WEALTH • GOLD

ดอลลาร์แข็งค่ามากสุดในรอบ 20 ปี ฉุดราคาทองคำร่วง 4 เดือนรวด

ราคาทองคำเดือน ก.ค.เคลื่อนไหวในกรอบ 1,697.52-1,814.09 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เหวี่ยงตัวในกรอบ 116.57 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ปรับตัวลดลง -95.70 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากเดือนก่อนหน้า (-5.30% จากเดือนก่อนหน้า) โดยราคาทองคำร่วงลง 4 เดือนติดต่อกันในปีนี้ นับตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ค. ขณะที่ปัจจัยกดดันราคาทองคำหลักๆ ในเดือน ก.ค.นั้น มาจาก กองทุน SPDR ถือครองทองคำลดลงถึง -43.57 ตันในช่วงวันที่ 1-19 ก.ค. ซึ่งเป็นการถือครองทองคำลดลงต่อเนื่องมาจากเดือน พ.ค.และ มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเป็นการขายทองคำเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันในปีนี้ สะท้อนกระแสเงินทุนไหลออกจากทองคำ ขณะที่การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ เป็นปัจจัยกดดันหลักสำหรับราคาทองคำในเดือน ก.ค.

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างมาก แตะระดับสูงสุดในรอบ 20 ปีครั้งใหม่ที่ 109.29 ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2002 เนื่องจากนักลงทุนพากันเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พุ่งขึ้น 9.1% ในเดือน มิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.8%

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 5.9% ในเดือน มิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.8% เช่นกัน ขณะที่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อในส่วนของผู้ผลิตเพิ่มขึ้นเกินคาดที่ 1.1% ในเดือน มิ.ย. ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐฯยังอยู่ในระดับสูง

เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยิ่ง “เร่ง” ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย “อย่างแข็งกร้าวกว่าที่เคยประเมินไว้”เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 14-15 มิ.ย. โดยระบุว่า กรรมการเฟดยังคงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการควบคุมเงินเฟ้อ แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยก็ตาม

โดยกรรมการเฟดเชื่อว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% หรือ 0.75% ในการประชุมเดือน ก.ค.ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม และมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในระดับที่รุนแรงมากขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ขณะที่ นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวว่า เขาพร้อมที่จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% ในการประชุมเดือน ก.ค. แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำซึ่งไม่ให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย

ไม่เพียงเท่านั้น สกุลเงินยูโรดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี หรือต่ำสุดนับตั้งแต่ ธ.ค. 2002 ในระหว่างการซื้อขายเดือน ก.ค. ท่ามกลางความกังวลว่าวิกฤติพลังงานอาจส่งผลให้เศรษฐกิจในยูโรโซนเผชิญภาวะถดถอย หลังราคาก๊าซในยุโรปพุ่งสูงขึ้น ขณะที่ดัชนี PMI ภาคการผลิต-บริการขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ดิ่งลงสู่ระดับ 52.0 ในเดือนมิ.ย. แตะระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือนสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงชัดเจน การอ่อนค่าของสกุลเงินยูโร เป็นปัจจัยหนุนดอลลาร์ และกดดันราคาทองคำเพิ่มเติม

นอกจากนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) ร่วงลงในวงกว้าง จากความวิตกว่าเศรษฐกิจถดถอยจะกดดันดีมานด์ สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกดดันราคาทองคำซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าโภคภัณฑ์ขนิดหนึ่ง


อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยหนุนราคาทองคำเข้ามาบ้าง จากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดสาย Hawk 2 ราย ได้แก่ นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดเซนต์หลุยส์ และ นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟด กล่าวสอดคล้องกันว่า พวกเขายังคงสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.75% ในการประชุมเดือน ก.ค. ซึ่งน้อยกว่าที่นักลงทุนในตลาดบางส่วนกังวลว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 1% ในการประชุมเดือน ก.ค.

ด้าน นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดแอตแลนตา กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ "รุนแรงเกินไป" อาจบ่อนทำลายแนวโน้มเชิงบวกที่ยังคงพบเห็นได้ในระบบเศรษฐกิจ และทำให้ความไม่แน่นอนที่มีมากอยู่แล้วยิ่งเพิ่มขึ้น ปัจจัยที่กล่าวมากดดันดัชนีดอลลาร์ให้อ่อนค่าจนเป็นปัจจัยพยุงราคาทองคำให้ฟื้นตัวขึ้นบ้าง

นอกจากนี้ รายงานของ Reuters ที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กำลังพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินในวันพฤหัสบดีที่ 21 ก.ค. ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ช่วยหนุนสกุลเงินยูโรฟื้นตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ สกัดการแข็งค่าของดอลลาร์ และช่วยสกัดช่วงติดลบของราคาทองคำ

 

สำหรับเดือนสิงหาคม แนะนำติดตาม

การประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 26-27 ส.ค.นี้ ถือเป็นการประชุมที่ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยมีผู้ว่าการธนาคารกลาง รัฐมนตรีคลัง นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เดินทางเข้าร่วมการประชุม ทั้งนี้ นักลงทุนจับตา การกล่าวปาฐกถาของ นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด เพื่อแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายการเงินของเฟด และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ทั้งนี้ เฟดจะยังจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับที่สูงในช่วงไตรมาสที่ 3 ปีนี้ โดยคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในระดับ 50 bps ในเดือน ก.ย. แต่ในช่วงไตรมาสที่ 4 ที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับชะลอลง เฟด จะขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียงรอบละ 25 bps ในเดือน พ.ย. และ ธ.ค.

รัฐบาลจีนกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ สหรัฐฯ-ยุโรป เผชิญยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงท่ามกลางโอมิครอนระบาด พบว่าส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ซึ่งน่าจะมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ย่อยโอมิครอนก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ข้อมูลเอกสารวิจัยที่รอตีพิมพ์ของประเทศญี่ปุ่น ยังพบว่า BA.4 และ BA.5 ดื้อต่อภูมิคุ้มกัน นั่นหมายความว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 ก็สามารถติดเชื้อซ้ำได้

อีกทั้ง BA.4 และ BA.5 ยังมีประสิทธิภาพในการแพร่กระจายในเซลล์ปอดของมนุษย์มากกว่า BA.2 ขณะที่องค์การอนามัยโลก ย้ำอีกครั้งว่า การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ยังคงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโลก เพิ่มความวิตกกังวลว่าหลายประเทศอาจกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการระบาดอีกครั้ง

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของแคลิฟอร์เนียกำลังพิจารณาการกลับมาใช้มาตรการบังคับสวมหน้ากากอนามัยในอาคารอีกครั้ง ซึ่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า ค่าเฉลี่ย 7 วันของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่านับตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. ท่ามกลางความไม่แน่นอนเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง และยาวนานมากขึ้น ความเสี่ยงดังกล่าว กระตุ้นแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำวันที่ 10 ส.ค. 2022 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปี 2022 มีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมายเนื่องจากราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด ภายใต้ภาวะที่เงินเฟ้อมีความเสี่ยงสูงขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ช้าเกินไป อาจก่อให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป ทั้งนี้ มีกระแสคาดการณ์ว่า อาจได้เห็น กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง ในระดับ 25bps ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อคาดการณ์ที่มีแนวโน้มเร่งตัว

ประกอบกับ ธนาคารกลางในหลายประเทศประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามธนาคารกลางสหรัฐฯ แนวโน้มดังกล่าวอาจ ส่งผลต่อทิศทางค่าเงินบาท ให้ชะลอการอ่อนค่า หลังจากช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวผันผวน และอ่อนค่าแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี ทั้งนี้ ธปท.ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท และเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลเมื่อความผันผวนมากผิดปกติ

ทั้งนี้ การอ่อนค่าของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านส่งผลบวกต่อราคาทองคำแท่งในประเทศ ทั้งนี้ หากแนวโน้มค่าเงินบาทชะลอการอ่อนค่า หรือกลับมาแข็งค่าก็จะส่งผลลบต่อราคาทองคำแท่งในประเทศ

 

คาดการณ์แนวโน้มราคาทองคำ ในเดือนสิงหาคม

ในส่วนของมุมมองด้านปัจจัยทางเทคนิค หลังจากราคาทองคำปรับตัวลงจนสร้างระดับต่ำสุดในรอบกว่า 9 เดือน ราคาทองคำอาจพยายามแกว่งตัวเพื่อรักษาระดับและสร้างฐานราคา โดยระยะสั้นหากราคาทองคำอ่อนตัวลงและสามารถยืนเหนือแนวรับบริเวณ 1,676 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ระดับต่ำสุดของปี 2021) ได้อย่างแข็งแกร่ง คาดว่าราคาน่าจะมีการปรับตัวขึ้นได้อีกครั้ง แนะนำจับตาแนวรับบริเวณ 1,676 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างใกล้ชิด หากราคายืนได้จะเกิดการฟื้นตัวขึ้นของราคาอีกครั้ง

แต่หากยืนไม่ได้ แนวโน้มราคาจะเป็นลบที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งอาจเกิดแรงขายกดดันให้ราคาทองคำทิ้งลงได้ต่อ ซึ่งยังคงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนและการแกว่งตัวของราคาอาจอยู่ในระดับสูง หรือ มีโอกาสฟื้นตัวขึ้นในช่วงสั้น สำหรับผู้ที่ไม่มีทองคำในมือรอดูบริเวณ 1,676 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากไม่หลุด สามารถเข้าซื้อเพื่อทำกำไรระยะสั้น แต่หากยืนไม่อยู่ให้ชะลอการเข้าซื้อเพื่อรอการสร้างฐานของราคา

อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำมีการแกว่งตัวมากขึ้น นักลงทุนควรตั้งจุดตัดขาดทุนหากราคาไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน ขณะที่หากราคาดีดตัวขึ้นให้ขายทำกำไรบริเวณแนวต้านที่ 1,752-1,786 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากราคาทองคำสามารถผ่านแนวต้านแรกได้ มุมมองเชิงลบอาจลดลง และอาจเกิดแรงซื้อดันราคาปรับตัวขึ้นทดสอบบริเวณแนวต้านถัดไปบริเวณ 1,814-1,833 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 



ข้อมูลโดย วายแอลจี บูเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส

จากคอลัมน์ ตลาดทองคำ วารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนสิงหาคม 2565 ฉบับที่ 484



Related keywords:

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง