HEALTH&WELLNESS

HEALTH&WELLNESS • HEALTH&WELLNESS

ปลายฝนต้นหนาวนี้ กับวิธีป้องกันไข้หัวลม

            สวัสดีค่ะทุกคน ปลายฝนต้นหนาวนี้ ใครไม่อยากป่วยยกมือขึ้นค่า ตอนนี้บรรยากาศการท่องเที่ยวคึกคักขึ้นมากทั้งในและต่างประเทศ หมอเห็นเพื่อนๆ ตาม Social Media แล้วสนุกเพลิดเพลินไปด้วยจริงๆ ในทางตรงข้าม ในหลายพื้นที่ที่ยังเผชิญกับน้ำท่วม น้ำยังไม่ลดดีก็ยังต้องมาเผชิญกับความหนาวเย็นกันแล้ว หมอจึงอยากเอาวิธีการป้องกันไข้หวัดจากอากาศเปลี่ยน ที่มีชื่อโบราณที่เก๋ๆ ว่า “ไข้หัวลม” มาฝากกันค่ะ


            สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักไข้หัวลม หมอขออธิบายง่ายๆ ว่า ไข้หัวลม ก็คือ ไข้เปลี่ยนฤดู เช่น จากร้อนเป็นฝน ฝนเป็นหนาว หรือหนาวเป็นร้อน โดยอาการจะเริ่มต้นด้วยไอจาม และอาจมีน้ำมูกร่วมด้วย บางคนครั่นเนื้อครั่นตัว เพลีย เหนื่อย วัดไข้แล้วมักจะไม่เกิน 38.5 องศาเซลเซียส เป็นอยู่ 2-3 วัน โดยมากเกิดจากการเปลี่ยนอุณหภูมิที่ฉับพลัน

            ซึ่งจะเจอได้บ่อยช่วงปลายฝนต้นหนาว เพราะร่างกายของเราจะมีความชื้นหลงเหลือจากฤดูฝน พอเจออากาศที่แห้ง เย็น ร่วมกับความกระหายน้ำน้อยลง ความชื้นและน้ำในร่างกายก็จะน้อยลงเช่นกัน สังเกตได้จากผิวที่แห้งเป็นขุย ส่งผลให้ระบบไหลเวียนเลือดก็จะข้นขึ้น อาการบางคนจึงเด่นไปทางเจ็บคอเสมหะมาก หายใจไม่สะดวก มือเท้าเย็น

            นอกจากนี้ ลมหนาวยังพัดพาฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ รวมถึงฝุ่น PM2.5 มาด้วย ทำให้หลายคนอาการภูมิแพ้ หอบหืดกำเริบ จมูกตัน น้ำตาไหล ไอแห้งเรื้อรัง บางคนผื่นลมพิษขึ้นแบบไม่ทราบสาเหตุ หมอขอแนะนำการปฏิบัติตัวง่ายๆ เพื่อภูมิต้านทานแข็งแรงผ่านช่วงนี้ไปแบบไม่ป่วยกันค่ะ

            1.ทำตัวให้อุ่นอยู่เสมอ ทั้งเครื่องนุ่งห่ม กระเป๋าน้ำร้อน จิบน้ำอุ่นระหว่างวัน เทคนิคนี้ใช้ได้กับคนที่ต้องอยู่ในห้องแอร์ที่หนาวเย็นนานๆ ได้ด้วย และควรระวังปัญหาอุณหภูมิในร่างกายต่ำ (Hypothermia) ในผู้สูงอายุด้วย

            2.การดื่มชาสมุนไพร เช่น ชาใบกะเพรา ชาขิง ชามะนาวฝานพร้อมเปลือก ชามะตูม ชากระเจี๊ยบแดง ช่วยปรับธาตุ แก้อาการเสียงแหบ เสมหะค้างในลำคอ ลดอาการเจ็บคอได้อย่างดี

            3.ดูแลระบบขับถ่ายให้ท้องไม่ผูก โดยการกินกากใย จากผักและผลไม้ ที่เป็น Prebiotic ชั้นดีเพื่อเสริมแบคทีเรียดีๆ ในลำไส้อีกทางหนึ่ง หากเริ่มมีอาการให้ใช้อาหารเป็นยา สำหรับไข้หัวลม แพทย์แผนไทยแนะนำให้กินอาหารรสขม จืด เปรี้ยว บำรุงธาตุน้ำ เช่น แกงส้มดอกแค ยำมะระจีน แกงมะรุม และหลีกเลี่ยงอาหาร หวาน มัน เค็มหรือ รสจัดเกินไปที่จะทำให้เลือดหนืดข้น

            ซึ่งก็อธิบายได้ว่า เมื่อน้ำตาลและไขมันสูงขึ้น เลือดจึงหนืดตามมาเช่นกัน สอดคล้องกับองค์ความรู้ทาง Nutrition Wellness ที่แนะนำอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่มีวิตามินซี เบต้าแคโรทีน สารเคอร์ซิทิน เพื่อป้องกันหวัดคัดจมูก ลดการจับของไวรัสเข้าเซลล์ โดยอาหารที่อุดมไปด้วยเคอร์ซิทินนี้ได้แก่ หอมแดง หอมหัวใหญ่ บร็อคโคลี่ ผักเคล บลูเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ต่างๆ กินร่วมด้วย เพราะนอกจากไข้หัวลมก็จะมี ไข้หวัดใหญ่แพร่ระบาดกันมากช่วงนี้เช่นกัน

            4.ออกกำลังกาย เพื่อให้เลือดไหลเวียนดีทั่วร่างกาย การดักจับเชื้อโรคจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

            5.การนอนหลับที่ดี หลับแบบมีคุณภาพ ก็จะทำให้ภูมิต้านทานแข็งแรงไม่ป่วยง่าย

            6.ลดความเครียด เพราะความเครียดเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่จะทำให้ภูมิตกอย่างชัดเจน ผ่อนคลายอารมณ์ ร้องเพลง ทำศิลปะ หัวเราะบ่อยๆ ช่วยป้องกันการป่วยจากความเครียดได้

            7.ดูแลผิวพรรณ สำหรับคนที่มี่ผื่น ผิวแห้งง่าย จากความชื้นในอากาศที่ลดลง จนเกิดอาการคันและผิวลอก ให้หมั่นทาครีมหรือ น้ำมันทาผิวหลังอาบน้ำขณะที่ผิวยังหมาดๆ อยู่เพื่อป้องกันการเป็นเยอะขึ้นจนเกิดแผลแตก ติดเชื้อ

            นอกจากนี้ การอบสมุนไพร หรือการสุมโปง สูดไอระเหยของสมุนไพรต่างๆ ช่วยบรรเทาอาการไอแห้งเรื้อรังได้เป็นอย่างดี อีกทั้งแก้การหนาวเย็นภายในได้ด้วย ลองนำภูมิปัญญาไทยมาดูแลตัวเองช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้ดูนะคะ

 


พญ.กอบกาญจน์ ชุณหสวัสดิกุล (หมออ้อม)

            ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพ Jin Wellness Center เป็นผู้ชำนาญการเวชศาสตร์ป้องกันที่มีความชำนาญพิเศษด้าน Nutritional wellness & Integrative medicine กว่า 20ปี จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งได้รับประกาศนียบัตรและการฝึกอบรมด้านอื่นๆ อีกหลายด้าน อาทิ

 • Advance training course in Acupuncture and Traditional Chinese Medicine, China, 2006 The American Board Certified in Nutrition Wellness, (CNW), USA, 2017

 • Traning in Anthroposophy Training (IPMT program) from Switzerland, 2010-2019

 • Pressel Massage training, 2014

 • Regenerative medicine: new approach in hormonal treatment Symposium (WOSAAM), 2016

 • Advanced Nutrition for wellness, IFNW, Thailand, 2017

 • Integrative Functional Nutrition/Functional Foods for Chronic Disease Module 2, USA

 • Integrative Functional Nutrition/Functional Foods for Chronic Disease Module 1, USA, 2018

 • Thai Traditional Therapeutic Massage and Thai Traditional Pharmacy Accredited and Certified by The Union of Thai Traditional Medicine Society, Ministry of Public Health