THE GURU • MONEY&US

เงิน-ความโปร่งใส-ความซื่อสัตย์ รากฐานความมั่นคงในครอบครัว

บทความโดย: วรวรรณ ธาราภูมิ

                บ้านเราชั่วโมงนี้นอกจากข่าวการเมืองแล้วก็มีข่าว ดาราไทยแยกทาง ที่เป็นข่าวดังกระฉ่อนไปทั่วสังคมไทย มีทั้งเรื่องเมียหลวง เมียน้อย กรีดกันผ่าน Social Network แสดงตนแย่งสามีกันอย่างเอิกเกริก...ก็ไม่รู้ว่าที่แย่งกันนั้นท่านแย่งตัวตนของคุณผู้ชาย หรือ กีดกัน/ห่วงหาทรัพย์สินของเขา

                ยังมีดาราอีก 2 คู่ ที่น่าศึกษา

                คู่แรก มีบุตรชายที่อยู่กับฝ่ายหญิง ฝ่ายชายไม่ได้อยู่กับพวกเขาแม่ลูก ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ไม่ได้จดรับรองบุตร แต่ต้องการจะทำ ฝ่ายชายได้ส่งเสียเงินเลี้ยงดูมาอย่างดี จนกระทั่งล่าสุดมีปัญหาที่จำเป็นต้องลดระดับการส่งเสียลง เพราะงานหดตามโควิด

                ตามข่าวนั้น ฝ่ายหญิงรับไม่ได้ เลยเรียกร้องอะไรๆ ไปหลายข้อ หากฝ่ายชายให้ไม่ได้ก็ไม่ต้องมาจดรับรองบุตร และจะพาลูกชายตัวน้อยกลับไปบ้านเกิดของเธอ

                ที่น่าทึ่งคือ ข้อเรียกร้องของฝ่ายหญิง ไม่ว่าใครได้อ่านก็คงอึ้ง

                ส่วนคู่หลังนั้น ฝ่ายชายเพิ่งจะหย่ากับฝ่ายหญิง โดยฝ่ายชายเป็นผู้เลี้ยงดูมีบุตรสาวตัวน้อยไว้เอง สาเหตุแห่งการแยกทาง ตามที่อ่านจากข่าวคือ พฤติกรรมทางการเงินของฝ่ายหญิง สร้างหนี้ไปทั่ว ติดการพนัน เอาเงินทอง และทรัพย์สินของสามีและลูก ไปโดยพละการ ฯลฯ

                ใน 2 ข่าวที่ว่า ไม่มีข่าวไหนที่ไม่มีเงินเป็นรากฐาน ซ้ำเติมด้วยความซื่อสัตย์และความโปร่งใสในการครองชีวิตคู่

                ใครจะผิด จะถูก อย่างไร ช่างเขาเหอะ แต่เรื่องของเขาก็มีสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเรา นั่นก็คือ เขาไปถึงจุดนั้นได้อย่างไรและ ทำอย่างไรเราถึงจะไม่ไปถึงจุดนั้น

                มีผลสำรวจในสหรัฐอเมริกาว่า 90% ของสาเหตุเบื้องต้นที่ทำให้หย่าร้างกันคือปัญหาเรื่องเงินจะว่าไปไม่ว่าชนชาติไหนหากทำผลสำรวจก็คงได้ผลไม่หนีกันหรอก

                แล้วจะทำอย่างไรเพื่อมิให้เกิดปัญหาเรื่องเงินในชีวิตคู่ 

                ก็ต้องเปิดใจคุยกันกันเรื่องเงินอย่างโปร่งสิ หากไม่อยากเปิดใจ จะมีชีวิตคู่ไปทำไม อยู่เป็นชีวิตคี่ๆ ก็พอแล้วนี่ และที่สำคัญ หากต้องการมีความสัมพันธ์กันโดยฉาบฉวย ก็จงป้องกันเรื่องการคั้งครรภ์ไว้ทุกครั้งด้วย มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย

                จะให้ตกลงเรื่องเงินกันอย่างไรบ้าง

                1.ใครมีทรัพย์สินอะไรอยู่แล้วเท่าไหร่ แจกแจงมาซะดีๆ อย่าหมกเม็ด หากจะปิดบังกันก็ไม่ต้องจดทะเบียนสมรส เพราะแสดงว่ายังไม่ไว้ใจกันเพียงพอ อย่าผูกมัดกันด้วยกฎหมาย แต่หากต้องการจดทะเบียนสมรสและต้องการกันทรัพย์สมบัติบางส่วนไว้ต่างหากมิให้คู่สมรสมายุ่งด้วย ก็ให้จดเป็นสินเดิมให้รับรู้กันไปก่อนเลยจะดีกว่า

                2.ใครมีหนี้สินอะไร เท่าไหร่ มีภาระแต่ละเดือนเท่าไหร่

                3.ใครมีรายได้จากไหน เท่าไหร่

                4.รายจ่ายของครอบครัวในการอยู่ร่วมกัน และรายจ่ายส่วนตัว แต่ละเดือนเท่าไหร่

                5.เอาทั้งหมดข้างต้นมาทำบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน รายรับ รายจ่าย...เรียกว่า ก. บัญชีทรัพย์สิน และ ข. งบประมาณของครอบครัว

                6.กันเงินส่วนกลางของครอบครัวเอาไว้สำหรับใช้จ่ายส่วนกลาง และเกี่ยวกับลูกๆ...ขอแนะนำว่าอย่ากำหนดให้ใครแยกไปรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนรวมเลย ควรนำเงินมารวมกันในส่วนนี้จะดีกว่าแยก แต่ค่าใช้จ่ายส่วนตัวนั้นให้แยกได้

                7.อย่าลืมสร้างเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินที่จะใช้ในกรณีเจ็บป่วย ตกงาน ฯลฯ

                8.ออมเงินเพื่อลูก และเพื่อการเกษียณ

                9.ต้องเวลาเพื่อพูดคุยเรื่องเงินกันในครอบครัวเสมอๆ ให้ทุกคนมีส่วนรับรู้ รับผิดชอบร่วมกัน

                นั่นคือ 9 ข้อแนะนำเกี่ยวกับเรื่องเงินในครอบครัว ที่เน้นการมีส่วนร่วมวางอนาคตและร่วมรับผิดชอบอย่างโปร่งใส ทุกคนต้องรู้สถานะการเงินของครอบครัว จึงจะลดโอกาสในการก่อปัญหาทางการเงินได้

                แต่นอกจากเงินกับความโปร่งใสแล้ว ความซื่อสัตย์ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่จะช่วยประคับประคองชีวิตคู่ของเราด้วย...ต้องซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่อคู่ชีวิต และต่อลูกๆ ด้วยความรักและความเมตตา

                ทำแบบนี้ได้ก็จะมีครอบครัวที่มีความสุข มีความมั่นคง และจะมีอิสรภาพทางการเงินได้ในที่สุด

                เมื่อครอบครอบมีความรัก ความเข้าใจ มีความมั่นคงทางการเงินแล้ว ปัญหาทางสังคมที่เกิดจากคนก็จะลดลงไปเรื่อยๆ

                เมื่อสังคมดีงาม ผู้คนมีสุขตามอัตภาพ ประเทศชาติก็จะสงบสุข

เกี่ยวกับนักเขียน

วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง อดีตประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยและนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเงิน การลงทุน

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน