือ ความยาวประมาณ 1.5 - 5 เซนติเมตร ตามความชำนาญของแพทย์ผู้ผ่าตัด เพื่อตัดพังผืดที่กดทับเส้นประสาทออก โดยหลังการผ่าตัดแพทย์อาจพิจารณาใส่อุปกรณ์พยุงข้อมือเพื่อลดการเคลื่อนไหว รวมถึงลดกิจกรรมที่ต้องใช้งานมือและข้อมือลง เช่น การเล่นกีฬา ทำงานบ้าน ยกของหนัก เป็นต้น และหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ โดยจะใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 1 - 2 เดือน ก็สามารถกลับมาใช้งานมือได้ตามปกติ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการฟื้นตัวของผู้ป่วยแต่ละรายด้วย 

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยไม่สามารถพักการใช้งานมือได้นานถึง 2 เดือน หรือไม่ต้องการให้เกิดรอยแผลจากการผ่าตัดบริเวณข้อมือ ปัจจุบันยังมีอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาโรคพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาทโดยไม่เปิดแผลผ่าตัด 

นายแพทย์นรฤทธิ์ ล้วนจำเริญ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีเทคนิคการรักษาโรคพังผืดที่ข้อมือกดทับเส้นประสาทด้วยการใช้เครื่องอัลตราซาวด์นำ โดยใช้อุปกรณ์ชนิดพิเศษเจาะผ่านผิวหนังโดยไม่ต้องเปิดแผลผ่าตัดและไม่มีแผลเย็บ ซึ่งแผลจะมีขนาดเล็กเพียง 1 มิลลิเมตร สามารถล้างมือและอาบน้ำตามปกติได้ใน 3 วัน หรือ 72 ชั่งโมงหลังการรักษา วิธีนี้จะไม่ทำลายเนื้อเยื่อโดยรอบและเส้นประสาทฝอยอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคเหมือนการผ่าตัดเปิดแผล