WEALTH • MUTUAL FUND

ESG ความสมดุลการลงทุน กับความยั่งยืนเพื่อสร้างผลตอบแทน

หากพูดถึงการลงทุนในปัจจุบันหนึ่งในกระแสที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลก คือ การลงทุนที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ESG (Environment, Social, Governance) สมาคมการลงทุนอย่างยั่งยืนคาดว่าภายในปี 2025 สินทรัพย์ภายใต้การจัดการที่ลงทุนในธุรกิจ ESG จะมีมูลค่ามากกว่า 50 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

บลจ.ยูโอบี (สิงคโปร์) ให้ความเห็นถึงความสำคัญของกระแส ESG ไว้อย่างน่าสนใจว่า ปัจจุบันต้องสร้างความสมดุลระหว่างการลงทุนและความยั่งยืนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การลงทุนอย่างยั่งยืน เพราะในอดีตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถูกมองว่าเป็นเพียงปัญหาจากการใช้ทรัพยากรร่วมกันโดยไม่คำนึงถึงผลที่ตามมา แต่ในปัจจุบันโลกได้มองปัญหานี้เปลี่ยนไปเป็นกระแสหลักที่แทบทุกหน่วยงานให้ความสนใจหาทางออกและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา

ทำให้ในปัจจุบันการนำข้อมูลและตัวเลขด้านความยั่งยืนได้เข้ามามีบทบาทในการวิเคราะห์ทางบัญชีและทางการเงินมากขึ้น ขณะเดียวกันหน่วยงานกำกับดูแลหลายแห่งทั่วโลกได้ออกกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ให้มีการรายงานด้านความยั่งยืนและความโปร่งใสเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในอนาคตองค์กรต่างๆ จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้นหากไม่มีการปรับปรุงด้าน ESG

 

การเติบโตของสินทรัพย์

ภายใต้การจัดการที่ลงทุนในธุรกิจ ESG

สมาคมการลงทุนอย่างยั่งยืน (Global Sustainable Investment Association) เปิดเผยว่า สินทรัพย์ภายใต้การจัดการที่ลงทุนในธุรกิจ ESG มีมูลค่ามากกว่า 35 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 30.6 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2018 โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 15% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าภายในปี 2025 หรือในอีก 3 ปีข้างหน้า จะมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการจะสูงขึ้นมากกว่า 50 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจุบันเอเชียเป็นภูมิภาคที่เป็นผู้นำในกระแส ESG ไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน และการผลิตพลังงานทางเลือกใหม่ๆ เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกมีความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุด และมีโอกาสทำลายสิ่งแวดล้อมจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศมากที่สุดด้วย ประเด็นเรื่องขยะอาหารและการลดใช้พลังงานถ่านหิน ถือความท้าทายอย่างมาก แต่ก็เป็นโอกาสให้เกิดความคิดริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน

ด้านการลงทุนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนที่ลงทุนธุรกิจ ESG ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อยู่ที่ 9.3 หมื่นล้านดอลลาร์ (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2021) ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมทั้งโลก แต่มีการเติบโตในอัตราที่สูงกว่า

ข้อมูลจากมอร์นิ่งสตาร์ เปิดเผยว่า ในเดือนตุลาคม 2021 เพียงเดือนเดียวการลงทุนในกองทุน ESG ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ยกเว้นประเทศจีน) สูงขึ้นถึง 54% คิดเป็นมูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้นักลงทุนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น

จากการสำรวจของ MSCI เมื่อเดือนกันยายน 2020 พบว่า ผู้ลงทุนสถาบันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้ลงทุนใน ESG เพิ่มขึ้นกว่า 79% เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ด้วยเช่นกัน แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงมุมมองการลงทุน ของกลุ่มสถาบันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งในด้านการให้ความสำคัญและศักยภาพในการสร้างผลกำไรที่ยั่งยืน

 

3 มุมมองการลงทุน

Go Green Megatrend

บลจ.ยูโอบีฯ ระบุว่า มี 3 มุมมองการลงทุน ประกอบด้วย

       1. พลังงานหมุนเวียน การออกนโยบายต่างๆ ของทั้งภาครัฐและเอกชนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้สร้างโอกาสการลงทุนในบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน โดยสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มบริษัทคือ

             กลุ่มที่ 1 บริษัทที่สามารถจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ของบริษัทได้เนื่องจากในการปล่อยคาร์บอนหนึ่งตันนั้นมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 50-100 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นภาระของบริษัทที่มีการปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก

            กลุ่มที่ 2 บริษัทที่มีส่วนร่วมในการเพิ่มศักยภาพด้านพลังงาน รวมถึงการผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียน ข้อมูลจาก IEA World Energy Investment 2021 แสดงให้เห็นว่า 70% ของบริษัทที่เข้าลงทุนในพลังงานใหม่ๆ นั้นจะเน้นลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ทดแทนการลงทุนในพลังงานจากถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะพลังงานลมและแสงอาทิตย์ ซึ่งในปัจจุบันสามารถให้ลัพธ์ได้มากกว่าเมื่อ 10 ปีก่อนถึง 4 เท่า ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนั้นมีส่วนช่วยให้ห่วงโซ่เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็น ผู้ผลิตอุปกรณ์ผู้ผลิตวัตถุดิบในการแปลงพลังงาน การเก็บรักษา และแจกจ่ายพลังงานหมุนเวียนได้อานิสงส์ไปด้วย จากความต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมที่ต้องการลดการปล่อยคาร์บอน เช่น การใช้พลังงานจากไฮโดรเจนและเครื่องบินไฟฟ้าในธุรกิจการบินและการเดินเรือ หรือการนำเทคนิคการผลิต เช่น การกรองด้วยเยื่อสำหรับธุรกิจอาหารและเครื่อง ทำให้ลดการใช้พลังงานได้ถึง 90%

        2. อสังหาริมทรัพย์ที่รักษ์สิ่งแวดล้อม ปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนในเอเชีย กำลังผลักดันให้มีอาคารรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยคาร์บอนของอาคารที่มีอยู่ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นผลดีอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังสามารถสร้างโอกาสในการลงทุนขึ้นด้วย นโยบายของทางการมีความชัดเจนมากขึ้น ในการสร้างอาคารที่รักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วเอเชีย โดยมีประเทศที่มีนโยบายที่โดดเด่น ดังนี้

            สิงคโปร์ - อาคารใหม่ๆ มีศักยภาพในการลดการใช้พลังงานลงถึง 50% เมื่อเทียบกับเมื่อปี 2000 และจะสามารถลดลงถึง 80% ภายในปี 20300

            เกาหลีใต้ - มีการตั้งงบการลงทุนไว้ถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ สำหรับการก่อสร้างตึก Zero-Energy หรือตึกไร้การใช้พลังงาน และการจัดหาแหล่งพลังงานยั่งยืน

            ไทย - ความต้องการการใช้พลังงานของอาคารจะต้องลดลงร้อยละ 30 ภายในปี 2579

            เวียดนาม - มีแผนที่จะปรับปรุงการผลิตและใช้วัตถุดิบที่ยั่งยืนสำหรับการผลิตซีเมนต์ และวัสดุก่อสร้าง

       จากการสำรวจของ Jones Lang LaSalle (JLL) พบว่า 70% ขององค์กรต่างๆ ยินดีลงทุนเพิ่มในอาคารที่ได้รับการรับรองว่ารัก เพราะ ESG ได้กลายมาเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดขององค์กร แต่ในปัจจุบันอาคารที่รักสิ่งแวดล้อมยังมีจำนวนจำกัดและยังต้องใช้เวลาในการพัฒนา จึงมีค่าเช่าและราคาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในทางตรงกันข้าม อาคารที่ยังไม่สามารถปรับตัวให้เป็นไปตามมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ จะเริ่มเสื่อมความนิยมไป

        ดังนั้น ความต้องการอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อมในเอเชียจึงสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในอาเซียนที่สิงคโปร์กำลังมีการก่อสร้างอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก จากการสำรวจของ World Buildings Trends Study เกือบครึ่งหนึ่งของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์ เปิดเผยว่า กว่า 60% ของพอร์ตการก่อสร้างเป็นอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ องค์กรต่างๆ ในสิงคโปร์กว่าครึ่งหนึ่งมีโครงการจะปรับปรุงอาคารเดิมให้เป็นอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์เรื่องสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่ออกมา แม้จะต้องลงทุนสูง แต่ก็คาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี

        3. การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม เอเชียเป็นภูมิภาคหลักในการออก Green Bonds หรือตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่ออกมาเพื่อระดมทุนและลงทุนในโครงการใหม่ๆ หรือโครงการเดิมที่ได้รับประโยชน์จากภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาด Green Bonds ของเอเชียได้ขยายตัวอย่างมากและนับเป็นอีกโอกาสในการลงทุน ปัจจุบันตลาด Green Bonds มีมูลค่าตลาดสูงถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าตลาดจะปรับสูงขึ้นเป็นเท่าตัวภายในปี 2023 จากอัตราการเติบโตในอัตรา 49% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

จีนและญี่ปุ่นเป็นผู้ออก Green Bonds มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 และ 9 ตามลำดับ โดย Green Bonds ที่จีนมีมูลค่าเกินครึ่งของตราสารทั้งหมดในเอเชีย และออกเสนอขายมากที่สุดเมื่อปี 2021 มากกว่าตราสารหนี้ที่ออกโดยธุรกิจการเงิน โดย Green Bonds ในจีนนั้นมีบริษัทพลังงานและหน่วยงานที่รัฐสนับสนุน แม้ตราสารบางตราสารจะยังไม่ถูกรองรับตามมาตรฐานสากลแต่ก็คาดว่าในอนาคตจะสามารถขยายออกขายในตลาดนอกประเทศจีนได้

ความน่าสนใจของตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม และการลงทุนแบบยั่งยืนนั้นเติบโตเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง และยังช่วยเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวด้วย เนื่องจากการลงทุนในลักษณะนี้จะมีความผันผวนน้อย องค์กรที่ให้ความสนใจกับ ESG จะมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวสูงและสามารถรับมือกับความเสี่ยงได้ดี อีกทั้งไม่ค่อยถือครองทรัพย์สินที่ล้าสมัย สุดท้ายการลงทุนลักษณะนี้จะเป็นการป้องกันความเสี่ยงไปในตัวด้วย แตกต่างจากการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วไป

 

 

Related keywords:

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง