THE GURU • CRYPTOCURRENCY

NFT ไม่ใช่แค่เรื่องศิลปะ เพลง - เกม - อสังหาฯ - การศึกษา ก็เป็น NFT ได้

บทความโดย: จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา

ทุกวันนี้ ถ้าได้ยินคำว่า NFT หลายคนก็น่าจะนึกถึงผลงานศิลปะดิจิทัลที่อยู่ในรูปแบบ NFT และถูกซื้อขายหรือประมูลกันบนแพลตฟอร์มที่รองรับ ซึ่งการนำ NFT ไปประยุกต์ใช้กับงานศิลปะถือเป็นอีกช่องทางสร้างรายได้ของเหล่าศิลปิน เพราะสามารถเข้าถึงตลาดดิจิทัลที่ใหญ่ยิ่งกว่าเดิม ผลงานของเหล่าศิลปินจึงมีโอกาสได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม NFT กับผลงานศิลปะถือเป็นแค่การประยุกต์ใช้รูปแบบหนึ่งเท่านั้น ยังมีการใช้ NFT ในรูปแบบอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากซึ่งเราจะมาดูตัวอย่างด้วยกันในบทความนี้ครับ

 

NFT คืออะไร?

ขอทบทวนเร็วๆ เผื่อท่านที่ยังไม่รู้ว่า NFT คืออะไรนะครับ โดย NFT ย่อมาจาก Non-fungible Token ที่แปลว่า “สินทรัพย์ที่ไม่สามารถทดแทนกันได้” เช่น รถยนต์ บ้าน ของสะสม เป็นต้น

NFT ตรงกันข้ามกับสินทรัพย์ประเภท Fungible ที่สามารถทดแทนกันได้ เช่น เงินบาท เงินดอลลาร์ หรือแม้แต่ Bitcoin ยกตัวอย่าง ถ้าให้เพื่อนยืมแบงค์ 100 บาทไป พอตอนคืน เพื่อนสามารถนำแบงค์ 100 บาทอีกใบมาคืนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นใบเดิมเสมอไป เพราะมันสามารถใช้ทดแทนกันได้ มูลค่าก็ยังคงเป็น 100 บาทเท่าเดิม

แต่ถ้าเป็นสินทรัพย์แบบ Non-fungible เช่น รถยนต์ ถ้าให้เพื่อนยืมรถไป แล้วเพื่อนเอารถคันอื่นมาคืน อันนี้ก็ไม่ได้จริงไหมครับ เพราะรถยนต์แต่ละคันมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อ รุ่น สี ฯลฯ ส่งผลให้แต่ละคันมีมูลค่าที่แตกต่างและไม่สามารถทดแทนกันได้

NFT เกิดขึ้นจากพื้นฐานที่กล่าวมานั่นเอง โดยเป็นการสร้างโทเคนขึ้นมาบนบล็อกเชน พร้อมระบุให้โทเคนนั้นเป็นตัวแทนของสินทรัพย์บางอย่าง และเนื่องจากเป็นโทเคนที่อยู่บนบล็อกเชน จึงได้คุณสมบัติด้านความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และกระจายศูนย์เหมือนกับสกุลเงินดิจิทัลอย่าง Bitcoin, Ether ฯลฯ นั่นเอง

 

NFT เป็นอะไรได้อีกบ้าง?

จากตัวอย่างที่อธิบายมาข้างต้นก็น่าจะเป็นพอนึกภาพออกกันแล้วว่า NFT สามารถเป็นอะไรได้อีกบ้าง ซึ่งอันที่จริง NFT สามารถเป็นไปได้กว้างมากๆ แต่เราจะมาดูตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งกันครับว่าระดับโลกเขานำ NFT มาใช้กับอะไรบ้าง

        1. เพลง อันที่จริงเพลงก็ถือว่าเป็นศิลปะรูปแบบหนึ่งเช่นกัน แต่อาจจะไม่ค่อยพบเห็นอยู่ในรูปแบบ NFT ได้บ่อยเท่ากับภาพวาด ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเพลงเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการมาของอินเทอร์เน็ตทำให้ผู้คนสามารถฟังเพลงจากที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อแผ่นซีดีมาเปิดกับเครื่องเล่นอีกต่อไป และเมื่อไม่สามารถทำรายได้จากการขายแผ่นซีดีได้มากเหมือนเมื่อก่อน บริษัทเพลงก็เลยต้องปรับตัวหันมาปล่อยเพลงให้ฟังกันแบบฟรีๆ หรือจับมือกับแพลตฟอร์มเพลงอย่าง Spotify หรือ JOOX แทน

       การขายซีดีเพื่อให้แฟน ๆ สะสมก็ยังคงมีอยู่บ้าง แต่อาจไม่ได้รับความนิยมเท่าเมื่อก่อน จึงเกิดแนวคิดนำอัลบั้มเพลงมาทำเป็น NFT แบบมีจำนวนจำกัด เพื่อให้แฟนๆ สามารถมาจับจองเป็นเจ้าของในรูปแบบดิจิทัลได้ ซึ่ง NFT อาจมาพร้อมกับสิทธิพิเศษอื่นๆ ตามที่บริษัทเพลงหรือศิลปินอยากให้มีด้วยก็ได้ เช่น สิทธิ์ในการ Meet & Greet กับศิลปิน หรือสิทธิ์ในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ MV และอีกมากมาย

      ยกตัวอย่างเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 ที่ผ่านมา แร็ปเปอร์ชื่อดังอย่าง Snoop Dogg ได้ขายอัลบั้มชื่อว่า Bacc on Death Row ของเขาในรูปแบบ NFT โดยมีรายงานว่าสามารถสร้างยอดขายสูงถึง 40 ล้านดอลลาร์ ภายในเวลาเพียง 5 วัน เนื่องจากการขายในรูปแบบดิจิทัลทำให้สามารถเข้าถึงแฟนๆ ได้ทั่วโลก ไม่ต้องเดินทางไปร้านค้าเพื่อต่อคิวแย่งกันซื้อ ยิ่งเป็นอัลบั้มที่มีจำนวนจำกัดเหล่าแฟนพันธุ์แท้จึงรีบหามาครอบครองกันยกใหญ่

 


 

       2. เกมไอเทม คนวัยทำงานหรือวัยรุ่นสมัยนี้น่าจะคุ้นเคยกับการเล่นเกมออนไลน์กันดี อย่างเมื่อก่อน เกม Ragnarok Online ที่ผู้เล่นสามารถนำไอเทมในเกม (Game item) ไม่ว่าจะเป็น อาวุธ ชุดเกราะ สัตว์เลี้ยง และอื่นๆ มาตั้งร้านซื้อขายกัน โดยมีสกุลเงินในเกมเป็นสื่อกลางสำหรับแลกเปลี่ยน

       ถ้านำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ ไอเทมในเกมเหล่านี้สามารถทำเป็น NFT ได้ โดยปัจจุบันเกมที่ทำแบบนี้นิยมเรียกกันว่าเกมบล็อกเชน หรือบางครั้งก็เรียกว่าเกม Play-to-Earn และ GameFi หากผู้เล่นเล่นเกมและได้ไอเทมในเกมมา ผู้เล่นสามารถใช้ไอเทมนั้นเพื่อทำให้เราเล่นเกมได้เก่งขึ้นและได้รางวัลมากขึ้น หรือนำไอเทมไปแลกเปลี่ยนเป็นโทเคนผ่านบล็อกเชนก็ได้ เมื่อผู้เล่นขายไอเทมเป็นโทเคนแล้วก็สามารถโอนโทเคนไปยัง Exchange เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทอีกที

       ตัวอย่างเกมบล็อกเชน ได้แก่ Morning Moon Village ที่สร้างขึ้นบน Bitkub Chain เป็นเกมแนวปลูกผักทำฟาร์ม โดยผู้เล่นสามารถเริ่มเล่นเกมนี้ได้ฟรี เพียงเชื่อมต่อกับกระเป๋า Bitkub NEXT ซึ่งรูปแบบการเล่นนอกจากผู้เล่นสามารถปลูกผักและนำผักไปขายเพื่อแลกเป็นโทเคน LUMI แล้ว ผู้เล่นอาจได้รับไอเทมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ทำสวน สัตว์เลี้ยง หรือเครื่องประดับ ซึ่งเป็น NFT ทั้งหมด ซึ่งผู้เล่นสามารถนำไอเทมเหล่านี้ไปขาย หรือจะใช้เองเพื่อให้ทำสวนได้ดีขึ้นและเพิ่มผลตอบแทนได้


 

       3. อสังหาริมทรัพย์ อสังหาฯ อย่างบ้าน คอนโดฯ ที่ดิน ก็สามารถเป็น NFT ได้เช่นกัน โดยก่อนนี้เราอาจเคยเห็นข่าวเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินเสมือน (Virtual Land) ในเกม The Sandbox หรือ Decentraland แต่อสังหาฯ ในโลกแห่งความเป็นจริงก็สามารถทำให้อยู่ในรูปแบบ NFT ได้เช่นกัน โดยจะเป็นการนำ NFT มาผูกกับอสังหาฯ

       การทำเช่นนี้นอกจากจะสามารถบันทึกเป็นข้อมูลดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยแล้ว ประวัติของอสังหาฯก็สามารถตรวจสอบผ่านบล็อกเชนได้ เช่น ดูว่าใครเคยเป็นเจ้าของมาก่อน เคยมีประวัติอะไรบ้าง ทำให้การซื้อขายสามารถเป็นไปได้สะดวกยิ่งขึ้นและโปร่งใส

       มีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา โดยมีบ้าน 4 ห้องนอน หลังหนึ่ง ถูกประมูลออกไปเป็นมูลค่ากว่า 653,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 22 ล้านบาท) จากผู้ร่วมประมูลประมาณ 50 คน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดเกิดขึ้นบนบล็อกเชน Ethereum โดยผู้ชนะการประมูลได้รับ NFT โอนเข้ากระเป๋าเพื่อแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของบ้าน การประมูลนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 ที่ผ่านมานี้เอง และอาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการนำ NFT มาใช้กับอสังหาริมทรัพย์ในโลกแห่งความจริง

 

 

       4. การศึกษา ไม่ใช่การนำหลักสูตรที่เกี่ยวข้องมาสอนในสถาบันเท่านั้น แต่ NFT สามารถปฏิรูประบบใบปริญญาได้เลย เช่น การทำให้ใบปริญญาหรือประกาศนียบัตรต่างๆ อยู่ในรูปแบบ NFT และเก็บรักษาไว้บนบล็อกเชน การทำเช่นนี้นอกจากไม่ต้องเก็บรักษาในรูปแบบกระดาษที่อาจผุพังได้ง่ายแล้ว ยังสามารถป้องกันการปลอมใบปริญญาได้ด้วย เพราะประวัติการศึกษาของนักเรียนจะอยู่บนบล็อกเชนที่สามารถตรวจสอบได้

       แน่นอนว่าก็มีตัวอย่างเกิดขึ้นแล้ว นั่นคือ มหาวิทยาลัย Hoseo ในเกาหลีใต้ ที่ออกใบปริญญาในรูปแบบ NFT ให้กับนักศึกษา 2,830 คน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 โดยทางมหาวิทยาลัยระบุว่า ระบบใบปริญญาแบบเดิมที่อยู่ในรูปแบบกระดาษสามารถถูกปลอมแปลงหรือแก้ไขได้ง่าย การทำให้อยู่ในรูปแบบ NFT นอกจากจะป้องกันปัญหาดังกล่าวได้แล้ว การอยู่ในรูปแบบดิจิทัลยังสามารถช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

       ประเทศไทยเองก็มีเช่นกัน โดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เป็นมหาวิทยาลัยแรกของไทยที่มอบปริญญาบัตร NFT ให้กับนักศึกษา จึงนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่คนไทยรุ่นใหม่มีความรู้ก้าวทันเทคโนโลยีไม่แพ้ชาติใดในโลกเลยครับ

 

 

สรุป

ประโยชน์ของ NFT ที่ยกตัวอย่างมาเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายอุตสาหกรรมที่สามารถนำ NFT มาประยุกต์ใช้ได้อีก เช่นการนำ NFT ไปใช้การกับการออกเอกสารทางราชการหรือทางการแพทย์ การใช้ NFT แทนการออกตั๋วเครื่องบิน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทั้ง NFT และบล็อกเชนถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ การศึกษาทำความเข้าใจและความร่วมมือจากทั้งประชาชนเอง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ดี มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคตอันใกล้นี้ได้อย่างเข้มแข็งครับ ทุกท่านสามารถศึกษาติดตามข่าวสารเกี่ยวกับบล็อกเชนและ NFT ได้ที่เพจ Bitkub Chain และ Bitkub NFT นะครับ

 

อ้างอิง Financial Times, Blockworks, Crypto.news

เกี่ยวกับนักเขียน

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านคริปโตฯ เทคโนโลยีบล็อกเชน

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน