THE GURU • FUND FOCUS

ย้อนดูพัฒนาการ 21 ปี วงการกองทุนรวมไทย

บทความโดย: ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์

            เชื่อว่าวงการกองทุนรวมของประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ดังเช่นสถิติ 21 ปีที่ได้นำเสนอในช่วงต้น และหากผู้ลงทุนมีความรู้ความมั่นใจมากขึ้น ก็น่าจะกล้ารับความเสี่ยงในระดับที่สูงขึ้นเพราะเข้าใจดีแล้วว่าเป็นการเปิดโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงกว่าในระยะยาว


เปิดประวัติการเติบโต 21 ปี วงการกองทุนรวมไทย


            · ย้อนไป 21 ปีก่อน

            จากข้อมูลเท่าที่มีเปิดเผยอยู่ในเว็บไซต์ของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (aimc.or.th) พบว่า ณ มิถุนายน 2543 หรือเกือบ 21 ปีมาแล้ว ประเทศไทยมีการลงทุนในกองทุนรวมรวมกัน 117,460 ล้านบาท (ไม่รวมกองทุนเพื่อการแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน) โดยในยุคนั้นมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม 14 แห่ง และมีกองทุนรวมทั้งหมด 171 กองทุน โดยรายที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารสูงสุดในยุคนั้นคือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ทหารไทย จำกัด ซึ่งมีส่วนแบ่ง 22.5% รองลงมาคือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม อยุธยาจาร์ดีนเฟลมมิ่ง จำกัด ซึ่งมีส่วนแบ่ง 18.1% ในด้านสัดส่วนประเภทกองทุน แบ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ 56.5% กองทุนตราสารทุน 26.1% กองทุนผสมและอื่นๆ 17.4%

 

            · 10 ปีต่อมา

            ข้อมูล ณ มิถุนายน 2553 ชี้ว่ามูลค่าการลงทุนในกองทุนรวมของไทยเพิ่มเป็น 1,673,531 ล้านบาท (ไม่รวมกองทุนเพื่อการแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน) กระจายอยู่ในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 20 แห่ง ผ่าน 1,289 กองทุน รายที่มีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการสูงสุดคือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด ด้วยส่วนแบ่ง 25.6% ตามมาด้วย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด 23.0% โดยสัดส่วนประเภทกองทุนแบ่งเป็น กองทุนตราสารหนี้ 69.2% กองทุนตราสารทุน 21.3 กองทุนผสมและอื่นๆ 9.5%

 

            · สถานะล่าสุด

            ตัวเลขล่าสุด ณ เมษายน 2564 ชี้ว่า ประเทศไทยมีการลงทุนในกองทุนรวม 5,199,298 ล้านบาท (ไม่รวมกองทุนเพื่อการแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน) ซึ่งมาจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 23 แห่ง ผ่าน 2,119 กองทุน โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด มีส่วนแบ่งสินทรัพย์ภายใต้การจัดการสูงสุดที่ 21.8% ตามมาด้วย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด ในสัดส่วน 18.1% ในมูลค่ากองทุนรวมทั้งหมด แบ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ 43.9% กองทุนตราสารทุน 32.8% กองทุนผสมและอื่นๆ 23.3%

 

            จากตัวเลขในตารางจะเห็นว่ามูลค่าการลงทุนในกองทุนรวมของไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า 44 เท่า ในเวลาประมาณ 21 ปี เทียบเท่าอัตราการเติบโตเฉลี่ย 19.8% ต่อปี และน่าสังเกตด้วยว่า ในช่วง 11 ปีล่าสุด ผู้ลงทุนได้กระจายเงินออกจากสินทรัพย์มั่นคงสูงอย่างกองทุนตราสารหนี้ แล้วเพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น จากที่เคยมีกองทุนตราสารหนี้ในสัดส่วน 69.2% ลดเหลือ 43.9% พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนกองทุนตราสารทุน จาก 21.3% เป็น 32.8% สถานะนี้เมื่อเทียบกับชาวโลกจะเป็นอย่างไร?

 

เปรียบเทียบสถิติการลงทุนกองทุนรวมของชาวโลก สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย

            สถิติล่าสุดจากเว็บไซต์ Investment Company Institute (ici.org) ระบุว่ากองทุนรวมทั่วโลก ณ สิ้นปี 2563 มีมูลค่ารวมกัน 63.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,953 ล้านล้านบาท และชาวโลกโดยรวมจะเน้นลงทุนในกองทุนตราสารทุนมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 45.0% ตามมาด้วยกองทุนตราสารหนี้ 33.9% โดยมีกองทุนผสมและอื่นๆ อีก 21.1% และเมื่อดูสถิติในสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว พบว่ามียอดการลงทุนในกองทุนรวมรวมกัน 20.93 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 908 ล้านล้านบาท โดยตัวเลขที่น่าสนใจคือ ผู้ลงทุนในสหรัฐฯ เน้นลงทุนในกองทุนตราสารทุนถึง 58.0% ตามมาด้วยกองทุนตราสารหนี้ 36.0% โดยลงทุนในกองทุนผสมและอื่นๆ เพียง 7.0%


 


            นอกจากนั้น หากเทียบมูลค่าการลงทุนในกองทุนรวมกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP พบว่าภาพรวมของโลก มีสัดส่วนการลงทุนในกองทุนรวมต่อ GDP อยู่ในระดับ 75.3% และสัดส่วนเดียวกันนี้ของสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงถึง 140.0% แต่เมื่อเหลียวดูตัวเลขของไทย จะอยู่ที่ระดับ 32.1% (อ้างอิง: statistictimes.com bev.gov และ nesdc.go.th)


สรุปความแตกต่างการลงทุนในกองทุนรวมของไทยเทียบกับสหรัฐฯ และชาวโลก

            ประการแรก จะเห็นว่าประเทศไทยยังมีการลงทุนน้อยเมื่อเทียบกับ GDP คือไม่ถึง 1/3 ขณะที่ภาพรวมทั่วโลกอยู่ที่ระดับ 3/4 ส่วนสหรัฐฯ อยู่ในระดับเกิน 100% และหากสภาวะเช่นนี้ (โดยเปรียบเทียบ) ยังคงอยู่ต่อไปในระยะยาว ก็อาจทำให้ประชาชนในภาพรวมเสียโอกาสต่อยอดความมั่งคั่งและทำให้ประเทศเตรียมรับสังคมสูงวัยได้อย่างยากลำบากขึ้น

            ประการที่สอง นักลงทุนไทยรับความเสี่ยงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยโลก เมื่อพิจารณาสัดส่วนการลงทุนในกองทุนประเภทต่างๆ จะเห็นว่าสัดส่วนกองทุนตราสารทุนของไทยมีเพียง 33% ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ระดับ 45% และในสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงถึง 58% และเป็นที่รู้กันดีว่า การลงทุนระยะยาวในตราสารทุนช่วยเปิดโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้อย่างมาก

            หากจะสรุปให้สั้นลงอีก ก็อาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยยังมีการลงทุนในกองทุนรวมเป็นสัดส่วนต่ำเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ และเงินลงทุนที่มีอยู่ก็เน้นด้านความมั่นคงมากกว่าโอกาสเติบโต


            อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาความตั้งใจของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะสำนักงาน ก.ล.ต. และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มุ่งเน้นให้ความรู้ด้านการลงทุนแก่ประชาชน และกำหนดแนวทางต่างๆ ที่เอื้อให้ประชาชนลงทุนได้อย่างมั่นใจขึ้นและง่ายขึ้น ก็เชื่อว่าวงการกองทุนรวมของประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ดังเช่นสถิติ 21 ปีที่ได้นำเสนอในช่วงต้น และหากผู้ลงทุนมีความรู้ความมั่นใจมากขึ้น ก็น่าจะกล้ารับความเสี่ยงในระดับที่สูงขึ้นเพราะเข้าใจดีแล้วว่าเป็นการเปิดโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงกว่าในระยะยาว 

เกี่ยวกับนักเขียน

ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์เทรเชอริสต์ ผู้ให้บริการ Treasurist.com ผู้ก่อตั้ง Thailand Investment Forum นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์และผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1 รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. และ นักแปลอาสาของ TED.com

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน