THE GURU • MONEY&US

จัดพอร์ตระยะยาวแบบ “บูรพาไม่แพ้”

บทความโดย: วรวรรณ ธาราภูมิ

จากนี้ไปจะเป็นอย่างไร?

                ธปท.ระบุว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะต่ำสุดปีนี้แล้วในไตรมาส 2 ปีนี้ และเมื่อเราพิจารณาจากพฤติกรรมของพวกเรากันเองก็คาดว่า น่าจะไม่มีการระบาดของ Covid-19 รอบสองในประเทศ เพราะหากรัฐออกมาตรการที่ประชาชนมองว่าสุ่มเสี่ยงเกินไป ก็จะออกมาส่งเสียงคัดค้านผ่าน Social Media กันระงม

                แต่ในมุมมองด้านเศรษฐกิจและการลงทุน คำถามก็คือ แล้วใครจะรอดพ้นวิกฤติสุขภาพที่ลามไปยังกระเป๋าเงินของภาคธุรกิจกับภาคครัวเรือนบ้าง เพราะต่อให้มีวัคซีนที่ป้องกันได้ ต่อให้พบยาที่รักษาอาการได้ในกลางปีหน้า กว่าจึงเวลานั้น ใครจะรอด

                ครั้นจะนำเงินลงทุน เงินเก็บที่มีอยู่ไปจมอยู่กับการฝากเงิน หรือพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชนที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะลงทุนตรงหรือผ่านกองทุนรวม ดอกเบี้ยและผลตอบแทนก็น้อยนิด และเราเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยจะต่ำเตี้ยไปอีกนานหลายปี... หลายคนก็เลยไปซื้อหุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับต่ำ แต่ให้ผลตอบแทนสูงลิบเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันกัน จนขายหมดเกลี้ยงในเวลาไม่นาน

                นี่คือปรากฏการณ์ที่เขาเรียกกันส่า “Search for Yield” หรือการไล่ล่าหาผลตอบแทนในการลงทุน (โดยอาจไม่คำนึงถึงความเสี่ยงที่ตามมาด้วย) ซึ่งหากนำเงินส่วนน้อยไปลงทุน หากไม่ได้เงินกลับคืนก็คงไม่ตาย ถ้าไม่ได้ทุ่มเทเงินที่มีลงไปทั้งหมด

ดังนั้น ในแง่การลงทุน จึงมีภาพใหญ่ที่ต้องนำมาพิจารณา ดังต่อไปนี้

                1.เศรษฐกิจไทยแม้อาจจะต่ำสุดแล้วในไตรมาส แต่ไม่มีตัวบ่งชี้เลยว่าจะโงหัวขึ้นได้รวดเร็ว คำว่า V-Shape จึงเป็นความเพ้อฝันอันเหลวไหล ในขณะที่ ธปท.ระบุว่า จะฟื้นตัวแบบ Nike (ใช้คำนี้คงจะให้ความหวังบ้าง คือถึงจะลากยาวแต่ก็ค่อยๆ โงหัวขึ้นทีละนิด ... ดีกว่าบอกว่า L-Shape)

                2.ธุรกิจหลายกิจการเริ่มโละคนทำงานออก หรือเลิกกิจการไปเลยเพราะสายป่านสั้น ขาดเงินหมุนเวียน ไปต่อไม่ไหว โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ทำให้มีคนตกงานมากขึ้น กำลังซื้อก็หดลงไปด้วย

                3.NPL (Non-performing Loan หรือสินเชื่อด้อยคุณภาพ) จะเพิ่มขึ้นมาก

                4.หนี้สินภาครัฐกำลังใกล้ข้อจำกัดที่ห้ามเกิน 60% GDP โอกาสในการกู้เพิ่มด้วยการออกพันธบัตรจึงลดลงจนแทบไม่เหลือ ในขณะที่ภาคครัวเรือนก็มีหนี้สินเพิ่มขึ้นจนเข้าใกล้ 80% GDP อีกครั้ง และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงได้

                5.พฤติกรรมผู้บริโภคในการกินอยู่ เดินทาง และจับจ่ายใช้สอย จะเปลี่ยนไปไม่น้อย โดยการเข้าถึงสินค้าและบริการผ่านอินเทอร์เน็ตได้รับความนิยมมากขึ้น...คิดดูเอาเองว่าจะกระทบกิจการต่างๆ อย่างไรบ้าง ทั้งแง่บวกและลบ

                6.คนแก่ตายยาก เด็กเกิดน้อยลง ครอบครัวตัวคนเดียวเพิ่มขึ้น...สัดส่วนคนแก่ต่อประชากรทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นเร็วมาก ในขณะที่สัดส่วนกำลังแรงงานจะลดลงไปเรื่อยๆ

                7.การเมืองระหว่างประเทศยังคลี่คลายได้ยาก ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ และเกิดคำถามต่อ Globalization ว่าเหมาะสมหรือไม่

                8.กิจการที่จะค่อยๆ ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้นในอนาคต เพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ คือกิจการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีธรรมาภิบาล

                9.แนวคิดทุนนิยมที่ทำให้ช่องว่างของคนจนคนรวยถ่างกว้างขึ้นมาโดยตลอด ท่ามกลางระบอบประชาธิปไตยที่ทำให้นักการเมือง รัฐบาล และข้าราชการ ในนานาประเทศ ต้องเกรงใจและออกนโยบายเอื้อต่อทุนขนาดใหญ่ แม้จะเป็นการเอารัดเอาเปรียบคนตัวเล็ก จะทำให้เกิดคำถามในหมู่ประชาชน จนอาจนำไปสู่การต่อต้านทางการเมือง

คำแนะนำการลงทุนระยะยาวสำหรับทุกคน

                โดยทั่วไปยังต้องกระจายเงินลงทุนในไปสินทรัพย์หลายประเภท ระหว่าง 4 กลุ่มได้แก่ หุ้น/ตราสารหนี้-พันธบัตร-เงินฝาก/อสังหาริมทรัพย์-โครงสร้างพื้นฐาน-ทองคำ (ทั้งในประเทศและต่างประเทศ) โดยจัดสัดส่วนให้เหมาะกับเป้าหมายการเงินระยะยาว อายุ และกำลังเงินของเรา เพราะในภาวะอย่างนี้เทวดาก็คาดเดาได้ยากว่าอะไรจะมา อะไรจะไป

                แต่ถึงเทวดาจะคาดเดาไม่ได้ แต่ข้าพเจ้ามีความเชื่อส่วนตัวว่า มี 2 อุตสาหกรรมที่จะไปได้ดีในระยะยาว

                หากติดตามกันมานานคงจำได้ว่า ในทุกปีข้าพเจ้าจะแนะนำให้มีทองคำในพอร์ตลงทุนเอาไว้บ้าง และในปีก่อนก็เน้นให้เพิ่มเงินสำรองฉุกเฉิน กับกันเงินสดเพิ่มไว้อีกส่วน เผื่อรับโอกาสในยามตลาดเข้าสู่ End Cycle...ใครเชื่อก็คงจะพอใจกับสิ่งที่เตรียมไว้ล่วงหน้า

                ที่สำคัญคือ เมื่อจัดสัดส่วนลงทุนที่เหมาะกับตัวเราโดยคำนึงถึงภาพใหญ่ 9 ข้อข้างต้นแล้ว ก็ต้อง อดทน ให้เป็น และไม่ขายเงินลงทุนระยะยาวโดยยอมขาดทุน หากลงทุนในหุ้นที่มีศักยภาพที่ดี มีผู้บริหารเก่งและไม่ใช่พวกขี้โกง ไม่ใช่หุ้นปั่นเก็งกำไร และไม่ใช่กิจการที่ไม่ยอมปรับตัวกับอนาคตที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะหากเป็นของดีจริงแล้ว เวลาจะช่วยให้ทุกอย่างคลี่คลายได้

                ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาพบกับสภาพ Bear Market ที่หุ้นตกกระชากแรงๆ มาแล้ว 12 รอบ โดยขาดทุนเฉลี่ย 35% และเมื่อผ่านไปโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ปี ราคาหุ้นก็กลับมา และตามมาด้วย Bull Market ที่ผลักดันราคาหุ้นให้ทะยานขึ้นไปได้

                สำหรับตัวอย่างชัดๆ ของตลาดหุ้นไทยที่ผ่านมาเร็วๆ นี้ก็คือ เมื่อดัชนีเหลือกว่า 900 จุด เพียงพักเดียวก็ขยับขึ้นมาจนอยู่ในระดับกว่า 1,300 จุดได้ แม้นักลงทุนต่างชาติจะยังเทขายหุ้นไทยไม่หยุดติดต่อกันมาหลายปี แต่ก็มีจำนวนคนหน้าใหม่ที่ซื้อขายหุ้นไทยผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

                อย่างไรก็ดี หากเราลงทุนในหุ้นเพียงตัวสองตัว แล้วเกิดกิจการนั้นๆ ไปไม่รอดจริงๆ เราอาจไม่ได้เงินลงทุนคืนสักบาทก็ได้ ดังนั้น สำหรับคนทั่วไปแล้วการลงทุนผ่านกองทุนรวมจะเสี่ยงน้อยกว่า เพราะกองทุนมีการกระจายการลงทุนในหุ้นหลายตัว

                ส่วนคำถามที่ว่าควรนำเงินไปลงทุนต่างประเทศไหม แล้วควรลงทุนที่ไหน ตอบได้ว่าควรกระจายเงินลงทุนไปต่างประเทศด้วย แต่ส่วนตัวแล้วข้พเจ้าไม่ชอบมองเป็นประเทศ เพราะสามารถ้กิดความผันผวนแรงๆ ได้ทุกเมื่อ ข้าพเจ้าชอบลงทุนเป็น Sector มากกว่า

                ซึ่ง 2 Sector ที่ข้าพเจ้าชอบก็คือ Healthcare กับ Technology เหตุผลคงเข้าใจกันดีแล้ว ไม่ต้องอธิบายมาก

                นอกจากนี้ ก็ทบทวนว่าตนเองเข้มแข็งพอที่จะไม่ขายทิ้งยามหุ้นตกหนักได้หรือไม่ หากไม่ ก็ต้องยอมปรับแผนและสัดส่วนหุ้นให้ลดน้อยลง (แม้ตอนที่ทำแบบทดสอบจะบอกว่าหุ้นตกหนักไป 30-40% ก็รับไหว เพื่อผลที่ดีกว่าในระยะยาว แต่พอหุ้นตกหนักจริงๆ ก็มีบางคนร้องกรี๊ดด รับไม่ได้... แบบนี้ต้องลด)

คำแนะนำเฉพาะสำหรับคนทำงานผู้ยังไม่เกษียณ

                การลงทุนสม่ำเสมอเป็นประจำ เมื่อยังมีรายได้ยังเป็นสิ่งที่ถูกต้อง อย่าหยุดลงทุนเมื่อเรายังมีรายได้ โดยจัดสัดส่วนลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ประเภทให้เหมาะสมกับเราในแต่ละช่วงอายุ

                ส่วนคนที่จวนจะเกษียณแล้ว ให้ทำงานต่อ เพื่อยืดอายุการหารายได้

คำแนะนำเฉพาะสำหรับผู้เกษียณแล้ว

                เงินที่อยู่ในหุ้นหรือกองทุนหุ้น จะต้องเป็นส่วนที่เรายังไม่ใช้ภายในอย่างน้อย 5 ปี

                นี่แปลว่า เรามีเงินส่วนหนึ่งที่ปลอดภัยจากความผันผวนในตลาดหุ้น และเป็นส่วนที่เรานำมาใช้ดำรงชีพได้อีกอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งถ้าอยู่ในเงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล/ธปท. กองทุนตราสารหนี้ที่มีความมั่นคง ก็น่าจะอุ่นใจได้

                เงินเก็บส่วนที่เกิน 5 ปี ลงทุนหุ้นได้ เพราะอัตราดอกเบี้ยจะต่ำไปอีกนาน หากไม่ลงทุนหุ้นเลยก็คงไม่พอใช้ในอนาคต ยกเว้นจะรีบตายไปเร็วๆ

                สรุป

                เศรษฐกิจ การลงทุน ผลิตภัณฑ์ และชีวิตคน ล้วนมีวงจรของมันทั้งขึ้นและลง หากเราเข้าใจในวัฏจักรเหล่านี้ มีการวางแผนให้เหมาะสมกับตนเองในแต่ละช่วงอายุ และมีสติกับรู้ความพอเพียง แม้เราจะต้องฝ่ามรสุมไปอีกสัก 2 ปี หรือนานเป็น 5 ปี พอร์ตลงทุนของเราก็จะเป็น ตงฟางปุ๊ป้าย หรือ บูรพาไม่แพ้” 

เกี่ยวกับนักเขียน

วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง อดีตประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยและนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเงิน การลงทุน

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน