WEALTH • STOCK - DERIVATIVES

คาดตลาดหุ้นไทยฟื้นตัว หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75%

ตลาดหุ้นไทยเดือน ต.ค. คาดดัชนีฯมีโอกาสฟื้นตัว หลังจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบเดือน ก.ย. ของ Fed นักลงทุนจะเริ่มเห็นความชัดเจนของทิศทางดอกเบี้ยมากขึ้น ในการประชุมอีก 2 ครั้งสุดท้ายของปี ของไทยถึงแม้จะมีแรงขายจากต่างชาติจากเงินบาทที่อ่อนค่าในเดือนที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีหุ้นที่มีปัจจัยเฉพาะตัวช่วยพยุงตลาดไว้

ด้านตลาดหุ้นต่างประเทศ การประชุม FOMC 2 ครั้งสุดท้ายของปี อาจเป็นปัจจัยส่งผลกระทบตลาดเป็นระยะๆ ส่วนปัญหาด้านพลังงานของยุโรปกับรัสเซียก็จะกระทบต่อราคาพลังงานเช่นกัน ถึงแม้ว่ายุโรปกำลังพยายามที่จะแก้ปัญหานี้ และการ Lockdown ของจีนที่คลี่คลายลง จะเป็นตัวช่วยหนุนตลาดดีต่อหุ้นกลุ่ม อิเล็กทรอนิกส์ โลจิสติกส์ และเดินเรือ

สำหรับหุ้นที่น่าสนใจลงทุนในเดือน ต.ค.นี้ บล.ดาโอ (ประเทศไทย) แนะนำ GFPT, ONEE และ PRM บล.อินโนเวสท์ เอ็กส์ แนะนำ BDMS-CRC-GULF ด้านการลงทุนต่างประเทศ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส แนะนำหุ้นกลุ่มเซมิคอนดัคเตอร์

 

บล.ดาโอ (ประเทศไทย)

แนะ 3 หุ้นเด่น GFPT- ONEE - PRM

บมจ.จีเอฟพีที จำกัด : GFPT ราคาเป้าหมาย 19.00 บาท

3Q22E Outlook ดีต่อเนื่อง ผลการดำเนินงาน 3Q22E จะยังเติบโต QoQ และดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับ 3Q21 ที่ขาดทุน -88 ล้านบาท จาก

       1) ราคาไก่ในเดือน ส.ค. ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 47 บาท/กก. (+15% จากสิ้น 2Q22, +59%YoY) จากอุปสงค์ในประเทศที่เร่งขึ้นตามการเปิดรับนักท่องเที่ยว รวมถึงต่างประเทศดีขึ้นเช่นกัน จากตลาดส่งออกหลักอย่างญี่ปุ่นที่เริ่มกลับมาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว รวมทั้งอังกฤษที่ไม่มีโควต้าจำกัดการนำเข้าไก่สดและไก่แปรรูปภายหลังออกจากสหภาพยุโรป

       2) ปริมาณขายที่ดีจากการเข้าสู่ช่วง High Season ของการส่งออก จากการเร่ง Stock ก่อนช่วงเทศกาลในปลายปี

       3) GPM สามารถปรับตัวดีขึ้น QoQ แรงกดดันจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่เริ่มชะลอตัว โดยราคาข้าวโพดในเดือน ส.ค. อยู่ที่ 12 บาท/กก.(-11% จากสิ้น 2Q22, +20%YoY)และกากถั่วเหลืองที่ 22.8 บาท/กก. (+1% จากสิ้น 2Q22, +23%YoY) เนื่องจากผลผลิตที่เข้ามาในตลาดมากขึ้นหลังฤดูการเก็บเกี่ยวและรัสเซีย-ยูเครนได้ลงนามข้อตกลงส่งออกธัญพืชได้แม้สงครามยังยืดเยื้อ

ผลการดำเนินงาน 2022E ฟื้นตัว +711% ที่ 1,696 ล้านบาท โดยมีสมมติฐาน 1) GPM จะดีขึ้นเป็น 14.5% (ปี 2021 = 7.8%) จากแนวโน้มราคาขายที่จะยืนระดับสูงตลอดทั้งปี และราคาต้นทุนวัตถุดิบที่เริ่มปรับลง 2) Equity Income เพิ่มขึ้นจากส่วนแบ่งกำไรจาก GFN และ McKey ที่ดีขึ้นจากปีก่อน ทั้งนี้ เรามองว่าผลการดำเนินงานปี 2023E จะยังเติบโตได้จากกำลังการผลิตใหม่ของโรงเชือดแห่งใหม่ และ Utilization Rate ที่ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น

แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายปี 2022E ที่ 19.0 บาท อิง 2022E PER ที่ 14.00 เท่า (5-year average PER) โดยเราคาดว่าในปี 2023E ยังเติบโตได้ต่อจากการกำลังการผลิตจากโรงเชือดแห่งใหม่ โดยคาดว่าจะเริ่ม run ที่ 70,000 ตัว/วัน ในช่วงกลางปี 2023E จากกำลังการผลิตปัจจุบันที่ 150,000 ตัว/วัน ขณะที่ราคาขายเรามองว่าจะยังสามารถยืนในระดับสูงได้ จากการบริโภคที่ยังฟื้นตัว


บมจ.เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ : ONEE ราคาเป้าหมาย 12.50 บาท

เดินหน้าสู่ผู้นำสื่อครบวงจรของไทย เราชอบ ONEE จาก 4 ปัจจัยหลัก 1) ONEE ตั้งเป้าก้าวสู่ผู้นำอันดับ 1 ของสื่อไทย โดยมีโมเดลการบริหารธุรกิจที่ครอบคลุมธุรกิจสื่อและบันเทิงตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ 2) โครงสร้างรายได้มีความสมดุล ไม่ได้พึ่งพิงรายได้โฆษณาเพียงอย่างเดียว โดยในปี 2022E มีสัดส่วนรายได้โฆษณาที่ 49% และรายได้จากธุรกิจอื่นที่ 51% 3) เรตติ้งช่อง ONE ปรับตัวขึ้นสู่อันดับ 3 ในเดือน ส.ค. ที่ 0.830 จากเรตติ้งเคยอยู่ที่อันดับ 6 หรือที่ 0.584 ในเดือน ก.พ. 22 และ 4) Valuation ไม่แพง เมื่อเทียบกับคู่แข่งในธุรกิจสื่อทีวีด้วยกัน โดยเทรดอยู่ที่ 2023E PER 24.3x เทียบกับการเติบโตของกำไรปี 2022E/23E ที่ 5%/24% (เทียบคู่แข่งที่เทรด 2023E PER 27.8x โต 3%/21%)

ประเมินกำไรสุทธิ 2022E-23E จะเติบโต +5% YoY และ +24% YoY เราประเมินกำไรสุทธิปี 2022E ที่ 868 ล้านบาท (+5% YoY) บนสมมติฐาน 1) รายได้รวมขยายตัว +16% YoY โดยเฉพาะรายได้ Copyright ขยายตัว +24% YoY, รายได้ Other Related Business +50% YoY 2) GPM ลดลง YoY จากต้นทุนการผลิตรายการที่เพิ่มขึ้น จาก Content ที่เป็น First run เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มเรตติ้งและรายได้ Copyright และ 3) Interest Expenses ปรับตัวลดลง เนื่องจากนำเงินจาก IPO ไปชำระเงินกู้ สำหรับปี 2023E เราคาดกำไรสุทธิที่ 1,078 ล้านบาท (+24% YoY) จาก 1) รายได้รวมขยายตัว +10% YoY จากรายได้ที่ขยายตัวในทุกธุรกิจโดยรายได้โฆษณา +7% ตามเม็ดเงินโฆษณาขยายตัว,รายได้ Copyright +10% จากการขยายลูกค้า OTT Platforms และรายได้ Event +60% YoY , 2) GPM ขยายตัวจาก Utilization Rate ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 12.50 บาท อิง 2023E PER 27.7x เรามองว่าราคาปัจจุบันยังน่าสนใจจาก Valuation ที่ไม่แพงและยังมี Upside จากรายได้ Copyright และ production & services

 

บมจ.พริมา มารีน : PRM ราคาเป้าหมาย 8.20 บาท

กำไร 2H22E จะฟื้นตัวชัดเจนขึ้น จาก

        1) เรือ FSU จะกลับมาฟื้นตัว เนื่องจากมีการปรับค่าเช่าเรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 15-20% เพื่อชดเชยต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และจากความไม่แน่นอนด้านอุปทานน้ำมัน ทำให้ความต้องการใช้เรือ FSU ในการกักเก็บน้ำมันเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ Utilization Rate จะเพิ่มขึ้นเป็น 80-90% จาก 2Q22 ที่ 70% จากการบริหารลูกค้าได้ดีขึ้น นอกจากนั้น จะได้ผลบวกจากการรับเรือใหม่ใน 2Q22 จำนวน 1 ลำ และในช่วง 4Q22E จะมีการรับเรือใหม่เพิ่ม 1 ลำ ชดเชย 3Q22E ที่มีการขาย 1 ลำ

       2) เรือ International Trading จะยังคงเติบโตโดดเด่น จากเรือ VLCC ลำใหม่ที่เริ่มให้บริการตั้งแต่ 5 มิ.ย.22 ซึ่งจะรับรู้รายได้เต็มที่ใน 2H22E นอกจากนั้น ในเดือน ก.ย.22 จะมีการรับเรือ VLCC เพิ่มอีก 1 ลำ ขณะที่เรือ Aframax ได้ผลบวกจากค่าเช่าเรือที่เพิ่มขึ้น และ

        3) เรือ Domestic Trading มีแนวโน้มดีขึ้นจากเดิม โดยมีการซื้อเรือใหม่เพิ่มอีก 2 ลำ ทำให้จะมีเรือ domestic trading เพิ่มขึ้นเป็น 36 ลำ จากเดิม 34 ลำ ขณะที่ความต้องการใช้เรือยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากความต้องการขนส่งน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ตามการเดินทางและจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ยังมีการขยายตลาดใหม่ในการขนส่งผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ในเส้นทางต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ประเมินกำไรปกติ 2022E-23E จะเติบโต +22% YoY และ +15% YoY เราประเมินกำไรปกติปี 2022E ที่ 1.2 พันล้านบาท +22% YoY (กำไรสุทธิจะอยู่ที่ 1.1 พันล้านบาท -19% YoY เนื่องจากปี 2021 มีกำไรพิเศษจากการขายเรือ) ทั้งนี้ กำไรปกติ 1H22 จะคิดเป็น 44% จากทั้งปี

ขณะที่ 2H22E จะดีขึ้นต่อเนื่องจากทุกธุรกิจ โดยเฉพาะเรือ International Trading ที่ยังคงเติบโตโดดเด่ดสุด, เรือ FSU เริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น และเรือ Domestic Trading จะดีขึ้นต่อเนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันในการเดินทางเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ในช่วง 3Q22E จะมีรายการพิเศษจากการขายเรือ FSU จำนวน 1 ลำ (Bongkot Star) สำหรับปี 2023E เราประเมินกำไรปกติจะดีขึ้นเป็น 1.4 พันล้านบาท +15% YoY จากเรือ International Trading และเรือ Domestic Trading ที่จะเติบโตโดดเด่นสุด

แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 8.20 บาท อิง 2022E core PER ที่ 17 เท่า (-0.25SD below 5-yr average PER) ด้าน valuation ยังน่าสนใจคิดเป็น 2022E core PER ที่ 13.3 เท่า (-0.75SD)

 

บล.อินโนเวสท์ เอกส์

แนะ 3 หุ้นดัง BDMS- CRC- GULF

บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ : BDMS  ราคาเป้าหมาย 31.00 บาท

การดำเนินงาน 3Q65 แข็งแกร่งขึ้น ข้อมูลที่เราได้รับทราบมาจากการพูดคุยกับ BDMS บ่งชี้ถึงการดำเนินงานที่แข็งแกร่งขึ้นใน 3Q65 รายได้ของ BDMS ยังคงเติบโต YoY อย่างต่อเนื่องในเดือน ก.ค.-ส.ค. โดยได้รับการสนับสนุนจากบริการที่ไม่เกี่ยวกับโควิด-19 ที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้จากบริการผู้ป่วยต่างชาติซึ่งปรับตัวดีขึ้นสู่ ~95% ของระดับก่อนเกิดโควิด-19 ในเดือน ก.ค. (เทียบกับ 90% ใน 2Q65, 24% ของรายได้ 2Q65) จากการมีนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (fly-in patient) จากตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศ CLMV เข้ามามากขึ้นหลังจากไทยกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง

นอกจากนี้ บริษัทยังพบตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น ซาอุดีอาระเบีย และบังกลาเทศอีกด้วย BDMS คาดว่า รายได้จากบริการผู้ป่วยต่างชาติจะเพิ่มขึ้นถึงระดับก่อนเกิดโควิด-19 ใน 4Q65 สนับสนุนจากจำนวนที่คนไข้ต่างชาติมีการนัดหมายล่วงหน้า ใน 2H65 BDMS ได้เพิ่มค่าตอบแทนให้กับพนักงาน (28% ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน) อีก 3-4% เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยบริษัทคาดว่าจะมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อ EBITDA Margin และการดำเนินงาน

เพิ่มจำนวนเตียงอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจใหม่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตในระยะยาว ในปี 2565-69 BDMS ยังคงแผนที่จะเพิ่มจำนวนเตียงอีก ~700 เตียง สู่ ~9,000 เตียง หรือเติบโต 8% BDMS ขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจนอกกลุ่มโรงพยาบาลอย่างจริงจังมากขึ้นในปีนี้ ซึ่งรวมถึงบริการด้านสุขภาพผ่านระบบดิจิทัล และการจัดตั้ง Genomic Center ซึ่งบริษัทวางแผนที่จะขยายบริการเหล่านี้ไปสู่ภูมิภาคอาเซียนตอนบนในปี 2566 โดยตั้งเป้ารายได้ในระยะแรกที่ 100 ลบ.

นอกจากนี้ บริษัทยังได้เข้าลงทุนในโครงการ BDMS Silver Wellness & Residence ซึ่งเป็นโครงการ mixed-use (คลินิก โรงแรม และที่พักอาศัย) สำหรับธุรกิจ Wellness โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ในปี 2572 แม้ว่าธุรกิจนอกกลุ่มโรงพยาบาลยังคงมีขนาดเล็ก โดยคิดเป็น 4-5% ของรายได้ แต่ BDMS เล็งเห็นโอกาสเติบโตในอนาคตจากการขยายขอบเขตการให้บริการ และคาดว่ารายได้จากธุรกิจนอกกลุ่มโรงพยาบาลจะเพิ่มขึ้นสู่ 20% ของรายได้ในอนาคต

กำไรมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เราคาดว่ากำไรของ BDMS จะเติบโต YoY และ QoQ ใน 3Q65 เรายังคงประมาณการปี 2565 ของเราไว้เหมือนเดิม โดยคาดว่ากำไรปกติจะเติบโต 43% สู่ 1.1 หมื่นลบ. ในปี 2565 สูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิด-19 โดยได้รับการสนับสนุนจากบริการที่ไม่เกี่ยวกับโควิด-19 และบริการผู้ป่วยต่างชาติที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะช่วยชดเชยบริการโควิด-19 ที่ชะลอตัวลง และจะเติบโต 15% ในปี 2566 BDMS เป็นหุ้นเด่นของเราในกลุ่มการแพทย์

ปัจจัยเสี่ยง เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น การเกิดโรคระบาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบทำให้ผู้ป่วยชะลอการเข้าใช้บริการ การแข่งขันรุนแรง การขาดแคลนบุคลากร และความเสี่ยงด้านกฎหมาย


บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น : CRC ราคาเป้าหมาย 46.00 บาท

SSS เติบโตแข็งแกร่งใน 3Q65TD ใน 3Q65TD SSS น่าจะเติบโตสูงกว่า 50% YoY โดยเพิ่มขึ้นในทุกประเทศ จากฐานต่ำของปีก่อน (ปิดร้านค้าและพื้นที่ขายสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและลดชั่วโมงทำการของร้านค้า) ในประเทศไทยและเวียดนาม (แต่ฐานปกติในอิตาลี) เมื่อแยกตามกลุ่มธุรกิจ SSS มีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงกว่า 100% YoY ในกลุ่มแฟชั่น 30% ในกลุ่มฮาร์ดไลน์ และ 20% ในกลุ่มฟู้ด เนื่องจากยอดขายปลีกใน 3Q65TD เพิ่มขึ้น QoQ ในทุกประเทศ CRC จึงยังไม่เห็นผลกระทบใดๆ ต่อกำลังซื้อ

เป้าหมายปี 2565 แข็งแกร่ง รายได้ ในปี 2565 CRC คาดว่ารายได้รวมจะเติบโตมากกว่า 20% YoY โดยเกิดจากยอดขายปลีกและรายได้จากการให้เช่าที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ยอดขายปลีกมีแนวโน้มฟื้นตัว หลักๆ เกิดจากยอดขายกลุ่มแฟชั่นที่แข็งแกร่งจากฐานต่ำที่มีสาเหตุมาจากสถานการณ์ COVID-19 และการขยายสาขาเชิงรุกมากขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจใน 2H65

รายได้จากการให้เช่าจะฟื้นตัวจากการวางแผนให้ส่วนลดค่าเช่าลดลงสู่ตัวเลขหลักเดียวระดับต่ำถึงกลางในช่วงปลายปี 2565 (เทียบกับตัวเลขสองหลักใน 1H65 และสูงกว่า 20% ในปี 2564 เพราะไม่มีการล็อกดาวน์ และหลังจากรัฐบาลเวียดนามยกเลิกข้อจำกัดทั้งหมด - เปิดทุกธุรกิจในพื้นที่ให้เช่าได้อย่างเต็มรูปแบบ - ในเดือนพ.ค. 2565) และอัตราการเช่าพื้นที่ที่สูงขึ้น

ยอดขายผ่าน Omnichannel CRC คาดว่าสัดส่วนยอดขายผ่าน Omnichannel ต่อยอดขายปลีกทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นสู่ 20% ในปี 2565 (เทียบกับ 18% ใน 1H65) และสูงกว่า 25% ใน 5 ปีข้างหน้า ช่องทางออนไลน์ทุกช่องทางของบริษัทสามารถทำกำไรได้ตั้งแต่ปี 2564 โดยเกิดจากยอดขายที่สูงขึ้น การนำเสนอสินค้าที่ให้มาร์จิ้นสูงมากขึ้น และการจัดการโปรโมชั่นได้ดีขึ้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้งานและเพิ่มยอดขาย CRC จึงวางแผนอัพเกรดคุณสมบัติและกระบวนการชำระเงินในแอปพลิเคชัน Central, Tops, Supersports และ Powerbuy ใน 4Q65

อัตรากำไรขั้นต้นจากธุรกิจค้าปลีก CRC คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นปี 2565 จะขยายตัว 130-150bps YoY โดยได้แรงหนุนจากกลุ่มแฟชั่นจากการฟื้นตัวของยอดขายสินค้าที่ให้มาร์จิ้นสูงและการปรับส่วนลดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมกับผลกระทบที่มีจำกัดจากการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคา เนื่องจากยอดขายกลุ่มแฟชั่นส่วนใหญ่เกิดจากการขายสินค้าประเภทฝากขาย (ซัพพลายเออร์เป็นผู้รับผิดชอบจัดการสินค้าและสินค้าคงคลัง)

ค่าใช้จ่าย SG&A/ยอดขาย CRC ตั้งเป้าอัตราส่วนค่าใช้จ่าย SG&A/ยอดขายในปี 2565 ที่ระดับต่ำกว่า 28% (เทียบกับ 29% ในปี 2564 และ 27% ใน 1H65) โดยจะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากต้นทุนด้านโลจิสติกส์และค่าสาธารณูปโภค (2.6% ของยอดขาย) ที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากประสิทธิภาพพนักงานและการตลาดที่ดีขึ้น และการวางแผนประหยัดต้นทุนพลังงานและโลจิสติกส์มากขึ้น

เช่น ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ใช้รถบรรทุก EV และล็อกต้นทุนค่าสาธารณูปโภคในอิตาลีจนถึงสิ้นปี 2565 CRC คาดว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในไทยจะส่งผลทำให้ต้นทุนพนักงานของบริษัทปรับเพิ่มขึ้น 50 ลบ./ปี (0.6% ของประมาณการกำไรปี 2566 ของเรา)

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงในด้านกำลังซื้อและต้นทุนที่สูงขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น


บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ : GULF ราคาเป้าหมาย 63.00 บาท

รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ Jackson Generation โครงการ Jackson Generation เป็นโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มีขนาดกำลังการผลิต 1,200MW ตั้งอยู่ในเขตวิลล์ รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนพ.ค. 2565 นอกจากนี้ Jackson Generation ยังเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าที่ขนาดใหญ่ที่สุดที่จำหน่ายไฟฟ้าให้กับ Pennsylvania-New Jersey-Maryland Interconnection (PJM)

ซึ่งเป็นผู้ประกอบการระบบส่งไฟฟ้าระดับภูมิภาคชั้นนำเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าแบบขายส่งในพื้นที่ 13 รัฐ และเขตปกครองพิเศษโคลัมเบีย (District of Columbia) PJM จำหน่ายไฟฟ้า > 20% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในสหรัฐฯ ในปี 2564 ด้วยเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่ทันสมัยและอัตราความร้อนต่ำ Jackson Generation จะเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดซึ่งเป็นความได้เปรียบทางการแข่งขันที่สำคัญในตลาดซื้อขายไฟฟ้าแบบเสรีของสหรัฐฯ

ใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์กับ J-POWER การขายหุ้นบางส่วนในโครงการ Jackson Generation ของบริษัทย่อยของ J-POWER เปิดโอกาสให้ GULF เข้าไปลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าในสหรัฐฯ นอกเหนือจากโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปแล้ว J-POWER ก็กำลังพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ และทั่วโลก

ทั้งนี้ตามข้อมูลจาก Presentation ของ J-POWER พบว่า J-POWER กำลังพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการ ในสหรัฐฯ ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 450MW (อิงกับสัดส่วนการถือหุ้น 100%) การพัฒนาโครงการดังกล่าวอาจเป็นโอกาสลงทุนอีกทางหนึ่งสำหรับ GULF ซึ่งตั้งเป้าที่จะขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ของกำลังการผลิตทั้งหมดภายในปี 2573

GULF คาดการณ์ EIRR ในระดับ mid-teen ซึ่งจะมากเกินพอชดเชยผลตอบแทนที่ลดลงจากโครงการฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง BKP2 หลังจากบริษัทขายหุ้นบางส่วนออกไป การลงทุนครั้งนี้จะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2565 โดยจะใช้แหล่งเงินทุนจากเงินที่ได้จากการขายหุ้น BKR2 และการออกหุ้นกู้ชุดใหม่

มูลค่าส่วนเพิ่มจากการลงทุนครั้งนี้ ผู้บริหารกล่าวว่าโครงการนี้จะสร้างกำไรปีละประมาณ 5-6 ลบ./MW หรือ 3-3.5 พัน ลบ. (อ้างอิงสัดส่วนการถือหุ้น 49%, 588MW) โดยอิงกับราคาก๊าซ US$7/mmbtu หากราคาก๊าซเพิ่มขึ้น กำไรและผลตอบแทนจากการลงทุนจะปรับขึ้นได้อีก เราประเมินมูลค่าส่วนเพิ่มจากการลงทุนครั้งนี้ได้ที่ 1.4 บาท/หุ้น อ้างอิงอายุโครงการ 40 ปี และ EIRR 15%

ปรับราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นสู่ 63 บาท เราเปลี่ยนมาใช้ราคาเป้าหมายอ้างอิงวิธี DCF สิ้นปี 2566 ที่ 63 บาท/หุ้น ซึ่งประกอบด้วยมูลค่าของกำลังการผลิตที่ยืนยันแล้ว บวกกับมูลค่าของ INTUCH และ SPCG ซึ่งอิงกับราคาเป้าหมายของ consensus โดยที่ยังไม่รวมโอกาสใหม่ๆ ในธุรกิจดิจิทัล และโครงการ Jackson Generation

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ : 1) ผลตอบแทนจากการลงทุนในโครงการใหม่ต่ำกว่าคาด แต่ผลงานที่ดีเยี่ยมของ GULF ในการพัฒนาโครงการให้แล้วเสร็จตามกำหนดและเป็นไปตามงบประมาณที่วางไว้จะช่วยลดความเสี่ยงนี้ 2) ยอดขายไฟฟ้าและไอน้ำของโครงการโรงไฟฟ้า SPP ให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม อาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอและต้นทุนเชื้อเพลิงสูง และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน


บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส

แนะสะสมหุ้นเซมิคอนดักเตอร์

 DBS คาดว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เข้าใกล้จุดสูงสุด (Peak) แล้ว และจะเข้าสู่วัฏจักรขาลง (Cyclical Downturn) ไม่นานจากนี้ แต่เราเห็นเป็นจังหวะในการเข้าสะสมหุ้นกลุ่มนี้เมื่อราคาปรับลดลง เพราะแนวโน้มระยะยาวของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ยังคงแข็งแกร่ง (Strong Secular Trend)

รายงานของ DBS ชี้ว่า ตลาดเซมิคอนดักเตอร์โลก กำลังเข้าสู่วัฏจักรขาลงในช่วงสั้น โดยปัจจัยถ่วงคือดีมานด์ที่อ่อนแอลง ซึ่งเป็นผลมาจากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัวจากปัญหาเงินเฟ้อสูงและมาตรการการเงินที่กำลังเข้มงวดขึ้นโดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรป

ในขณะที่ดีมานด์เซมิคอนดักเตอร์กำลังชะลอลง แต่ซัพพลายเซมิคอนดักเตอร์กลับกำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งลงทุนเนื่องจากภาวะการขาดแคลนชิปคอมพิวเตอร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความไม่สมดุลของภาวะตลาดดังกล่าว เป็นหนึ่งในสัญญาณว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์กำลังใกล้จุดสูงสุด ซึ่งจะตามมาด้วยวัฏจักรขาลง

อย่างไรก็ดี แนวโน้มระยะยาวของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ยังคงแข็งแกร่ง เพียงแต่กำลังเผชิญกับวัฏจักรระยะสั้นที่เป็นผลมาจากความไม่สมดุลของดีมานด์และซัพพลาย โดย DBS ชี้ว่า ผลกระทบที่มาจากกรณีอุปทานส่วนเกิน (Excess Supply) จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรุนแรงกว่า เพราะโครงการลงทุนใหม่ๆ จะทำให้อุปทานหรือซัพพลายเพิ่มขึ้นในปริมาณที่มาก และจะทำให้เกิดภาวะล้นตลาดในระยะหนึ่ง ซึ่งก็จะทำให้ราคาชิปคอมพิวเตอร์ปรับลดลง เป็นปัจจัยลงต่ออุตสาหกรรม

แนวโน้มซัพพลายกำลังเพิ่มขึ้นจากการลงทุนใหม่ๆ ด้วยแรงผลักดันจากแนวนโยบายของชาติตะวันตก ทั้งสหรัฐและยุโรป ซึ่งภาครัฐได้ผลักดันให้ตั้งฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศของตนเอง เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศอื่น เพราะภาวะการขาดแคลนชิปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายให้กับหลายอุตสาหกรรมเป็นจำนวนเงินมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายให้เงินสนับสนุนการลงทุนผลิตชิปคอมพิวเตอร์ในประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงด้านซัพพลาย เนื่องจากชิปคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ของโลกในปัจจุบันนี้ผลิตในเอเชีย นำโดย ไต้หวัน เกาหลีใต้ และจีน

DBS ชี้ว่า ในระยะยาว อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ยังมีแนวโน้มแข็งแกร่ง (Strong Secular Trend) หนุนโดยการเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งเทคโนโลยีมีการพัฒนาและขยายตัวอย่างกว้างขวางไปในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมและผู้ใช้งาน เช่น อุตสาหกรรม Cloud Computing ซึ่งขยายตัวไปตามการใช้งานของ Application ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงินการลงทุน การบริการ การบันเทิง เป็นต้น

มีการนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาใช้อย่างหลากหลายมากขึ้น มีการพัฒนาการใช้งานของ Virtual Reality หรือการสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนจริงทั้งในอุตสาหกรรมบันเทิง การพาณิชย์ การแพทย์ เป็นต้น เราเห็นการขยายตัวของระบบ 5G การเติบโตของตลาดยานยนต์พลังงานทางเลือก การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งพัฒนาการเหล่านี้มีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่งในระยะยาว

ผลประกอบการกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวในไตรมาส 2/2565 โดยมี “จำนวนบริษัท” ที่รายงานผลประกอบการดีกว่าคาดในสัดส่วนประมาณ 67% ของทั้งหมด ซึ่งลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งมีบริษัทรายงานสูงกว่าคาดถึง 73% ของจำนวนบริษัทในอุตสาหกรรม ในส่วนของตัวเลข “ยอดขายและกำไร” ของอุตสาหกรรมในไตรมาส 2/2565 กลับต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาด

โดยยอดขายต่ำกว่าคาด 1.5% และกำไรต่ำกว่าคาด 3.8% ในขณะที่ไตรมาสก่อนหน้านั้น ทั้งยอดขายและกำไรออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด โดยในไตรมาส 2/2565 นั้น ผู้บริหารบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ได้กล่าวถึงปัจจัยกระทบต่อผลประกอบการคือดีมานด์เซมิคอนดักเตอร์ที่อ่อนแอลง

ในด้านของซัพพลายนั้น มีสัญญาณที่ชี้ว่าจะมีซัพพลายเข้ามามากถึง 3 ปัจจัยด้วยกันคือ (1) “มูลค่าการลงทุน” ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในปัจจุบัน กำลังอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (2) “อัตราส่วนการลงทุนต่อยอดขาย” หรือ capex to sales ratio กำลังพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหมายความว่า การลงทุนเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการเติบโตของยอดขาย (3) “ระดับสินค้าคงคลังเทียบกับยอดขาย” ในปัจจุบันกำลังเพิ่มขึ้นมาใกล้จุดสูงสุดเดิมที่ 120 วัน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อไตรมาส 1/2562 โดยอัตราส่วนนี้สะท้อนภาพว่าซัพพลายในระดับบริษัทกำลังเพิ่มขึ้นมากกว่าดีมานด์

 

แนวทางการลงทุน - DBS ให้คำแนะนำหุ้นดังต่อไปนี้

       1. Taiwan Semiconductor Manufacturing (TSM US)

       2. Broadcom Inc (AVGO US)

       3. ASML Holding NV ADR (ASML US)

       4. Qualcomm Incorporated (QCOM US)

       5. NVIDIA Corporation (NVDA US)

 ความเสี่ยง - การลงทุนในต่างประเทศมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน กฎเกณฑ์ทางการที่เปลี่ยนแปลงไป ความเสี่ยงจากภาวะตลาดและอุตสาหกรรม เป็นต้น การลงทุนในอุตสาหกรรมเฉพาะมีความเสี่ยงกว่าตลาดโดยรวม นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและบทวิเคราะห์ก่อนตัดสินใจลงทุน