THE GURU • CRYPTOCURRENCY

Sharing Economy สังคมเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน ในยุคหลัง Covid-19

บทความโดย: Admin

โอกาสของ Sharing Economy ในยุคหลัง Covid-19

ในโลกของเราที่มีทรัพยากรส่วนเกินที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพอยู่มากมาย เนื่องจากบ่อยครั้ง คนมีทรัพยากร สินค้า หรือบริการ  ไม่สามารถที่จะเข้าถึงคนที่ต้องการทรัพยากรเหล่านั้นได้โดยตรง จึงทำให้ไอเดียการทำธุรกิจที่การเปิดโอกาสให้คนที่ต้องการสร้างรายได้จากทรัพยากรส่วนเกินเป็นเทรนด์ที่ทุกคนต่างให้ความสนใจ กอบกับการพัฒนาของเทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ smartphones และ online payment ซึ่งเป็นตัวเร่งการเติบโตและความนิยมในยุคหลัง

แนวคิดของ Sharing Economy เป็นการทำธุรกิจแบบ Peer-to-Peer (P2P) ที่ผู้ให้บริการที่มีทรัพยากรกับผู้ที่ต้องการใช้ทรัพยากรนั้นในรูปแบบของสินค้าหรือบริการ ผ่านแพลตฟอร์มตัวกลางอีกที กล่าวคือ ผู้ให้บริการหลักจะไม่ได้มีเพียงเจ้าของแพลตฟอร์ม หรือเจ้าของบริษัทเท่านั้น แต่จะเป็นการเปิดให้ผู้คนทั่วไปที่มีของพร้อมจะแบ่งให้คนอื่นใช้ ร่วมขับเคลื่อนในเชิงผลประโยชน์ไปด้วยกัน โดยค่าสินค้าและบริการจะถูกจัดสรรตามเงื่อนไขการใช้แพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นรูปแบบที่ได้ผลประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย เพื่อจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด โดยมูลค่าส่วนแบ่งทางการตลาดในปี 2021 สูงถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ และคาดการณ์จาก pwc ว่าอาจจะเติบโตได้ถึง 300,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2025 เลยทีเดียว

ยกตัวอย่างที่เราเราคุ้นเคยกันอย่าง Uber หรือ Grab ที่เป็นการให้บริการรับส่งคล้ายกับ Taxi แต่เปิดให้คนทั่วไปที่มีรถยนต์ สามารถลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มเพื่อเป็น Driver และรับผลตอบแทนเป็นรายได้พิเศษหลังงานเสร็จ หรือ Airbnb ที่คนทั่วไปสามารถเปลี่ยนห้องว่างปล่อยเช่าให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้โดยตรง เป็นต้น ซึ่งรูปแบบธุรกิจนี้ไม่เพียงแต่สร้างงานให้กับคนทั่วไป แต่ยังรวมถึงเพิ่มตัวเลือกให้แก่ผู้บริโภคด้วย เรียกได้ว่าอุตสาหกรรม Sharing Economy ช่วยให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ จากของที่มีอยู่แล้วได้ง่ายมากขึ้นกว่าเดิมมาก


ผลกระทบจากวิกฤต Covid-19

แม้รูปแบบการทำธุรกิจข้างต้น ดูจะตอบรับการมาของการใช้ชีวิตยุคนี้ได้ดีแค่ไหน แต่เมื่อเจอวิกฤตไม่คาดคิดอย่าง Covid-19 ผลกระทบที่ได้รับก็ไม่ได้น้อยไปกว่าการทำธุรกิจรูปแบบเดิม จริงอยู่ว่าเจ้าของแพลตฟอร์มไม่ได้ลงทุนเพื่อเป็นเจ้าของทรัพยากรในการให้บริการด้วยตัวเอง แต่ด้วยที่รายได้มาจากการ Sharing เมื่อไม่มีการแชร์ ก็ไม่มีรายได้เช่นกัน โดยเฉพาะการ Sharing ในรูปแบบที่ต้องเข้าไปอาศัยอยู่ในทรัพยากรนั้น เช่น การขนส่ง (Transportation) , การให้บริการบ้านเช่า (Home Sharing), Co-Working Space เป็นต้น โดยบริการรูปแบบข้างต้นที่ได้ยกตัวอย่างที่รูปแบบยอดนิยมที่มีการแข่งขันกันสูงมากในช่วง 8-9 ปี ที่ผ่านมา แต่เมื่อเจอมาตรการล็อคดาวน์ รวมถึงการรักษาระยะห่างทางสังคมจาก Covid-19 ก็ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างรุนแรง

ตัวอย่างเช่น Airbnb ที่เป็นผู้นำของธุรกิจแบบ Sharing Economy ในส่วนของที่พักอาศัย ที่เคยถูกมองว่าเป็น Disrupter ก็ถูก Disrupt เช่นกัน ในช่วงไม่ถึงปีแรกของวิกฤต Covid-19 Airbnb ได้ปรับลดพนักงานลงถึง 25% หรือประมาณ 1,900 คน จาก 7,500 คน และต้องระดมทุนกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อพยุงธุรกิจ ซึ่งทำให้มูลค่าบริษัทของ Airbnb ณ ตอนนั้นลดลงเหลือเพียง 18,000 ล้านเหรียญ ซึ่งลดลงเกือบครึ่งของมูลค่าของบริษัทในปี 2017 รวมถึงต้องหยุดทุกๆ กิจกรรมที่ไม่ได้มีความจำเป็นโดยตรงต่อธุรกิจหลัก


โอกาสหลังวิกฤต Covid-19

วิกฤต Covid-19 ก็คงเป็นเหมือนอีกบททดสอบที่เข้ามาสำหรับธุรกิจต่างๆ ธุรกิจที่สายป่านยาว มีการวางแผนวิกฤตที่ดี ปรับตัวได้ดี ก็จะสามารถอยู่ต่อได้ ส่วนธุรกิจที่มีสภาพคล่องต่ำกว่า ปรับตัวยาก ก็ได้ตายจากไป แต่ในวิกฤตก็ยังมีโอกาส ก่อนหน้านี้ Sharing Economy ได้กระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่รูปแบบ เช่น การขนส่งเดินทาง ที่พักอาศัย และ Coworking Space แต่เมื่อต้องปรับตัวเข้ากับวิกฤต Covid-19 จึงทำให้มีการคิด และการเติบโตของโมเดลใหม่ๆ สำหรับ Sharing Economy มากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น Laundry Sharing ของ Loopies Laundry แพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์คนไม่ชอบซักผ้ารีดผ้า โดยเราสามารถส่งผ้าของเราไปซักรีดกับคนที่มีอุปกรณ์ในการซักอบรีดได้ผ่านตัวแพลตฟอร์ม ซึ่งตอบโจทย์ทั้งคนที่ไม่อยากซักผ้าเอง หรือไม่ได้อยู่ใกล้ร้านซักอบรีด และพ่อบ้านแม่บ้านที่ต้องการหารายได้พิเศษที่บ้านอีกด้วย โดยทาง Loopies จะมีอบรบผู้สมัคร เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการซักผ้าที่ถูกต้องให้ด้วย หรือ Food Sharing จาก Too Good To Go ที่ออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์หลักอย่างการลดขยะอาหาร (Food Waste) โดยเป็นตัวกลางให้ร้านอาหารสามารถนำสินค้าที่ร้านที่ยังขายไม่หมดในแต่ละวัน มาขายต่อให้กับผู้บริโภคที่สนใจในราคาที่ถูก ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้จากอาหารที่ขายไม่หมดของร้าน ยังช่วยปริมาณขยะอาหารที่เกิดขึ้นจากร้านค้าได้อย่างมหาศาล ซึ่งโมเดลดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อ และมีการนำโมเดลไปใช้ต่อในอีกหลายประเทศด้วย

มากกว่านั้น ในภาพรวมเรายังเห็นได้ถึงการฟื้นตัวของ Sharing Economy และความเชื่อมั่นที่ยังมีอยู่จากนักลงทุน จากตัวเลขยอดจองที่พักจากสี่แพลตฟอร์มชั้นนำ Airbnb, Booking, Expedia Group and Tripadvisor จะเห็นว่าในปี 2021 มียอดการจองทั้งสิ้น 364 ล้านคืน ซึ่งเพิ่มขึ้น 34% จากยอดจอง 272 ล้านคืนในปี 2020 และก็มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นเรื่อยๆ จากการทำแบบสำรวจโดย Allianz Partners พบว่าชาวอเมริกา 46% มีแนวโน้มที่จะใช้ Sharing Economy สำหรับวันหยุดฤดูร้อนในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าในปีก่อนถึง 4%  สำหรับ Airbnb ที่ประสบปัญหาอย่างหนักในต้นวิกฤต Covid-19 ก็ได้พิสูจน์ตัวเองและแสดงให้เห็นถึงมุมมองทางบวกต่อวิกฤตจากนักลงทุน จากการที่เข้าตลาดหุ้นวันแรกในสิ้นปี 2020 ด้วยราคา 146 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น ซึ่งสูงกว่าราคา IPO ถึง 112% ซึ่ง ทำให้มูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 86,500 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก 18,000 ล้านเหรียญ ซึ่งปัจจุบันราคาของ Airbnb ก็ยังนับว่ามีมูลค่าสูงอยู่ที่ราวๆ 120 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น

ถึงจะเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับธุรกิจที่ไปไม่รอดในช่วงวิกฤต แต่ก็ทำให้หลายคนกลับมานั่งคิดทำการบ้าน ปรับตัว เพื่อหา Competitive Edge ของตัวเองในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น จนเกิดเป็นบริการที่หลากหลายให้กับผู้บริโภค และเชื่อว่าหลังจากนี้ Sharing Economy จะยังคงเป็นยังเติบโตต่อไปได้อีกมาก อันจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลืองที่เรากำลังเผชิญอยู่ในทุกภาคส่วนทีละนิดในไม่ช้า



เกี่ยวกับนักเขียน