THE GURU • FAMILY BUSINESS SOCIETY

ธรรมนูญครอบครัวก็ไม่ช่วย ถ้าอยู่ไม่ได้กับธรรมชาติของธุรกิจครอบครัว

บทความโดย: นวพล วิริยะกุลกิจ

อย่าเสียเวลาทุบกำแพงด้วยหวังให้มันกลายเป็นประตู”
– Coco Chanel[1]

 


            การทำให้ธุรกิจครอบครัวประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ก็ไม่ต่างจากการสร้างภาพยนตร์คลาสสิกสักเรื่องที่ต้องมีทั้ง บทดี นักแสดงดี ผู้กำกับดี คนตัดต่อดี ฯลฯ ธรรมนูญครอบครัวเพียงอย่างเดียวไม่อาจแก้ปัญหาได้ทุกปัญหา แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของกระบวนการแก้ปัญหาที่สมาชิกทุกคนหันหน้าเข้ามาช่วยกัน


            มีความเป็นจริงของธุรกิจครอบครัวอย่างน้อย 5 ประการ ที่ถ้าคุณซึ่งอยู่ในฐานะสมาชิกครอบครัวไม่สามารถยอมรับได้ คุณจะรู้สึกสับสน ท้อแท้ จนหนทาง และจมอยู่ในความทุกข์ บนกองเงินกองทองของกงสี ทายาทธุรกิจครอบครัวหลายต่อหลายคนกำลังดิ้นรนเพื่อ อยู่ให้ได้กับความเป็นจริงเหล่านี้ แต่กับทายาทอีกหลายคนที่เคยผ่านจุดนี้มาแล้ว และสามารถยอมรับความเป็นจริงทั้ง 5 ประการนี้ได้ พวกเขาจะรู้สึกเบา โล่ง ความคิดปลอดโปร่ง หงุดหงิดน้อยลง และสามารถหาทางออกจากปัญหาที่เจอได้เสมอ และพวกเขาจะยอมรับได้ที่โลกจะไม่เป็นไปในแบบที่หวัง

บางคนอาจเรียกอาการนี้ว่า ปลง แต่การยอมรับความเป็นจริงเหล่านี้ให้ได้ น่าจะทำให้คุณ ปลงอย่างมีกลยุทธ์ไม่ใช่ ปลงอย่างสิ้นหวังเพราะการเข้าใจธรรมชาติหรือความเป็นจริงทั้ง 5 ประการของธุรกิจครอบครัวนี้ อาจทำให้คุณพบทางออกจากปัญหาด้วยตัวของคุณเอง


1. พ่อ-แม่ คือกติกาที่มีชีวิต

            “พี่ต้องเสียสละให้น้อง”

            “พี่น้องห้ามทะเลาะกัน”

            ตั้งแต่เล็กพวกเราคงเคยได้ยินคำพูด เช่น “เลิกเรียนแล้วต้องมาช่วยงานที่บ้าน” “ต้องซื่อสัตย์กับลูกค้า” ทำงานวันเสาร์ด้วยนะ!” ฯลฯ กฎกติกาเหล่านี้คือสิ่งที่สมาชิกทุกคนต้องปฏิบัติตาม หากมีคำถามหรือมีปัญหาใดๆ พ่อแม่จะเป็นผู้ตอบและตัดสินให้ ถ้าเปรียบเทียบครอบครัวเป็นประเทศ พ่อแม่ก็คือผู้ที่ใช้อำนาจของทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการไปพร้อมๆ กัน ส่งผลให้สมาชิกในครอบครัวอยู่กันอย่างสงบสุข โดยมีพ่อแม่เป็นกติกาสูงสุดของบ้าน

            พ่อแม่คือผู้สร้างชีวิตของลูกและธุรกิจของครอบครัว เมื่อพ่อแม่ยังอยู่ พวกเขาคืออำนาจสูงสุดโดยไม่อาจมีใครโต้แย้งได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือไม่มีตำแหน่งในธุรกิจครอบครัว พ่อแม่ก็สามารถเข้ามากำกับดูแลกิจการได้อย่างเต็มที่ ซึ่งนี่คือสิ่งที่ทำให้เหล่าทายาทต้องปวดเศียรเวียนเกล้ากันมานักต่อนัก แต่หากทำใจร่มๆ แล้วยอมรับความจริงที่ว่า พ่อแม่คือกติกาที่มีชีวิตและในธุรกิจครอบครัวพวกเขาคือ เจ้านายของเหล่าทายาททั้งปวง

ไม่ว่าคุณจะเรียนสูงแค่ไหน หรือเก่งมาจากไหนก็ตาม หากทายาทยอมรับความจริงข้อนี้ไม่ได้แล้วลุกขึ้นมาต่อสู้ คงเป็นการต่อสู้ที่หนัก ยาวนาน และทำให้ต้องปวดใจอย่างที่สุด ในทางกลับกัน หากยอมรับความจริงข้อนี้ได้ แล้วใช้กุศโลบายต่อสู้โดยไม่เข้าปะทะซึ่งหน้า สู้แบบไม่ทะเลาะ แล้วชนะแบบเงียบๆ น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า

 

2. มีสองโลกในธุรกิจครอบครัว

            ทำไมถึงไปว่าลูกอย่างนั้น!?” แม่ตวาดใส่พ่อ

            “โลกของธุรกิจและ โลกของครอบครัว มีบรรทัดฐานคนละอย่าง (ยึดถือเหตุผล VS ยึดตามอารมณ์) มีเป้าหมายไม่เหมือนกัน (ความสำเร็จ VS ความสัมพันธ์) พฤติกรรมที่ได้รับการชื่นชมว่าดีในโลกหนึ่ง อาจกลายเป็นสิ่งชั่วร้ายในอีกโลกหนึ่ง (ผู้นำที่เด็ดขาด VS พ่อที่ทำร้ายจิตใจลูก) เป็นต้น

แต่นี่คือ 2 โลกที่ซ้อนทับกันอยู่ในธุรกิจครอบครัว ความยากของการบริหารธุรกิจด้วยคนในครอบครัว คือ พวกเขาไม่ได้เป็นแค่หัวหน้า-ลูกน้อง ไม่ใช่แค่ผู้ถือหุ้น-ผู้บริหาร เท่านั้น พวกเขายังเป็นพ่อ-แม่-ลูกกัน เป็นพี่-น้องกัน เป็นญาติกัน การบริหารจัดการไม่ใช่แค่ถูกต้อง แต่ต้องถูกใจด้วย สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจอาจไปต่อไม่ได้ถ้ามันไม่ตอบโจทย์ของครอบครัว

            ด้วยเหตุนี้ แนวคิดการแยก 2 โลกนี้ให้ห่างจากกันให้มากที่สุดคือกลยุทธ์หลักที่หลายครอบครัวเลือกใช้ คำพูดของ ศ.ดร.สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ ที่ว่า “ถ้าจะพูดเรื่องของธุรกิจต้องมองไปที่เซ็นทรัล และถ้าจะพูดถึงจิราธิวัฒน์ให้ดูที่ แฟมิลี่ เคาน์ซิล” น่าจะสะท้อนวิธีบริหารจัดการโลก 2 ใบของธุรกิจครอบครัวได้ดีที่สุด


3. คุณเปลี่ยนความคิดใครไม่ได้

            “เชื่อผมสิพ่อ

            “ทำไมชั้นต้องเชื่อแก      

            คุณไม่อาจเปลี่ยนความคิดของพ่อ-แม่ พี่-น้องได้ด้วยคำพูดเช่นนี้ หรือแม้จะยกข้อมูลมาทั้งสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชักแม่น้ำทั้ง 5 มายืนยัน เพราะ คนเชื่อในสิ่งที่เขาอยากจะเชื่อไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องจริง

แต่ถึงแม้คุณจะเปลี่ยนความคิดของคนอื่นไม่ได้ แต่คุณสามารถสร้างสถานการณ์ที่ทำให้เขาเข้าใจ และเปลี่ยนความคิดด้วยตัวของเขาเองได้ เช่น การปล่อยให้พวกเขาได้เจอปัญหาเอง ได้มีประสบการณ์ตรง การทำตัวเป็น คุณพ่อรู้ดีนั้น ด้านหนึ่งคือ ความ หวังดี แต่อีกด้านก็อาจถูกมองว่าเป็น ความ ถือดีได้เช่นกัน การให้คำแนะนำ สั่งสอน เพื่อโน้มน้าวความคิดคนอื่นจึงเป็นศิลปะที่ต้องผนวกกับความรู้และข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเสมอ ทายาทที่มีความรู้และศิลปะย่อมหาวิธีโน้มน้าวใจพ่อแม่ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

            เช่นเดียวกับพ่อแม่ที่มีประสบการณ์และศิลปะ ย่อมหาทางโน้มน้าวใจลูกๆ ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพียงแต่อย่าคิดว่าจะบังคับใครให้เชื่อเรา เพียงเพราะเรามีประสบการณ์มาก่อน เพียงเพราะเราประสบความสำเร็จมามากกว่า หรือเพียงเพราะเรารู้ในสิ่งที่คนอื่นไม่รู้ แท้ที่จริง ความถ่อมตนในการแสดงความคิดเห็นจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการโน้มน้าวใจผู้อื่น         

            4. คุณเป็นส่วนหนึ่งของทุกปัญหา

            “ปัญหานี้ หนูไม่เกี่ยว

            “ใครสร้างปัญหา ก็ต้องแก้เอาเอง

            อดัม คาเฮน (Adam Kahane) นักสันติวิธีผู้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในหลายประเทศเคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าคุณไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา (ความขัดแย้ง) คุณก็ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของทางแก้” คำพูดของ คาเฮน ส่งตรงถึงสมาชิกครอบครัวทุกคนที่เคยลอยตัวอยู่เหนือปัญหาว่าให้ลดเพดานบินลงมา แล้วบอกกับตัวเองว่า “ฉันก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเช่นกัน”

            หลายครั้งจะพบว่า มีการชี้นิ้วไปที่สมาชิกบางคนว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา ซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ตรงที่ว่า “ใครเป็นคนผิด” เพราะสุดท้ายทุกคนก็ยังคงเป็นคนในครอบครัว ประเด็นอยู่ที่ว่าจะทำยังไงไม่ให้ปัญหาเดิมเกิดขึ้นอีก เราจะก้ามข้ามมันไปได้อย่างไร แล้วจะทำยังไงให้ทุกคนมองอดีตเป็นบทเรียน และมองไปในอนาคตร่วมกัน (เพราะเราทุกคนก็ยังต้องอยู่ในเรือลำนี้ร่วมกันอยู่ดี)

            เมื่อทุกคนมองว่าตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา พวกเขาจะเริ่มคิดที่จะแก้ไข และเริ่มที่ตัวเองเป็นอันดับแรก โดยไม่มองว่าคนอื่นจะต้องทำก่อน คนอื่นจะต้องเปลี่ยนก่อน ดังนั้น ถ้าคิดจะทำธุรกิจครอบครัว คุณจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของทุกปัญหาที่เกิดขึ้น เหนื่อยแน่แต่อย่าเพิ่งท้อแท้ ให้พยายามมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น คุณจะมีบทบาทอย่างไรในการแก้ไขร่วมกับสมาชิกคนอื่นๆ 


            5. จะช้าแน่นอน

            “กว่าจะทำอะไรได้แต่ละอย่าง ไม่ทันคู่แข่งเค้าหรอก!”

            เดินคนเดียวเร็วกว่าเดินเป็นหมู่คณะอยู่แล้ว แต่เดินคนเดียวนั้น เราจะไปได้ไกลแค่ไหนกันล่ะ? นี่คือคำถามสำคัญ การมีธรรมนูญครอบครัวนั้นต้องใช้เวลาทั้งตอนที่เขียนและตอนที่นำไปใช้ แต่ก็น่าจะคุ้มค่ากว่าการใช้เวลาไปกับการแก้ปัญหาเพราะไม่มีธรรมนูญเขียนไว้ก่อน

            การเขียน “ธรรมนูญครอบครัว” หรือกติกาครอบครัวนั้น เปรียบเสมือนการลงทุน ครอบครัวต้องลงแรง ลงเวลา และบางครั้งลงเงินเพื่อให้มันเกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ “ความสัมพันธ์ที่ดี” ของคนในครอบครัว และ “ความสำเร็จอย่างยั่งยืน” ของธุรกิจ

            การเขียนธรรมนูญครอบครัวโดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณหกเดือนถึงหนึ่งปี และอาจต้องมีการทบทวนทุกๆ 1-2 ปี ซึ่งก็ใช้เวลาพอสมควร แต่ก็เทียบไม่ได้กับเวลาที่อาจต้องเสียไปในการทะเลาะเบาะแว้ง ไม่เข้าใจกัน ผิดใจกัน ซึ่งในหลายครอบครัวความขัดแย้งอาจกินเวลายาวนานเกือบทั้งชีวิตของพวกเขา อย่าปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับครอบครัวของคุณ ดังสุภาษิตจีนที่ว่าหมอที่เก่งที่สุดไม่ใช่หมอที่รักษา แต่คือหมอที่ป้องกันไม่ให้เราเจ็บป่วย

 




            การยอมรับ ธรรมชาติของธุรกิจครอบครัวทั้ง 5 ประการที่กล่าวมานั้น คือหนึ่งในเหตุผลที่จะทำให้ ธรรมนูญครอบครัว เวิร์กพูดให้เข้าใจก็คือ ธรรมนูญครอบครัวจะทำงานได้ดี ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อ (A) เป็นธรรมนูญของครอบครัวที่เห็นความจำเป็นที่จะต้องรักษากิจการของตระกูลเอาไว้ (B) สมาชิกเข้าใจและยอมรับธรรมชาติของธุรกิจครอบครัวไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม (C) สมาชิกสร้างกติกาครอบครัวร่วมกัน เป็นกติกาศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนเคารพและปฏิบัติตาม และสุดท้าย (D) สมาชิกตระหนักถึงหน้าที่ของตนต่อความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัว โดยยอมที่จะเปลี่ยนตัวเองมากกว่าพยายามจะไปเปลี่ยนคนอื่น


 


            การทำให้ธุรกิจครอบครัวประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ก็ไม่ต่างจากการสร้างภาพยนตร์คลาสสิกสักเรื่องที่ต้องมีทั้ง บทดี นักแสดงดี ผู้กำกับดี คนตัดต่อดี ฯลฯ ธรรมนูญครอบครัวเพียงอย่างเดียวไม่อาจแก้ปัญหาได้ทุกปัญหา แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของกระบวนการแก้ปัญหาที่สมาชิกทุกคนหันหน้าเข้ามาช่วยกัน

 


[1] "Don’t spend time beating on a wall, hoping to transform it into a door" – Coco Chanel

เกี่ยวกับนักเขียน

นวพล วิริยะกุลกิจ ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย (Family Business Asia) ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย (Family Business Asia) ผู้ประกอบการ นักเขียน และนักเดินทาง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ นวพล ได้ที่ Fan page: Family Business Asia

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน