WEALTH • PERSONAL FINANCE

แบงก์แนะเทคนิคผู้กู้บ้าน ดอกเบี้ยขาขึ้นควรปรับตัวอย่างไร

แบงก์แนะเทคนิคผู้กู้บ้านรับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น KBank แนะขอปรับค่างวดหากค่าใช้จ่ายตึงตัว ออมสินแนะผู้กู้ใหม่เตรียมเงินดาวน์เพิ่ม ด้าน ธอส. แนะพิจารณาอัตราดอกเบี้ยก่อนกู้

 จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เริ่มส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน สถาบันการเงินอาจมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นโดยอาจทำให้กระทบต่อค่าเงินงวดเดิมให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ผู้กู้จึงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถผ่อนชำระค่างวดต่อได้แบบไม่สะดุด

 

KBank เน้นดอกเบี้ยลอยตัว

แนะขอปรับค่างวดหากตึงไป

นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 แนวโน้มราคาอสังหาริมทรัพย์ จะปรับสูงขึ้นอันเนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ราคาน้ำมัน และต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวเพิ่มต่อเนื่องจากผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งอาจกระทบต่อค่าครองชีพของผู้บริโภค

“คาดว่าภาพรวมตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 จะอยู่ในช่วงฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยสำคัญที่ยังต้องอาศัยการร่วมมือกันจากทั้ง สถาบันการเงิน ผู้ประกอบการ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และภาครัฐ ที่จะช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น แคมเปญการตลาดต่างๆ รวมถึงมาตราการจากภาครัฐ เช่น การลดหย่อนภาษีบ้านหลังแรก การขยายมาตรการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์ ค่าจดจำนองที่อยู่อาศัย และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ”

สำหรับทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารจากสถานการณ์ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารมีแนวโน้มที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารให้เหมาะสมและสอดคล้องกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นด้วย

“ปัจจุบันธนาคารกำหนดอัตราดอกเบี้ยแคมเปญสินเชื่อบ้านเป็นแบบลอยตัว โดยใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง MRR การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง MRR ของธนาคารอาจจะส่งผลทำให้อัตราดอกเบี้ยแคมเปญปรับสูงขึ้นด้วย”

นายกฤษณ์เปิดเผยว่า สำหรับผู้กู้เดิมเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น จะทำให้มีภาระที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ถ้าค่างวดไม่เพียงพอที่จะจ่ายอัตราดอกเบี้ย อาจจะทำให้เกิดดอกเบี้ยสะสม ซึ่งส่งผลให้ต้องชำระสินเชื่อยาวนานกว่าระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาเงินกู้

อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ไขธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาติดต่อลูกค้าเพื่อแจ้งลูกค้าให้ทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยแนะนำทางเลือกให้ลูกค้าปรับยอดผ่อนชำระเพื่อให้รองรับภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถผ่อนชำระสินเชื่อได้หมดตามที่ระบุไว้ในสัญญาเงินกู้

สำหรับผู้กู้ใหม่เมื่อดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลให้ยอดผ่อนชำระต่อเดือนสูงขึ้น เช่น อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 1% กรณีวงเงินสินเชื่อบ้าน 1 ล้านบาท ระยะเวลากู้ 20 ปี จะมียอดผ่อนชำระเพิ่มขึ้น ประมาณ 600 บาท ต่อเดือน ซึ่งอาจจะทำให้ลูกค้าใช้เวลาในการตัดสินใจยื่นขอกู้นานขึ้น เพราะผู้กู้จะประเมินผลกระทบต่อรายได้และค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น หากกู้ไปแล้วลูกค้าจะมีภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และจะลดเงินต้นได้น้อยลง

ทั้งนี้ ผู้กู้ใหม่ควรคำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายต่างๆของตนเอง และพิจารณาความสามารถในการผ่อนชำระในแต่ละเดือน กรณียอดผ่อนเพิ่มขึ้นจากการปรับดอกเบี้ยของสถาบันเงินในแต่ละครั้งร่วมด้วย

 

ธอส.มองสินเชื่อบ้าน

ปี 2565 ยังขยายตัวได้

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า แนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่เหลือของปี 2565 มีสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก เป็นผลมาจากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวลดลง และมีการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เพื่อระบายสต๊อกที่มีอยู่

 ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (LTV) 100% และมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือประเภทละ 0.01% สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท รวมถึงสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เริ่มทยอยเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ คาดการณ์ว่า ในปี 2565 การเปิดขายโครงการใหม่จะมีจำนวน 83,608 หน่วย เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 62.2%

ทั้งนี้ จากปัจจัยข้างต้นจะเป็นอานิสงค์บวกทำให้การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2565ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของ ธอส. ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้สูงถึง 134,998 ล้านบาท 106,067 บัญชี เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 27.08% นับเป็นการปล่อยสินเชื่อในช่วงครึ่งปีแรกของปีที่สูงสุดในประวัติการณ์

ดังนั้น จึงเชื่อว่าแรงส่งดังกล่าวจะต่อเนื่อง ทำให้การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ยังคงขยายตัวได้ต่อไป จึงมั่นใจว่าในปี 2565 ธนาคารจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 226,423 ล้านบาท โดยจะสามารถปล่อยได้ไม่น้อยกว่า 280,000 ล้านบาท

 

ตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ถึงสิ้นปี 65

แนะ 3 เทคนิคผู้กู้ใหม่ควรรู้

นายฉัตรชัย เปิดเผยต่อว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 โดยคาดว่าจะปรับขึ้นในการประชุมวันที่ 10 สิงหาคม 2565 เท่ากับ 0.25% ต่อปี สอดรับกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่จะมีการประชุมครั้งต่อไปวันที่ 26-27 กรกฎาคม 2565 ส่งผลให้สถาบันการเงินต่างๆ ต้องทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามไปด้วย

“ธอส.พร้อมช่วยเหลือลูกค้าไม่ให้ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้น ด้วยการบริหารจัดการเพื่อตรึงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารไว้ให้ได้ถึงสิ้นปี 2565 นี้ ทำให้เงินงวดผ่อนชำระของลูกค้า ธอส. ไม่ได้รับผลกระทบตามไปด้วย”

ขณะเดียวกัน ธอส.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้กับลูกค้าซึ่งก็จะทำให้กระทบต่อต้นทุนบริหารจัดการของ ธอส.ประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ไปจะไม่เห็นโปรโมชั่นสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่แบบเป็นตัวเลขอีกต่อไปจะมีแต่โปรโมชั่นอัตราดอกเบี้ยคงที่แบบ MRR- เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการต้นทุนด้านอัตราดอกเบี้ยของธนาคารในภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนของ ธอส.มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำคงที่ 1.99% ต่อปี นานสูงสุด 4 ปี ที่เป็นตัวเลือกที่ดีให้กับลูกค้าในสถานการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะลูกค้าจะไม่ต้องกังวลกับอัตราดอกเบี้ยที่จะเพิ่มสูงขึ้นจะกระทบต่อเงินงวดและสามารถวางแผนการผ่อนชำระเงินงวดในระดับเดิมได้นานสูงสุดถึง 84 งวด

นายฉัตรชัยเปิดเผยต่อว่า หากในเดือนสิงหาคม 2565 กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยประมาณ 0.25% ต่อปี ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ จะปรับขึ้นเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้อยู่ในระดับเดิมต่อไปให้นานที่สุด

โดยจะมีการพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 เพื่อให้ลูกค้าไม่ได้รับผลกระทบจากการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในทันที และมีเวลาในการปรับตัวรับภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทั้งนี้ หากธนาคารปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จริง เงินงวดของลูกค้าจะปรับขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับโครงการหรือผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ลูกค้าแต่ละรายใช้บริการอยู่ อาทิ

      กรณีที่ 1 ลูกค้าใช้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อโครงการบ้านล้านหลัง หรือโครงการ/ผลิตภัณฑ์สินเชื่ออื่นๆ ที่ผ่อนชำระในช่วงโปรโมชั่นอัตราดอกเบี้ยพิเศษคงที่ ตามระยะเวลาที่ธนาคารกำหนด จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ โดยอัตราดอกเบี้ยและเงินงวดจะอยู่เท่าเดิมตามโปรโมชั่นอัตราดอกเบี้ยคงที่ๆ กำหนดในสัญญาเงินกู้ของโปรโมชั่นอัตราดอกเบี้ยพิเศษในแต่ละโครงการ/ผลิตภัณฑ์

      กรณีที่ 2 เป็นลูกค้าสินเชื่อโครงการ/ผลิตภัณฑ์ที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย MRR ในช่วงโปรโมชั่น หรือกลุ่มที่พ้นช่วงโปรโมชั่นอัตราดอกเบี้ยพิเศษ (ช่วงดอกเบี้ยลอยตัว) อัตราดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้นตาม MRR ที่ธนาคารประกาศ

ขณะที่หากเงินงวดที่ลูกค้าชำระยังเพียงพอตัดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยในแต่ละเดือน เงินงวดจะยังไม่ปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากธนาคารได้ออกแบบโครงการ/ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ โดยกำหนดเงินงวดให้มีจำนวนที่ครอบคลุมกรณีดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นในอนาคตไว้จำนวนหนึ่งแล้ว

“หาก กนง.ปรับขึ้น 0.25% ต่อปี ธอส.จะปรับขึ้นเพียง 0.125% ต่อปี และการปรับขึ้นจะยังไม่ส่งผลกระทบให้ลูกค้าปัจจุบันต้องชำระเงินงวดเพิ่มขึ้นในทันที เพราะผลิตภัณฑ์สินเชื่อของ ธอส. ได้มีการทำ Buffer ให้เงินงวดครอบคลุมการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 0.50% ไว้อยู่แล้ว”

ทั้งนี้ หากในอนาคตอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น จนถึงในระดับที่ทำให้เงินงวดผ่อนชำระของลูกค้าไม่เพียงพอตัดชำระดอกเบี้ยในแต่ละเดือนธนาคารจะแจ้งเงินงวดใหม่ให้ลูกค้าล่วงหน้าเพื่อให้ลูกค้าได้รับทราบและวางแผนการผ่อนชำระได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการกู้สินเชื่อบ้านในปัจจุบัน โดยต้องพิจารณาใน 3 เรื่อง ได้แก่

       1. ต้องมีความมั่นคงเนื่องจากสินเชื่อบ้านเป็นสินเชื่อระยะยาวซึ่งในการกู้สินเชื่อระยะยาวต้องแข็งแรงพอที่จะผ่อนต่อไปได้ในอนาคต

       2. ในภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นต้องพิจารณาอัตราดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารว่าเป็นในลักษณะใด เช่น หากเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวเมื่ออยู่ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น อาจทำให้กระทบกับความสามารถในการชำระคืนได้

        3. ต้องพิจารณาบ้านที่พอเหมาะกับความสามารถในการผ่อนเพราะหนี้บ้านเป็นหนี้ระยะยาว

 

ออมสินมองผู้กู้เก่าไม่กระทบมาก

แนะผู้กู้ใหม่เตรียมเงินดาวน์เพิ่ม

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า จากทิศทางดอกเบี้ยที่มีการคาดการณ์กันว่า จะมีการปรับขึ้น ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง จนมีการคาดการณ์กันว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในปีนี้

โดยส่งผลให้สถาบันการเงินต่างๆ มีการปรับอัตราดอกเบี้ย รวมถึงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน จากอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่เป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว เพื่อลดความเสี่ยงจากต้นทุนธนาคารที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้น และมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ส่งผลให้มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินงวดผ่อนชำระที่สูงขึ้น จนอาจทำให้กระทบกับผู้กู้รายใหม่ที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจซื้อบ้าน หรือมีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัย

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่อนคลายลง ทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น ขณะที่มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ เช่น มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง รวมถึงมาตรการผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัย เป็นปัจจัยบวกในการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์

สำหรับธนาคารออมสินนั้น รอดูความชัดเจนจาก กนง. ประเมินผลกระทบในทุกด้าน โดยนโยบายของธนาคารออมสินจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยต่ำให้ได้นานที่สุด ถ้าปรับขึ้นก็จะขึ้นช้าที่สุดและปรับขึ้นในอัตราที่น้อยที่สุด เพื่อช่วยเหลือและลดภาระของผู้กู้ให้กระทบน้อยที่สุด

ทั้งนี้ หากดอกเบี้ยมีการปรับขึ้นไม่สูงมาก ก็จะไม่กระทบต่อเงินงวด แต่อาจทำให้ระยะเวลาในการผ่อนชำระนานขึ้น เนื่องจากเงินงวดที่ผ่อนชำระแต่ละงวดจะถูกตัดในส่วนของดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และจะไปตัดในส่วนของเงินต้นลดลง ซึ่งการผ่อนชำระของผู้กู้รายเก่าจะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่ยังผ่อนชำระในอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ จำนวนเงินงวดที่ผ่อนชำระยังคงเท่าเดิม แต่ถ้าผู้กู้มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ธนาคารจะมีมาตรการช่วยแบ่งเบาภาระหนี้

ส่วนผลกระทบต่อผู้กู้ใหม่ในภาพรวมอาจเกิดการชะลอตัวการซื้อบ้าน และบางส่วนอาจไม่ผ่านเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อ เนื่องจากความสามารถในการชำระหนี้ไม่เพียงพอจากเงินงวดรายเดือนที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม แนะนำว่าผู้กู้รายใหม่อาจต้องใช้ส่วนร่วมทุนเพิ่มขึ้นกรณีราคาบ้านสูงกว่าที่ได้รับอนุมัติ หรืออาจเปลี่ยนแผนด้วยการเลือกซื้อบ้านที่มีราคาต่ำลงมา เช่น เลือกทำเลที่ตั้งอยู่แถวชานเมือง หรือเพิ่มผู้กู้ร่วมเพื่อทำให้ความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น เป็นต้น

 

รีไฟแนนซ์บ้าน

ทางเลือกผ่อนบ้านให้ประหยัดยิ่งขึ้น

ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้สถาบันการเงินอาจมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นโดยอาจทำให้กระทบต่อค่าเงินงวดเดิมให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วยจนอาจทำให้ผู้กู้มีภาระที่ต้องผ่อนในแต่ละเดือนเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น การขอรีไฟแนนซ์บ้านเป็นจึงหนึ่งวิธีที่ช่วยลดภาระการผ่อนบ้านให้สบายกระเป๋ามากขึ้น ด้วยการทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลง จากการย้ายสินเชื่อบ้านไปยังสถาบันการเงินใหม่และยังทำให้การผ่อนบ้านหมดได้เร็วขึ้นด้วย

 

รีไฟแนนซ์บ้านคืออะไร?

รีไฟแนนซ์บ้าน คือ การทำเรื่องขอกู้เงินกับสถาบันการเงินใหม่ เพื่อนำเงินก้อนนั้นไปไถ่ถอนจำนองบ้านจากสถาบันการเงินเดิม ซึ่งการขอรีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงินใหม่ จะทำให้ผู้ขอสินเชื่อได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง

ดังนั้น การผ่อนชำระค่าบ้านต่อเดือนจึงประหยัดเงินได้มากขึ้น เนื่องจากการขอสินเชื่อบ้านกับสถาบันการเงินในช่วงปีแรกๆ มักจะมีโปรโมชั่นที่ให้อัตราดอกเบี้ยถูก แต่เมื่อผ่อนเกินช่วง 3 ปีแรกแล้ว อัตราดอกเบี้ยจะลอยตัวสูงขึ้นตาม MRR ที่ทางธนาคารกำหนด

โดยหลังจากปีที่ 3 ไปแล้ว หากไม่มีการขอรีไฟแนนซ์ จะทำให้ยอดหนี้คงเหลือลดช้าลง แม้ว่าจะชำระค่าบ้านเท่าเดิมทุกเดือน เพราะต้องนำยอดไปหักในส่วนดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น และยังทำให้ระยะเวลาในการชำระหนี้ยาวนานขึ้นด้วย

 

ตัวอย่าง การเปรียบเทียบรีไฟแนนซ์และไม่รีไฟแนนซ์บ้าน

ขอสินเชื่อบ้านจากธนาคาร วงเงิน 3.5 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี เมื่อไม่มีการขอรีไฟแนนซ์บ้าน อาจต้องชำระดอกเบี้ยรวมตลอดอายุสัญญาสูงถึง 4 ล้านบาท รวมค่าผ่อนบ้านทั้งสิ้นอาจสูงถึง 7.5 ล้านบาท และต้องผ่อนยาวสูงสุดถึง 30 ปี

แต่ถ้ามีการขอรีไฟแนนซ์บ้าน วงเงินที่เหลือหลังจากการผ่อนไปแล้ว 3 ปี แรกจากธนาคารแรก เมื่อไปขอสินเชื่อกับธนาคารใหม่ จะนำยอดที่เหลือมาคำนวณกับอัตราดอกเบี้ยใหม่ ทำให้ยอดรวมของเงินต้นกับดอกเบี้ยลดลง โดยดอกเบี้ยรวมอาจเหลือเพียง 2.2 ล้านบาท ทำให้เงินต้นรวมกับอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญาใหม่ อาจลดเหลือเพียง 5.5 ล้านบาท และยังลดระยะเวลาผ่อนให้เลือกเพียง 25 ปีเท่านั้น

 

รีไฟแนนซ์บ้านดีต่อผู้ขอสินเชื่ออย่างไรบ้าง?

       1. ได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง การรีไฟแนนซ์ไปยังสถาบันการเงินใหม่ จะนำเอายอดค้างชำระที่เหลือจากธนาคารเดิม มาคำนวณกับอัตราดอกเบี้ยใหม่ที่ถูกลง ช่วยให้จำนวนเงินผ่อนชำระถูกนำไปหักดอกเบี้ยลดลงและนำไปหักเงินต้นได้มากขึ้น

       2. เลือกยืดระยะเวลาในการผ่อนได้ การขอรีไฟแนนซ์กับธนาคารใหม่ สามารถขอเพิ่มระยะเวลาในการผ่อนชำระเพิ่มได้ ซึ่งเมื่อจำนวนงวดเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยให้ยอดผ่อนบ้านต่องวดถูกลง ช่วยให้ผู้ผ่อนบ้านสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายต่อเดือนได้มากขึ้น

 

เลือกรีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงินไหนดี?

       1. สถาบันการเงินที่ให้อัตราดอกเบี้ยถูกลงกว่าเดิม โดยการเลือกรีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงินใหม่ จะต้องมองหาและเปรียบเทียบสถาบันการเงินที่ให้อัตราดอกเบี้ยถูกลงกว่าที่กำลังชำระอยู่ หรือรวมอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญาแล้วจะต้องได้ถูกกว่า เพื่อให้การผ่อนบ้านของคุณคุ้มค่าและประหยัดเงินได้มากที่สุด

       2. สถาบันการเงินที่มีสินเชื่อรองรับการรีไฟแนนซ์โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่กำลังมองหาสถาบันการเงินเพื่อรีไฟแนนซ์บ้าน สิ่งแรกที่ต้องหานั่นคือ โครงการสินเชื่อที่รองรับการรีไฟแนนซ์บ้าน เนื่องจากการเลือกโครงการที่ตรงจุดประสงค์และเงื่อนไขในการขอสินเชื่อ จะช่วยให้ได้รับการอนุมัติสินเชื่อที่สะดวกยิ่งขึ้น

       3. สถาบันการเงินที่ให้ระยะเวลาผ่อนและข้อเสนอที่ตรงใจระยะเวลาในการผ่อนบ้านตามสัญญา ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้จำนวนเงินในการผ่อนบ้านในแต่ละเดือนเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ โดยถ้าหากว่าต้องการให้บ้านผ่อนหมดได้ไว ก็สามารถเลือกระยะเวลาผ่อนที่สั้นลง เลือกผ่อนชำระเพิ่มขึ้น ก็จะผ่อนบ้านหมดได้เร็วขึ้น

 

เงินเฟ้อพุ่ง-ค่าครองชีพสูง

กดดันกำลังซื้ออสังหาฯ ครึ่งปีหลัง

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังคาดว่าจะเห็นการเติบโตได้ แต่อาจชะลอตัวจากครึ่งปีแรกบ้างเนื่องจากทิศทางดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเพราะทำให้ต้นทุนสินเชื่อของผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น

โดยส่งผลให้ผู้ต้องการที่อยู่อาศัยชะลอการซื้อไปก่อนในระยะสั้นเพื่อรอดูสถานการณ์ แม้ว่าทิศทางเศรษฐกิจของไทยจะยังเติบโตได้ดี จากการเปิดเมืองและเปิดประเทศทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาตามปกติและภาคการท่องเที่ยวกลับมาดีขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้นและคนมีรายได้กลับมามากขึ้น

“การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้นก็ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่กดดันกำลังซื้อ และชะลอการซี้อสินค้าบางกลุ่มที่อาจจะไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนมาก ดังนั้น ที่อยู่อาศัยน่าจะเป็นกลุ่มสินค้าที่คนอาจจะชะลอการซื้อลงไปบ้างในช่วงครึ่งปีหลังหากสถานการณ์ของเงินเฟ้อและค่าครองชีพยังสูงและมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่จะเริ่มเห็นการกลับมาตัดสินใจซื้อหากสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายลงชัดเจน ทำให้ความมั่นใจกลับมา”

ด้านการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมจะเริ่มเห็นว่ามีการพัฒนาโครงการในระดับราคาที่ลดลงมาเพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมภายใต้ BOI ระดับราคาไม่เกิน 1.2 ล้านบาท ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มที่ซื้ออยู่จริงและกลุ่มนักลงทุน

โดยมองว่าตลาดคอนโดมิเนียมยังคงเป็นเทรนด์ของกลุ่มราคาที่จับต้องได้ง่ายใกล้รถไฟฟ้า หรือมีการขยายออกไปตามแนวรถไฟฟ้าสายใหม่รอบนอกเมืองมากขึ้น เพื่อจับกลุ่มลูกค้าในตลาดที่ยังมีฐานเป็นจำนวนมาก และสามารถเข้าถึงได้กับคนหลากหลายกลุ่ม แต่น่าจะยังมีการเปิดโครงการใหม่ไม่มากนักในปีนี้ เพราะตลาดยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างชัดเจน

ส่วนโครงการแนวราบยังคงเห็นการเปิดโครงการใหม่ออกมาจำนวนมากอย่างต่อเนื่องทั้งจากผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ฯและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากโครงการแนวราบยังได้รับความสนใจมาก โดยเฉพาะความต้องการพื้นที่ใช้สอยเพื่ออยู่อาศัยระยะยาวมากกว่าคอนโดมิเนียม และตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้ที่ต้องการมีครอบครัว ทำให้มีความต้องการซื้ออยู่อาศัยจริง ตลาดแนวราบจึงยังเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงโควิด-19 ก็ตาม

“ปี 65 ยังคงเป็นปีที่เป็นโอกาสที่ดีของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่มีความพร้อม โดยเฉพาะโครงการสร้างเสร็จพร้อมอยู่ แม้ว่าผู้ประกอบการจะไม่ได้ปรับลดราคาลงมามากเหมือนกับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด แต่ยังคงเห็นการทำแคมเปญการตลาดในการกระตุ้นการขาย ทั้งการแถมเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ฟรีค่าส่วนกลาง เป็นต้น รวมถึงให้ดอกกเบี้ยพิเศษร่วมกับพันธมิตรธนาคาร ซึ่งทำให้ผู้ซื้อยังคงได้ความคุ้มค่า โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมพร้อมทำเลดีๆที่อยู่ในเมืองที่ยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ซื้อที่มีความพร้อม”

ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์คาดการณ์ว่าในปี 2565 อุปทานด้านการเปิดขายโครงการใหม่จะมีจำนวน 83,608 หน่วย เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 51,531 หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 62.2% สำหรับมูลค่าจะอยู่ที่ 386,757 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 218,948 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 76.6% และคาดว่าจะมีหน่วยเหลือขายรวม 160,473 หน่วย ลดลงจากปี 2564 ที่ -2.7% โดยลดลงจาก 164,951 หน่วย มูลค่า 762,810 ล้านบาท หรือลดลง -4.5% จากปี 2564 โดยลดลงจาก 798,601 ล้านบาท

ด้านอุปสงค์คาดการณ์ว่าในปี 2565 จะมีหน่วยขายได้ใหม่ประมาณ 77,223 หน่วย เพิ่มขึ้น 24.7% โดยเพิ่มจาก 61,914 หน่วย ในปี 2564 มูลค่า 346,388 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.1% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยเพิ่มจาก 298,381 ล้านบาท

 

เช็กความพร้อมในการรีไฟแนนซ์บ้าน

       1. เช็กวงเงินที่ต้องการเมื่อรีไฟแนนซ์บ้าน การขอรีไฟแนนซ์บ้าน อาจทำให้ผู้กู้ได้วงเงินก้อนใหม่เกินวงเงินปิดสินเชื่อก้อนเดิมมาด้วย ทำให้นำส่วนต่างจากการกู้นี้ไปใช้จ่ายเพื่อเพิ่มสภาพคล่องได้

       2. เช็กสัญญาว่าสามารถยื่นขอรีไฟแนนซ์ได้เมื่อไร โดยให้ตรวจเช็กสัญญาสินเชื่อบ้านกับสถาบันการเงินเดิมก่อนว่าสามารถยื่นขอรีไฟแนนซ์ได้ในช่วงเวลาไหน เพราะถ้าหากขอรีไฟแนนซ์ก่อนกำหนด จะทำให้ต้องเสียค่าปรับที่อาจไม่คุ้มกับการขอรีไฟแนนซ์ได้

       3. เช็กความพร้อมในเรื่องดำเนินเอกสาร สำหรับการรีไฟแนนซ์บ้านจะเหมือนกับการขอสินเชื่อในครั้งแรก ดังนั้น ต้องเตรียมตัวในเรื่องเอกสาร จะต้องมีความพร้อม เพื่อให้ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินแห่งใหม่เป็นไปอย่างราบรื่น

       4. เช็กความพร้อมในเรื่องค่าใช้จ่าย การยื่นขอรีไฟแนนซ์บ้าน ยังมีเรื่องค่าธรรมเนียมในการดำเนินการที่ต้องเตรียมให้พร้อมโดยอยู่ที่ประมาณ 2-3% ของวงเงินรีไฟแนนซ์

       5. เช็กเครดิตทางการเงินอีกครั้ง ผู้กู้จะต้องรักษาเครดิตทางเงินเอาไว้ ให้เหมือนกับตอนยื่นขอสินเชื่อบ้านครั้งแรก เพื่อให้ทางสถาบันการเงินพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

 

เริ่มต้นรีไฟแนนซ์บ้านง่ายๆ ใน 5 ขั้นตอน

       ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบสินเชื่อเดิมก่อนว่า สินเชื่อเดิมถึงกำหนดเวลาที่สามารถยื่นรีไฟแนนซ์บ้านหรือยัง ซึ่งโดยทั่วไปธนาคารจะอนุญาตให้รีไฟแนนซ์หรือไถ่ถอนสินเชื่อเดิมได้เมื่อผ่อนชำระครบ 3 ปี

       ขั้นตอนที่ 2 เลือกธนาคารที่จะรีไฟแนนซ์บ้าน โดยเลือกที่ที่จะให้ผลที่คุ้มค่าที่สุดและคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าแห่งเดิม

       ขั้นตอนที่ 3 เตรียมค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์บ้าน การรีไฟแนนซ์ยังมีค่าใช้จ่ายในการยื่นเรื่อง เช่น ค่าประเมินราคาหลักประกัน ตามแต่ละธนาคารกำหนด

       ขั้นตอนที่ 4 เตรียมเอกสาร ซึ่งไม่แตกต่างจากการยื่นขอสินเชื่อบ้านทั่วไป ได้แก่ เอกสารส่วนบุคคล เอกสารทางการเงิน และเอกสารหลักประกัน

       ขั้นตอนที่ 5 ยื่นขออนุมัติรีไฟแนนซ์กับธนาคารแห่งใหม่

 

ที่มา : ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)


จากคอลัมน์ News Banking วารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนสิงหาคม 2565 ฉบับที่ 484