THE GURU • MONEY&US

ESG ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกแล้ว

บทความโดย: กชกร พรมไชย

            ประเทศไทยเจอทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง แล้วก็เป็นอย่างนี้มาตาปีตาชาติเมื่อป้องกันไม่ดีก็เลยต้องเยียวยาแบบเฉพาะหน้าในทุกครั้ง

            ปลาพะยูนเสวยขยะพลาสติกจนตายไปอย่างน่าเวทนา พลาสติกติดพันรุงรังในท้อง ไม่น่าอร่อย แต่เจ้าพะยูนน้อยที่น่ารักน่าสงสารต้องเป็นเหยื่อผลผลิตที่อำนวยความสะดวกแก่มนุษย์...ซึ่งอาจจะฮิตในสื่อสักพัก แล้วก็จะจางหายไปเหมือนทุกๆ เรื่อง

            เกิดปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ถึงขนาดทำให้เราหายใจไม่ออก มองอะไรเหมือนผ่านม่านหมอกไปพักหนึ่ง ... แล้วมันก็ผ่านไปเฉยๆ พร้อมยอดขายหน้ากากอนามัยที่พุ่งขึ้นมาชั่วคราว

            มีการก่อสร้าง แล้วเครนถล่มลงมาทับคนงานพิการ เสียชีวิต... ออกข่าวได้ 1-2 วัน แล้วก็เงียบหาย

แค่มองไปรอบตัวบนท้องถนน เห็นตึกสูงๆ แล้วคิดไม่ออกว่าคนจะรอดจากไฟไหม้ได้อย่างไร ในเมื่อเราปล่อยให้มีสิ่งก่อสร้างมากมายผุดเป็นดอกเห็ด แต่ไม่มีการเตรียมเพื่อป้องกันที่ดีพอ บรรดาอุปกรณ์พ่นน้ำที่ติดในตึกนั้น อย่าวางใจว่าจะช่วยได้ ที่แย่คือ อย่าว่าไปถึงให้มันช่วยได้เลย แค่ให้ใช้ได้ก็ฝันไปแล้ว...นี่เรียกว่า Industry Growth, GDP Growth อยู่เหนือกว่าคุณค่าในชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์

            เวลาจะประชาพิจารณ์อะไรๆ ที่มีกันในหลายๆ เรื่องนั้น พอทำขึ้นมาก็แค่ปาหี่เป็นส่วนมาก...จะจริง จะหลอก ก็มักมีการเมือง อิทธิพลส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น กับผลประโยชน์ของนักธุรกิจเข้ามาแทรก

            คนไทยวันนี้ สร้างหนี้สินให้ตนเองอย่างไม่กลัวอะไรเลย จนเป็นหนี้ตั้งแต่อายุน้อยๆ มีหนี้ต่อหัวสูงขึ้น และคาดว่าเกษียณแล้วยังอาจมีหนี้ที่ต้องชดใช้ หรือไม่มีหนี้แต่ก็ไม่มีเงินพอเลี้ยงตัว... จะไม่มีหนี้ได้อย่างไร ในเมื่อบรรดาสถาบันการเงินหลายแห่ง ชอบให้พนักงานหรือเอเยนต์นอกแบงก์โทรศัพท์มาชักชวนให้เราเป็นหนี้ ให้เราใช้จ่ายเกินตัว จ่ายบัตรเครดิตซื้อสินค้าไป 3-4 พันบาท ก็มี SMS ขึ้นมาบริการว่า ไอ้เจ้า 3-4 พันบาทเนี่ยะ ผ่อนได้เป็นงวดๆ นะ... เออ เอาเข้าไป

            หลายๆ อย่างนี้ รวมถึงโลกร้อน น้ำท่วม ไม่ต้องรอถึงรุ่นหลาน แต่กำลังปรากฏแก่รุ่นเราและรุ่นลูกแล้ว

          การทำธุรกิจโดยไม่สนใจผลต่อสิ่งแวดล้อม หรือไปเบียดเบียนธรรมชาติ การทำธุรกิจโดยไม่รับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม และการทำธุรกิจโดยไร้ธรรมาภิบาล นอกจากจะทำให้ธุรกิจขาดความยั่งยืนแล้ว ยังจะก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่อสังคมโลก จนถึงขนาดที่จะทำให้มนุษยชาติดำรงอยู่ไม่ได้

          แล้วเรื่องพวกนี้เกี่ยวอะไรกับตลาดเงินตลาดทุนกันล่ะ ในเมื่อแบงก์ กองทุน โบรกเกอร์ ไม่ใช่ภาคการผลิต ไม่ได้ปล่อยน้ำเสีย ฯลฯ ทำไมต้องไปเกี่ยวกับ ESG

          ก็เพราะในทางอ้อมนั้น เรามีความเกี่ยวพันกันกับหน่วยอื่นแบบ Supply Chain รวมไปถึงลูกค้าด้วยนะสิ เราจึงมีพลังพอที่จะชักนำให้พวกเขาคำนึงถึง ESG ด้วย

            อย่างในธุรกิจกองทุนนั้น บรรดาสมาชิกของอุตสาหกรรมจัดการกองทุนเขาตระหนักในเรื่องนี้ และไม่ปล่อยปละละเลยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะเขาทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม แม้กฎหมายจะมิได้บังคับ

            ที่ผ่านมานั้น มี บลจ.ได้เริ่มต้นจัดตั้งกองทุนรวมที่ลงทุนเฉพาะในกิจการที่คำนึงถึง ESG ไปแล้วตั้งแต่ 4 ปีก่อน คือกองทุนรวมคนไทยใจดี (BKIND) ของ บลจ.บัวหลวง ทั้งยังนำ 40% ของรายได้จากการจัดการลงทุนไปมอบให้โครงการที่พัฒนาหรือเยียวยาด้าน ESG ประมาณ 40 โครงการทั่วประเทศ รวมยอด 4 ปีเป็นเงินประมาณ 40 ล้านบาท

            และเมื่อปี 2560 มี 11 บลจ. ชั้นนำที่มี Market Share ของกองทุนภายใต้การจัดการกว่า 90% ของอุตสาหกรรมได้รวมตัวกันจัดตั้งกองทุนรวม Thai CG Funds โดยใช้ Stock Universe ที่ผ่านการคัดกรองด้าน CG ร่วมกัน ทั้งยังเป็น Impact Investing ที่เป็น Philanthropy ไปในตัว เพราะนำ 40% ของรายได้จากการจัดการลงทุน Thai CG ของทั้ง 11 บลจ.ไปสนับสนุนกิจกรรมหรือโครงการที่พัฒนาธรรมาภิบาลให้ตลาดทุน และการต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยบริจาคไปแล้ว 4 โครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 12.9 ล้านบาท

          นี่ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลก ที่อุตสาหกรรมจัดการกองทุนรวมตัวกันทำเรื่อง CG ในการลงทุน จนถึงขั้นมี Stock Universe เดียวกันให้เลือกลงทุน พร้อมทั้งเป็น Philanthropy ไปในตัว

          ก็ต้องขอขอบพระคุณ บลจ.ต่างๆ และคณะกรรมการของ บลจ. เหล่านั้นที่อนุมัติให้ บลจ.ของท่านร่วมโครงการ เพราะการบริจาคเงินถึง 40% ของรายได้ ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะทำได้ง่ายๆ เลย

 

            และล่าสุดในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ 22 บลจ. ชั้นนำ (จาก 23 บลจ.ในอุตสาหกรรมกองทุนรวม) ซึ่งมี Market Share รวมกันถึง 99% หรือกว่า 5.3 ล้านล้านบาท ก็ได้ร่วมลงนามใน MOU กับ กบข. ประกันสังคม และบริษัทประกัน เพื่อนำประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เข้ามาใช้ในกระบวนการวิเคราะห์ คัดเลือกหลักทรัพย์ทุกประเภท เพื่อตัดสินใจเลือกลงทุนให้แต่ละกองทุนภายใต้การบริหาร และเป็นการแสดงจุดยืนในการสนับสนุนกิจการที่ทำธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับ ESG แม้จะทำให้ธุรกิจนั้นมีต้นทุนที่สูงขึ้นในระยะแรก แต่จะเกิดผลดีที่ยั่งยืนในระยะยาวมากกว่ากิจการที่ไม่ใส่ใจและไร้ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม

            ส่วนอีก 1 บลจ.ที่ไม่เข้าร่วมนั้น เขาบอกว่าเขาไม่ร่วมเรื่อง Negative List แต่เขาก็ให้ความสำคัญเรื่อง ESG มากเช่นกัน จึงกล่าวได้ว่า ทั้งอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยถือเรื่อง ESG เป็นตัวนำธงแล้ว

          การที่กองทุนภายใต้การบริหารของสมาชิกจะลงทุนเฉพาะกิจการที่คำนึงถึง ESG จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลก ที่อุตสาหกรรมธุรกิจจัดการลงทุน พร้อมใจกันลงทุนในกิจการที่ดำเนินธุรกิจ โดยสนับสนุนการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาล

          เรื่องพวกนี้ หากหน่วยงานภาคตลาดเงินตลาดทุน หน่วยงานภาครัฐ นำไปเผยแพร่เพื่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทยได้จะยิ่งดี เพราะเป็นเทรนด์ของโลก และมีผลต่ออันดับการแข่งขันของประเทศไทย

            ส่วนในแวดวงธนาคารนั้นเราได้เห็นการตื่นตัวแล้ว น่ายินดียิ่งที่ธนาคารจะนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มาผนวกเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจ โดยเฉพาะสายงานการลงทุน และการให้สินเชื่อ

            เรื่องนี้ท่านผู้ว่าการ ธปท.แถลงว่า หน่วยงานภายใต้สำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน (UNEP Finance Initiative) จะประกาศ หลักการธนาคารที่รับผิดชอบหรือ “Principles for Responsible Banking” ในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งเป็นความริเริ่มในสาขาอุตสาหกรรม (Sector initiatives) ที่สำคัญในแวดวงธนาคาร และได้มีธนาคารชั้นนำทั่วโลกจำนวน 30 แห่ง เข้าชื่อเป็นธนาคารร่วมก่อการ (Founding Banks) ที่พร้อมสนับสนุนหลักการดังกล่าว

            หลักการที่ว่านี้จะมีหน้าตาอย่างไร ธนาคารจะร่วมมือกันทำ ESG อย่างไร เป็นเรื่องน่าสนใจ และเป็นเรื่องดีอย่างยิ่ง เราต้องติดตาม

            ล่าสุด สมาคมธนาคารไทย และธนาคารพาณิชย์ ได้ร่วมแสดงเจตจำนงที่จะยกระดับการทำงานของภาคสถาบันการเงินไทยด้วยการมีแนวนโยบายและแนวปฏิบัติร่วมกันในการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสถาบันการเงินเอง และบรรเทาปัญหาต่างๆ ที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องได้ ตลอดจนพร้อมนำนโยบายดังกล่าวไปใช้ประกอบการให้สินเชื่อภายในสิ้นปีหน้า

 

          คุณปรีดี ดาวฉาย ท่านแถลงเองในฐานะนายกสมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า อะไรก็ตามที่ทำไปแล้ว ก่อให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม หรือไม่ดูแลสังคม ต่อจากนี้ก็จะมีความชัดเจนขึ้นว่า ธนาคารพาณิชย์ของไทยจะไม่ทำสิ่งเหล่านั้น รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดความไม่ถูกต้องในเรื่องของการคอร์รัปชั่นก็เช่นกัน ทั้งนี้ ผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคารจะมีการดูแลให้ทั่วถึงมากขึ้น เช่น หากปล่อยสินเชื่อให้แล้วนำเงินที่ได้ไปใช้ทำลายทรัพยากรในลักษณะที่ไม่ถูกต้องก็จะไม่ให้ทำ

            ได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่านอย่างนี้แล้ว เริ่มรู้สึกว่าโลกเราน่าอยู่ขึ้นจริงๆ 

เกี่ยวกับนักเขียน

กชกร พรมไชย ผู้เชี่ยวชาญด้านฮวงจุ้ย ที่ปรึกษาด้านฮวงจุ้ยให้กับบริษัทชั้นนำและส่วนบุคคล ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์แห่งฮวงจุ้ย ทั้งยังเป็นผู้จัดทำหนังสือศาตร์แห่งฮวงจุ้ยบ้าน หนังสือการพยากรณ์ดวงชะตา 12 นักษัตรกับฮวงจุ้ยประจำปี และจัดทำปฏิทินมงคล 8 ประการ ที่รวมเอาฤกษ์มงคลในเรื่องขึ้นบ้านใหม่ ออกรถใหม่ เป็นต้น ไว้ในแผ่นเดียว

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน