WEALTH • GOLD

ส่องประเด็นกระทบราคาทอง ไตรมาสสุดท้ายของปี 65

ใน 3 เดือนสุดท้ายของปี 2565 ราคาทองคำโลกมีโอกาสผันผวนมาก เนื่องจากมีหลากหลายประเด็นสำคัญที่เตรียมกระทบทองคำโลก อย่างดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐฯและผลกระทบที่กำลังจะตามมาต่อเศรษฐกิจ, เศรษฐกิจยุโรปกับปัญหาพลังงาน ภายใต้การขึ้นดอกเบี้ยของ ECB และสุดท้ายการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ

 

ดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐฯ

และผลกระทบที่กำลังจะตามมา

สิ่งที่นักลงทุนทองคำต้องสนใจดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เนื่องจากส่งผลต่อราคาทองคำโลกโดยตรง เพราะคาดการณ์ขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยกระตุ้นนักลงทุนให้เก็งกำไรกับดอลลาร์ ซึ่งค่าเงินดอลลาร์จะมีทิศทางตรงกันข้ามกับราคาทองคำที่ซื้อขายโดยสกุลเงินดอลลาร์ โดยค่า Correlation หรือ ค่าสหสัมพันธ์ ของค่าเงินดอลลาร์และราคาทองคำโลกในปี 2565 มีเท่ากับ -0.6

กลับมาที่เงื่อนไขการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ โดยอ้างอิงจากธนาคารกลางสหรัฐฯ(FED) เปิดรายงานการประชุม FOMC ในเดือน ก.ค. 2565 ได้กล่าวถึงประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยโดย กรรมการ FED แสดงถึงความพยายามจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงที่สุดเท่าที่จำเป็น และสามารถคุมอัตราเงินเฟ้อได้ แต่หากเศรษฐกิจสหรัฐฯมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะขาลง FED มีโอกาสที่จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

มาที่คำถามสำคัญคือ FED มองเศรษฐกิจสหรัฐฯในตอนนี้อย่างไร เพื่อที่จะได้วิเคราะห์ว่า การประชุม FOMC ที่เหลือของปีนี้จะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยอีกกี่ครั้ง โดย FED ประเมินเศรษฐกิจส่วนที่ดี คือ ภาคแรงงานขยายตัวดี แต่เศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วงการบริโภคและการผลิตชะลอตัว

โดยสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ตามที่ FED กล่าวมาได้ ดังนี้

       1. ภาคแรงงานขยายตัวจริง เพราะการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือน ก.ค. แตะ 315,000 ราย ประกอบกับอัตราการว่างงานลดลงแตะ 3.7%

       2. การบริโภคและการผลิตน่าเป็นห่วงก็จริง เนื่องจากยอดค้าปลีกเดือน ก.ค. ขยายตัวคงที่ ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตขยายตัวลดลงแตะ 53 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 25 เดือน และการบริโภครวมถึงการผลิตที่ชะลอตัว ทำให้ความรู้สึกของประชาชนลดลง ชี้วัดผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯแตะ 95 จุด เป็นจุดต่ำสุดในรอบ 17 เดือน

หากเศรษฐกิจสหรัฐฯมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะขาลง จะต้องเห็นการชะลอตัวของภาคแรงงาน สิ่งที่ตามมา คือ การชะลอขึ้นดอกเบี้ย ฉะนั้นแล้วนักลงทุนต้องติดตามการประกาศตัวเลขจากภาคแรงงานสหรัฐฯได้แก่

       1. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ประกาศทุกวันพฤหัสบดี

       2. การจ้างงานนอกภาคการเกษตรและอัตราการว่างงานประกาศทุกวันศุกร์ต้นเดือน

       3. ยอดการเปิดรับตำแหน่งงานประกาศ 35 วันหลังจากสิ้นเดือน

ทั้งนี้ แนวโน้มของธนาคารกลางสหรัฐฯที่จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสอีก 2 ครั้งในปีนี้ เพราะมีการประชุม FOMC ในวันที่ 2 พ.ย. และ 14 ธ.ค. โดยคาดการณ์ว่าเดือน พ.ย.จะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% และ ธ.ค. จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.5%

สรุป แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯในปีนี้มีโอกาสแตะ 4.5% มีแนวโน้มจะเกิดการถือดอลลาร์มากขึ้น ในเงื่อนไขที่ตัวเลขภาคแรงงานสหรัฐฯยังแข็งแกร่ง จะเป็นปัจจัยกดราคาทองคำโลก

 

เศรษฐกิจยูโรโซนภายใต้ปัญหา

พลังงานและการขึ้นดอกเบี้ย

เริ่มที่ปัญหาพลังงานของยูโรโซน นับจากที่รัสเซียเปิดฉากบุกยูเครนทำให้ชาติตะวันตกประกาศคว่ำบาตรต่างๆ นานากับรัสเซีย และเป็นที่มาให้รัสเซียเริ่มลดปริมาณส่งพลังงานไปยุโรป โดยสมาคมท่อส่งแคสเปียน (CPC) ผู้บริหารจัดการน้ำมันประมาณ 1% ของโลก เปิดเผยว่า การส่งออกน้ำมันจากทุ่นเทียบเรือรับน้ำมันดิบ 2 ใน 3 แห่งในทะเลดำได้ถูกระงับ และแสดงให้รู้ว่า การขนส่งก๊าซธรรมชาติของรัสเซียไปยังยุโรปลดลงประมาณ 75% เมื่อเทียบเป็นรายปี และการที่รัสเซียหยุดส่งพลังงานให้ยูโรโซน ยังไม่ทำให้ยูโรโซนขาดแคลนพลังงาน

แต่แล้วปัญหาโลกร้อนก็ทำให้ยูโรโซนเจอกับวิกฤติภัยแล้ง ทำให้ขาดแคลนทั้งน้ำใช้และไฟฟ้า โดยปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำลดลง 20% เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแม่น้ำลดลงจนถึงระดับที่ไม่เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้า ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บางแห่งต้องหยุดเดินเครื่องเพราะขาดแคลนน้ำในการหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ ทำให้ยุโรปต้องพึ่งพลังงานรูปแบบอื่น

โดย ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ และสเปน หันมาใช้ถ่านหินมาผลิตพลังงานเพิ่มขึ้นถึง 20% และถ่านหินที่ยุโรปนำเข้ามาส่วนใหญ่มาจากสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้ ซึ่งราคาถ่านหินแตะ 441.3 จุด กำลังสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และราคาก๊าซธรรมพุ่งแตะ 458.9 ปอนด์ต่อลูกบาศก์ฟุต เป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ปัญหาที่ตามมาคือ ต้นทุนการใช้ชีวิตของประชาชนในยุโรปกำลังเพิ่มขึ้น หมายความว่าอัตราเงินเฟ้อยุโรปสามารถพุ่งได้มากกว่านี้ ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปและสร้างปัญหาให้รัฐบาลและธนาคารกลางยุโรปในการออกนโยบายหลังจากนี้

 ส่วนประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยของยุโรป โดยนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) พยายามที่จะกดอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเงินเฟ้อเกิดจาก 2 ด้าน

       1. เงินเฟ้อเกิดจากต้นทุนสินค้า หรือ เงินเฟ้อด้านอุปทาน (Cost-Push Inflation) มาจากต้นทุนการผลิตซึ่งมาจากราคาพลังงานที่สูงในยูโรโซน และ

         2.เงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (Demand-Pull Inflation) มาจากความต้องการใช้จ่าย ซึ่ง ECB ไม่สามารถลดเงินเฟ้อเกิดจากต้นทุนสินค้า แต่สามารถลดเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่มาจากความต้องการใช้จ่าย และหาก ECB จะลดเงินเฟ้อก็ต้องขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้ ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณให้ความสำคัญต่อเงินเฟ้อมากกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ

 สรุปประเด็นเศรษฐกิจยูโรโซนที่มีความน่าเป็นห่วงจากราคาพลังงานที่สูงดันให้อัตราเงินเฟ้อของยุโรปสูง มีความเสี่ยงกดการบริโภค การลงทุน การส่งออกและนำเข้า ทำให้ GDP ยูโรโซนขยายตัวลดลงอาจขึ้นเข้าสู่การหดตัวและนำมาซึ่งการถดถอยเศรษฐกิจในปี 2566 มีแนวโน้มกดค่าเงินยูโร และกดราคาทองคำ

 

การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ

อาจเป็นจุดจบไบเดน?

ประเด็นนี้คือการเลือกตั้งสหรัฐฯในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 จะมีการเลือกในวุฒิสภา 34 ที่นั่งจาก 100 ที่นั่ง และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ทั้งชุด 435 คน นับเป็นจุดเปลี่ยนของการเมืองสหรัฐฯ ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐตอนนี้เสียงข้างมากอยู่กับพรรคเดโมแครตมี 221 เสียง ซึ่งไบเดน เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และได้เป็นในปี 2564 และริพับลิกันเป็นฝ่ายข้างน้อยมี 211 เสียง ส่วนวุฒิสภาสหรัฐฯคะแนนเสี่ยงของ เดโมแครตบวกอิสระ และริพับลิกันมี 50 เสียงเท่ากัน

แต่สถานการณ์ปัจจุบันของไบเดนมีคะแนนนิยมตก เนื่องจากการรับมือกับโควิด-19, เศรษฐกิจที่มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น, ประเด็นที่เกิดความแตกแยกในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ผู้อพยพ เชื้อชาติ และสิทธิในการทำแท้ง รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจอย่างจีน และรัสเซีย อยู่ในขั้นตกต่ำ จากปัจจัยที่กล่าวมานี้ทำให้ประชากรของสหรัฐฯไม่พอใจในการทำงานของ ไบเดน และมองว่าไบเดนประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

อาจเป็นจุดเปลี่ยนของการเมืองสหรัฐฯที่ทำให้ไบเดน ไม่สามารถใช้นโยบายได้เต็มที่ เพราะหากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯและวุฒิสภามีการเปลี่ยนขั้วอำนาจมาเป็นพรรคริพับลิกันถือเสียงข้างมากทั้ง 2 สภา ไบเดนก็เตรียมตัวกลับไปนั่งเล่นที่บ้านในการเลือกตั้งสมัยหน้าได้เลย

หากไบเดนมีอำนาจน้อยลงในการบริหารประเทศจะส่งผลต่อนโยบายหลังจากนี้ของสหรัฐฯ และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯที่ขยายตัวต่ำ สามารถเข้าสู่ระดับการหดตัวได้เลย จึงเป็นมุมมองที่ว่า หากพรรคริพับลิกันถือเสียงข้างมากทั้ง 2 สภา เศรษฐกิจสหรัฐฯเตรียมชะลอตัว ซึ่งส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์ที่อาจอ่อนค่า และราคาทองคำจะกลับมาอีกครั้ง

สรุปการส่องประเด็นกระทบทองไตรมาสสุดท้ายของปี 65 มีทั้งหมด 3 ปัจจัยได้แก่ การใช้ดอกเบี้ยของ FED, เศรษฐกิจของยุโรปในสภาวะราคาพลังงานสูง พร้อมการขึ้นดอกเบี้ยของ ECB รวมถึงการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ

ในกรณีที่ราคาทองคำโลกปรับขึ้นต้องลุ้นให้เศรษฐกิจสหรัฐฯมีปัญหาจากการขึ้นดอกเบี้ยที่แรงและการเมืองสหรัฐฯมีเสียงข้างมากเป็นพรรคริพับลิกัน พร้อมกับเศรษฐกิจยุโรปถดถอยด้วย หากลุ้นให้ราคาทองคำลงต้องเห็นการขึ้นดอกเบี้ยโดยที่ภาคแรงงานยังแข็งแกร่ง และเศรษฐกิจยุโรปถดถอยจากราคาพลังงานและดอกเบี้ยที่สูง

ทั้งนี้ ผู้เขียนคาดการณ์ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ว่า 1.การขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อาจแตะ 4-4.5% 2.เศรษฐกิจยุโรปมีปัญหาแน่ และ 3.การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯไม่ว่าพรรคใดจะได้เสียงข้างมากอาจยังไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจมากนัก จะมีแต่ความกังวลของนักลงทุนที่ส่งเข้ามา จึงมองราคาทองคำโลกมีโอกาสปรับตัวลงมากกว่าขึ้น