THE GURU • MONEY&US

ยุคทอง (Golden Age) จบไปแล้ว กลายเป็นยุคเทา (Grey Age)

บทความโดย: วรวรรณ ธาราภูมิ

                ในทางประชากรศาสตร์ Baby Boomer คือช่วงที่มีเด็กแห่กันมาเกิดเป็นจำนวนมากในช่วงสั้นๆ โดยช่วงที่มี Baby Boom แบบจัดหนักคือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เด็กๆ พากันแห่กันไปเกิดในประเทศผู้ชนะสงครามกันมากมาย เช่น Baby Boomer ชาวอเมริกันก็พากันมาเกิดในช่วง 1946-1964 หลังทหารอเมริกันปลดประจำการและกลับบ้าน ในขณะที่แคนาดาเกิด Baby Boomer ในช่วงปี 1947-1966 เพราะทหารแคนาดาปลดประจำการหลังทหารอเมริกัน

                กลุ่ม Baby Boomer ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มทยอยเกษียณอายุกันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ด้วยจำนวนประชากรผู้มากวัยวุฒิของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น มีมากกว่าผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน แถมการแพทย์ก็ก้าวหน้าทำให้อายุยืนกว่าสมัยก่อน และคนเกษียณส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถสร้างรายได้ แถมยังบริโภคน้อยลง

                การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ครั้งใหญ่นี้ จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตจนถึงขั้นขาดทุนได้ในอนาคต และจะกระทบต่อเศรษฐกิจ เพราะ Baby Boomer ที่เคยทำให้เกิดยุคทองทางเศรษฐกิจเพราะเป็นกำลังซื้อหลักของประเทศ กำลังเลื่อนไปสู่วัยที่มีแต่ใช้เงินเก็บ หาเงินเพิ่มไม่ได้ และการจบของยุคทองก็คือ การที่กลุ่มคนจำนวนมากในวัย Baby Boomer เข้าสู่วัยชรา ไม่ใช่วัยทำงาน ไม่ใช่ผู้สร้างผลผลิตให้ประเทศต่อไป ยุคทอง (Golden Age) จึงจบไปแล้ว กลายเป็นยุคเทา (Grey Age) ตามสีของเส้นผม

                เมื่อมาผนวกกับเรื่องที่คนรุ่นหลังๆ ไม่อยากสมรส ไม่ยอมมีบุตร ก็ยิ่งทำให้สัดส่วนประชากรสูงวัยจะมากกว่าสัดส่วนคนมีแรงทำงาน ซึ่งถ้ารัฐไม่วางแผนจัดการโครงสร้างประชากรให้ดี ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะร้ายแรงกว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างสึนามิ

            ความจริงที่น่าเศร้าก็คือ อาจจะมีคนชราเพียง 1% ที่สามารถเลี้ยงดูตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสวัสดิการรัฐ และน่าเศร้าที่สุดถ้าไม่มองในแง่สังคมและศีลธรรมเพราะสรุปได้ว่า "แม้จะเคยสร้างผลผลิตจนเกิดคุณประโยชน์แก่ชาติแค่ไหน เมื่อแก่แล้วผู้ชราก็กลายเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจนั่นเอง"

                มองย้อนไปในอดีต ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าเมื่อชนเผ่าต่างๆ ย้ายถิ่นฐานทำกิน ก็จะทิ้งผู้เฒ่าไว้ข้างหลัง บางชนเผ่าเอาคนชราไปทิ้งให้ตายข้างนอกท่ามกลางหิมะและน้ำแข็ง จะได้ไม่เปลืองอาหารที่ต้องเก็บไว้ให้คนหนุ่มสาวกับเด็กๆ

                ที่น่าประทับใจก็คือ คนชราเหล่านี้เขาน้อมรับชะตากรรมอย่างเสียสละและสง่างามที่สุด เพราะแม้ในช่วงที่เผชิญกับความอดอยาก ผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะยอมอดเพื่อให้ลูกหลานได้มีชีวิตอยู่ต่อไป

                กลับมามองยุคปัจจุบันก็พบว่า คนชราส่วนใหญ่กำลังพึ่งพาหรือคาดหวังว่าจะพึ่งพาระบบสวัสดิการของรัฐในการเลี้ยงชีพในวัยชรา ซึ่งทำให้กังวลว่าระบบสวัสดิการรัฐ หรือ Social Welfare อย่างประกันสังคม จะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน เพราะในเกือบทุกประเทศนั้น เป็นระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาให้ทำงานได้ในขณะที่เศรษฐกิจมีการเติบโต มีจำนวนประชากรวัยทำงานที่ขยายตัวเท่านั้น แถมยังเป็นระบบ Unfunded เหมือนแชร์ลูกโซ่ คือรัฐบาลไม่ได้กันเงินจากงบประมาณใส่ลงไปให้ครบ เพียงแต่ตั้งงบประมาณใช้จ่ายเป็นปีต่อปี ดังนั้น ระบบนี้จะอยู่ได้ตราบเท่าที่มีคนในวัยทำงานส่งเงินเข้าระบบ หากคนวัยทำงานน้อย คนแก่เยอะ ก็จะไม่พอ

              ถ้ารัฐบาลสัญญาไว้ว่าจะให้เงิน แต่แล้วไม่ให้ เพราะไม่มีเงินพอ จะเกิดอะไรขึ้น จะเกิด Social Unrest ปล้นชิงอาหารและทรัพยากรกันอย่างที่บางประเทศกำลังเผชิญอยู่ไหม


แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ หรือลดระดับของปัญหานี้อย่างไร

                สำหรับคนที่ยังไม่ชรา ยังไม่เกษียณ ท่านจะต้องเลิกคิดว่าจะเอาชีวิตบั้นปลายไปพึ่งพาระบบรัฐสวัสดิการเป็นหลักได้แล้ว เพราะระบบของเราก็ Unfunded เช่นกัน ท่านต้องเตรียมแผนเพื่อตนเอง และไม่มีรัฐบาลที่ไหนจะมีเงินเพียงพอมาค้ำจุนสวัสดิภาพของคนชราทุกท่านได้เพียงพอ

                ในส่วนของรัฐบาลชุดใหม่นี้นั้น ขอกราบงามๆ สามครั้ง เพื่อขอให้ท่านให้ความสำคัญกับเรื่องออกกฎหมายให้ภาคธุรกิจกับแรงงานมีการออมเงินไว้เงินเลี้ยงตนเองในวัยชราในลำดับต้นๆ โดยให้เรื่องนี้มาก่อนเรื่องอื่นใดรอเรื่องนี้มาจะ 40 ปีแล้ว เสนอไปหลายครั้งหลายยุคแล้ว ก็ยังคาราคาซังไม่เกิดสักที

                หากมีวิสัยทัศน์มองเห็นปัญหาในอนาคตอันใกล้ มีความกล้า มีความจริงใจ ก็ขอให้เร่งออกกฎหมายบังคับใช้เสียทีเถิด เพราะระบบที่เสนอไปนั้น รัฐบาลไม่ต้องควักเงินมาสนับสนุนแม้แต่เพียงบาทเดียว

เกี่ยวกับนักเขียน

วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง อดีตประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยและนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเงิน การลงทุน

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน