WEALTH • PERSONAL FINANCE

แบงก์แนะ SME ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น เร่งหาตลาดใหม่-บริหารต้นทุน

ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น SME ต้องปรับตัวเพื่อลดผลกระทบต่อธุรกิจ กสิกรไทยแนะผู้ประกอบการเตรียมสภาพคล่อง หาตลาดใหม่ ออมสินเผย 6 เทคนิคบริหารต้นทุนและรายได้ EXIM BANK แนะบริหารความเสี่ยงอื่นควบคู่ มองหาทางเลือกในการระดมทุนใหม่

เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 65 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% พร้อมประกาศว่าจะทยอยขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้อัตราดอกเบี้นนโยบายกลับเข้าสู่ระดับปกติ จึงเป็นสัญญาณว่า ไทยกำลังเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งอาจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการ SME ได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการทั้งผู้กู้เก่าและผู้กู้ใหม่ จึงต้องปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากภาวะดังกล่าว

 

กสิกรไทยแนะ SME

หาตลาดใหม่-บริหารต้นทุน


นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ของ SME ในปัจจุบันหลังจากที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว อุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ได้แก่ ธุรกิจที่มุ่งสู่ Net Zero Emissions หรือการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ Sustainability หรือ ESG มากขึ้น และธุรกิจท่องเที่ยว ถือเป็นเซคเตอร์ของประเทศที่กลับมาฟื้นตัว

สำหรับอุตสาหกรรมที่มีความท้าทาย ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การผลิตรถยนต์สันดาปภายใน พลังงานจากฟอสซิล พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง การทำประมงที่ไม่ยั่งยืน การทำเกษตรที่ปล่อยก๊าซมีเทน เป็นต้น 2.อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เนื่องจากอาจเผชิญข้อจำกัดในการจัดหาแรงงานหรือมีต้นทุนค่าจ้างสูงขึ้น และ 3.สินค้าที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น อาหารมีปริมาณโซเดียมสูง น้ำตาลสูง ไขมันสูง

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการต้องเผชิญความเสี่ยงหลายอย่าง เช่น ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดและซับซ้อนขึ้น ทั้งวิกฤติในยูเครน และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับจีน ความเสี่ยงจากโรคระบาดยังมีอยู่ จากโควิดและฝีดาษลิง ในด้านของการปรับตัวเพิ่มขึ้นของต้นทุนและความเสี่ยงจากดอกเบี้ยขาขึ้น

ตลอดจนภาวะโลกรวนที่รุนแรง นอกจากทำให้เกิดความผันผวนของผลผลิตภาคเกษตร ยังเร่งให้ทั่วโลกต้องปรับตัวเพื่อดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ผลักดันธุรกิจสีเขียวให้เติบโตรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบกับส่วนต่างกำไรในการดำเนินธุรกิจ ผ่านราคาวัตถุดิบต่างๆ และต้นทุนผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือยืนตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ในฝั่งรายได้ ผู้ประกอบการก็อาจเผชิญกับสถานการณ์เศรษฐกิจหลักทั่วโลก ที่มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงตามการคุมเข้มนโยบายเพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อ

ดังนั้น ผู้ประกอบการการจะต้องมีการจัดเตรียมสภาพคล่อง การกระจายการจัดหาวัตถุดิบ/ตลาด/ช่องทางการเข้าถึงลูกค้า รวมทั้งผู้ประกอบการที่มีศักยภาพคงต้องพิจารณาวางแผนการลงทุนให้ทันกับบริบทของตลาดทั่วโลกที่จะปรับเปลี่ยนไป

นายกฤษณ์ เปิดเผยว่า จากความท้าทายดังกล่าว ผู้ประกอบการต้องปรับตัวทั้งในเชิงรับและเชิงรุก ทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจ การหาตลาดใหม่ๆ การบริหารจัดการต้นทุน โดยธนาคารพร้อมที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถประคับประคองและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยการสนับสนุนผู้ประกอบการในเชิงรับ ด้วยการลดต้นทุนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือลดยอดผ่อนชำระต่อเดือน 10% เป็นระยะเวลา 12 เดือน เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในช่วงค่าครองชีพสูงขึ้น

 ขณะที่การปรับตัวในเชิงรุกของลูกค้า สำหรับธุรกิจที่ต้องการลงทุนในเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยี (Digital Technology) สิ่งแวดล้อม (Green) และนวัตกรรมแห่งโลกอนาคต (Innovation) ธนาคารก็มีสินเชื่อเพื่อการปรับตัว ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนุนลูกค้าให้ปรับธุรกิจและแข่งขันได้

ธนาคารกสิกรไทย มีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือ และยืนหยัดเคียงข้างลูกค้าธุรกิจ เพื่อให้สามารถผ่านพ้นทุกวิกฤติ และเดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน”

 

ออมสินแนะ 6 เทคนิค

บริหารต้นทุนและรายได้


นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ดอกเบี้ยเปรียบเสมือนต้นทุนของการกู้ยืม ดังนั้น เมื่อมีการขึ้นดอกเบี้ย จึงก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อ SME ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการที่มีสัดส่วนของการเติบโตจากหนี้สินมากเกินไป เมื่อดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นแล้วไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ทันอาจกลายเป็นวิกฤติจนล้มละลายได้ และยิ่งถ้าเป็นบริษัทที่เกี่ยวโยงกับธุรกิจอื่นๆ ในหลายอุตสาหกรรมจะยิ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้างได้

 โดยผู้ประกอบการที่เป็นผู้กู้เดิมต้องจะต้องรับภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ส่งผลให้ผลประกอบการมีกำไรลดลง แต่ทั้งนี้ หากการขึ้นดอกเบี้ยนั้นไปชะลอการจับจ่ายใช้สอยมากเกินไป ก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจถดถอยได้ เมื่อเศรษฐกิจถดถอย ผู้คนก็จะรัดเข็มขัด ประหยัดค่าใช้จ่ายกันมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีหนี้สิน และส่งผลกลับมาที่ผู้ประกอบการจะมีรายได้ลดลงเช่นกัน

ขณะที่ผู้ประกอบการที่ต้องการกู้ใหม่ผู้ประกอบการจะกู้ยืมเงินได้ยากขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้วธุรกิจมักจะเติบโตผ่านการกู้ยืมเงิน เพื่อขยายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมเงินเพื่อไปลงทุนซื้อเครื่องจักรเพิ่ม หรือซื้อกิจการอื่น แต่เมื่อดอกเบี้ยแพงขึ้น กลายเป็นว่า ต้นทุนในการกู้ยืมนั้นสูงขึ้นไปโดยปริยาย ดังนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็อาจชะลอการขยายธุรกิจ หรือเลือกที่จะขยายธุรกิจผ่านช่องทางอื่นที่ไม่จำเป็นต้องกู้เงินแทน

ดังนั้น ผู้ประกอบการทั้งผู้กู้รายเดิมและผุ้กู้รายใหม่ควรหาแนวทางในการบริหารต้นทุนและรายได้ให้เหมาะสมในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ดังนี้

       1. ตรวจสอบค่าใช้จ่ายของกิจการ ต้องประหยัด ตัดค่าใช้จ่ายและสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องใช้ออก แล้วมองหาช่องทางการเพิ่มรายได้ เช่น นำสินค้าออกขายผ่านช่องทางออนไลน์ หรืออื่นๆ

        2. กลุ่มธุรกิจที่จะต้องเริ่มการลงทุนต้องศึกษามาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องของแนวโน้มการเติบโต ความต้องการของตลาด หากยังไม่ตอบโจทย์อาจจะต้องดูเรื่องของการชะลอการลงทุนออกไปก่อน และธุรกิจประเภทไหนที่ประสบกับภาวะขาดทุนซ้ำซาก ควรต้องมีการหยุดการลงทุน

        3. เตรียมเงินทุนสำรอง หากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ทำให้ธุรกิจยังคงสามารถดำเนินกิจการได้ หรือหากผลประกอบการของกิจการยังมีผลกำไร อาจจะเก็บสำรองเงินสดบางส่วนเอาไว้ หากในอนาคตมีโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจก็จะสามารถลงทุนได้ โดยไม่ต้องไปกู้ยืมเงินในอนาคต ซึ่งอาจมีต้นทุนดอกเบี้ยสูงกว่า

        4. กลุ่มผู้ผลิตและนักธุรกิจต่างๆ ต้องคิดหาสินค้าและบริการใหม่ออกมาสู่ท้องตลาด เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้

        5. นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้ เพื่อให้เกิดการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน แปรรูปสินค้ารูปแบบใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า

        6. ต้องวางแผนการเติบโต โดยสิ่งที่ต้องทำควบคู่คือแผนบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อรองรับเหตุไม่คาดฝัน

นายวิทัยเปิดเผยว่า จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จาก 0.50% ต่อปี เป็น 0.75% ต่อปี สำหรับลูกค้าสินเชื่อ ธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือโดยจะยังตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ (MLR, MOR และ MRR) ไว้ให้นานที่สุด เพื่อชะลอผลกระทบต่อลูกค้ารายย่อย ผู้ประกอบการ SMEs และกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล และกระทรวงการคลัง ที่มอบหมายสถาบันการเงินของรัฐตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ก่อน

นอกจากนี้ ธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือการฟื้นตัวในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) Re-Open ธุรกิจโรงแรมและ Supply Chain วงเงิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นสินเชื่อเพื่อสนับสนุนเงินทุนแก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม และผู้ประกอบการธุรกิจ Supply Chain ในการปรับปรุงซ่อมแซมสถานประกอบการ รวมถึงการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติที่จะกลับมาท่องเที่ยวประเทศไทยอีกครั้ง

ธนาคารออมสินจะพยายามตรึงดอกเบี้ยต่ำให้ได้นานที่สุด แม้ดอกเบี้ยในระบบจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น หรืออาจเป็นธนาคารที่ขึ้นช้าที่สุดของตลาด หรืออาจเป็นธนาคารที่ขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่น้อยที่สุด หากเทียบกับทั้งระบบ เพราะภารกิจของธนาคารออมสิน คือ การช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเป็นพันธกิจที่รับมาจากรัฐบาลเพื่อดูแลประชาชน”

 

EXIM BANK เผย SME ผู้กู้ใหม่

อาจเผชิญต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น


ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า หลังจากที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว ผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะภาคส่งออกได้รับผลดีจากหลายปัจจัยสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเงินบาทอ่อนค่า สถานการณ์ COVID-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ความต้องการอาหารจากทั่วโลกที่สูงขึ้นจากความกังวลเรื่องสงครามและวิกฤติอาหาร

 ขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวของหลายประเทศ รวมถึงไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการสินค้าหลายชนิดเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ อาทิ สินค้าที่ตอบโจทย์ความกังวลเรื่องสงครามและวิกฤติอาหาร เช่น ข้าว น้ำมันปาล์ม น้ำตาลทราย และไก่

 รวมไปถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น เสื้อผ้า เคหะสิ่งทอ เครื่องใช้ในโรงแรม และเครื่องใช้สำหรับการเดินทาง สินค้าที่ได้ผลดีจากเงินบาทอ่อนค่า อย่างสินค้าที่ใช้ปัจจัยการผลิตในประเทศเป็นส่วนใหญ่ เช่น น้ำตาลทราย และเครื่องใช้ในบ้าน และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับกระแส Green Digital และ Health (GDH) ซึ่งเป็นกระแสหลักของโลกในยุคปัจจุบัน อาทิ บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และอาหารเพื่อสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลง ประกอบภาวะเงินเฟ้อสูงทั่วโลก ซึ่งมีผลให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของการส่งออกบางสินค้า อาทิ สินค้าฟุ่มเฟือยอย่างเครื่องประดับราคาสูง

ขณะที่เครื่องประดับเงิน ซึ่งราคาไม่สูงมากนัก ยังมีแนวโน้มได้รับความนิยม นอกจากนี้ บางสินค้ามีปัญหาในการฟื้นตัว เนื่องจากประสบปัญหาปัจจัยการผลิต เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ยังไม่สามารถขยายกำลังการผลิตได้เต็มที่นัก จนกว่าปัญหาชิปขาดแคลนจะคลี่คลายลง

ดร.รักษ์เปิดเผยต่อว่า หลังจาก กนง.มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี จาก 0.50% เป็น 0.75% และมีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ายุคอัตราดอกเบี้ยต่ำกำลังจะหมดลง

 ทั้งนี้ แน่นอนว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ขนาดของผลกระทบอาจแตกต่างกันไปในแต่ละธุรกิจ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุน ตลอดจนเงื่อนไขในการกู้เงินที่แตกต่างกันออกไป

โดยผู้ประกอบการที่เป็นผู้กู้เดิมที่ได้รับเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยคงที่ในช่วงปีแรกๆ อาจยังไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากภาระในการผ่อนชำระยังคงเท่าเดิม แต่แน่นอนว่าในระยะถัดไปหากอัตราดอกเบี้ยขยับขึ้นทั้งกระดาน ผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบจากภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น รวมถึงระยะเวลาการผ่อนชำระที่อาจต้องขยายออกไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่อาจมีข้อจำกัดในการบริหารต้นทุน รวมถึงมีอำนาจในการต่อรองเงื่อนไขการกู้เงินกับสถาบันการเงินน้อยกว่า

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการกู้ใหม่อาจเผชิญกับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นในทันที ทั้งจากการขอสินเชื่อผ่านสถาบันการเงิน และการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ ทำให้ผู้ประกอบการอาจชะลอแผนการลงทุน รวมถึงอาจต้องกลับมาประเมินความเป็นไปได้ของโครงการลงทุน (Feasibility Study) ใหม่เพื่อรองรับกับภาระทางการเงินที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ผู้ประกอบการจะเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นในการขอกู้ เนื่องจากสถาบันการเงินจะมีเกณฑ์การพิจารณาที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อลดโอกาสเกิดหนี้เสีย (NPLs) ในอนาคต โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่มีหลักประกันไม่เพียงพอและมีฐานะทางการเงินเปราะบาง”

 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจระหว่างประเทศยังต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของคู่ค้าที่อาจเพิ่มขึ้น จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศที่อยู่ในทิศทางขาขึ้นเช่นกัน ขณะเดียวกันก็ต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอีกด้วย

 

แนะบริหารความเสี่ยงอื่นควบคู่

ลดผลกระทบต้นทุนทางการเงิน

ดร.รักษ์ ได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นผู้กู้เดิม โดยควรให้ความสำคัญกับการบริหารสภาพคล่อง และสำรวจสถานะทางการเงินของตนเองอย่างสม่ำเสมอว่า รายได้เพียงพอกับรายจ่าย และเพียงพอกับการชำระคืนหนี้หรือไม่ หากไม่เพียงพอ ต้องรีบปรึกษาสถาบันการเงิน เพื่อปรับงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ตลอดจนอาจเจรจาขยายระยะเวลาการชำระหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ที่สำคัญ ผู้ประกอบการควรจัดลำดับความสำคัญของแผนการใช้เงิน โดยกู้เท่าที่จำเป็น และควรวางแผนในการกันสภาพคล่องไว้ส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน

ขณะที่ผู้ประกอบการที่ต้องการกู้ใหม่อาจเริ่มจากการเตรียมตนเองให้พร้อม ทั้งในด้านการเงิน หลักประกัน และแผนการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และสร้างอำนาจต่อรองกับสถาบันการเงิน โดยเฉพาะในเรื่องอัตราดอกเบี้ย

รวมถึงต้องไม่ลืมเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงินจากสถาบันการเงินหลายๆ แห่งเพื่อเปรียบเทียบเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้เหมาะสมกับแผนธุรกิจของตน รวมไปถึงผู้ประกอบการอาจมองหาทางเลือกในการระดมทุนใหม่ๆ มากขึ้น อาทิ การออกหุ้นกู้ รวมไปถึงการระดมทุนผ่าน Alternative Finance อื่นๆ อย่างเช่น Crowd Funding Digital Lending เป็นต้น

ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ผู้ประกอบการควรบริหารความเสี่ยงอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย เพื่อที่จะไม่ไปซ้ำเติมภาระต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ทั้งการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนผ่านการทำ Forward Contract หรือ Options รวมไปถึงการทำประกันการส่งออกเพื่อลดความเสียหายหากคู่ค้าในต่างประเทศผิดนัดชำระค่าสินค้า”

ดร.รักษ์เปิดเผยว่า EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่มีภารกิจขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทย พร้อมเคียงข้างผู้ประกอบการในทุกสถานการณ์ ล่าสุด EXIM BANK ก็เป็นธนาคารแห่งแรกๆ ที่ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ให้นานที่สุดเพื่อช่วยบรรเทาภาระของผู้ประกอบการด้วยอัตรา Prime Rate ที่ 5.75% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ

รวมทั้งมีการพัฒนาโปรโมชั่นดอกเบี้ยพิเศษต่ำกว่า Prime Rate อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ท่ามกลางปัจจัยท้าทายหลายประการ นอกจากนี้ EXIM BANK ยังมุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพิ่ม Value-added ให้กับสินค้า รวมถึงขยายตลาดออกไปสู่เวทีโลกมากขึ้น ด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ครบวงจรตลอดทั้ง Supply Chain ซึ่งจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับ Ecosystem และช่วยผลักดันให้การค้าการลงทุนของไทยเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ยังมีผล

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเอสเอ็มอี โดยผลักดันปรับโครงสร้างหนี้เดิม และเติมเงินใหม่ให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงมีมาตรการใหม่เพิ่มเติมเพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยที่ยังเปราะบาง ดังนี้

       1. มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ โครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะกลุ่มที่รายได้ขาดหาย ไม่พอชำระหนี้และค่าใช้จ่ายหมุนเวียนต่างๆ แต่ยังมีศักยภาพและมีความตั้งใจในการรักษาธุรกิจ

       ความคืบหน้า : มูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอน 51,923.00 ลบ. ณ วันที่ 22 ส.ค.2565 จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 376 ราย

       ระยะเวลา : ให้สิทธิซื้อคืนภายในระยะเวลาที่ตกลงไว้จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2566

     

        2. มาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) เพื่อรองรับการฟื้นตัวและการปรับตัวของธุรกิจ โดย ธปท.จะให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน เพื่อนำไปให้กู้ยืมแก่ผู้ประกอบธุรกิจต่อ ซึ่งจะช่วยประคับประคองและฟื้นฟูให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ รักษาระดับการจ้างงาน และช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สามารถขอวงเงินสินเชื่อฟื้นฟูที่มีอายุไม่เกิน 5 ปี วงเงินรวมของสินเชื่อฟื้นฟู 250,000 ล้านบาท

       ความคืบหน้า : จำนวนผู้ขอเข้ามาตรการ 55,458 ราย วงเงินรวม 186,789 ล้านบาท (ณ 22 ส.ค. 65) ซึ่งจะสามารถใช้เม็ดเงินที่เหลืออยู่ได้จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2566

     

       3. มาตรการแก้หนี้ระยะยาว ช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนแก่ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนไปจนถึงสิ้นปี 2566 ภายใต้หลักการ

           (1) มองสถานการณ์ระยะยาว โดยกำหนดการจ่ายคืนหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ปัจจุบันที่ลดลงมากและทยอยจ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้กลับมา

           (2) สามารถช่วยลูกหนี้จำนวนมากได้เร็ว

          (3) ตรงจุดให้เหมาะกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละรายที่มีปัญหาและการฟื้นตัวต่างกัน โดยแต่ละธนาคารจะพิจารณาความช่วยเหลือตามความเหมาะสม

          (4) เป็นธรรมกับทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายผ่านความยากลำบากไปด้วยกัน