WEALTH • STOCK - DERIVATIVES

คาดตลาดหุ้นไทย Rebound ผลประกอบการ บจ.ยังแกร่ง

ตลาดหุ้นไทยเดือน พ.ย.นี้ คาดดัชนีมีโอกาส Rebound ในระหว่างเดือนหากไม่มีปัจจัยลบเข้ามากดดันอย่างมีนัยสำคัญ

ตลาดหุ้นต่างประเทศ ยังถูกกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed หลังจากเงินเฟ้อ เดือน ต.ค.ที่ผ่านมาออกมาสูงกว่าตลาดคาดเล็กน้อย การประชุมเดือน พ.ย. และ ธ.ค. นั้น Fed อาจจะยังมีนโยบายการเงินที่เข้มงวดอยู่ ส่วนปัญหาทางด้านพลังงานของยุโรปยังอยู่ในตลาดเพียงแต่ถูกมองข้ามไปในช่วงนี้ อาจต้องรอดูการประชุม APEC ในช่วงกลางเดือน

ปัจจัยในประเทศ เป็นช่วงของการรายงานกำไรของบริษัทในตลาดฯ นักลงทุนจะเริ่มเข้าเก็งกำไรหุ้นที่คาดว่าจะมีผลประกอบการออกมาดี และอาจจะเริ่มมีแรงกลับมาเข้าซื้อหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ถึงแม้ว่าเงินบาทจะยังอ่อนค่าอยู่ นอกจากนี้รัฐบาล อาจจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี จะเป็นตัวช่วยสนับสนุนหุ้นในกลุ่มท่องเที่ยว

ด้านกลยุทธ์การลงทุน บล.ดาโอ (ประเทศไทย) แนะนำเข้าเก็งกำไรหุ้นที่มีคาดว่าผลประกอบการดี และหุ้นที่ราคาลงมามาก

สำหรับหุ้นแนะนำเดือน พ.ย.นี้ บล.ดาโอ (ประเทศไทย) แนะนำ COM7, PR9 และ SAT บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ แนะนำ AOT, GFPT และ LH ส่วนการลงทุนต่างประเทศ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส แนะนำลงทุนหุ้นเวียดนาม

                               

บล.ดาโอ (ประเทศไทย) แนะ 3 หุ้นเด่น COM7 - PR9 - SAT

บมจ.คอมเซเว่น : COM7 ราคาเป้าหมาย 38.00 บาท


กำไรปกติ 3Q22E จะขยายตัวโดดเด่น ที่ 681 ล้านบาท (+33% YoY, +11% QoQ) จาก 1) รายได้ที่ขยายตัว +67% YoY, +17% QoQ จากจำนวนสาขาที่เพิ่มขึ้น, ยอดขายเฉลี่ย/บิลปรับตัวดีขึ้น และรับรู้รายได้จากการขาย iPhone14 เร็วขึ้น 1 สัปดาห์ ขณะที่ 2) GPM จะลดลงเป็น 13.1% จากการรับรู้ยอดขาย iPhone14 และรุ่น n-minus ที่มี Margin ต่ำ และ 3) SG&A/Sale เพิ่มขึ้นเป็น 8.1% จากค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่สูงขึ้น

แนวโน้มการดำเนินงานใน 3 ปีข้างหน้าจะยังดีต่อเนื่อง จาก 1) รายได้ที่จะเพิ่มขึ้นปีละ +20-30% YoY หนุนโดย i. 5G adoption ปัจจุบันที่ยังต่ำเพียง 10%, ii. การเปิดสาขาใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง, iii. เปลี่ยนเป็น O2O มากขึ้น, iv. เพิ่มประเภทสินค้า เช่น Home Appliance และ v. เพิ่มการให้สินเชื่อผ่าน UFund และ True Loan รวมทั้ง 2) การเพิ่ม Synergy ภายในกลุ่มมากขึ้นผ่านการดำเนินงานของ พุทธธรรมประกันภัย (PTI)

ประเมินกำไรปกติ 2022E-23E จะเติบโต +20% YoY และ +19% YoY เราประเมินกำไรปกติปี 2022E ที่ 3.0 พันล้านบาท (+13% YoY) และปี 2023E ที่ 3.6 พันล้านบาท (+19% YoY) หนุนโดย 1) รายได้เพิ่มขึ้นปีละ +21%/+17% YoY จากประเภทสินค้าที่มากขึ้น และการเพิ่มช่องทางการขยายผ่านทั้งสาขา และออนไลน์, 2) GPM ปรับตัวขึ้นเป็น 13.4%/13.5% จากราคาขายเฉลี่ยที่สูงขึ้น ขณะที่ 3) SG&A/sale เพิ่มขึ้นเป็น 7.7% จากค่าใช้จ่ายการตลาดเชิงรุกเพื่อเพิ่ม Market Share

แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 38.00 บาท อิง 2023E core PER ที่ 26 เท่า (5-yr average PER) จากยอดขาย iPhone14 ที่เพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ปริมาณ และจำนวนวันที่ขาย, รายได้ของบริษัทจะขยายตัวอย่างแข็งแกร่งประมาณปีละ +20% YoY และไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยยะ จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น

 

บมจ.โรงพยาบาลพระรามเก้า : PR9 ราคาเป้าหมาย 20.00 บาท


กำไรสุทธิ 3Q22E เติบโตต่อเนื่อง ที่ 128 ล้านบาท (+56% YoY, +3% QoQ) จากรายได้การเข้าใช้บริการที่เพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาท (+33% YoY, +3% QoQ) ตาม

        1) การกลับมาของผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าโรคเฉพาะทางเดิม และ/หรือกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ได้รับประสบการณ์ที่ดีระหว่างการรักษาตัวโควิด ทำให้กลับมาใช้บริการ รพ.อย่างต่อเนื่อง

        2) จำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามารับบริการมากกว่าช่วงก่อนโควิด นำโดยประเทศเมียนมา และจีน รวมทั้งผู้ป่วยชาวไทยยังขยายตังต่อเนื่อง จึงทำให้สัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติต่อชาวไทยอยู่ที่ 15:85 และ

        3) Occupancy Rate ใน 3Q22E เพิ่มขึ้นเป็น 70% (3Q21 = 68%, 2Q22 = 61%) หนุนโดยฤดูฝน และมี pent-up demand ที่สูง

ประเมินกำไรสุทธิ 2022E-23E จะเติบโต +115% YoY และ +5% YoY เราประเมินกำไรสุทธิปี 2022E ที่ 535 ล้านบาท (+115% YoY) และ ปี 2023E ที่ 563 ล้านบาท (+5% YoY) จากรายได้ที่ปรับตัวขึ้นปีละ +32%/+8% YoY จาก

        1) ความต้องการที่ยังคงสูงโดยเฉพาะเคสผ่าตัดที่อั้นตั้งแต่ช่วงต้นของการระบาดโควิด โดย รพ.มีจุดเด่นในด้านการทำ Lasik และผ่าตัดอวัยวะไต รวมทั้ง

        2) Telemedicine ได้ผลตอบรับที่ดี เนื่องจากผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์ได้ผ่านทางโทรศัพท์ โดยมีลูกค้าใช้อยู่ร่วม 400 ราย และยังช่วยส่งเสริมการเข้ารับการรักษาในศูนย์ Mind Center และศูนย์ต่างๆ

แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 20.00 บาท อิง 2023E PER ที่ 28 เท่า (-0.5SD below 5-yr average PER) เรามองว่าบริษัทเติบโตต่อเนื่องจากการทำตลาดและขยายฐานลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากศักยภาพของรพ. ทำให้ PR9 โดดเด่น ในเรื่องของคุณภาพและราคาที่เหมาะสมให้กับลูกค้า ทำให้มีผู้คนเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

 

บมจ.สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี : SAT ราคาเป้าหมาย 24.50 บาท


กำไร 3Q22E จะดีขึ้นทั้ง YoY, QoQ ตามยอดผลิตรถยนต์ที่ฟื้นตัว เราประเมินกำไรสุทธิ 3Q22E ที่ 235 ล้านบาท (+10% YoY, +12% QoQ) เติบโตตามภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเราประเมินรายได้ 3Q22E ที่ 2.4 พันล้านบาท (+17% YoY, +12% QoQ) ขณะที่ GPM จะอยู่ที่ 17.7% ลดลงจาก 3Q21 ที่ 18.4% จากต้นทุนเหล็กที่สูงขึ้น แต่ดีขึ้นจาก 2Q22 เล็กน้อยที่ 17.5% จากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูงขึ้น แต่ยังถูกกดดันจากสต็อกต้นทุนเหล็กนำเข้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง ทั้งนี้ ส่งผลให้กำไร 9M22E จะอยู่ที่ 705 ล้านบาท -9% YoY

กำไร 4Q22E จะยังดีขึ้นต่อ และปี 2023E จะกลับมาเติบโตได้ จากต้นทุนเหล็กที่ทยอยลดลง เรายังคงประมาณการกำไรปี 2022E ที่ 950 ล้านบาท ทรงตัว YoY โดย 9M22E จะคิดเป็น 74% จากทั้งปี สำหรับ 4Q22E จะยังคงดีขึ้นต่อเนื่องทั้ง YoY และ QoQ จากแนวโน้มคำสั่งซื้อล่วงหน้าที่เพิ่มขึ้น ตามยอดผลิตรถยนต์ที่ฟื้นตัว ทั้งนี้ ยอดผลิตรถยนต์ 8M22 อยู่ที่ 1.2 ล้านคัน +11% YoY ขณะที่เราประเมินทั้งปี 2022E จะอยู่ที่ 1.75 ล้านคัน +4% YoY และมีโอกาสดีขึ้นเป็น 1.8 ล้านคัน +7% YoY จากสถานการณ์การขาดแคลนชิปเริ่มดีขึ้น และความต้องการรถยนต์ในประเทศและส่งออกที่ยังดีต่อเนื่อง

ขณะที่เราประเมินกำไรปี 2023E จะดีขึ้นเป็น 1.05 พันล้านบาท +10% YoY จากยอดผลิตรถยนต์ที่จะยังเติบโตได้ราว +4% YoY และมีคำสั่งซื้อใหม่เพิ่มอีกราว 200-300 ล้านบาท นอกจากนั้น GPM จะกลับมาดีขึ้นมากเป็น 18.6% (2022E = 17.8%) จากสต๊อกต้นทุนเหล็กนำเข้าที่จะเริ่มทรงตัวถึงปรับตัวลดลง และยังได้ผลบวกการปรับราคาขายขึ้น

ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (สามล้อไฟฟ้า, E-Bus) จะเป็น Upside ต่อกำไรปี 2023E บริษัทร่วมทุน S Tron (บจ.สมบูรณ์ ทรอน เอ็นเนอจี ถือหุ้นโดย SAT 60%, Tron E 40%) ที่จัดตั้งตั้งแต่เดือน พ.ค.22 โดย S Tron จะเป็นผู้ประกอบยานยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันมีแผนการลงทุนที่ชัดเจนมากขึ้น ได้แก่ 1) การผลิตสามล้อไฟฟ้า ซึ่งเริ่มมีโครงการ Pilot Project ร่วมกับ CPALL ในการผลิตสามล้อไฟฟ้าให้กับสาขา 7-eleven เพื่อใช้เป็นยานพาหนะสำหรับจัดส่งสินค้า Delivery ให้กับลูกค้า 2) จะเริ่มผลิต E-Bus ภายในสิ้นปีนี้ โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นภาคเอกชน ทั้งนี้ เราประเมินว่าจะเห็นความชัดเจนด้านรายได้มากขึ้นในปี 2023E ซึ่งจะเป็น Upside ต่อกำไรในอนาคต

แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 24.50 บาท อิง 2023E Core PER ที่ 10 เท่า (5-yr average PER) ด้าน Valuation ยังน่าสนใจคิดเป็น 2023E core PER ที่ 8.0 เท่า (-1SD)

 

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ แนะ 3 หุ้นดัง AOT - GFPT - LH

บมจ.ท่าอากาศยานไทย : AOT ราคาเป้าหมาย 73.25 บาท


อัปเดตโครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ AOT จัดการประชุมนักวิเคราะห์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเพื่ออัพเดทความคืบหน้าของโครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 ประเด็นสำคัญคือ 1) การก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) เสร็จไปแล้วกว่า 90% และอยู่ระหว่างการทดสอบการใช้งานระบบรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) 2) โครงการนี้จะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 45 ล้านคน/ปี เป็น 60 ล้านคน/ปี ซึ่งจะช่วยลดความแออัดจากการมีปริมาณผู้โดยสารมาใช้บริการสูงเกินขีดความสามารถในการรองรับที่ 65 ล้านคนในปี FY2562

และ 3) อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการในเดือน ก.ย. 2566 เลื่อนออกมาจากเดือน เม.ย. 2566 เนื่องจาก AOT เชื่อว่ากำหนดการใหม่นี้จะสอดรับกับช่วงที่จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศฟื้นตัวมากกว่ากำหนดการเดิม นอกจากนี้ AOT ก็กำลังดำเนินการก่อสร้างรันเวย์ที่สาม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566

ผลประกอบการจะปรับตัวดีขึ้นและพลิกกลับมาทำกำไรใน 3QFY66 ในระหว่างวันที่ 1-24 ก.ย. จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศของ AOT อยู่ที่ 41% ของระดับก่อนเกิดโควิด-19 (เทียบกับ 35% ในเดือน ส.ค.) และจำนวนผู้โดยสารภายในประเทศอยู่ที่ 77% ของระดับก่อนเกิดโควิด-19 (เทียบกับ 71% ในเดือน ส.ค.) จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลทำให้ขาดทุนปกติของ AOT ปรับตัวลดลง YoY และ QoQ ใน 4QFY65 (ก.ค.-ก.ย.2565) โดยที่เราคาดการณ์ขาดทุนปกติที่ ~1.0 พัน ลบ. เราคาดว่าขาดทุนปกติจะลดลงอย่างต่อเนื่องใน 1Q-2QFY66 (ต.ค.2565-มี.ค.2566) และหลังจากนั้นจะพลิกกับมาทำกำไรได้ใน 3QFY66 (เม.ย.-มิ.ย.2566)

โดยได้แรงหนุนจากการสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ (31 มี.ค.2566) โดย AOT จะกลับมาเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร เรายังคงประมาณการของเราไว้ว่าขาดทุนปกติของ AOT จะลดลงจาก 1.53 หมื่นลบ. ใน FY2564 สู่ 1.0 หมื่น ลบ. ในปี FY2565 และจะพลิกกลับมามีกำไรปกติที่ 1.38 หมื่นลบ. ในปี FY2566

 Upside และปัจจัยเสี่ยง Upside คือ จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และโครงการพื้นที่เชิงพาณิชย์ใหม่ (โครงการ Airport City) ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา ปัจจัยเสี่ยง คือ เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น โรคระบาดใหญ่ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะทำให้ความต้องการเดินทางลดลง และนักท่องเที่ยวจากจีนฟื้นตัวช้า

 

บมจ.จีเอฟพีที : GFTP ราคาเป้าหมาย 14.70 บาท


คาดการณ์กำไรสุทธิ 3Q65 ที่ 550 ลบ. ฟื้นตัวจากขาดทุนสุทธิ 87 ลบ. ใน 3Q64 และ +21% QoQ หากตัดขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 50 ลบ. ใน 3Q65 ออกไป เราคาดว่ากำไรปกติ 3Q65 จะอยู่ที่ 600 ลบ. ฟื้นตัวจากขาดทุนปกติ 85 ลบ. ใน 3Q64 และ +24% QoQ โดยได้แรงหนุนจากยอดขาย มาร์จิ้น และส่วนแบ่งกำไรที่ดีขึ้น GFPT จะประกาศผลประกอบการวันที่ 10 พ.ย.

รายการสำคัญใน 3Q65 ยอดขาย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ 4.8 พันลบ. +46% YoY และ +13% QoQ โดยยอดขายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากธุรกิจอาหารจากปริมาณการขายและราคาขายผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น สำหรับราคา GFPT จะได้รับประโยชน์จากราคาผลิตภัณฑ์ส่งออกและในประเทศที่สูงขึ้นสอดคล้องกับอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ใน 3Q65 ราคาส่งออกไก่เนื้อไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% YoY และ 10% QoQ โดยเกิดจากเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และราคาที่ดีขึ้นในรูปดอลลาร์สหรัฐ และราคาผลิตภัณฑ์พลอยได้โครงไก่ในประเทศอยู่ที่ 23.5 บาท/กก. +100% YoY แต่ทรงตัว QoQ

สำหรับปริมาณการขาย เราคาดการณ์ปริมาณการขายส่งออกโดยตรงที่ 8,650 ตัน (+60% YoY และ +15% QoQ) โดยการเพิ่มขึ้น YoY เกิดจากเครื่องจักรใหม่ (เริ่มดำเนินงานในเดือนก.ย. 2564) ที่ทำให้บริษัทสามารถรับคำสั่งซื้อเพิ่มจากยุโรป ญี่ปุ่น และจีน และปริมาณการขายส่งออกทางอ้อมให้กับ McKey ที่ 4,500 ตัน (+15% YoY และ +18% QoQ) โดยเกิดจากปริมาณการส่งออกที่ดีขึ้น

อัตรากำไรขั้นต้น คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ 18% จาก 5.4% ใน 3Q64 และ 16.2% ใน 2Q65 เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้นและยอดขายส่งออกผลิตภัณฑ์ปรุงสุกที่ให้มาร์จิ้นสูงที่เพิ่มขึ้นจะช่วยชดเชยต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น โดยปกติแล้ว GFPT จะเก็บสต๊อกวัตถุดิบอาหารสัตว์ไว้ราว 3 เดือน ขณะที่ราคาข้าวโพดในประเทศและราคากากถั่วเหลืองนำเข้าในตลาด spot อยู่ที่ 13 บาท/กก. (+38% YoY และ +14% QoQ) และ 23 บาท/กก. (+18% YoY และ +7% QoQ) ใน 2Q65

ค่าใช้จ่าย SG&A/ยอดขาย คาดว่าจะลดลงสู่ 8.5% (เทียบกับ 10.8% ใน 3Q64 และ 8.9% ใน 2Q65) โดยเกิดจากต้นทุนค่าระวางที่ลดลงและยอดขายที่ดีขึ้น

ส่วนแบ่งกำไร คาดว่าจะอยู่ที่ 160 ลบ. เพิ่มขึ้นจาก 20 ลบ. ใน 3Q64 และ +3% QoQ โดยเกิดจากส่วนแบ่งกำไรที่ดีขึ้นจาก GFN ที่ 100 ลบ. (เพิ่มขึ้นจาก -43 ลบ. ใน 3Q64 และ +25% QoQ, เพราะราคาผลิตภัณฑ์ดีขึ้นและปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น) ขณะที่ส่วนแบ่งกำไรจาก McKey อยู่ในระดับทรงตัว YoY ที่ 60 ลบ. (ทรงตัว YoY แต่ -20% QoQ) โดยลดลง QoQ เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นจากการเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตใหม่ใน 3Q65

ราคาผลิตภัณฑ์และต้นทุนใน 4Q65TD ใน 4Q65TD ราคาไก่มีชีวิตและผลิตภัณฑ์พลอยได้โครงไก่ในประเทศปรับตัวลดลง QoQ ในช่วงเทศกาลกินเจและฝนที่ตกหนัก สู่ 44.5 บาท/กก. (+11% YoY แต่ -4% QoQ) และ 18.5 บาท/กก. (+54% YoY แต่ -21% QoQ) ราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลงจะได้รับการชดเชยจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ลดลง QoQ:

ราคาข้าวโพดในประเทศและราคากากถั่วเหลืองนำเข้าในตลาด spot อยู่ที่ 12 บาท/กก. (+18% YoY แต่ -8% QoQ) และ 23 บาท/กก. (+21% YoY แต่ทรงตัว QoQ) ใน 3Q65 และอยู่ในระดับทรงตัว QoQ ที่ระดับเหล่านี้ใน 4Q65TD

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ : แรงกดดันเงินเฟ้อต่ออุปสงค์และต้นทุน และการควบคุมราคาโดยรัฐบาล

 

บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ : LH ราคาเป้าหมาย 8.80 บาท


เยี่ยมชมโรงแรมใหม่ล่าสุดในพัทยา เรามีมุมมองเชิงบวกต่อโรงแรมเปิดใหม่ Grande Centre Point Space Pattaya ของ LH ซึ่งเป็นโรงแรมธีมที่มีห้องพัก 491 ห้อง เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในเดือนแรกมากกว่า 90% และอัตราค่าห้องพักเฉลี่ย (ADR) อยู่ที่ 6,500 บาท/คืน อัตราการเข้าพักที่เป็นจุดคุ้มทุนสำหรับกำไรสุทธิอยู่ที่ 60%

ดังนั้น เราเชื่อว่าผลการดำเนินงานที่เป็นบวกจะช่วยสนับสนุนธุรกิจให้เช่าของ LH ในปีนี้ LH เชื่อความสำเร็จของโรงแรมอิงกับ 5 เสาหลัก : 1) ทำลที่ตั้ง 2) ขนาด (อย่าง 400-500 ห้อง) 3) แบรนด์ของบริษัทเอง (Grande Center Point) 4) การจัดจ้างบุคลากรจากภายนอก และ 5) การขายเงินลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนสูงสุด

สินทรัพย์ใหม่จะหนุนให้รายได้ค่าเช่าฟื้นตัวในปี 2565 เรายังคงสมมติฐานสัดส่วนรายได้ประจำในปี 2565 ของ LH ไว้ที่ 12% (Figure 3) โดยใน 2H65 จะมีสินทรัพย์ที่สำคัญ 2 รายการเพิ่มเข้ามาในพอร์ตของ LH: โรงแรม Grande Centre Point Space Pattaya ใน 3Q65 และ Terminal 21 Rama 3 (ธุรกิจค้าปลีก) ใน 4Q65 ดังนั้น เราจึงคาดว่ารายได้ประจำที่ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญใน 2H65 จะหนุนให้รายได้ประจำในปี 2565 ของ LH มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 3.8 พัน ลบ. (+112% YoY) หลังจากรายงานรายได้ประจำ 1.58 พัน ลบ. ใน 1H65 (+88% YoY)

นอกจากนี้ LH ยังมีสินทรัพย์ที่กำลังดำเนินการอีก 3 รายการ โดยมีจำนวนห้องพักทั้งหมด 1,420 ห้อง: Grande Centre Point Surawong (399 ห้อง, เปิดปี 2566), Grande Centre Point Lumpini (521 ห้อง, เปิดปี 2567) และ Grande Centre Point Ratchadami 2 (509 ห้อง, เปิดปี 2569)

คงประมาณการปี 2565 ไว้เหมือนเดิม ปัจจุบัน LH มี backlog ในมือมูลค่า 4.5 พัน ลบ. ซึ่งจะรับรู้เป็นรายได้ใน 2H65 กำไรสุทธิ 3Q65 จะเติบโต YoY จากฐานต่ำ และจะอยู่ในระดับทรงตัว QoQ โดยได้รับการสนับสนุนจากการฟื้นตัวของธุรกิจให้เช่าและการรับรู้รายได้จาก Backlog บริษัทยังคงแผนขายอพาร์ตเมนต์ “Parc” ในสหรัฐฯ ในปีนี้ เรายังคงประมาณการรายได้ปี 2565 ไว้ที่ 3.59 หมื่น ลบ. (+12% YoY) และคาดการณ์กำไรสุทธิที่ 8 พัน ลบ. (+15% YoY) เรายังไม่ได้รวมการขายสินทรัพย์ในสหรัฐฯ เข้ามาในประมาณการของเรา

ปัจจัยเสี่ยงและความกังวล การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำ อัตราดอกเบี้ย และต้นทุนวัสดุก่อสร้าง

คง Tactical Call ที่ “OUTPERFORM” ด้วยราคาเป้าหมายปี 2566 ที่ 11.10 บาท เรายังคง Tactical Call สำหรับ LH ไว้ที่ “OUTPERFORM” ราคาเป้าหมายปี 2566 ของเราอยู่ที่ 11.10 บาท/หุ้น โดยอิงกับระดับ 1SD PE ที่ 15.7 เท่า

 

 

 

Related keywords:

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง