THE GURU • CRYPTOCURRENCY

เมื่อโลกของเกมส์ NFT และคริปโตเดินมาบรรจบกัน

บทความโดย: นเรศ เหล่าพรรณราย

            อุตสาหกรรมเกมส์ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนทั่วโลกสูงที่สุดและยังเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ NFT และสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นกระแสหลักของโลก ล่าสุดทั้งสามสิ่งนี้กำลังถูกรวมเข้ามาอยู่ด้วยกันแล้ว

            การเติบโตของ Blockchain Game ได้มีมาอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้วและกำลังมาถึงจุดที่สามารถนำเทคโนโลยี NFT และสกุลเงินดิจิทัลมาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเล่นเกมส์ไม่ได้เป็นเพียงแค่การละเล่นอีกต่อไป แต่สามารถสร้างรายได้จากการเล่นเกมส์ได้ชนิดเสมือนจริง

            ในอดีตเราอาจจะคุ้นเคยกับการซื้อขายไอเท็มภายในเกมส์แต่การนำเทคโนโลยี NFT และสกุลเงินดิจิทัลเข้ามาได้ช่วยเป็นตัวเสริมให้การทำธุรกรรมซื้อขายมีความสะดวกและสมจริงมากขึ้น

            ไม่ว่าจะเป็นการใช้คอนเซบท์ของ NFT เข้ามาทำให้การซื้อขายไอเท็มหรือสิ่งต่างๆในเกมส์เป็นของจริงซึ่งอาจจะมีเพียงชิ้นเดียวหรือการใช้สกุลเงินดิจิทัลในการทำธุรกรรมซื้อขายต่างๆทำให้อุปสรรคในด้านของสกุลเงินที่แตกต่างกันของผู้เล่นทั่วโลกหมดไป

            ที่น่าตื่นเต้นที่สุดก็คือโมเดลแบบ Play To Earn หรือการเล่นเกมส์แล้วสามารถสร้างรายได้จริง กำลังเติบโตและสามารถทำเงินได้จริงโดยไม่เกี่ยวกับการได้เงินจากสปอนเซอร์หรือส่วนแบ่งโฆษณาจากสื่อออนไลน์ แต่เป็นการเล่นเกมส์แล้วได้เงินจากในเกมส์จริงๆ (แน่นอนว่าเป็นสกุลเงินดิจิทัลของเกมส์นั้นๆ)

            Case Study ล่าสุดที่เกิดขึ้นคือเกมส์ Axie Infinity ซึ่งเป็นเกมส์แนวๆ Pokemon คือมีการเพาะเลี้ยงมอนสเตอร์เพื่อนำมาต่อสู้กันและเมื่อชนะผ่านด่านหรือชนะคู่แข่งที่เข้ามาท้าสู้ก็จะได้รับโทเคน SLP ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการสร้างมอนสเตอร์ที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้นเพื่อให้สามารถเอาชนะคู่แข่งได้ง่ายขึ้น

            หรือจะนำโทเคน SLP ไปขายใน Exchange เพื่อที่จะเปลี่นเป็นสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆแล้วถอนออกมาเป็น Fiat Currency เพื่อนำไปใช้จ่ายตามปกติ เรียกได้ว่าผู้พัฒนาเกมส์ได้ออกแบบระบบนิเวศน์ที่สามารถสร้างดีมานด์ทั้งในฝั่งซื้อก็คือผู้ที่ต้องการได้โทเคนมาสร้างมอนสเตอร์ให้เร็วขึ้นก็ไปซื้อใน Exchange ได้ทันที ส่วนผู้ที่ได้โทเคนมาก็สามารถนำไปขายเป็นเงินได้

            นอกจากนี้ยังมีโมเดล Axie University สำหรับนักเล่นเกมส์ที่ไม่มีเงินมาซื้อมอนสเตอร์เพื่อเล่นเกมส์ เพราะการที่จะได้ตัวละครที่มีความแข็งแกร่งสู้กับคนอื่นได้จะต้องใช้เงินถึงประมาณ 60,000 บาทขึ้นไป ทำให้ผู้พัฒนาเกมส์สร้างระบบที่ทำให้มีผู้ร่วมลงเงินใส่ทุนให้กับผู้เล่นคนอื่นมาเป็นผู้เล่นแทนให้ โดยจะมีการแบ่งรายได้ให้

            โมเดลดังกล่าวโด่งดังในประเทศฟิลิปปินส์ในช่วงที่ผ่านมาจากการที่ไวรัสโควิดแพร่ระบาดทำให้มีคนตกงานจำนวนมาก ทำให้นายจ้างบางรายมีไอเดียให้ลูกจ้างหันมาเล่นเกมส์นี้เพื่อสร้างรายได้ โดยคำนวนคร่าวๆมีโอกาสที่จะสร้างรายได้ประมาณ 20,000 บาทต่อเดือนได้เลยทีเดียว

            นอกจากนี้ยังมีเกมส์อื่นๆที่นำคอนเซบท์ของคริปโตมาใช้อย่างเช่น Decentralland ที่สามารถซื้อขายที่ดินในเกมส์ได้ด้วยเหรียญ MANA หรือเกมส์ Alice In Wonderland ที่มีการเล่นคล้ายกับเกมส์ Animal Crossing ที่โด่งดังมาก่อนหน้านี้ก็ใช้สกุลเงินดิจิทัลในการใช้จ่ายในเกมส์

            เมื่อสามเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตอย่างเกมส์ NFT และคริปโตมาผสมผสานเข้าด้วยกัน น่าจะเป็นตัวเร่งให้นักเล่นเกมส์ที่มีอยู่ทั่วโลกหันมาสนใจใน NFT และคริปโตมากขึ้น ส่วนนักเทรดคริปโตก็มีทางเลือกในการสร้างรายได้ น่าจะทำให้สามอุตสาหกรรมนี้เติบโตได้กว้างและเร็วยิ่งขึ้นไปอีก

เกี่ยวกับนักเขียน

นเรศ เหล่าพรรณราย ซีอีโอ Ricco Wealth,เลขาธิการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย Co-Founders SCN Media Pte.Ltd ฟินเทคด้านการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีเครือข่ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ / คอลัมนิสต์ด้านฟินเทคและวิทยากรด้านการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน