THE GURU • CRYPTOCURRENCY

4 ความเสี่ยงบนโลก DeFi ที่อาจทำให้หมดตัว

บทความโดย: นเรศ เหล่าพรรณราย

            Yield Farming คือการลงทุนที่ไร้ตัวกลางมาควบคุมดูแล ทุกคนสามารถสร้างโปรเจกต์ขึ้นมาระดมทุนได้ แต่ความเสรีที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความเสี่ยงในการลงทุนทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจซึ่งอาจจะทำให้ผู้ลงทุนสูญเสียเงินทั้งหมดไปได้เช่นกัน ไปดูกันว่าในโลกของ DeFi  มีภัยอันตรายอะไรบ้างที่เราต้องให้ความระวัง

Rug Pull เชิดเงินหนีซึ่งๆหน้า

            คำว่า Rug Pull หมายถึงการดึงพรมที่มีคนยืนอยู่จนทำให้หัวทิ่ม ถ้าเป็นความหมายในวงการ DeFi ก็คือง่ายๆว่าเจ้าของโปรเจ็กต์ปิดเว็บไซต์หนีไปดื้อๆนั่นเอง โดยสามารถทำได้สองรูปแบบก็คือการทุบ Governance Token ของตัวเองและถอนสภาพคล่องทั้งหมดออกจาก Pool ก็จะได้เงินที่นักลงทุนนำมาซื้อโทเคนไปทั้งหมด

            หรืออีกแบบก็คือโอนเงินออกจากเว็บไซต์หนีไปเฉยๆ ซึ่งจุดนี้ถือเป็นเรื่องที่นักลงทุนใน DeFi ทุกคนต้องศึกษาแต่ละแพลตฟอร์มให้ละเอียดก่อนลงทุนว่าได้มีการออดิตโค้ดแล้วหรือยัง เพราะกลโกงที่เจ้าของโปรเจกต์ใช้ก็คือการซ่อนโค้ดเอาไว้เพื่อที่จะสามารถดึงเงินออกจาก Pool ออกไปได้โดยที่ผู้ลงทุนไม่รู้ตัวซึ่งต่างจากคอนเซ็ปต์ของ DeFi ที่ทุกคนสามารถควบคุม Wallet ของตัวเองได้ทั้งหมด

            วิธีการแก้ไขปัญหาการโดน Rug Pull ที่ดีที่สุดคือการไปลงทุนใน DeFi ที่น่าเชื่อถือเท่านั้นโดยผ่านการออดิตแล้วและมีผู้ใช้งานจำนวนมากหรือเป็นที่รู้จักก็จะแก้ไขปัญหานี้ไปได้ นอกจากนี้การที่เจ้าของโปรเจ็กต์ถือครอง Governance Token ของตัวเองไว้ในสัดส่วนที่มากก็อาจจะทำให้สามารถควบคุมราคาของเหรียญได้ซึ่งจะเป็นความเสี่ยง

Flash Loan ธุรกรรมเสี้ยววินาที

            ถือเป็นเคสคลาสสิกที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในโลกของ DeFi เช่น BurgerSwap เจอเหตุการณ์ Flash Loan Attack มูลค่าความเสียหายทั้งหมด 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐ Pancake BUNNY สูญเงินไป 200 ล้านดอลลาร์ และก่อนหน้านั้นอีกคือ bEarn.Fi สูญเงินไปเกือบ 11 ล้านดอลลาร์

            อธิบาย Flash Loan ง่ายๆก็คือการสร้าง Smart Contract ที่เข้ามาทำธุรกรรมกู้ยืมจากแพลตฟอร์มประเภท Lending อย่างเช่น Aave, Compound เพื่อนำไปทำธุรกรรมอย่างเช่น Arbitage หรือคืนเงินกู้ ซึ่งธุรกรรมจะเกิดขึ้นด้วยความรวดเร็วและเสร็จสิ้นภายในหนึ่ง Transaction เท่านั้น บางครั้งการทำธุรกรรมที่รวดเร็วนี้อาจส่งผลกระทบไปต่อราคาเหรียญที่มีคนนำไปฝากไว้ใน Pool

            ต้องยอมรับว่าการป้องกัน Flash Loan นั้นทำได้ยากแม้กระทั่งแพลตฟอร์มที่ทำการออดิทแล้วก็ตาม อาจจะต้องรอให้นักพัฒนาสามารถปิดจุดอ่อนดังกล่าวให้ได้ แต่ยังดีที่ธุรกรรม Flash Loan ไม่ได้มีเจตนาที่จะโจรกรรมเงินในแพลตฟอร์มแต่อย่างไร

เหรียญ Governance Token โดนทุบในช่วง Fair Launch

            ปัจจุบันได้มีรูปแบบของการเสนอขายเหรียญ DeFi ที่เรียกว่า IDO (Initial Dex Offering) บน Decentralized Exchange โดยจะต้องนำเหรียญที่เป็นเจ้าของเชนใหญ่ๆอย่าง BNB ETH มา Swap กับเหรียญประจำ DEX นั้นๆ โดยวันที่เปิดให้ทำการแลกเหรียญ (ง่ายๆคือเหมือนกับ ICO ก็คือการเปิดระดมทุนรูปแบบหนึ่ง) จะเหรียญว่า Fair Launch โดยจะเปิดให้ทุกคนสามารถแลกเหรียญได้อย่างเท่าเทียมกันแม้แต่เจ้าของโปรเจ็กต์เองก็ไม่มีสิทธิพิเศษ

            ด้วยกระแส FOMO ทำให้บางครั้งราคาเหรียญในวันที่เปิด Fair Launch พุ่งขึ้นไปอย่างรวดเร็ว โดยบางครั้งมีการนำ Bot มาใช้ในการไล่ราคาขึ้นไปอย่างรวดเร็วจนอาจมีเหตุการณ์ที่ผู้ที่ได้ซื้อไปในราคาต่ำๆเทขายใส่คนที่ไล่ซื้อในราคาสูงๆจนสร้างความเสียหายอย่างหนัก บางเคสที่เกิดขึ้นในไทยสร้างความเสียหายได้ถึง 99% เลยทีเดียว

            วิธีการแก้ไขปัญหาคืออย่าไปไล่ราคาในวันที่เปิด Fair Launch ควรรอให้ราคามีความนิ่งก่อนเพราะอาจจะทำให้เราขึ้นไปติดดอยข้างบนได้

ความผิดพลาดของโครงสร้างแพลตฟอร์ม

            การสร้าง DeFi Protocol สักหนึ่งโปรเจ็กต์บางครั้งมีการใช้ความซับซ้อนทางด้านโค้และสูตรคณิตศาสตร์ที่เข้าข่ายการเป็นวิศวกรรมทางการเงินอย่างหนึ่ง จนบางครั้งทำให้เกิดความเสียหายจากความล้มเหลวของโปรเจ็กต์ได้เช่นกัน

            เคสที่เกิดขึ้นคือการที่เหรียญ TITAN ซึ่งเป็น Governance Token ของโปรเจ็กต์ที่มีชื่อว่า Iron Finance ราคาปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุด 64 ดอลลาร์ เหลือเพียงแค่ 0.01 ดอลลาร์ หรือลดลงกว่า 99%

            สาเหตุเป็นเพราะโครงสร้างการผลิต Stablecoins ที่นำมาใช้ในการทำ Yield Farming ซึ่งใช้ Algorithm รักษาระดับราคาโดยที่ไม่มีสินทรัพย์ดิจิทัลหนุนหลัง และยังสามารถผลิตเหรียญ TITAN ออกมาได้อย่างไม่จำกัด สุดท้ายคือเกิดความล้มเหลวในการรักษาเสถียรภาพของราคาเหรียญในที่สุด เคสดังกล่าวไม่ได้ถือเป็นความตั้งใจจะโกงของผู้สร้างแพลตฟอร์มแต่เกิดจากความผิดพลาดเชิงโครงสร้างเอง

            วิธีการแก้ไขคืออย่ารีบเร่งเข้าไปลงทุนในโปรเจ็กต์เกิดใหม่ที่มีความซับซ้อนในการออกแบบโครงสร้าง ควรจะรอให้แพลตฟอร์มดำเนินการไปสักพักจนแน่ใจว่าระบบที่สร้างขึ้นมีความเสถียรแล้ว

            การลงทุนใน DeFi อย่างเช่น Yield Farmimg คือ การลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงแต่มาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงเช่นกันและเราไม่สามารถจะไปเรียกร้องความเสียหายจากใครได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือเข้าใจกลไกความเสี่ยงและป้องกันตัวเองโดยอย่ายึดติดกับผลตอบแทนเพียงด้านเดียว

เกี่ยวกับนักเขียน

นเรศ เหล่าพรรณราย ซีอีโอ Ricco Wealth,เลขาธิการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย Co-Founders SCN Media Pte.Ltd ฟินเทคด้านการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีเครือข่ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ / คอลัมนิสต์ด้านฟินเทคและวิทยากรด้านการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน