HEALTH&WELLNESS

HEALTH&WELLNESS • HEALTH&WELLNESS

“กัญชา” ยาดีที่ต้องรู้ทัน

ข้อดีของกัญชาที่มากมาย แต่ก็มีสิ่งที่เป็นผลกระทบ โปรดใช้ด้วยความระมัดระวัง ไม่ต่างจากยาที่ต้องมีองค์ความรู้

            สวัสดีค่ะ ช่วงนี้กระแสกัญชากลับมาอีกรอบหลังจากปลดล็อกการเป็นสารเสพติดประเภทที่ 5 อนุญาตให้ผสมในอาหารเพื่อจำหน่าย เป็นที่กว้างขวางมากขึ้น ทำให้ทุกวงการตื่นตัว โดยเฉพาะวงการแพทย์ เพราะการที่มีผลิตภัณฑ์กัญชาออกมาทุกรูปแบบ ราวกับเป็นยาวิเศษครอบจักรวาล อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าหมอท่านนั้นจะชอบใช้กัญชาหรือไม่ชอบใช้กัญชาในการรักษาก็ตาม จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ไว้เพราะจะมีผู้ป่วยมาปรึกษาเกี่ยวกับกัญชาหลายรูปแบบแน่นอน เช่นเดียวกับทุกท่านที่อาจเป็นผู้บริโภคแบบไม่ได้ตั้งใจ หรือกำลังหาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพที่ไม่สามารถหาทางออกได้โดยวิธีเดิม

            แล้วอย่างนี้หมอเห็นด้วยหรือไม่กับการใช้กัญชา ?

            ในทางการแพทย์หมอเห็นข้อดีหลายอย่าง ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตคนไข้มะเร็งที่ตอบสนองต่อการใช้สารสกัดกัญชา (CBD) เพราะช่วยให้คนไข้นอนหลับดี คลายความกังวลจากโรคที่เป็นอยู่ ส่งผลให้ทานข้าวได้ ลดความรุนแรงของอาการคลื่นไส้อาเจียน ที่สำคัญ อารมณ์ดีไม่ตึงเครียด เท่านี้ก็ทำให้การรักษาราบรื่น อัตราการหายก็ดีขึ้นตามลำดับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่ได้ใช้กัญชาทางการแพทย์จะตอบสนองต่อยาน้อยกว่าแต่อย่างใด

            เพราะร่างกายเรามีระบบกัญชาตามธรรมชาติ (Endocannabinoid) อยู่แล้ว ซึ่งสามารถเพิ่มได้โดยการออกกำลังกายระดับ Moderate Exercise ที่ช่วยเพิ่มสาร Anandamide ทำให้จิตใจผ่อนคลายไม่เครียด โดยระบบกัญชาในร่างกายนี้มีผลควบคุมการปวด ความอยากอาหาร อาการคลื่นไส้อาเจียน การนอนหลับ การรับความรู้สึก อารมณ์ความกังวล การชัก การทรงตัว ความคิด ความจำการตัดสินใจ ภูมิต้านทานและอื่นๆ อีกมากมาย เพราะตัวรับ (Receptor) CB1 CB2 กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ของร่างกาย เลยทำให้กัญชาเหมือนเป็นยาครอบจักรวาลเพราะมีผลต่อร่างกายหลายระบบนั่นเอง


             นอกจากมะเร็งแล้ว กลุ่มโรคที่ได้ประโยชน์จากการใช้กัญชาทางการแพทย์คือ 

            • โรคลมชักที่รักษายาก ดื้อต่อยารักษา

            • ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัดที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานไม่เป็นผล

            • โรคกล้ามเนื้อหดเกร็งในโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)

            • ภาวะปวดประสาท ที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผล

            นอกจากนี้ ได้มีการนำกัญชาทางการแพทย์มารักษากลุ่มโรค พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ที่มีอาการสั่น มีงานวิจัยที่ได้ผลลดอาการปวด (43.9%) ลดตะคริวที่กล้ามเนื้อ (41.4%) และมากกว่า 20% รายงานการบรรเทาอาการเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวผิดปกติ ช่วยให้คนดูแล ดูแลง่ายขึ้น เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ดี

แต่การใช้กัญชาก็มีจุดที่เราต้องรู้คือ

            • ต้องรู้ว่าหากอายุน้อยกว่า 25 ปี อย่าใช้ช่อดอกกัญชาหรือสาร THC เนื่องจากมีโอกาสเกิดปัญหาต่อการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ทางสมอง โดยเฉพาะด้านการคิดอย่างมีเหตุผล ซึ่งพบว่า หากมีการเสื่อมแล้ว แม้หยุดกัญชานานเป็นปีก็ไม่อาจคืนกลับเป็นปกติ (ส่วนทักษะทางภาษาและความจำระยะสั้นสามารถกลับคืนเมื่อหยุดเสพกัญชาได้) มีงานวิจัยที่ติดตามนักเรียนมัธยมมีโอกาสเรียนจบช้ากว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้

            • ต้องรู้ว่ากัญชาไม่มีขนาดยาเริ่มต้นที่แน่นอน ขึ้นกับการตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละคน จึงควรเริ่มทีละน้อย ปรับโดสแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่าใจร้อน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

            • ต้องรู้ว่ากัญชารบกวนการออกฤทธิ์ของยาหลายตัวในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ยาลดความดันโลหิต ยานอนหลับ และยาต้านการแข็งตัวของเลือด

            • ต้องรู้ว่าก่อนใช้กัญชาทางการแพทย์ต้องมีการตรวจเลือดการทำงานของไตและตับและเอกซเรย์ปอดก่อนเริ่มใช้ทุกคน ผู้ป่วยโรคตับควรใช้ด้วยความระมัดระวัง

            • ต้องรู้ว่าการสูบกัญชาแบบเผาไหม้ หรือแบบบุหรี่ไฟฟ้าล้วนเกิดการระคายเคืองต่อทางเดินหายใจและเยื่อบุได้ ทำให้รบกวนผู้อื่น และสุขภาพของผู้สูบเอง

            • ต้องรู้ว่ากัญชาเป็นหนทางไปสู่การใช้สารเสพติดชนิดรุนแรงอื่นๆ หากใช้อย่างไม่รู้เท่าทัน ไม่มีการควบคุม ใช้ในวัยรุ่นที่ขาดการยั้งคิด อยากลองโดยคึกคะนอง ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

            • ต้องรู้ว่ากัญชาทำให้เกิดอาการง่วงซึม มึน งง จึงไม่ควรขับรถ เพราะเสี่ยงต่ออุบัติเหตุบนท้องถนนมากถึง 4 เท่า

            • ต้องรู้ว่า แม้ใบกัญชาที่ไม่ใช่ช่อดอก ก็ยังมีสาร THC อยู่แต่ปริมาณน้อยกว่า ไม่ควรกินเกิน 15-20 ใบ เพราะอาจทำให้มึนเมาได้

            ในข้อดีที่มากมาย แต่ก็มีสิ่งที่เป็นผลกระทบ โปรดใช้ด้วยความระมัดระวังไม่ต่างจากยาที่ต้องมีองค์ความรู้นะคะ ด้วยรักและปรารถนาดีค่ะ


 พญ.กอบกาญจน์ ชุณหสวัสดิกุล (หมออ้อม)

            ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพ Jin Wellness Center เป็นผู้ชำนาญการเวชศาสตร์ป้องกันที่มีความชำนาญพิเศษด้าน Nutritional wellness & Integrative medicine กว่า 20ปี จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิตโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งได้รับประกาศนียบัตรและการฝึกอบรมด้านอื่นๆ อีกหลายด้าน อาทิ

Advance training course in Acupuncture and Traditional Chinese Medicine, China, 2006 The American Board Certified in Nutrition Wellness, (CNW), USA, 2017

Training in Anthroposophy Training (IPMT program) from Switzerland, 2010-2019

Pressel Massage training, 2014

Regenerative medicine: new approach in hormonal treatment Symposium (WOSAAM), 2016

Advanced Nutrition for wellness, IFNW, Thailand, 2017

Integrative Functional Nutrition/Functional Foods for Chronic Disease Module 2, USA

Integrative Functional Nutrition/Functional Foods for Chronic Disease Module 1, USA, 2018

Thai Traditional Therapeutic Massage and Thai Traditional Pharmacy Accredited and Certified by The Union of Thai Traditional Medicine Society, Ministry of Public Health