HEALTH&WELLNESS

HEALTH&WELLNESS • HEALTH&WELLNESS

“เท้าแบน” โรคที่ไม่ควรมองข้าม

เจ็บอุ้งเท้าบ่อย ปลายเท้าเอียงออกด้านข้าง ระวังโรคเท้าแบน หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาการอาจเรื้อรังจนนำไปสู่ภาวะยึดติด กระทบโครงสร้างกระดูกเท้าและประสิทธิภาพการเดิน 

            เท้าแบนคือภาวะอุ้งเท้าเตี้ยหรือไม่มีอุ้งเท้าเมื่อเทียบกับคนปกติทั่วไป หากเท้าแบนเป็นระยะเวลานานจะทำให้ปลายเท้าด้านหน้าเอียงออกไปด้านข้างมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงบริเวณส้นเท้าและข้อเท้าก็จะเอียงผิดรูปไปด้วย ทำให้การกระจายน้ำหนักของเท้าและข้อเท้าเสียสมดุล จนเกิดอาการปวดและประสิทธิภาพในการเดินลดลง 

            นายแพทย์กฤษฎิ์ พฤกษะวัน ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านเท้าและข้อเท้า โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า โรคเท้าแบนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือเท้าแบนแบบยืดหยุ่น ซึ่งจะเป็นภาวะเริ่มแรกของผู้ป่วยเท้าแบน โดยจะมีอาการเจ็บแต่ไม่มาก และเมื่ออายุมากขึ้นเท้าจะแบนและเอียงมากขึ้นตามไปด้วย หากปล่อยไว้จนเรื้อรังไม่รับการรักษาอาการจะพัฒนาไปเป็นเท้าแบนแบบยึดติดหรือติดแข็ง ซึ่งจะทำให้การกระจายน้ำหนักของร่างกายผิดปกติ มีผลต่อโครงสร้างกระดูก เส้นเอ็น เนื้อเยื่อรอบข้อเท้าบาดเจ็บง่าย มีอาการปวด ส่งผลกระทบต่อการเดิน และการรักษามีความซับซ้อนมากขึ้น 

            “ภาวะเท้าแบนเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยทางพันธุกรรม หากมีประวัติครอบครัวเป็นโรคเท้าแบนก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น ในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดัน และโรคภูมิคุ้มกันอักเสบ เช่น รูมาตอยด์ เนื้อเยื่อพันกระดูก ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเท้าแบนได้มากกว่าคนทั่วไป รวมทั้งอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บที่ส่งผลให้กระดูกเท้าผิดรูปก็มีโอกาสทำให้เกิดโรคเท้าแบนได้เช่นกัน” นายแพทย์กฤษฎิ์กล่าว 


            สำหรับการรักษาเท้าแบนทั้ง 2 ประเภท สามารถรักษาได้ด้วยวิธีทางกายภาพ เช่น การกำลังกล้ามเนื้อรอบเท้าหรือรอบข้อเท้า ใช้อุปกรณ์แผ่นรองเท้าที่ตัดเฉพาะบุคคลเสริมในรองเท้า ให้รับกับอุ้งเท้าและโครงสร้างของเท้า เพื่อให้การกระจายน้ำหนักเป็นไปอย่างเหมาะสม ร่วมกับการใช้ยาลดอักเสบและยาคลายกล้ามเนื้อในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บ นอกจากนี้ แพทย์จะแนะนำให้ฝึกยืดกล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อเท้า คุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ปรับการใช้ชีวิตประจำวันโดยหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องกระแทกหรือกระโดดมาก ๆ ก็ช่วยลดอาการเจ็บปวดและยืดอายุการใช้งานของแผ่นรองเท้าได้ แต่ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วไม่ดีขึ้นหรือมีอาการปวดรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการเดินและการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดซ่อมเส้นเอ็นและปรับโครงสร้างกระดูกเท้าให้กลับมาอยู่ในแนวตรง ซึ่งจะทำให้อาการปวดหายไป สามารถเดินและใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ