WEALTH • GOLD

แนะแบ่งทองคำออกขายทำกำไร ใกล้แนวต้าน 1,720-1,735 ดอลลาร์

ราคาทองคำเดือน ก.ย. เคลื่อนไหวในกรอบ 1,654.00-1,735.10 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ปรับตัวลดลง -2.01% จากเดือนก่อนหน้า โดยราคาทองคำร่วงลง 6 เดือนติดต่อกันในปีนี้ นับตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ย. แม้ช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนราคาทองคำจะมีทิศทางฟื้นตัวขึ้นบ้าง รับปัจจัยหนุนจาก

      1. แรงซื้อ Buy the dip หลังจากราคาทองคำเข้าสู่ภาวะขายมากเกินไป (Oversold)

      2. ตลาดแรงงานสหรัฐฯชะลอความร้อนแรงลง หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 315,000 ตำแหน่งในเดือน ส.ค. แม้จะดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ แต่ก็ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเกินคาดสู่ระดับ 3.7% ส่วนรายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงแรงงานดีดตัวขึ้น 0.3% น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4%

      3. ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติ “ขึ้น” อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit Rate) 75 bps ในการประชุมเดือน ก.ย. จากระดับ 0.00% สู่ระดับ 0.75% พร้อมส่งสัญญาณว่า ECB จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในการประชุมหลายครั้งต่อจากนี้เพื่อคุมเงินเฟ้อ หนุนยูโรฟื้น กระตุ้นแรงขายดอลลาร์

และ 4. เทรดเดอร์คาดการณ์ล่วงหน้าว่าสหรัฐฯ จะเปิดเผย CPI ที่บ่งชี้ว่า เงินเฟ้อจะชะลอตัวลงและผ่านจุดพีคไปแล้ว ทั้งนี้ ผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 8.1% ในเดือน ส.ค. เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวจากระดับ 8.5% ในเดือน ก.ค. ก่อนหน้านี้ ดัชนี CPI ทั่วไปพุ่งแตะระดับ 9.1% ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ปัจจัยที่กล่าวมาหนุนทองคำให้พุ่งทดสอบระดับสูงสุดของเดือน ก.ย.บริเวณ 1,735.10 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ก่อนที่ราคาทองคำจะเกิดการทิ้งตัวลงอย่างรวดเร็ว ทันทีที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 8.3% ในเดือน ส.ค. เมื่อเทียบรายปี โดย “สูงกว่า” ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.1% เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือน ส.ค. “สวนทาง” นักวิเคราะห์ที่คาดว่าลดลง 0.1% ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานเพิ่มขึ้น 6.3% ในเดือน ส.ค. เมื่อเทียบรายปี โดย “สูงกว่า” ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.1% เมื่อเทียบรายเดือน

ดัชนี CPI พื้นฐานดีดตัวขึ้น 0.6% ในเดือน ส.ค. โดย “สูงกว่า” ตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.3% ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯยังคงอยู่ในระดับสูง และจะหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวต่อไป พร้อมกับกระตุ้นคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 100 bps ในการประชุม 20-21 ก.ย. กดดันราคาทองคำร่วงลงในวันที่ 13 ก.ย. มากถึง -23 ดอลลาร์ต่อออนซ์

นอกจากนี้ ราคาทองคำได้รับแรงกดดันเพิ่ม หลังสหรัฐฯเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจหลายรายการออกมาดีกว่าคาด อาทิ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 5,000 ราย สู่ระดับ 213,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยปรับตัวลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5 แตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 226,000 ราย ส่วนยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือน ส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากลดลง 0.4% ในเดือน ก.ค. นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ยอดค้าปลีกทรงตัวในเดือน ส.ค. หรือเพิ่มขึ้น 0.0%

ขณะที่ดัชนี Empire State Index ดีดตัวขึ้นสู่ระดับ -1.5 ในเดือน ก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -13.8 ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะสนับสนุนให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวต่อไป นั่นทำให้ดัชนีดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 0.12% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 2 ปี พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 ปีที่ 3.879%

ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.455% เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ทองคำร่วงลงหลุดโซน 1,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ที่เป็นฐานราคาต่ำสุดของปี 2021 และปี 2022 จนกระตุ้นแรงขายทางเทคนิคเพิ่มเติม สถานการณ์ดังกล่าวกดดันให้ทองคำดิ่งลงต่อทำจุดต่ำสุดของเดือน ก.ย. บริเวณ 1,654.00 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2020

นอกจากนี้ กองทุน SPDR ถือครองทองคำลดลง -18.31 ตัน ตัน ในช่วงวันที่ 1-19 ก.ย. ซึ่งเป็นการถือครองทองคำลดลงต่อเนื่องมาจากเดือน พ.ค., มิ.ย., ก.ค. และ ส.ค. ที่ผ่านมา โดยเป็นการขายทองคำเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันในปีนี้ ขณะที่ภาพรวมการถือครองทองคำของ SPDR ในปี 2022 พลิกกลับมาเป็นขายสุทธิจำนวน -17.71 ตัน (ข้อมูล ณ สิ้นสุดวันที่ 19 ก.ย. 2022) สะท้อนกระแสเงินทุนไหลออกจากทองคำ

 



สำหรับเดือนตุลาคม แนะนำติดตาม

       - จีนจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง เนื่องในเทศกาลฉลองวันชาติจีน (Golden Week) เป็นช่วงเทศกาลวันหยุดยาวในระหว่างวันที่ 1-7 ต.ค. 2022 อาจส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายทองคำของจีนอาจเบาบางลง ในช่วงต้นเดือนตุลาคมเพราะตลาดเงิน ตลาดทุนของจีนปิดทำการ

       - ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีนตกต่ำลง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ เตือน นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ว่า หากจีนละเมิดมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ก็จะถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ และเตือนว่าจะไม่มีเม็ดเงินลงทุนเข้าจีน แม้ว่าไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าจีนได้จัดหาอาวุธให้รัสเซียเพื่อใช้ในการบุกยูเครน แต่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯมีแนวโน้มตรึงเครียดเพิ่มขึ้น ขณะที่จีนแสดงออกอย่างระมัดระวังต่อกรณีที่รัสเซียใช้ปฏิบัติการทางทหารในยูเครน แต่จีนได้วิพากษ์วิจารณ์ชาติตะวันตกต่อการคว่ำบาตรรัสเซีย

นอกจากนี้ ปธน.ไบเดน ยืนยันว่า สหรัฐฯจะปกป้องไต้หวัน หากเกิดการโจมตีอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่หลีกเลี่ยงคำถามเกี่ยวกับการเป็นเอกราชของไต้หวัน ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่มีโอกาสตึงเครียดเพิ่มขึ้นกระตุ้นแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

       - การประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะเกิดขึ้นช่วงกลางเดือนตุลาคม เป็นสิ่งที่นักลงทุนจับตาว่านโยบายของจีนจะเป็นไปในทิศทางใด หรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยก่อนหน้านี้ จีนดำเนินนโยบาย Zero-Covid ที่แม้จะยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ก็มีการประกาศล็อกดาวน์เมื่อ ตรวจพบผู้ติดเชื้อ Covid เพื่อป้องกันการระบาดในวงกว้าง ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ทรุดตัวลงจากปัญหาด้านสภาพคล่อง ภาวะอุปสงค์ชะลอตัว, การที่ประชาชนไม่ยอมจ่ายค่าจำนองบ้าน แม้ว่ารัฐบาลจะมีการเข้ามาให้ความช่วยเหลือ แต่ก็อาจยังไม่เพียงพอที่จะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น

ทางด้าน ปธน.สี จิ้นผิง เดินทางออกนอกประเทศในช่วงกลางเดือน ก.ย. เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเลือกที่จะเยือนเอเชียกลาง บ่งชี้ให้เห็นว่า จีนกำลังพยายามดำเนินการผ่านการทูตระดับประมุขแห่งรัฐ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ ไม่เพียงเพื่อความก้าวหน้าของจีนเองเพียงเท่านั้น แต่ยังเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของภูมิภาคและชุมชนระหว่างประเทศส่วนใหญ่ ความเคลื่อนไหวทางการทูตครั้งสำคัญของ ปธน.สี จิ้นผิง ในเอเชียกลาง จะนำมาซึ่งอิทธิพลใหม่ในระยะยาวไม่เพียงแต่ในภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโลกด้วย

นอกจากนี้ นักลงทุน ประเมินว่า ปธน.สี จิ้นผิง เตรียมที่จะดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศเป็นสมัยที่ 3 โดยจะได้รับการสนับสนุนในการประชุมของพรรคคอมมิวนิสต์ที่จะมีขึ้นในเดือนตุลาคม ซึ่งจะเป็นการดำรงตำแหน่งที่ยาวนานที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยทางการของจีนยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นใดๆ ต่อกระแสคาดการณ์ดังกล่าว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจของจีนจะส่งผลกระทบต่อทิศทางสกุลเงินหยวนและราคาทองคำ

       - จับตาทิศทางการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 8 พ.ย. 2022 แม้ว่าสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า คะแนนนิยมของ ปธน.ไบเดน เพิ่มขึ้น เนื่องจากพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในรัฐสภาสหรัฐฯ จนสามารถผ่านร่างกฎหมาย เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ราคายาถูกลง และเพิ่มศักยภาพของสหรัฐฯให้สามารถแข่งขันกับความพยายามด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม พรรคเดโมแครตอาจสูญเสียที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรส่วนมากในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ค่าครองชีพ-อัตราเงินเฟ้อปรับตัวพุ่งสูงขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าว นายมิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างน้อยในวุฒิสภาสหรัฐฯจากพรรครีพับลิกัน กล่าวว่า พรรคมีโอกาสเพียง 50-50 ที่จะกลับมาควบคุมเสียงข้างมากในวุฒิสภา

ดังนั้น การคาดการณ์แนวโน้มผลการเลือกตั้งกลางเทอม จะส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทาง สกุลเงินดอลลาร์ เพราะหากพรรครีพับลิกันกลับมาได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งกลางเทอมจนพรรครีพับลิกัน ครองเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภาอาจนำไปสู่การยับยั้งร่างกฎหมายต่างๆ ที่เสนอโดยพรรคเดโมแครต ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯที่เปราะบางอยู่แล้ว

 

คาดการณ์แนวโน้มราคาทองคำ ในเดือนตุลาคม

ในส่วนของมุมมองด้านปัจจัยทางเทคนิค แนวโน้มราคาทองคำ ในเดือนกันยายน สร้างระดับต่ำสุดครั้งใหม่ในรายเดือน และรายปี ซึ่งลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี หลังราคาหลุดบริเวณ 1,676 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ระดับต่ำสุดของปี 2021 แม้ว่าจะมีแรงช้อนซื้อสลับเข้ามาพยุงราคาทองคำให้ฟื้นตัวขึ้นได้บ้าง แต่แรงซื้อก็เป็นไปอย่างจำกัด

ทั้งนี้ หากระยะสั้นราคาแกว่งตัวออกด้านข้างแบบพยายามทรงตัวรักษาระดับไว้ ราคามีโอกาสทดสอบระดับ 1,720-1,735 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง (บริเวณ 1,735 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ระดับสูงสุดของเดือน ก.ย.2022) หากไม่สามารถผ่านได้ ประเมินว่า ดัชนีอาจอ่อนตัวลงทดสอบแนวรับโซน 1,638 ดอลลาร์ต่อออนซ์

อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำอาจแกว่งตัวผันผวนเพิ่ม ดังนั้น สำหรับนักลงทุนที่ถือทองคำไว้ แนะนำแบ่งทองคำออกขายทำกำไร เมื่อราคาปรับตัวขึ้นเข้าใกล้แนวต้านบริเวณ 1,720-1,735 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพื่อลดความเสี่ยง โดยหากราคาผ่านได้สามารถชะลอการขายไปที่แนวต้านถัดไป โซน 1,807 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ตาม หากราคาปรับฐานหรืออ่อนตัวลง ประเมินกรอบแนวรับแรกบริเวณ 1,638 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากยืนได้สามารถเข้าซื้อหวังทำกำไรจากการดีดตัวขึ้น แต่หากยืนไม่ได้ มุมมองเชิงบวกจะลดลง โดยราคามีโอกาสอ่อนตัวลงต่อทดสอบกรอบราคาด้านล่าง บริเวณ แนวรับโซน 1,566 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ระดับต่ำสุดเดือน เม.ย. 2020)



Related keywords:

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง