WEALTH • PERSONAL FINANCE

แบงก์แนะใช้เครื่องมือ ป้องกันความเสี่ยงค่าเงินผันผวน

แบงก์แนะนำผู้ประกอบการรับมือความเสี่ยงจากสถานการณ์ค่าเงินผันผวน KBank เผยควรปรับกลยุทธ์ตั้งราคา EXIM BANK เตือนอย่าเก็งกำไร ให้ใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง

จากสถานการณ์เศรษฐกิจของโลก และปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนสูงที่ส่งผลมายังเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่มนำเข้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบในด้านค่าเงินที่มีความผัน ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรเตรียมพร้อมรับมือและบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

KBank แนะกลยุทธ์

รับมือค่าเงินผันผวน

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBank) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ตลาดเงินทั่วทั้งโลกผันผวนเป็นอย่างมาก ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิด-19 สงครามรัสเซียยูเครน และการปิดเมืองของจีน ทำให้เกิดภาวะอุปทานไม่เพียงพอต่ออุปสงค์

ในขณะที่การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและธนาคารกลางในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ประกอบกับความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศเศรษฐกิจสำคัญ กระทบต่อค่าเงินทั่วโลก รวมถึงค่าเงินบาทไทย และส่งผลต่อเนื่องต่อสู่ภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก ซึ่งมีภาระการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราในสกุลเงินต่างประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ เหล็กและโลหะ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี และอาหาร เป็นต้น

สำหรับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องสินค้าโภคภัณฑ์ มีแนวโน้มเผชิญกับราคาสินค้าที่ผันผวนหนัก จากความกังวลอุปทานจะไม่เพียงพอ และมีแนวโน้มได้รับผลกระทบสูงกว่าในภาคส่วนอื่น ด้วยเหตุที่สินค้าโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่ทำการซื้อขายกันในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับอุตสาหกรรมอาหารกำลังเป็นที่จับตามองจากความกังวลต่อการขาดแคลนอาหารที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น หลังการปะทุของสงครามรัสเซียยูเครน

โดยรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ แต่เกิดปัญหาการแบนรัสเซีย และท่าเรือยูเครนถูกปิด ในขณะที่อินเดียห้ามส่งออกข้าวสาลีและน้ำตาล มาเลเซียห้ามส่งออกไก่ จากปัญหาไข้หวัดนกระบาด และอีกกว่า 30 ประเทศที่เริ่มจำกัดการส่งออกอาหาร เพื่อความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ ท่ามกลางสภาพอากาศโลกที่แปรปรวนทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงด้วย

นอกจากนี้ นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศยังเป็นอีกส่วนที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดเงินและค่าเงิน ท่ามกลางต้นทุนการทำธุรกรรมที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารต่างๆ ทั่วโลก ส่งผลให้นักลงทุนต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้นในการทำธุรกรรมในสกุลเงินต่างประเทศ รวมถึงคำนวณความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนประกอบการลงทุนด้วย

“ความผันผวนของค่าเงินเป็นสิ่งที่เตรียมรับมือได้ โดยการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างเหมาะสมกับธุรกิจ เพื่อปิดหรือลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินและตลาดเงินโดยรวม และควรมีการปรับกลยุทธ์การตั้งราคาขายสินค้าหรือการกำหนดต้นทุนสินค้า โดยการเผื่อค่าความผันผวนของค่าเงินให้มากขึ้นตามสถานการณ์ในตลาดโลก”

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการอาจใช้สัดส่วนของการปิดความเสี่ยงโดยการใช้เครื่องมือผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ สูงขึ้นตามความผันผวนของค่าเงินเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงทุกขณะ โดยติดตามข่าวสารและสถานการณ์ให้ตลาดโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะปรับตัวหรือปรับกลยุทธ์ให้ทันกับการเคลื่อนไหวของตลาด และสามารถดำรงความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลกได้

ทั้งนี้ จากความผันผวนในตลาดเงินและค่าเงินบาทในช่วงนี้ ธนาคารกสิกรไทยติดตามอย่างใกล้ชิด และจัดทำบทวิเคราะห์และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเข้าทำธุรกรรมต่อลูกค้าอย่างต่อเนื่องทันสถานการณ์ ผ่านบทวิเคราะห์รายวันและบทวิเคราะห์เชิงลึกของงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน (ติดตามได้ที่ https://www.kasikornbank.com/TH/business/Foreign-Exchange-Market/Pages/Market-Watch.aspx) รวมถึงมีการจัดงานสัมมนาเพื่อให้ความรู้ถึงภาพรวมเศรษฐกิจและแนวโน้มทิศทางการเคลื่อนไหวของตลาดอย่างต่อเนื่อง และมีการแนะนำเครื่องมือที่ใช้ลดความเสี่ยงต่อที่เหมาะสมต่อผู้ประกอบการแต่ละราย

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้มีการจัดงานสัมมนาเพื่อให้ความรู้ แลกเปลี่ยนความคิด รวมถึงการอัพเดทกฏระเบียบปฏิบัติของทางธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้สะดวกขึ้นภายในกฏเกณฑ์ที่ถูกต้อง

 

EXIM BANK เตือนอย่าเก็งกำไรค่าเงิน

แนะใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ความผันผวนของค่าเงินเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันอย่างต่อเนื่องในแวดวงการค้าระหว่างประเทศ โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน (มีนาคม-กุมภาพันธ์ 2565) ค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าประมาณ 3% แต่หลังจากเกิดสงคราม (มีนาคม-ปัจจุบัน) ค่าเงินบาทกลับมีทิศทางอ่อนค่าลงราว 7%

 โดยสะท้อนให้เห็นว่า ทิศทางค่าเงินบาทในปัจจุบันมีความผันผวนสูง และยากที่จะคาดการณ์ โดยในระยะสั้น แม้เงินบาทที่อ่อนค่า จะทำให้ผู้ส่งออกในหลายอุตสาหกรรมได้ประโยชน์จากราคาสินค้าส่งออกของไทยที่ถูกลง ตลอดจนรายได้ของผู้ส่งออกในรูปเงินบาทที่จะเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้ส่งออกในบางอุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบในสัดส่วนที่สูง อาทิ เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ซึ่งจะได้รับผลกระทบผ่านต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบที่จะเพิ่มขึ้นและกระทบต่อ Margin ของผู้ส่งออกเหล่านี้อยู่ไม่น้อย นอกเหนือจากปัญหา Supply Chain Disruption ที่ต้องเผชิญอยู่

“หากมองไปในช่วงที่เหลือของปี จะเห็นว่า การที่สถานการณ์เศรษฐกิจ การเงิน และการเมืองระหว่างประเทศที่ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนสูง ทำให้การคาดการณ์ทิศทางค่าเงินบาททำได้ยากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกก็ไม่ควรนิ่งนอนใจในช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า และควรหลีกเลี่ยงการเก็งกำไรค่าเงินในทุกกรณี เพราะไม่สามารถทราบได้เลยว่า ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าไปนานแค่ไหน หรืออาจกลับมาแข็งค่าเมื่อไร ซึ่งถ้าหากเราคาดการณ์ผิดทาง ผลเสียที่เกิดขึ้นจะมากกว่าอย่างแน่นอน”

ดร.รักษ์เปิดเผยต่อว่า นอกเหนือจากการหลีกเลี่ยงการเก็งกำไรค่าเงินแล้ว สิ่งที่ผู้ส่งออกต้องทำควบคู่กันไปคือ การใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเคร่งครัด

 โดย ผู้ส่งออกที่มีประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญ ในเรื่องการบริหารราบรับและรายจ่ายในสกุลเงินตราต่างประเทศอาจสามารถป้องกันความเสี่ยงค่าเงินด้วยตนเองผ่านการเปิดบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit : FCD)

ตลอดจนการ Matching รายรับและรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศ รวมไปถึงการใช้เงินตราต่างประเทศที่หลากหลายสกุลในการซื้อขายนอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาเงินเพียงสกุลเดียว

สำหรับ ผู้ส่งออกที่เพิ่งเริ่มทำการค้าขายระหว่างประเทศ หรือยังไม่มีความชำนาญมากนักโดยเฉพาะผู้ส่งออก SMEs ที่มีความอ่อนไหวต่อความผันผวนของค่าเงินสูง และส่วนใหญ่ราว 70% ยังไม่ใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ต้องปรับ Mindset และหันมาใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงผ่านบริการของสถาบันการเงิน

 โดยเฉพาะการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) ที่จะช่วยให้ผู้ส่งออกสามารถล็อกอัตราแลกเปลี่ยนได้ในวันที่ได้รับคำสั่งซื้อ โดยไม่ต้องกังวลกับทิศทางค่าเงินในอนาคต และสามารถรับรู้รายได้และกำไรที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ จะช่วยให้ผู้ส่งออกสามารถใช้เวลาที่เหลือมาวางแผนการดำเนินธุรกิจ ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อยกระดับสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐานและถูกใจผู้บริโภคในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเป็นกันชนในช่วงที่ค่าเงินเกิดความผันผวนได้ดีขึ้น

ดร.รักษ์เปิดเผยว่า EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทยที่มีภารกิจสนับสนุนการส่งออกและการลงทุนของนักลงทุนในต่างประเทศ พร้อมสนับสนุนและสร้าง Ecosystem สำหรับผู้ส่งออกในการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างครบวงจรตั้งแต่การอบรมให้ความรู้ด้านอัตราแลกเปลี่ยนและวิธีการป้องกันความเสี่ยงผ่านศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXIM Excellence Academy : EXAC)

ตลอดจนการให้บริการเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง โดยเฉพาะ Forward Contract ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับมาตรฐานสินค้าผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่าง EXIM BIZ Transformation Loan ซึ่งจะช่วยเพิ่ม Margin และสร้างอำนาจต่อรองให้กับผู้ส่งออกในทุกสภาวะของค่าเงิน

 

ธปท.ผ่อนเกณฑ์ FX regulatory framework

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (FX regulatory framework) เพื่อทำให้เกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินของประเทศมีความสมดุลมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศและบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้สะดวกยิ่งขึ้น มีผลตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. 65 เป็นต้นไป โดยมีสาระสำคัญดังนี้

       1. โอนเงินตราต่างประเทศ (FX) ออกไปยังต่างประเทศได้เสรีขึ้น และชำระ FX ในประเทศได้ตามความจำเป็น โดย (1) ให้สามารถโอน FX ออกไปต่างประเทศได้ตามภาระที่มี ยกเว้นเพียงธุรกรรมที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพการเงินอย่างมีนัยสำคัญ (2) ยกเลิกการมีวงเงินโอน FX ออก โดยให้เหลือเฉพาะวงเงินของการส่งเงินให้เปล่าแก่บุคคลในต่างประเทศได้ไม่เกิน 50,000 ดอลลาร์ สรอ. ต่อปี และ (3) นิติบุคคลสามารถซื้อ FX เพื่อชำระในประเทศได้ตามความจำเป็น ดยไม่ต้องขออนุญาต

         2. ขยายขอบเขตการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้กว้างขึ้น โดยผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องมีความเสี่ยงจากการมีรายรับรายจ่ายสกุล FX กับต่างประเทศโดยตรงเท่านั้น แต่สามารถรวมความเสี่ยง FX อื่นๆ ที่ไม่ใช่ทางตรงได้ด้วย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะสามารถใช้ประมาณการรายรับรายจ่ายสกุล FX ในอนาคต และความเสี่ยง FX ของกิจการในเครือมาป้องกันความเสี่ยงได้

        3. ไม่ต้องแสดงเอกสารการทำธุรกรรม FX หากธนาคารเข้าใจลักษณะธุรกิจและความเสี่ยง FX ของลูกค้าอยู่แล้ว เช่น กลุ่มที่มีวงเงิน FX หรือมีธุรกรรมต่างๆ กับธนาคารอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ในระยะถัดไป ธปท.มีแผนที่จะปรับ FX service provider landscape ผ่านการปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการธุรกรรม FX ที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-bank) เช่น Money Changer (MC) และ Money Transfer (MT) เพื่อให้ลูกค้ารายย่อยและ SMEs เข้าถึงบริการ FX ได้สะดวกขึ้น และช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรม โดยมีแนวทางเบื้องต้น ได้แก่

             (1) ขยายขอบเขตการให้บริการ FX ของ non-bank ในปัจจุบัน เช่น ให้ทำธุรกรรมได้หลากหลายวัตถุประสงค์ขึ้น

             (2) ขยายขอบเขตของใบอนุญาตให้รองรับบริการรูปแบบใหม่ เช่น ซื้อขาย FX ผ่าน Platform

              (3) ปรับแนวทางการอนุญาต non-bank ในการให้บริการธุรกรรม FX ให้ยืดหยุ่นขึ้น ซึ่งจะเอื้อให้ on-bank สามารถให้บริการได้หลากหลายและปรับเปลี่ยนธุรกิจได้คล่องตัวยิ่งขึ้น