WEALTH • CRYPTOCURRENCY

Keep Di แพลตฟอร์ม Insurance Bureau ให้ประโยชน์ผู้ใช้แบบ Drive to Earn

เผย 4 ชาเลนจ์ กดดันอุตสาหกรรมประกันภัย หลังยอดเคลมพุ่งสูงต่อเนื่อง เปิดแพลตฟอร์ม National Insurance Bureau ที่แรกในโลก ให้ผู้ใช้บันทึกข้อมูลเป็น NFT เพื่อรับ Keep Di Token พร้อมแลกสิทธิประโยชน์จากพันธมิตร

กระแส Web 3.0 และความพร้อมของเทคโนโลยีบล็อกเชน ช่วยสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ เปิดโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่มากขึ้น เพิ่มความโปร่งใสในการตรวจสอบข้อมูล อีกทั้งลดความเสี่ยงในการปลอมแปลงบัญชีสามารถทำสัญญาต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ด้วย Smart Contract ทำให้หลายอุตสาหกรรมเริ่มหันมาใช้บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานในการสร้างนวัตกรรมใหม่มากขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมประกันภัย

นายกิตตินันท์ อนุพันธ์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง Keep Di ภายใต้ บริษัท ซีค แอนด์ คีพ เจเนซิส จำกัด เปิดเผยกับ การเงินธนาคาร ว่า Keep Di เป็นแพลตฟอร์มบันทึก National Insurance Bureau ที่พัฒนาขึ้นบนบล็อกเชนเพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาอุตสาหกรรมประกันภัย ทั้งในด้านผู้ประกอบธุรกิจ ที่จะช่วยลดต้นทุนด้านการเคลมประกันลงได้อย่างมาก ขณะที่ผู้ใช้ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์โดยตรง รวมถึงได้รางวัลจากการบันทึกพฤติกรรมเพื่อสร้างข้อมูลบูโรของตนเองด้วย


4 ชาเลนจ์ธุรกิจประกันภัย

ยอดเคลมพุ่ง เข้าถึงข้อมูลลูกค้ายาก

นายกิตตินันท์เปิดเผยว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เกิดปัญหามากมายในอุตสาหกรรมประกันภัยทั่วโลก ซึ่งเป็นปัญหาสะสมมาจากหลายปัจจัย จนทำให้ภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมประกันภัยนั้นถูกมองในด้านลบมากกว่าด้านบวก อีกทั้งในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ผ่านมา มีบริษัทประกันภัยเริ่มปิดตัวหรือถูกควบรวมโดยสถาบันการเงินหลายบริษัท ทำให้อุตสาหกรรมประกันภัยต้องเผชิญความท้าทายอย่างมาก โดย Keep Di สรุปความท้าทายของอุตสาหกรรมได้ 4 เรื่องดังนี้

      1. Lost Ratio หรือยอดเคลมประกันภัยที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยที่เด่นชัดที่สุดในกลุ่มประกันภัยรถยนต์ หากพิจารณาสถิติปี 2012 ยอดขายประกันภัยรถยนต์ของไทยอยู่ที่ประมาน 100,000 ล้านบาท แต่มียอดเคลมประมาณ 68,000 ล้านบาท เมื่อข้ามมาพิจารณาปี 2019 มียอดขายประมาณ 144,000 ล้านบาท ในขณะที่ยอดเคลมทะลุเกือบ 100,000 ล้านบาท หรือประมาณ 66% เทียบยอดเคลมประกันภัยรถยนต์ทั่วโลกอยู่เพียง 50% ทำให้บริษัทในไทยเริ่มแบกต้นทุนยอดเคลมประกันที่สูงกว่าทั่วโลกตั้งแต่ปี 2012

       2. การปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA และ GDPR หรือกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ได้เขียนไว้ในเอกสารทั่วไป ต้องอาศัยการทำความรู้จัก การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน หรือการสัมภาษณ์เชิงลึกถึงจะทราบข้อมูลในส่วนนี้ ซึ่งในปัจจุบันข้อมูลละเอียดอ่อนมักจะปรากฏอยู่บนโซเชียลมีเดียเป็นส่วนใหญ่

      “การขายประกันในไทยตั้งแต่อดีต ขายผ่านเคาน์เตอร์แค่ 10% ที่เหลืออีกกว่า 90% เป็นการขายผ่านตัวแทนทางโทรศัพท์ ซึ่งคำถามคือ ตัวแทนประกันหลายบริษัทโทรหาลูกค้าได้อย่างไร ส่วนหนึ่งคือ การใช้ข้อมูลส่วนบุคคลทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย หรือใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียในการหาข้อมูลลูกค้าและนำข้อมูลเหล่านั้นมาขายต่อๆ กัน”

      3. เทรนด์ InsurTech มาแรง กระแสของโลกในปัจจุบันบริษัทประกันภัยต้องมองไปถึงการทำความเข้าใจลูกค้าของตนเอง ทำอย่างไรถึงจะสร้างผลิตภัณฑ์ อีโคซิสเต็มและโซลูชั่นที่แก้ปัญหาประกันภัยแบบเดิมๆ ได้ จึงเริ่มเห็นนวัตกรรมใหม่ด้านประกันภัยเริ่มถูกพูดถึงและเริ่มพัฒนามากขึ้นทั่วโลก

       4. เทรนด์ WEB 3.0 และการมาของยุค Decentralized ทุกคนสามารถสร้างคอนเทนต์ของตนเองได้และควบคุมหรือเป็นเจ้าของข้อมูลได้ ตอบโจทย์กฎหมาย PDPA และ GDPR ดังนั้นในอนาคตการกำหนดการเข้าถึงข้อมูลจึงจะจำกัดอยู่เฉพาะคนที่เจ้าของข้อมูลอนุญาตเท่านั้น อีกทั้งข้อมูลทั้งหมดที่ตนเองเป็นเจ้าของจะถูกเก็บไว้ใน Wallet ของตนเอง ไม่ได้อยู่บน Public Cloud หรือเซิฟเวอร์ใดๆ

 

พัฒนา National Insurance Bureau

สร้างฐานข้อมูลเชิงลึก เสิร์ฟประกันตรงใจ

นายกิตตินันท์กล่าวต่อว่า จาก 4 ความท้าทายที่เข้ามากดดันอุตสาหกรรมประกันภัยในปัจจุบัน จึงทำให้เกิดคำว่า “National Insurance Bureau” ซึ่งในความเป็นจริงอุตสาหกรรมประกันภัยทั่วโลกพยายามผลักดันการสร้างบูโรในอุตสาหกรรมมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากมีความแตกต่างจากเครดิตบูโรทั่วไปที่ใช้ในการพิจารณาสินเชื่อ และติดปัญหาด้านความพร้อมของเทคโนโลยี

“หากพูดถึงเครดิตบูโรคนทั่วไปจะเข้าใจว่าใช้พิจารณาการขอสินเชื่อเพื่อดูพฤติกรรมการชำระเงินและหนี้สินในอดีตของผู้ขอสินเชื่อแต่ บูโรในอุตสาหกรรมประกันภัยจะเป็นการเก็บจากข้อมูลเชิงลึกหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตของลูกค้าแต่ละบุคคลแทน”

ข้อดีของการบันทึกบูโรคือช่วยให้บริษัทประกันภัยสามารถทราบความต้องการที่แท้จริง รวมถึงรับรู้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของลูกค้าได้มากขึ้น จึงสามารถออกแบบแพ็กเกจประกันภัยที่มีความเฉพาะเจาะจงในลูกค้าแต่ละกลุ่มได้มากขึ้น เพื่อเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าได้มากที่สุด อีกทั้งช่วยประหยัดต้นทุนการเคลมของบริษัทได้เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

“หากบริษัทรู้ข้อมูลของลูกค้าว่าเป็นคนที่ขับรถไม่เร็ว เกิดอุบัติเหตุน้อย ไม่เคยเคลม ก็สามารถเสนอแพ็กเกจประกันภัยรถยนต์ในราคาที่ถูกกว่าแพ็กเกจทั่วไปให้ลูกค้าคนดังกล่าวได้ แต่หากลูกค้ามียอดเคลมประกันในอดีตสูงก็อาจจะเสนอแพ็กเกจที่เกี่ยวข้องกับการบำรุงรักษาสภาพรถได้ ซึ่งไม่ว่าลูกค้าจะมีพฤติกรรมอย่างไร บริษัทประกันภัยก็สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ตตรงตามลักษณะพฤติกรรมของลูกค้าในราคาที่เหมาะสมได้มากขึ้นกว่าเดิม”

 

เตรียมปล่อย Keep Di Token

จุดกระแส Drive to Earn

นายกิตตินันท์กล่าวว่า Keep Di คือแพลตฟอร์มบันทึก National Insurance Bureau แห่งแรกของโลก ได้รับการออกแบบและบริหารจัดการบนเทคโนโลยีบล็อกเชนและบันทึกข้อมูลพฤติกรรมของผู้ใช้ในรูปแบบ NFT ซึ่งมีความน่าเชื่อถือในด้านการยืนยันความโปร่งใสของข้อมูลและมีความปลอดภัยสูง โดยมีจุดเด่นสำคัญคือ การมอบประโยชน์โดยตรงแก่ผู้ใช้และเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ให้ประสิทธิภาพสูงสำหรับธุรกิจประกันภัยในการเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่

นายกิตตินันท์กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน Keep Di มีพาร์ตเนอร์มากกว่า 200 ราย และสร้าง Token เพื่อเตรียมใช้ในอีโคซิสเต็มส์ 1,000 ล้าน Token โดยได้เริ่มกระจายให้กับกลุ่มพาร์ตเนอร์ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาประมาณ 3 ล้าน Token ซึ่งนำไปใช้ทำการตลาดเพื่อมอบให้กับลูกค้าที่ยอมมอบข้อมูลที่บันทึกไว้ในแพลตฟอร์มของ Keep Di โดยในแพลตฟอร์มจะมีลักษณะเหมือนดิจิทัลวอลเล็ตที่ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ

       1. Vouchers ได้จากพาร์ตเนอร์ของ Keep Di ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า โรงพยาบาล ธนาคาร สถานีเติมน้ำมัน หรือบริษัทประกันภัย Keep Di ทำหน้าที่รวบรวม Vouchers ที่ผู้ใช้มีทั้งหมดในอีโคซิสเต็ม

       2. Keep Di Token ได้จากการใช้บริการพาร์ตเนอร์ในอีโคซิสเต็มของ Keep Di ซึ่งอัตราการ Airdrop จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของพาร์ตเนอร์แต่ละราย รวมถึงทุกการอัปเดตข้อมูลใน Wallet ของผู้ใช้ ทาง Keep Di จะทำการ Airdrop เหรียญ Keep Di token ให้ด้วย ผู้ใช้สามารถนำ Token ไปแลก Vouchers ต่างๆ บนแพลตฟอร์มได้ ตลอดจนทุกครั้งที่พาร์ตเนอร์ต้องการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก ผู้ใช้ยังสามารถสั่ง Mint NFT ที่เก็บข้อมูลส่วนตัว และกดคำสั่งอนุญาตให้แบรนด์ต่างๆเข้าถึงได้ โดยผู้ใช้จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กำหนดไว้

       ด้านการการใช้งาน Token ในแพลตฟอร์มจะจัดอยู่ในประเภท Utilities Token อยู่ภายใต้กฎที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้กำหนด ซึ่งจะมีระบบควบคุมปริมาณโทเคนอย่างเข้มงวด เพื่อให้มูลค่าไม่ผันผวน

       นอกจากนี้ จะแบ่ง Keep Di Token จำนวน 200 ล้าน Token เพื่อไปเทรดบนกระดานเทรดสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย โดย Token จำนวนนี้จะแยกออกจาก Keep Di Token บนแพลตฟอร์มอย่างชัดเจน ไม่สามารถโอนข้ามระหว่างกันได้ คาดว่าจะเริ่มลิสต์บนกระดานเทรดในเดือนกันยายนนี้ โดยสนใจทั้งกระดานในประเทศ เช่น Bitkub และกระดานเทรดสากลอย่าง Binance

       3. NFT เป็นการเก็บพฤติกรรมต่างๆ ที่ผู้ใช้งานเข้ามาบันทึก ให้อยู่ในรูปแบบ NFT เพื่อนำไปต่อยอดเป็นข้อมูลบูโรในการรับรางวัลในรูปแบบ Vouchers หรือ Keep Di Token ตามเงื่อนไขที่กำหนด จากพาร์ตเนอร์ที่เข้าร่วมแพลตฟอร์ม Keep Di

“เราคาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้ดาวน์โหลด e-wallet ของ Keep Di เพื่อใช้บริการบนบูโรในปีนี้ประมาณ 300,000 ราย โดยการเก็บข้อมูลในรูปแบบของ NFT จะอยู่ที่ประมาณหนึ่งแสนชุดข้อมูล และในปีหน้าเมื่อระบบสมบูรณ์เต็มรูปแบบ คาดว่าจะมีผู้ใช้ถึง 3 ล้านราย ในขณะที่การสร้างชุดข้อมูล NFT จะสูงถึงกว่า 10 ล้านชุด ภายในปี 2024”

ในช่วงแรก Keep Di จะรองรับธุรกิจในอุตสาหกรรมรถยนต์ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ในไทยและผลักดันให้เกิดการบันทึกพฤติกรรมเพื่อสร้างบูโรได้ง่ายที่สุด ผู้ใช้บริการสามารถ Drive to Earn ยิ่งขับ ยิ่งบันทึก ยิ่งได้ Token ก่อนที่จะขยายไปสู่ภาคธุรกิจในกลุ่มอื่น เช่น กลุ่มค้าปลีก และเฮลธ์แคร์ ภายในปี 2023 นอกจากนี้ ยังมีแผนในการขยายการให้บริการแพลตฟอร์มบูโรของ Keep Di ไปสู่ต่างประเทศในอนาคตด้วย