WEALTH • CRYPTOCURRENCY

NFT : สินทรัพย์ยุคดิจิทัล ที่เป็นมากกว่างานศิลป์

“I expect that NFT will continue to grow very significantly… (Do you see yourself selling NFT?) I think it’s possible down the road on the platform.”
Andy Jassy, Amazon CEO (เมษายน, 2022)

ในยุคที่สินทรัพย์ดิจิทัลเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้น รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ก็เริ่มหันมาให้ความสนใจในการควบคุมดูแล และบริหารจัดการสินทรัพย์ประเภทนี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การทำความเข้าใจและจับตามอง โดยนอกจาก Cryptocurrencies ที่เริ่มคุ้นหูคนทั่วไปแล้ว NFT ก็เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลอีกประเภทหนึ่งที่เริ่มมีการกล่าวถึงกันเพิ่มมากขึ้น โดยเริ่มแรกอาจจะเกิดจากกลุ่มคนที่สนใจเกี่ยวกับงานศิลปะ รวมไปถึงกลุ่มคนที่เก็งกำไรจากราคาของงานประเภทนี้

แต่แท้จริงแล้ว NFT เป็นได้มากกว่านั้น โดยเฉพาะเมื่อ Augmented/Virtual Reality (AR/VR) หรือ Metaverse เริ่มถูกกล่าวถึงและมีการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก NFT ก็จะยิ่งมีพื้นที่ในการแสดงศักยภาพที่นอกเหนือจากการเป็นเพียงแค่ “Digital Copy ของภาพวาดโมนาลิซ่า”

 

NFT คืออะไร?

NFT หรือ Non-fungible Token คือ สิ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัวไม่สามารถทำซ้ำได้ (Non-fungible) โดยสามารถระบุความเป็นเจ้าของได้บนเทคโนโลยี Blockchain แม้ว่าคนทั่วไปอาจจะคุ้นชินกับ NFT ในรูปแบบของภาพวาด หรืองานศิลปะมากกว่า แต่อันที่จริงแล้ว NFT นั้นเป็นได้ตั้งแต่ภาพวาด เพลง วิดีโอ รูปปั้น กระเป๋า ของสะสม บัตรสมาชิก ข้อความบนทวิตเตอร์ ไอเทมในเกม หรือแม้กระทั่งลักษณะตัวตน

ทั้งนี้ NFT มีความคล้ายคลึงกับ Cryptocurrency ตรงที่เทคโนโลยีที่รองรับคือ Blockchain ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สามารถทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลทั้งสองประเภทสามารถระบุความเป็นเจ้าของรวมถึงการเปลี่ยนผ่านมือได้อย่างชัดเจนและไม่มีใครสามารถเข้ามาแก้ไขได้

อย่างไรก็ตาม NFT ต่างจาก Cryptocurrency ตรงที่ Cryptocurrency นั้นเป็น Fungible Token ที่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้และมีมูลค่าเท่ากันทุกโทเคน (ทุก ๆ 1 Bitcoin มีค่าเท่ากันหมด) แต่ NFT ที่เป็น non-fungible จะมีมูลค่าที่แตกต่างกันไปตามแต่ละโทเคน (ภาพโมนาลิซ่ามีมูลค่าไม่เท่ากันกับรูปปั้นเดวิด)

NFT ทำให้การระบุความเป็นเจ้าของของข้อมูลดิจิทัลทั้งในรูปแบบภาพ เสียง วิดีโอ และข้อความที่ทำได้ยากในอดีตมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในอดีตนั้นการที่จะระบุว่าข้อมูลที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตนั้นๆ เป็นของใครทำได้ยากและมีการถกเถียงกันบ่อยครั้ง เช่น รูปที่ถูกวาดขึ้นโดยศิลปินและมีการแชร์บนโซเชียลมีเดีย หากมีคนนำรูปไปใช้เพื่อการค้าก็จะเป็นเรื่องยากที่ศิลปินเจ้าของผลงานจะแสดงความเป็นเจ้าของผลงานตัวเองได้ ซึ่ง NFT จะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้จากการระบุความเป็นเจ้าของด้วยเทคโนโลยี Blockchain

นอกจากนี้ การมี “Digital Copy” ของสินทรัพย์ในโลกจริง (Physical World) จะสามารถช่วยลดปัญหาของการลอกเลียนแบบและการหลอกขายสินค้าที่มีราคาแพงได้อีกด้วย

แม้ว่า NFT ชิ้นแรกจะถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2014 (Quantum โดย Kevin McCoy) แต่กระแสของ NFT นั้นเพิ่งเป็นที่สนใจมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา สะท้อนจากรายงาน NFT Annual Report 2021 ของ NonFungible.com แสดงให้เห็นว่า มูลค่าการซื้อ-ขายของ NFT ทั้งตลาดมือหนึ่งและมือสองในปี 2021 อยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ถึง 215 เท่า นอกจากนี้ จำนวน Wallet ที่มีการซื้อ-ขาย NFT อย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นถึง 29 เท่าจากปี 2020 ไปอยู่ที่ 2.6 ล้าน Wallet ในปี 2021

แน่นอนว่า การเติบโตของ NFT นั้น ได้รับแรงสนับสนุนมาจากทั้งกระแสของ Cryptocurrency ที่ผู้คนต่างให้ความสนใจมากขึ้น และการมาถึงของ AR/VR และ Metaverse ที่ NFT จะเข้าไปมีบทบาทสำคัญกับการเข้าสู่โลกเสมือนจริงในด้านของการเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล

 

NFT สร้างมูลค่าได้อย่างไร?

ปัจจุบัน มูลค่าตลาดของ NFT ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ ปี 2021 มากกว่ามูลค่า ณ ปี 2020 ถึง 45 เท่า  จะเห็นได้ว่า มูลค่าของตลาด NFT นั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังมีโอกาสอีกมากที่รอให้ทั้งกลุ่ม Creator บุคคลทั่วไป และธุรกิจเข้าไปเก็บเกี่ยว

สำหรับกลุ่ม Creator การมีอยู่ของ NFT ได้สร้างตัวกลางใหม่สำหรับการนำผลงานออกมาแสดง โดยไม่ต้องอาศัยแกลอรี่หรือรองานนิทรรศกาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Creator ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว หรือ Creator หน้าใหม่ก็สามารถสร้างรายได้จากความคิดสร้างสรรค์ผ่าน NFT ได้เช่นเดียวกัน และด้วยความเป็นดิจิทัล รูปแบบของผลงานก็กว้างขึ้นไปด้วย ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งภาพวาด รูปหลายมิติ ดนตรี ภาพเคลื่อนไหวสั้นๆ วิดีโอ หรือแม้กระทั่งข้อความ อีกทั้ง NFT ยังสามารถถูกโปรแกรมให้ Creator สามารถได้รับส่วนแบ่งจากการขายผลงานต่อได้อีกด้วย ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากในแง่ของสิ่งของที่มีค่าลิขสิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้อง

ด้านบุคคลทั่วไป NFT จะทำให้มั่นใจได้ว่า สิ่งที่ซื้อไปเป็นงานต้นฉบับจริงๆ จากการที่ทุกรายการการซื้อ-ขายสามารถตรวจสอบย้อนหลังโดยที่ไม่มีใครเข้าไปแก้ไขได้ และยังมีโอกาสในการเก็งกำไร จากมูลค่าที่เปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของตลาดได้อีกด้วย ซึ่งราคาเฉลี่ยของ NFT ในปี 2021 อยู่ที่ 808 ดอลลาร์สหรัฐต่อโทเคน เพิ่มจากราคาที่เฉลี่ย 49 ดอลลาร์สหรัฐต่อโทเคน ในปี 2020 จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่จำนวน NFT ในตลาดเพิ่มในอัตราที่ช้ากว่า1 อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการเก็งกำไรจาก NFT เองก็ต้องระวังความเสี่ยงด้านราคาที่มีความผันผวนสูงด้วยเช่นกัน

สำหรับธุรกิจนั้น NFT ได้เปิดโอกาสในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือแม้แต่นำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็น

       •  การขาย NFT ในรูปแบบของของสะสม เช่น บริษัท Dapper Labs ที่นำคลิปชอตสำคัญจากการแข่งขัน NBA มาทำเป็น NFT แล้วนำออกขายให้แก่นักสะสมในรูปแบบของ Digital Collectible ซึ่งนักสะสมสามารถแลกเปลี่ยน ซื้อ-ขาย กันเองได้ โดยยิ่งชอตนั้นหายากเท่าไหร่ราคาก็จะยิ่งสูง (คล้ายกับการสะสมการ์ดนักกีฬาหรือศิลปินที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว)

        • การสร้างเกมแนว Play-to-Earn หรือเกมที่เล่นแล้วได้ผลตอบแทนเป็นเงิน เช่น CryptoKitties ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2017 เป็นเกมที่ทำให้ NFT ได้รับความสนใจมากขึ้น และให้ผู้เล่นผสมพันธุ์แมวให้เกิดเป็นพันธุ์และลักษณะต่างๆ หรือเกม Axie Infinity ที่ออกมาในปี 2018 ที่ให้ผู้เล่นเลี้ยงและฝึกฝนสัตว์เลี้ยงดิจิทัลที่ชื่อว่า Axies โดยทั้งแมวใน CryptoKitties และ Axies ใน Axie Infinity ก็คือ NFT นั่นเอง

         • การสร้าง Membership Ecosystem ผ่าน NFT เช่น The Bored Ape Yacht Club ที่เริ่มต้นด้วยการขายภาพ NFT โดยที่ผู้เป็นเจ้าของ NFT จะมีสิทธิพิเศษในการเข้าร่วม Exclusive Online Community รวมไปถึงการได้รับสิทธิ์ซื้อสินค้าพิเศษ และการเข้าร่วมกิจกรรม Yacht Party ที่จัดขึ้นจริงโดยบริษัท

        •  การจำหน่ายตั๋วในรูปแบบ NFT บริษัทจำหน่ายตั๋วจะได้ประโยชน์จากการนำ NFT มาประยุกต์ใช้ ด้วยการออกตั๋วหรือบัตรเข้างานด้วย NFT ที่ไม่สามารถปลอมแปลงได้ และสามารถระบุตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของตั๋วได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังอาจตั้งโปรแกรมให้ตั๋วบางประเภทได้รับสิทธิพิเศษบางอย่างได้อีกด้วย

        •  การนำ NFT ไปใช้ในการจัดเก็บข้อมูลระบุตัวตนของบุคคลบนโลกออนไลน์ เช่น MIT ที่เริ่มมีการให้ Digital Diploma ที่สร้างด้วย Blockchain แก่ผู้จบหลักสูตรเพื่อป้องกันการปลอมแปลงใบประกาศ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็น NFT ในรูปแบบที่ขายหรือส่งต่อให้คนอื่นไม่ได้

        •  การซื้อ-ขายข้อมูลส่วนบุคคลจากผู้เป็นเจ้าของข้อมูลกับบริษัทโดยตรง ไม่ต้องผ่านแพลตฟอร์มที่มีการจัดเก็บข้อมูลเหล่านั้น เช่น บริษัท Aimedis เจ้าของแพลตฟอร์มที่ให้บริการด้านสุขภาพ ที่สร้างตลาดให้ตัวบุคคลสามารถนำประวัติการรักษา/ประวัติสุขภาพของตนไปขายในรูปแบบ NFT ได้ โดยข้อมูลเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้เพื่อเป็นข้อมูลในทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยคนอื่นต่อไป

จะเห็นว่า NFT ได้เปิดโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ทั้งบุคคลทั่วไปและภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตาม NFT นั้น ยังมีทั้งอุปสรรคและความเสี่ยงอีกหลายประการ

 

ความท้าทายและความเสี่ยงของ NFT มีอะไรบ้าง?

ความท้าทายที่สำคัญอันดับต้นๆ ของ NFT คือ ความไม่แน่นอนในการกำหนดราคา ด้วยการที่ NFT เป็นสินทรัพย์ที่ราคาขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ เอกลักษณ์ และความพึงพอใจของผู้ขายและผู้ซื้อ ไม่มีมาตรฐานราคาที่แน่นอน ทำให้ราคาของ NFT มีความผันผวนสูง เช่น กรณีราคาของ “ทวีตแรกบนทวิตเตอร์” ของ Jack Dorsey หนึ่งในผู้สร้างทวิตเตอร์ที่ถูกซื้อไปในราคา 2.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อมีนาคม 2021

แต่ล่าสุด ณ 19 เมษายน 2022 ราคาบิดสูงสุดในตลาดอ๊อกชั่นอยู่ที่เพียง 10.1 ETH หรือประมาณ 3 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ (คิดจากราคา ETH ณ วันที่ 19 เมษายน 2022)  ซึ่งราคา Initial Asking ตอนเปิดประมูลเมื่อ 5 เมษายน อยู่สูงถึง 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การที่ยังไม่มีกฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ออกมารองรับอย่างชัดเจน ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ตลาด NFT กำลังเผชิญอยู่ ต้องยอมรับว่า ทั้ง Cryptocurrency และ NFT ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในหลายประเทศ ทำให้การกำกับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐยังไม่มีความชัดเจนและไม่มีแบบแผนที่สามารถใช้ได้ในระดับนานาชาติ โดยปัจจุบัน กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ NFT ยังคงติดอยู่กับการหาคำจำกัดความให้ NFT ซึ่งแต่ละประเทศก็มีความพยายามในการหาคำนิยามที่แตกต่างกันออกไป

แม้ว่า NFT จะถูกสร้างบนเทคโนโลยี Blockchain ที่มีความปลอดภัยสูง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงด้าน Cybersecurity เหมือนกับเทคโนโลยีดิจิทัลอื่นๆ โดยมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในปี 2021 เพิ่มขึ้นสูงถึง 79% จากปี 2020  ซึ่งกรณีของ NFT นั้นมีตัวอย่างให้เห็นทั้งเจ้าของที่ถูกโจรกรรม NFT ออกจาก Wallet ของตนเอง หรือการโดน Cyber Attack ของ DeFi อย่าง Ronin Network (แพลตฟอร์ม DeFi ที่เกม Axie Infinity ใช้) ที่ทำให้สูญเสียสินทรัพย์ดิจิทัลมูลค่ารวมกันกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อีกหนึ่งความเสี่ยงของ NFT คือ การถูกฉ้อโกง โดยเล่ห์กลการโกงในโลกของ NFT นั้น มีตั้งแต่การหลอกขาย NFT ปลอมที่ไม่ได้มีตัวตนจริงๆ การขโมยงานที่มีลิขสิทธิ์มาทำเป็น NFT การขาย NFT ที่เป็นงานลอกเลียนแบบ การหลอกให้ลงทุนในโปรเจกต์ที่ไม่มีอยู่จริง รวมไปถึงการขโมย NFT ด้วยการแจกโทเคนบางอย่างที่หากมีการปฏิสัมพันธ์ก็จะสามารถเข้าไปจัดการกับโทเคนอื่นๆ ใน Wallet นั้นๆ ได้ ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อหรือลงทุนใน NFT ควรจะต้องตรวจสอบก่อนเสมอว่าแพลตฟอร์มมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด อีกทั้ง NFT Metadata จะช่วยให้ทราบได้ว่า NFT ที่เรากำลังจะซื้อนั้นใครเป็นคนสร้างขึ้นมาและถูกเปลี่ยนมือมาอย่างไรบ้าง

นอกจากความท้าทายที่กล่าวข้างต้นแล้ว NFT ยังถูกตั้งคำถามในการพิสูจน์ให้เห็นว่า NFT ที่มีอยู่นั้นถูกจัดเก็บบน Blockchain (stored on-chain) จริงหรือไม่ เพราะหาก NFT ถูกจัดเก็บแบบ off-chain (เช่น การจัดเก็บบน Centralized Cloud/Server ที่มีต้นทุนที่ถูกกว่า) แล้ว ความเสี่ยงที่จะโดน Cyber Attack ก็จะยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น

 

การพัฒนาของ NFT ในไทยถึงจุดไหนแล้ว?

การพัฒนาของ NFT ในไทยยังคงจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มและยังเป็นเพียงการสร้างตลาดซื้อ-ขาย และการสร้าง NFT ของกลุ่ม Creator เท่านั้น โดยศิลปินไทยหลายคนได้นำผลงานของตนเข้าสู้แพลตฟอร์มซื้อขาย NFT ในต่างประเทศแล้ว ไม่ว่าจะเป็น OpenSea, Foundation.app และ Crypto.com นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี 2021 บริษัทไทยก็เริ่มมีการพัฒนาตลาดซื้อขาย NFT ขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตลาด NFT ในไทยนั้นยังถือว่าเพิ่งเริ่มต้น และยังมีช่องทางการนำ NFT ไปสร้างรายได้หรือมูลค่าเพิ่มได้อีกหลากหลายวิธี ซึ่งอาจเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจที่ต้องการจะก้าวมาเป็นเจ้าแรกในการนำ NFT ไปต่อยอดธุรกิจในรูปแบบที่นอกเหนือจากตลาดซื้อ-ขาย

ซึ่งการที่ธุรกิจไทยหรือกลุ่ม Creator จะสามารถนำ NFT ไปต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น การกำกับ ดูแล ป้องกันความเสี่ยงด้าน Cybersecurity และการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐจะเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมากต่อการพัฒนา NFT ของไทย

 

อนาคตของ NFT จะเป็นอย่างไร?

NFT นั้นยังมีศักยภาพอีกมากที่รอให้นำเอาไปประยุกต์ใช้ ในระยะแรก NFT อาจเริ่มต้นด้วยการกลัวที่จะตกขบวนของผู้ใช้ (fear of missing out) รวมไปถึงการเก็งกำไร แต่ NFT ในระยะต่อไปจะกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่ และถูกนำไปใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ธุรกิจผ่านการสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพและความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับของสะสม ธุรกิจเกม การสร้าง Community ระบบ Membership รวมถึงการซื้อ-ขายข้อมูลส่วนบุคคล

นอกจากนี้ การพัฒนาของ AR/VR หรือ Metaverse จะยิ่งเป็นแรงสนับสนุนให้ NFT มีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจาก NFT จะกลายเป็น “สิ่งของ” ในโลกเสมือนจริง ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ดิน รถ เครื่องแต่งกาย หรือแม้แต่ “Personality” ที่ในปัจจุบันมีการพัฒนา iNFT ซึ่งเป็น NFT ที่มีลักษณะตัวตนเป็นของตัวเอง (โปรเจ็กต์ Alethea AI)

ทั้งนี้ Jefferies บริษัทให้บริการทางการเงินข้ามชาติคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดของ NFT ณ สิ้นปี 2022 จะอยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025  จะเห็นว่า บทบาทของ NFT ในอนาคตจะยิ่งห่างออกจากการเป็นแค่ “Digital Copy ของภาพโมนาลิซ่า” และจะครอบคลุมการใช้ชีวิตทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนของพวกเราในหลากหลายมิติ


ปางอุบล อำนวยสิทธิ์ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์