THE GURU • EXECUTIVE COACHING

การประเมิน “ศักยภาพ” ผู้บริหาร

บทความโดย: พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล

            คำว่า ศักยภาพ - Potential” โดยทั่วไปหมายถึง ความสามารถที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน คำนี้ใช้ในสาขาต่างๆ มากมายตั้งแต่ฟิสิกส์ไปจนถึงสังคมศาสตร์ เช่น การปลดปล่อยพลังงานโดยวัตถุ การใช้พลังความสามารถในผู้คน ซึ่งทฤษฎีที่อธิบายเรื่องนี้ก็คือ ศักยภาพสามารถทำให้เกิดจริงได้ เมื่อมีการกระทำที่ถูกต้องเหมาะสม

            ในด้านของการพัฒนามนุษย์ ก็ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า คนทุกคนมีศักยภาพที่ยังไม่ได้นำออกมาใช้ เพราะความปรารถนาขั้นสูงสุดของมนุษย์ก็คือ การประสบความสำเร็จในชีวิตด้วยตนเอง (Self-actualization)

            ฉะนั้น ในหลักการพัฒนาภาวะผู้นำทั่วไป จึงมักจะเริ่มต้นด้วยการสร้างความเชื่อก่อนว่า ทุกคนมีศักยภาพที่ไร้ขัดจำกัดอยู่ในตัว และกระบวนการพัฒนาที่สำคัญคือ การทำความรู้จักกับตัวเองอย่างลึกซึ้ง เข้าใจถึงพรสวรรค์และความสามารถเฉพาะตัวของตนเอง รวมทั้งการทุ่มเวลาเพื่อพัฒนาจุดแข็งออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

ศักยภาพอะไรที่ผู้บริหารจำเป็นต้องมี?

            ในการบริหารองค์กรนั้น หลายครั้งที่ปรากฏว่า คนที่เคยมีคุณสมบัติครบถ้วน กลับล้มเหลว แต่คนที่ดูเหมือนไม่มีคุณสมบัติในตอนแรก กลับประสบความสำเร็จ สิ่งที่แตกต่างคือ ศักยภาพ ที่เหมาะสมกับโลกปัจจุบัน นั่นคือ ความสามารถในการปรับตัวและเติบโตในบทบาทและสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

            ผลงานในอดีตจะไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าจะประสบความสำเร็จในอนาคตอีกต่อไป สิ่งที่ทำให้คนๆ หนึ่งประสบความสำเร็จในบทบาทใดบทบาทหนึ่งในวันนี้ อาจจะไม่ใช่สำหรับวันพรุ่งนี้ ถ้าหากสภาพแวดล้อมในการแข่งขันมีการเปลี่ยนแปลงไป หรือกลยุทธ์ของบริษัทต้องปรับเปลี่ยน หรือเขาจะต้องทำงานกับกลุ่มคนที่แตกต่างออกไป ฉะนั้น คำถามจึงไม่เกี่ยวกับว่า บริษัทมีพนักงานหรือผู้นำที่มีทักษะเหมาะสมหรือไม่ แต่เกี่ยวกับว่าเขามีศักยภาพที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ หรือไม่

 

แนวทางการประเมิน ศักยภาพของผู้บริหาร

            ศักยภาพ แตกต่างกับ สมรรถนะ (Competency) ที่เราใช้วัดทักษะการทำงานด้านต่างๆ การประเมินศักยภาพต้องอิงคุณสมบัติเชิงคุณภาพบางอย่าง ซึ่งจากบทความในหนังสือ HBR’s 10 Must Read ได้สรุปคุณลักษณะของศักยภาพไว้ 5 ด้านดังต่อไปนี้

            1. Motivation แรงจูงใจที่มุ่งความเป็นเลิศ : ความรู้สึกผูกมัดอย่างแรงกล้าที่จะสร้างความเป็นเลิศจากการดำเนินการตามเป้าหมายที่ท้าทายอย่างไม่เห็นแก่ตัว ให้ความสำคัญกับเป้าหมายของกลุ่มเหนือกว่าความต้องการของตนเอง มีความทะเยอทะยานที่จะทำสิ่งต่างๆให้ดีขึ้น ต้องการสร้างผลงานไว้เป็นเกียรติประวัติ แต่ก็มีความถ่อมตัว ข้อนี้เป็นคุณสมบัติพื้นฐานส่วนตัวที่สำคัญที่สุด

            2.Curiosity ความสนใจอยากรู้อยากเห็น : มีความชอบอย่างมากในการเสาะหาประสบการณ์และความรู้ใหม่ๆ ยินดีรับการสะท้อนกลับที่ตรงไปตรงมา เปิดกว้างต่อการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลง

            3.Insight การตระหนักรู้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง : ความฉลาดในการรวบรวมและเข้าใจข้อมูลอย่างสมเหตุสมผล เพื่อนำไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ช่วยให้เห็นการเชื่อมโยงที่คนอื่นไม่เห็น

            4.Engagement การมีส่วนร่วมและผูกพัน : ความสามารถพิเศษในการใช้อารมณ์และตรรกะ เพื่อสื่อสารวิสัยทัศน์และการเชื่อมโยงกับผู้คนรอบตัว

            5.Determination ความมุ่งมั่นที่จะชนะอุปสรรค : ใช้วิถีทางที่จำเป็นในการต่อสู้เพื่อเป้าหมายที่ยากลำบาก แม้ว่าจะเผชิญกับความท้าทายก็สามารถเอาชนะฟื้นคืนจากภัยคุกคามได้


            ในการประเมิน ศักยภาพ ดังกล่าว ต้องใช้ทักษะในการตั้งคำถาม โดยเน้นให้ได้คำตอบที่ชัดเจน เช่น ตัวอย่างจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง สิ่งที่สำคัญคือ ผู้สัมภาษณ์ต้องมีความสามารถในการฟัง วิเคราะห์ แปลความ และมองหาสัญญาณจากคำตอบที่ได้รับว่า เขาแสดงให้เห็นคุณลักษณะทั้ง 5 ข้อในการดำเนินชีวิตและการทำงานหรือไม่ เพียงไร

ตัวอย่างคำถามในการสัมภาษณ์ เพื่อประเมินศักยภาพ ตามหัวข้อข้างต้น

            -  คุณตอบสนองอย่างไรเมื่อมีคนท้าทายคุณ

            -  คุณขอข้อมูล และความเห็นจากสมาชิกในทีมอย่างไร

            -  คุณทำอย่างไรเพื่อขยายความคิด ประสบการณ์ หรือการพัฒนาตนเอง

            -  คุณส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในองค์กรอย่างไร

            -  คุณมีขั้นตอนอะไรในการค้นหาสิ่งที่ไม่รู้


          นอกจากนี้ องค์กรสามารถสร้างระบบการพัฒนาศักยภาพของผู้บริหารระดับต่างๆ ได้ โดยการมอบหมายงานที่พวกเขาต้องยืดตัวออกไปและใช้ความพยายามมากขึ้น รวมทั้งจัดให้มีการสับเปลี่ยนงานกับฝ่ายงานอื่นเพื่อเรียนรู้งานที่กว้างขึ้น ทั้งนี้ เพื่อผลักดันพวกเขาให้ออกจากพื้นที่ที่คุ้นเคย มีโอกาสได้ฝึกฝนคุณลักษณะทั้ง 5 ด้านดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม


          ภารกิจที่สำคัญที่สุดของผู้นำในวันนี้คือ การสรรหาบุคลากรที่มีศักยภาพสูง รักษาพวกเขาไว้ให้ได้ และพัฒนาศักยภาพของคนเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง และนี่คือการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างแน่นอน

 

เกี่ยวกับนักเขียน

พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล CPA & Executive Coach / โค้ชผู้บริหาร เพื่อความสุขและความสำเร็จ อดีต CFO ผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหารการเงินในองค์กรขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติมากกว่า 30ปี ในธุรกิจหลายประเภท ให้การปรึกษาและฝึกอบรมพัฒนาผู้บริหารมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี และเป็น “Licensee” ของ “LMI” - Leadership Management International Inc. ในการอำนวยการเรียนรู้หลักสูตรด้านพัฒนาผู้นำระดับสากล

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน