WEALTH • GOLD

4 ปัจจัยกำหนดราคาทองคำ “ไปต่อ” หรือ “ลงต่อ”

ราคาทองคำเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ มากมาย ได้แก่

       1. อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯแตะระดับ 8.26% ยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากราคาพลังงานพุ่ง 30% และราคาอาหารขึ้นแตะ 9.4% ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อน ดันราคาทองคำขึ้น

       2. การประชุม FOMC จากอัตราเงินเฟ้อที่แตะ 8.26% ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.5% พร้อมทำ Quantitative Tightening (QT) คือ นโยบายดึงสภาพคล่องออกจากระบบเศรษฐกิจโดยการปล่อยให้พันธบัตรที่ FED ถือครบอายุ และส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ถึง 3% ส่งค่าเงินดอลลาร์แข็งและกดราคาทองคำ

       3. อัตราการว่างงานสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นแตะ 3.6% ซึ่งสร้างความกังวลแก่นักลงทุน เพราะมีความเสี่ยงเกิด Stagflation เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯที่เร็ว ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯมีโอกาสชะลอตัว ประกอบกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อราคาทองคำบวก

        4.นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 ส่งสัญญาณพิจารณาลดภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีน เพราะไบเดนกำลังหาทางลดราคาวัตถุดิบ เนื่องจากกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่ 45 สร้างขึ้นมีมูลค่ามากถึง 360,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ราคาวัตถุดิบของสหรัฐฯทั่วเพิ่มขึ้น หากไบเดนหาทางลด Cost - Push Inflation หากทำได้จะลดโอกาสเกิด Stagflation ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อราคาทองคำ จากปัจจัยทั้ง 4 อย่างในเดือนพฤษภาคมกระทบราคาทองคำทำให้ผันผวนอย่างมาก

 

มุมมองทองคำเดือนมิถุนายน 2565

Gold Spot แนวโน้ม Sideway Down กรอบการลงทุน 1,780-1,935 ดอลลาร์สหรัฐ และปัจจัยที่นักลงทุนทองคำต้องจับตาในเดือนมิถุนายนมีทั้งหมด 4 ประเด็น


       1. การประชุม FOMC ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 15 มิถุนายน 2565 และเป็นที่จับตา เนื่องจากประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ได้ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นในสิ้นปีนี้อาจพบว่า ดอกเบี้ยของสหรัฐฯอาจแตะ 3% เพราะอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯตั้งแต่มีนาคม ปี 2564 เริ่มเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2.62% ทะลุ Trend Line และขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันเดือนเมษายน ปี 2565 แตะระดับ 8.26% แล้วเงินเฟ้อมี


โดยจะให้เกิดผลกระทบ ดังนี้

       - ประชาชนจะต้องจ่ายเงินในการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้น อธิบายง่ายๆ ว่าราคาของแพงขึ้นนั่นเอง แต่ที่ตลกค่าจ้างประชาชนไม่ค่อยขึ้น

       - บริษัทที่ขายสินค้าและบริการ มีความเสี่ยงที่ยอดขายลดลง จากสินค้าที่ราคาแพงขึ้น และสุดท้ายอาจต้องทำให้ลดขนาดกิจการและลดพนักงานเพื่อคุมต้นทุน

       - ระบบเศรษฐกิจที่ทำให้ FED ต้องกังวล ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นกระทบต่อ GDP ในมุมของการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน

และนี่คือ สาเหตุที่ FED ต้องคุมเงินเฟ้อ และ FED ยังกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อของสหรัฐฯไว้ที่ 2% แต่เงินเฟ้อปัจจุบันขึ้นไปแตะ 8.26% ทำให้ FED ต้องขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม FOMC ในวันที่ 15 มิถุนายน โดยนักลงทุนเริ่มคาดการณ์ว่า FED อาจขึ้นดอกเบี้ย 0.5% มีโอกาสทำให้ราคาทองคำพุ่งก่อนที่ FED จะขึ้นดอกเบี้ย เพราะค่าเงินดอลลาร์แข็ง แต่หาก FED ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% บันเทิงแน่ เพราะผิดจากที่นักลงทุนคาด ค่าเงินดอลลาร์จะแข็งมาก และราคาทองคำจะลงแรงมากกว่าขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.5%


        2. โจ ไบเดน หาทางลดเงินเฟ้อสหรัฐฯ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่ 46 ส่งสัญญาณพิจารณาลดภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีน เพราะไบเดนกำลังหาทางลดราคาวัตถุดิบ เนื่องจากกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่ 45 สร้างขึ้นมีมูลค่ามากถึง 360,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ราคาวัตถุดิบทั่วโลกเพิ่มขึ้น ประกอบกับเจอโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาใหม่อย่าง ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และธนาคารกลางสหรัฐฯประกาศลดดอกเบี้ย พร้อมทำ QE และต่อมาเกิดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาสินค้าเกษตร และพลังงานเพิ่มขึ้นซึ่งเงินเฟ้อเกิดจาก 2 ทาง คือ 1.เงินเฟ้อเกิดจาก ต้นทุนสินค้า หรือ เงินเฟ้อด้านอุปทาน (Cost - Push Inflation) มาจากต้นทุนการผลิตสินค้า และ 2.เงินเฟ้อ ด้านอุปสงค์ (Demand-Pull Inflation) มาจากความต้องการใช้จ่าย

        โดยกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน เพิ่ม Cost - Push Inflation และช่วงเกิดโควิด-19 ธนาคารกลางสหรัฐฯประกาศลดดอกเบี้ย พร้อมทำ QE เพิ่ม Demand-Pull Inflation สูงให้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯสูง

       ปัจจุบัน ธนาคารกลางสหรัฐฯได้เริ่มลด Demand-Pull Inflation เพราะยุติ QE พร้อมขึ้นดอกเบี้ยแตะ 1-1.25% และไบเดนหาทางลด Cost - Push Inflation หากทำได้จะลดโอกาสเกิด Stagflation

       ทั้งนี้ นักลงทุนต้องติดตามอัตราเงินเฟ้อ ,GDP และอัตราการว่างงานสหรัฐฯ เพราะการเข้าเงื่อนไข Stagflation คือ อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น รวมถึง GDP ขยายตัวลดลงหรือหดตัว

       แต่การลดภาษีสินค้านำเข้าจากจีนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ นางแคทเธอรีน ไท ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ สนับสนุนให้สหรัฐฯเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนต่อไป เพื่อปกป้องการจ้างงานของสหรัฐฯและรับมือกับพฤติกรรมของจีนในตลาดโลก

       ประเด็นสหรัฐฯที่ยังหาข้อสรุปเกี่ยวกับการลดภาษีสินค้านำเข้าจากจีนไม่ได้ กระทบต่อการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เพราะไม่สามารถแก้ Cost - Push Inflation ที่เกิดจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น วิเคราะห์ว่าอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มในระดับสูงที่ 8% เป็นปัจจัยบวกต่อทองคำ ในมุมมองที่กำไรของบริษัทค้าปลีกลดลง เนื่องจากต้นทุนสินค้าเพิ่ม ดันราคาสินค้าสูง กระทบการบริโภค และการจ้างงานจะลดลงจากการลดต้นทุน รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัว แต่หากสหรัฐฯสามารถให้ลดกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน จะกดเงินเฟ้อลง และกดราคาทองคำ

       3. สงครามรัสเซีย-ยูเครน อย่างที่นักลงทุนทราบว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้การค้าของอาหารและพลังงานได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกอันดับต้นๆ ของโลก อย่างข้าวสาลี, ข้าวโพด, ข้าวบาร์เลย์, เมล็ดทานตะวัน และน้ำมันดอกทานตะวัน ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังแอฟริกาเหนือ, ตะวันออกกลาง, ยุโรป และจีน ทำให้ราคาอาหารและพลังงานเพิ่มจากการขาดแคลน

       ทั้งนี้ ภาวะช็อกจากราคาพลังงานและอาหารจะกระทบต่อการค้าโลก ลดมูลค่าการส่งออกโดยลง 1% โดยการส่งออกในประเทศกำลังพัฒนาจะลดลง 1.06% และการส่งออกในประเทศพัฒนาแล้วลดลง 1%

      หากถามว่า สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะจบเมื่อไร เราขอตอบจากบทสัมภาษณ์ของ นายพลคีรีโล บูดานอฟ หัวหน้าหน่วยข่าวกรองของยูเครนกล่าวในวันที่ 14 พ.ค. ว่า “การสู้รบส่วนใหญ่จะยุติภายในสิ้นปีนี้ และในที่สุดก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนผู้นำของสหพันธรัฐรัสเซีย” แสดงว่าสงครามยังดำเนินต่อไปในเดือน มิถุนายน 2565 และทำให้ราคาอาหารและพลังงานอยู่ในระดับสูง ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อ (Cost - Push Inflation) ทั่วโลกพุ่งสูง ทองคำบวกรับเงินเฟ้อ

        4. การประชุม ECB ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 โดย นายปาโบล เอร์นันเดซ เดอ โคส ผู้ว่าการธนาคารกลางสเปนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังการประชุมเดือนมิถุนายน และยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่าง Asset Purchase Programme (APP) ในเดือนกรกฎาคม เนื่องจากสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่มีการใช้เงินสกุลยูโร และป้องกันไม่ให้ระดับราคาสินค้าสูงขึ้นเรื่อยๆ

       หากช่วงที่ ECB ยังไม่ยุติมาตรการกระตุ้นและไม่ขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่า ส่งค่าเงินดอลลาร์แข็ง นับเป็นปัจจัยลบต่อราคาทองคำ แต่หาก ECB เริ่มยุติมาตรการกระตุ้นและขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินยูโรจะแข็งขึ้น และกดดันค่าเงินดอลลาร์อ่อน มีโอกาสที่ราคาทองคำจะปรับขึ้น

        5. การประชุม BOE ในวันที่ 16 มิถุนายน 2565 โดยอัตราเงินเฟ้อสหราชอาณาจักรแตะ 9% สูงสุดในรอบ 40 ปี ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา เป็นอีกวันหนึ่งที่ต้องจารึกในประวัติศาสตร์ของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร เพราะดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน เม.ย. แตะ 9% และเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 40 ปี เนื่องจากราคาพลังงานและราคาอาหารปรับขึ้น สร้างปัญหาให้สหราชอาณาจักรทำให้ค่าครองชีพสูง

        จากอัตราเงินเฟ้อสหราชอาณาจักรแตะ 9% ทำให้ปอนด์อ่อนค่า ส่งค่าเงินดอลลาร์แข็ง ปัจจัยที่ต้องจับตา การประชุม BOE วันที่ 16 มิถุนายน 65 เพราะ BOE พยายามขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกดอัตราเงินเฟ้อ โดยเป้าหมายเงินเฟ้อที่ BOE มองไว้ที่ 2% ทำให้การประชุมรอบนี้อาจเห็นการขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% หากการขึ้นดอกเบี้ยแรงๆ จะส่งค่าเงินปอนด์แข็ง และกดดอลลาร์อ่อน แล้วทองคำมีโอกาสรีบาวด์

        นักลงทุนคงได้ทราบกันแล้วว่า 4 ปัจจัยที่นักลงทุนทองคำต้องเจอมีอะไรบ้าง และแนวโน้มราคาทองคำมีทรงเป็น Sideway Down เรากำลังสื่อว่า ราคาทองคำในเดือนมิถุนายนมีโอกาสรีบาวด์แล้วลงต่อ โดยแนวต้านสำคัญคือ 1,935 ดอลลาร์สหรัฐ