THE GURU • CRYPTOCURRENCY

วิธีการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของ DeFi Project

บทความโดย: ณพวีร์ พุกกะมาน (เปโดร)

            ช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นโปรเจ็กต์ด้าน DeFi (Decentralized Finance) ออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้แต่คนไทยเองก็ได้พัฒนาผลงานออกมาไม่น้อย อย่างไรก็ตาม เราได้เห็นหลายๆ โปรเจ็กต์ที่ประสบความล้มเหลวสร้างความเสียหายให้ผู้ลงทุน และบางโปรเจ็กต์ก็เข้าข่ายหลอกลวง (Scam)

            หลายคนอาจจะคิดไปว่า เราไม่สามารถวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของ DeFi ได้ แต่ความจริงแล้วยังมีดัชนีชี้วัดต่างๆ ที่บ่งบอกถึงพื้นฐานของแต่ละ Defi Project ได้เช่นกัน ก่อนที่จะคิดตัดสินใจลงทุนอย่างน้อยควรจะศึกษาสิ่งเหล่านี้เสียก่อน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเงินที่เราลงทุนไปจะไม่สูญเปล่า

หนึ่ง...มูลค่าเงินลงทุนที่อยู่ในโปรเจ็กต์นั้นๆ (TVL)

          แม้ว่าจะมี DeFi Project เกิดขึ้นนับร้อย แต่เราควรจะเลือกลงทุนในโปรเจ็กต์ที่มีผู้ลงทุนจำนวนมากหรือมีเงินลงทุนอยู่ในนั้นเป็นมูลค่าที่สูงมากกว่าโปรเจ็กต์ที่มีผู้เล่นเพียงจำนวนน้อย เพราะการที่มีผู้เล่นจำนวนมากเข้ามาลงทุนอย่างน้อยเป็นการพิสูจน์ว่าโปรเจ็กต์ดังกล่าวมีคุณภาพและความน่าเชื่อถืออยู่ระดับหนึ่งรวมถึงควรจะเป็นโปรเจ็กต์ที่เปิดดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง

            ตัวเลขที่สามารถชี้วัดได้คือมูลค่าเงินลงทุนที่ถูกล็อกไว้ในโปรเจ็กต์นั้นๆ หรือ Total Value Lock ซึ่งเราสามารถตรวจเช็กได้ที่เว็บไซต์ defipluse.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์กลางที่คอยรวบรวมสถิติต่างๆ ของวงการ DeFi ซึ่งโปรเจ็กต์ที่ติดอยู่ในสิบอันดับแรกถือว่ามีความน่าสนใจในการเข้าลงทุน

สอง...จำนวนผู้ใช้งานและปริมาณการซื้อขาย

          สำหรับสาย Yield Farming ใน Decentralized Exchange หรือ DEX มีสถิติที่จะต้องพิจารณาก่อนลงทุนก็คือจำนวนผู้ใช้งานและปริมาณการซื้อขาย (Trading Volume) เนื่องจากที่มาของผลตอบแทนจากการนำเงินลงทุนใน Pool ก็คือวอลุ่มซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญในแต่ละคู่นั่นเอง เช่น USDT/BNB ถ้าหากมีคนนำสองเหรียญดังกล่าวมาซื้อขายบน DEX ทางระบบก็จะนำส่วนต่างราคาที่เกิดขึ้นมาจ่ายเป็นผลตอบแทนให้กับผู้นำเงินมาฝากไว้ใน Pool

            ถ้าหากจำนวนผู้ใช้งานมีไม่มากและวอลุ่มซื้อขายน้อย ในทางปฏิบัติผลตอบแทนที่จ่าย หรือ APR จะต้องน้อยกว่าโปรเจ็กต์ที่มีวอลุ่มซื้อขายในระดับสูง แต่ทั่วไปแล้ว DEX ที่เกิดใหม่มักจะจูงใจนักลงทุนด้วย APR สูงๆ แต่มาจากการแจก Governance Token ให้ฟรี ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ยั่งยืน ผู้ลงทุนจึงควรลงทุนในโปรเจ็กต์ที่จ่ายผลตอบแทนที่ให้ APR ตามพื้นฐานที่เกิดขึ้นจริงมากกว่า

สาม...มีจุดขายในตัวเองและพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ ต่อเนื่อง

          การคัดเลือก DeFi Project ไม่ได้ต่างอะไรกับการเลือกหุ้นที่จะต้องหากิจการที่มีจุดขายในตัวเอง มีความโดดเด่นทางด้านโปรดักต์ตลอดจนมีการพัฒนาธุรกิจอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในโลกของ DeFi ก็เช่นกัน โปรเจ็กต์ที่ไม่ได้พัฒนาโปรดักต์ให้แตกต่างจากรายอื่นคอยแต่ก๊อบปี้โค้ดจากโปรเจ็กต์ดังๆ และสร้าง APR สูงๆ มาล่อนักลงทุนอาจจะน่าสนใจลงทุนเพียงระยะสั้นเท่านั้น ระยะยาวโปรเจ็กต์ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างไรก็ดูน่าสนใจกว่า

สี่...ผ่านการออดิตแล้ว

          ในโลกของการลงทุนแบบดั้งเดิมจะมีบริษัทบัญชีที่ตรวจสอบสถานะทางการเงิน แต่ในโลกของ DeFi จะมีบริษัทออดิตที่จะทำการตรวจโค้ดของโปรเจ็กต์นั้นๆ ว่ามีความโปร่งใส และเป็นไปตามที่ประกาศไว้กับผู้ใช้งานหรือไม่ โดยออดิตที่มีชื่อเสียง และตรวจสอบโค้ดให้กับโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ มาแล้วมีชื่อว่า Certik

            เหตุผลเพราะ DeFi ทำงานด้วย Smart Contract ซึ่งไม่ได้ควบคุมการทำงานด้วยมนุษย์แต่ใช้โค้ดคอมพิวเตอร์ทำงานแทน หากโค้ดที่อยู่ในโปรเจ็กต์มีความไม่โปร่งใส หรือสามารถแก้ไขได้จะเกิดเป็นช่องว่างให้เจ้าของโปรเจ็กต์ปิดเว็บและเชิดเงินหนีไปได้

            ทั้งหมดนี้คือการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของ DeFi Project ที่นักลงทุนทุกคนควรต้องวิเคราะห์ให้ละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน อย่าลืมว่า ในโลกของ DeFi ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลที่จะไปเรียกร้องความเสียหายได้ นักลงทุนจึงต้องดูแลตัวเองให้ดีเท่านั้น

          

เกี่ยวกับนักเขียน

ณพวีร์ พุกกะมาน (เปโดร) นักลงทุนหนุ่มรุ่นใหม่ ที่เติบโตใช้ชีวิตในต่างแดนจากพื้นฐานครอบครัวนักการทูต ทำให้หลงไหลการลงทุนในสินค้าต่างประเทศ ปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้ง creative investment space พื้นที่แชร์ประสบการณ์ และข้อมูล นวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ ที่มีความหลากหลาย

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน