THE GURU • CRYPTOCURRENCY

Technical Analysis นั้น work จริงไหม?

บทความโดย: ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน

เชื่อว่าหลายคนที่เข้ามาอยู่ในตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น, Forex หรือแม้แต่คริปโทฯ องค์ความรู้ที่เป็นเหมือนอาวุธชิ้นแรกๆ ที่ส่วนใหญ่ศึกษากัน คงหนีไม่พ้น Technical Analysis หรือการวิเคราะห์เชิงเทคนิค เพราะเรามักจะได้เห็นเหล่านักเก็งกำไรให้ความรู้ทางสื่อออนไลน์ต่างๆ อยู่ไม่ขาดสาย ซึ่ง Techincal Analysis หากอธิบายง่ายๆ จะเป็นการดูสัญญาณ และแพทเทิร์น โดยพิจารณาจากกราฟ (Chart) ประกอบกับการดูร่วมกับ Indicators ที่มีให้เลือกใช้ไม่หวาดไม่ไหว เช่น MACD, EMA, MA เป็นต้น อีกทั้งเราสามารถทำความเข้า Indicators พวกนี้ได้ทั้งจากสื่อออนไลน์ และหนังสือ แต่ยังไม่เคยเจอหนังสือเล่มไหน บอกถึงความแม่นยำของ Indicators เหล่านี้ว่าเป็นอย่างไร แล้วสามารถใช้ได้กับสินทรัพย์อย่างหุ้น หรือสินทรัพย์อื่นๆ ประสิทธิภาพเหมือนหรือแตกต่างกันไหม

 

ในบทความนี้ผมจึงหยิบหนึ่งในงานวิจัยที่ทำกันภายใน จากการใช้ข้อมูลในอดีตของ Bitcoin มาทดลอง Backtest กับ Indicators อย่าง EMA เพื่อดูผลตอบแทน และความสัมพันธ์ระหว่าง EMA จำนวน 2 เส้น เพื่อดูว่า EMA แต่ละค่าที่ใช้ประกอบกัน ค่าไหนให้ผลตอบแทนอย่างไรบ้าง โดยงานดังกล่าวเป็นผลการวิจัยของน้องในทีมคนหนึ่ง ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นน่าสนใจพอสมควร จึงอยากนำมาถ่ายทอดให้ได้อ่านกัน แต่ก่อนจะดูผลลัพธ์ของงานวิจัย มาทำความเข้าใจ EMA แบบคร่าวๆ กันก่อน

 

EMA ย่อมาจาก Exponential Moving Average หรือเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบเอ็กซ์โพเนนเชียล ซึ่งเป็นเส้นที่ถูกใช้ในการหาแนวโน้มของราคาสินทรัพย์เสี่ยงทั้งหลายที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีในตลาดหุ้น และยังถูกประยุกต์ใช้ในตลาดอื่นๆ อย่างตลาดคริปโทด้วย โดยพื้นฐานการคำนวณเกิดจากการใช้ราคาปิดสินทรัพย์ย้อนหลัง หารด้วยจำนวนวันทั้งหมดของราคาปิดที่เราเอามาใช้ จึงทำให้ EMA นั้นมีหลากหลายค่ามาก ไม่ว่าจะเป็น EMA10, EMA25, EMA50 เป็นต้น ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการทราบแนวโน้มการเคลื่อนไหวของราคาที่ระยะไหน ตัวเลขน้อย ก็ยิ่งบ่งบอกถึงแนวโน้มราคาที่เกิดในระยะสั้น แต่เพื่อความกระชับ ขอข้ามการอธิบายโดยละเอียดของ EMA ให้เข้าใจว่า EMA ถูกใช้ในการหาแนวโน้มของราคา ก็เพียงพอจะเข้าผลลัพธ์ของงานวิจัยนี้

 

 

 

รูปแสดงความสัมพันธ์ของผลตอบแทนจากการใช้ EMA ค่าต่างๆ เทียบกับผลตอบแทน Buy & Hold

 

กลับมาที่งานวิจัย จากรูปด้านบน จะเป็นการพล็อตกราฟแสดงผลกำไรขาดทุนที่ดูได้จากความเข้มของแถบสีที่อยู่ในแต่ละกราฟย่อยที่แสดงในรูป โดยสีเขียวจะบอกถึงกำไรที่สูงกว่าการซื้อถือ (Buy & Hold) ส่วนสีแดงจะเป็นตัวบ่งบอกถึงผลตอบแทนที่แย่กว่าการซื้อถือ (Buy & Hold) จากการใช้เส้น EMA ค่าต่างๆ ซึ่งผลตอบแทนที่ถูกแสดงในรูปแบบของแถบสีนั้น เกิดขึ้นจากผลตอบแทนจากเส้น EMA ลบกับผลตอบแทนที่เกิดจาก Buy & Hold เรียบร้อยแล้ว เพื่อดูว่ากลยุทธไหนผลลัพธ์ดีกว่า


โดยแกน x (แนวนอน) จะเป็นตัวแทนของ EMA ระยะสั้น และแกน y (แนวตั้ง) จะเป็นตัวแทนของ EMA ระยะกลางถึงระยะยาว สัญญาณซื้อขายก็ใช้การตัดกันของทั้งสองเส้นเพื่อใช้ตัดสินใจ อีกทั้งยังทดสอบกับการใช้งานในช่วงระยะเวลาที่ต่างกัน เริ่มตั้งแต่ปี 2015 มาสิ้นสุดจนถึงปี 2022 ซึ่งแต่ละกราฟจะมีการเทียบ 1 ปี (2015-2016), 2 ปี (2015-2017) จนถึง 7 ปี (2015-2022) เลย


ผลปรากฎว่าโซนผลตอบแทนในแต่ละช่วงระยะเวลาทดสอบ กำไรขาดทุนของการใช้สัญญาณซื้อจากเส้น EMA มีผลตอบแทนที่สูงกว่า Buy & Hold ในบางจุดอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ในกราฟสุดท้ายที่เทียบผลตอบแทนจาก EMA25 ที่เป็นเส้นระยะสั้น โดยใช้ประกอบกับ EMA50 หรือ EMA75 ซึ่งเป็นเส้นระยะกลางถึงระยะยาว เพื่อหาจุดตัดในการซื้อขาย ให้ผลตอบแทนเมื่อเทียบกับ Buy & Hold อยู่ในโซนสีเขียวเข้ม อันเป็นการบ่งบอกว่าผลตอบแทนมากกว่าการซื้อถือไว้เฉยๆ เป็นต้น ผลลัพธ์นี้ชี้ให้เห็นว่า หากเราพิจารณาเลือกเส้น EMA ระยะสั้น และระยะกลางถึงระยะยาวประกอบกันได้เหมาะสม จะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีไม่แพ้กันกับการซื้อถือ ซึ่งก็ต้องจารณาจากสภาวะของตลาด ณ ขณะนั้นประกอบ

 

ทั้งนี้หากสังเกตแถบแสดงการเปรียบเทียบผลตอบแทนในแต่ละช่วงเวลา จะพบว่าบางจุดถึงแม้ EMA จะผลตอบแทนน้อยกว่าการ Buy & Hold แต่ก็ยังคงกำไรอยู่ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามบทความนี้เป็นเพียงการเล่าจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลย้อนหลังผ่านเครื่องมือทางสถิติเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด แต่ผู้อ่านสามารถพิจารณาผลลัพธ์นี้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในกรณีที่ต้องสร้างระบบที่ใช้ EMA ในการซื้อขาย ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบได้ และผู้เขียนเชื่อว่าจะช่วยให้นักลงทุนพิจารณาการใช้ Indicator ได้อย่างสมเหตุสมผลมากขึ้นด้วย

 


 

เกี่ยวกับนักเขียน

ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน Co-Founder และ Advisor ของ Forward - Decentralized Derivatives Exchange และ Forward Labs - Blockchain technology labs

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน