WEALTH • INSURANCE

ประกันรถยนต์ยุค New Normal เอาใจสูงวัย-เน้นขับขี่ตามจริง

บริษัทประกันวินาศภัย มองทิศทางประกันภัยรถยนต์ในยุควิถีชีวิตใหม่ นำเทคโนโลยีทันสมัยมาตอบสนองไลฟ์สไตล์เฉพาะกลุ่มมากขึ้น อาทิ แบบประกันสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ แบบประกันที่คิดเบี้ยตามพฤติกรรมการขับขี่รถ เน้นซื้อประกันผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อบริการที่ครบตลอด 24 ชั่วโมง

จากการที่ประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้รถที่มีการปรับเปลี่ยนไปโดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด ที่มีการใช้รถน้อยลง บริษัทประกันภัยจึงได้พัฒนาแบบประกันภัยรถยนต์สำหรับผู้สูงอายุ และแบบประกันภัยรถยนต์แบบ Usage Based Insurance (UBI) ขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเป็นทิศทางใหม่สำหรับการพัฒนาแบบประกันภัยรถยนต์ในปี 2565

 

ประกันเพื่อคนรุ่นใหญ่

ดร.พงษ์ภาณุ ดำรงศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “การเงินธนาคาร” ว่า บริษัทมุ่งขยายฐานลูกค้ากลุ่มเดิมที่มีอายุมากขึ้น แต่ยังสามารถขับขี่รถยนต์ได้ด้วยตนเอง และยังต้องการความคุ้มครองรถยนต์อย่างต่อเนื่อง จึงได้พัฒนาแผนประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 แบบพิเศษรุ่นใหญ่ใจเก๋า ซึ่งเป็นแบบประกันที่ให้ความคุ้มครองกรณีรถยนต์เกิดอุบัติ ในฐานะผู้ป่วยใน ค่าเดินทางระหว่างนำรถเข้าซ่อม โจรกรรมทรัพย์สินภายในรถ เป็นต้น


สำหรับประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 แบบพิเศษรุ่นใหญ่ใจเก๋า เหมาะสำหรับผู้เอาประกันภัยที่มีอายุระหว่าง 55-75 ปี โดยจะให้ความคุ้มครองผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารบาดเจ็บกรณีรถยนต์เกิดอุบัติเหตุต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล วันละ 1,000 บาทต่อครั้ง ค่าเดินทางระหว่างนำรถเข้าอู่ซ่อม 200 บาทต่อวัน ไม่เกิน 5 วันต่อครั้ง การโจรกรรมทรัพย์สินส่วนบุคลภายในรถยนต์ ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี อุปกรณ์ทางการแพทย์ ไม่เกิน 50,000 บาทต่อปี อาทิ ไม้เท้า รถเข็น อุปกรณ์ช่วยเดิน อุปกรณ์ช่วยฟัง เป็นต้น โดยสามารถซื้อแบบประกันผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น

 

ความคุ้มครอง ประกันภัยรถยนต์ รุ่นใหญ่ใจเก๋า 

ทั้งนี้ ลูกค้าผู้ถือกรมธรรม์จะได้รับบัตรรุ่นใหญ่แคร์การ์ดที่ระบุหมายเลขติดต่อกรณีต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉิน โดยในช่วงเริ่มต้นนี้ถือเป็นการศึกษาเพื่อนำข้อมูลจากผลตอบรับไปพัฒนาการบริการให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจมากที่สุด ซึ่งในปี 2565 บริษัทตั้งเป้ายอดขายแผนประกันภัยรถยนต์ รุ่นใหญ่ใจเก๋า ที่ประมาณ10 ล้านบาทต่อเดือน

นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง อาทิ การพัฒนาระบบต่างๆ ที่ทำให้กระบวนการพิจารณาสินไหมรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น เช่น มีการควบคุมราคาค่าซ่อมและราคาอะไหล่รถยนต์ให้มีมาตรฐานในราคาที่เป็นธรรมแก่ลูกค้าด้วยระบบ Electronics Motor Claim Solution (EMCS)

รวมถึง การพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลเพื่อเชื่อมต่อระบบรับแจ้งอุบัติเหตุ (E-hawk) มีระบบตรวจสอบอุบัติเหตุแบบ Real Time (M- survey) ระบบการอนุมัติค่าซ่อม (E-claim) และระบบการตั้งเบิก (E-Billing) ระบบการให้บริการสินไหม Counter (E-counter) ทำให้เจ้าหน้าที่พิจารณาสินไหมรถยนต์สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทสามารถให้บริการลูกค้าประกันภัยรถยนต์ได้ดียิ่งขึ้น

 

จับพฤติกรรมการขับขี่

นายรัฐพล กิติศักดิ์ไชยกุล กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “การเงินธนาคาร” ว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้ขับขี่รถยนต์เปลี่ยนแปลงไป โดยมีการขับขี่น้อยลง จึงทำให้แบบประกันที่มีการคิดเบี้ยประกันภัยตามพฤติกรรมการขับจริง (Usage Based Insurances หรือ UBI) ได้รับความสนใจจากผู้ทำประกันภัยรถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเมื่อต้นปี 2564 บริษัทได้เปิดตัวประกันขับดี ซึ่งเป็นประกันภัยรถยนต์สำหรับรถเก๋ง รถกระบะ ที่มีการคิดเบี้ยประกันภัยตามพฤติกรรมการขับจริงร่วมกับเอไอเอส ล่าสุด เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมาได้ร่วมกับ บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ผู้ผลิตรถบรรทุกเพื่อการขนส่งและโลจิสติกส์ ภายใต้หน่วยงานชื่อ พนัส โมบิลิตี้ ซึ่งทำหน้าที่ในการค้นหานวัตกรรมใหม่ พัฒนาแบบประกันภัยสำหรับกลุ่มรถบรรทุกเชิงพาณิชย์อย่าง “พนัสแคร์”

นายรัฐพลกล่าวว่า สำหรับพนัสแคร์ คือประกันภัยชั้น 1 สำหรับรถบรรทุกเชิงพาณิชย์ที่ให้ผลประโยชน์เพิ่มเติมกรณีขับดีสูงสุดถึง 50% เบี้ยประกันภัย โดยการขับรถดีจะคำนวณจากพฤติกรรมการขับขี่ที่แท้จริง ซึ่งจะใช้ Panus GPS Tracker เป็นอุปกรณ์อัจฉริยะที่ พนัส แอสเซมบลีย์ พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในการบอกพิกัด และเก็บค่าต่างๆ จากการขับรถในเชิงลึก อาทิ ระยะทางต่อวัน (กิโลเมตร) ความเร็วสูงสุดต่อวัน (กม./ชม.) ระยะเวลาที่ขับรถต่อเนื่อง (ชั่วโมง)

ซึ่งสามารถทำประกันภัยได้ทั้งหัวลากและหางพ่วง ให้ความคุ้มครองรถที่มีอายุตั้งแต่ 1-10 ปี ครอบคลุมคาวมรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก คาวมเสียหายต่อรถยนต์ รวมถึงคุ้มครองกรณีรถสูญหาย ไฟไหม้ น้ำท่วม เป็นต้น

 โดยริษัทจะได้รับค่าพฤติกรรมการขับขี่จาก Panus GPS Tracker มาแปลงเป็นคะแนนผ่านโครงข่ายสัญญาณของเอไอเอส ไปยัง Cluouds Server ของ TOD ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Panus Group จากนั้นส่งผ่านไปยัง Server ของ เอ็ม เอส ไอ จี โดยจะมีการแสดงผลให้ผู้เอาประกันภัยทราบผ่าน Panus Mobility Dashboard จากนั้น เอ็ม เอส ไอ จี จะนำข้อมูลการขับขี่ทั้งหมดในรอบ 1 ปี มาประมวลผลร่วมกับอัตราความเสียหาย (Loss Ration) เพื่อคำนวณผลประโยชน์เพิ่มเติมให้กับผู้เอาประกันเมื่อสิ้นสุดปีกรมธรรม์

“ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยที่มีพฤติกรรมขับขี่ดี จะได้รับผลประโยชน์เพิ่มเติมสูงสุดถึง 50% ของเบี้ยประกันภัย และในปีกรมธรรม์ถัดไป หากไม่มีการเรียกร้องค่าสินไหมในปีที่ผ่านมา ผู้เอาประกันภัยยังมีสิทธิ์ได้รับส่วนลดประวัติดีเพิ่มเติมด้วย”

 

เดินหน้าประกันรถยนต์เปิด-ปิด

นายเทพพันธ์ อัศวะธนกุล รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) หรือ TVI เปิดเผยว่า ในปี 2565 บริษัทยังคงเดินหน้าในการนำ InsurTech มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ พร้อมเน้นพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ และประเภทความคุ้มครอง ทั้งในกลุ่ม Motor และ Non-Motor ให้มีความหลากหลายเพื่อให้ผู้ทำประกันสามารถเข้าถึงง่าย ใช้งานสะดวก คุ้มค่า คุ้มราคา ครอบคลุมลักษณะการใช้งาน และวิถีชีวิตที่มีความแตกต่างกันของแต่ละบุคคลได้มากขึ้น รวมถึงขยายความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งรายเก่าและรายใหม่ ตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรับรวมเติบโตทะลุ 10,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ แบบประกันภัยรถยนต์แบบเปิดปิด ยังคงเป็นแบบประกันที่บริษัทจะนำมาต่อยอด เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้ามากขึ้น เนื่องจากสามารถประหยัดเบี้ยประกันภัยได้สูงสุดถึง 70% และยังมีโอกาสในการเติบโตสูงกว่า 100 เท่า

ขณะเดียวกัน บริษัทเตรียมนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เข้ามาใช้ตรวจประเมินสภาพรถยนต์ทั้งก่อนทำประกันภัยและหลังการเกิดอุบัติเหตุผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือเป็นรายแรกของประเทศไทย พร้อมเดินหน้ายกระดับระบบจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า (Customer Relationship Management : CRM) เชื่อมต่อข้อมูลติดตามตรวจสอบเป็นรายกรณีแบบเรียลไทม์ ยกระดับประสิทธิภาพงานบริการสู่ One Stop Service ควบคู่ไปกับยกระดับเทคโนโลยีรับ-ส่งข้อมูลเป็น 4G และ 5G เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในทุกการเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อ ครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น

โดยบริษัทได้นำเสนอ “ประกันรถเปิดปิด Home Plus ที่ให้ความคุ้มครอง รถและบ้าน ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีให้เลือก 4 แพ็กเกจ คือ 4 เดือน, 6 เดือน, 12 เดือน และแบบ Top-up เบี้ยประกันภัยเริ่มต้นเพียง 1,899 บาท สามารถเลือกคุ้มครองได้ทั้ง ชั้น1, ชั้น 2+ และชั้น 3+ และความคุ้มครองบ้านที่ให้ความคุ้มครองกรณีมีความเสียหายจากอัคคีภัยและภัยธรรมชาติ ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งให้การคุ้มครองภัยจากการโจรกรรมทันทีที่สตาร์ตรถออกจากบ้าน

 “ประกันรถเปิดปิด Home Plus มีจุดเด่นคือสามารถประหยัดเบี้ยประกันภัยได้สูงสุดถึง 70% และสามารถทยอยจ่ายเบี้ยตามระยะเวลาการใช้รถจริง ภายใต้การออกแบบการใช้งานแบบ Seamless ที่ง่ายสำหรับผู้ใช้รถทั่วไป เพียงสตาร์ตและดับเครื่อง ประกันรถก็จะเปิดและปิดโดยอัตโนมัติ พร้อมทั้งยังให้ความคุ้มครองทั้งตัวรถประกันและตัวบ้านตลอด 24 ชั่วโมง แม้รถจะจอดและปิดประกัน”

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เสมือนเป็นตัวเร่งให้โลกเปลี่ยนเข้าสู่ความปกติใหม่ (New Normal) อย่างฉับพลัน เทคโนโลยีกลายเป็นอีกปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตประจำวัน ส่งผลให้การคิดค้นพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ คือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของทุกภาคส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยในปี 2565 แนวโน้มของการพัฒนาประกันภัยรถยนต์จะเน้นไปที่การตอบสนองความต้องการแบบเฉพาะกลุ่มและพฤติกรรมการใช้งานตามจริงมากขึ้น ตามไลฟ์สไตล์การขับขี่รถในยุค New Normal


 

 

 

Related keywords:

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง