THE GURU • CRYPTOCURRENCY

ประเมินมูลค่าเหรียญ DeFi ในมุมของ Value Investor

บทความโดย: ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน

Decentralized Finance หรือ DeFi เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมทางการเงินบนโลกบล็อกเชนที่จะมาช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้อย่างเท่าเทียมโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง ขอเเค่มีอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ทำให้ DeFi เป็นแหล่งของผลิตภัณฑ์การลงทุนรูปใหม่ๆ นอกเหนือจากการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบดั้งเดิม อย่างพันธบัตร หุ้น และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการลงทุนใน DeFi ส่วนใหญ่จะทำลงทุนผ่านการซื้อเหรียญของแพลตฟอร์มนั้น ไม่ว่าจะซื้อเพื่อถือไว้อย่างเดียว, ซื้อเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น หรือนำไปใช้ประโยชน์บนแพลตฟอร์มก็ตาม แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเหรียญของแพลตฟอร์มนั้น มีคุณค่ามากพอที่ทำให้เราสามารถถือได้อย่างสบายใจ เพราะ DeFi ไม่ได้มีโครงสร้างธุรกิจแบบดั้งเดิม ที่สามารถใช้การประเมินพื้นฐานเหมือนกับการวิเคราะห์หุ้นได้อย่างตรงไปตรงมา บทความนี้เราจะมาพูดถึงวิธีการประเมินมูลค่าเหรียญของ DeFi ด้วยวิธีการวิเคราะห์เชิงพื้นฐานเบื้องต้น เพื่อประเมินศักยภาพของแพลตฟอร์มว่าสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในอนาคตหรือไม่?



 

ปัจจัยสำคัญในการวิเคราะห์ DeFi

 

ในการประเมินมูลค่าในเชิงพื้นฐานจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินดั้งเดิม อย่างหุ้น โดยมากนักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor) จะวิเคราะห์งบการเงิน เพื่อประเมินศักยภาพของบริษัทในอนาคต โดยงบการเงินจะช่วยแสดงรายละเอียดให้เห็นถึงสินทรัพย์, สัดส่วนผู้ถือหุ้น, ค่าใช้จ่ายของบริษัท, กระแสเงินสดของการดำเนินธุรกิจ, กำไรขาดทุน ว่าอยู่ในโซนที่เป็นดี หรือใกล้วิกฤต ซึ่งถ้างบการเงินเล่าให้เกิดเรื่องราวในเชิงบวก เช่น ไตรมาส 3 ของหุ้น AOT มีกำไรสุทธิ บวกถึง 60% เทียบกับปีที่แล้ว และบวกถึง 35% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นต้น เรื่องราวเหล่านี้จะสะท้อนไปยังราคาหุ้น AOT ในตอนนั้นทันที และยิ่งสามารถคงระดับเรื่องราวเชิงบวกจากงบแบบนี้ไว้ได้แล้ว ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่ราคาหุ้นจะไม่ขึ้น

 

แต่กับ DeFi เราไม่มีข้อมูลจากงบการเงินแบบหุ้นไว้ใช้ในการประเมิน ฉะนั้นปัจจัยที่พอจะสามารถใช้ในการเล่าให้เห็นถึงศักยภาพของแพลตฟอร์มเหล่านั้นว่าดีหรือไม่ ผู้เขียนได้รวบรวมปัจจัยสำคัญเบื้องต้นในการพิจารณาดังต่อไปนี้

 

Project Detail : ถือเป็นประตูด่านเเรกสำหรับการประเมินมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัล เราจะต้องทราบก่อนว่าโปรเจกต์ DeFi ที่กำลังจะลงทุน เขากำลังสร้างอะไร เพื่อแก้ปัญหาสิ่งไหน ด้วยวิธีการอะไร จากการศึกษาผ่าน Whitepaper

 

Team : ถ้าเรารู้ว่าทีมผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์เป็นใคร มีประวัติและผลงานที่เกี่ยวข้องมามากน้อยขนาดไหน ทักษะในการเขียนโปรแกรมเป็นอย่างไร มีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์การเงินที่ดีหรือไม่ รวมถึงระดับความจริงใจ ลักษณะนิสัย และความน่าเชื่อถือจากการออกสื่อในแต่ละรอบ จะช่วยทำให้เราสามารถประเมินศักยภาพของโปรเจกต์ได้ เปรียบเทียบทีม DeFi ได้กับการทำสตาร์ทอัพรูปแบบหนึ่ง การมีทีมที่เก่งและมีการจัดการที่ดี ย่อมสามารถขับเคลื่อนแพลตฟอร์มและสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพออกมาได้นั่นเอง

 

Tokenomics : หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญอันดับต้นของการประเมิน DeFi คือ เศรษฐศาสตร์โทเคน ซึ่งการลงทุน DeFi เราทำได้จากการลงทุนผ่านเหรียญหรือโทเคนของแพลตฟอร์ม โดยต้องยอมรับร่วมกันอย่างหนึ่งว่าเหรียญหรือโทเคนไม่เหมือนกับหุ้น เพราะ DeFi ไม่ใช่ธุรกิจ เราไม่ได้ซื้อโทเคนแล้วสามารถเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มได้ตามสัดส่วนของโทเคนที่เราถือ ฉะนั้น Tokenomics นี้เองจะเป็นตัวบอกว่าโทเคนของเรา ถูกสร้างขึ้นได้อย่างไร, มีคุณประโยชน์ใช้ทำอะไรได้บ้าง, มี Market Size ใหญ่แค่ไหน, มีอุปทานของเหรียญทั้งหมดที่คาดว่าจะถูกปล่อยออกมาในระบบเท่าไหร่, มีมูลค่ามาจากการควบคุมกลไกในเชิงปริมาณแบบไหนตามหลักอุปสงค์และอุปทาน, อัตราการเฟ้อของเหรียญมีเท่าไหร่ สุดท้ายเหรียญถูกแจกจ่ายไปยังผู้ถือส่วนไหนบ้าง และมีการเปิดระบบขายโทเคนแบบยุติธรรมหรือไม่

 

Community : ชุมชนผู้ที่สนใจ และคอยผลักดันโปรเจกต์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลบนโลกโซเชียล, การเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบระบบ (Testnet), ช่วยตรวจตัวคำสั่งของสัญญาอัจฉิรยะ (Audit code) รวมไปถึงการเสนอแนวคิดที่น่าจะเป็นประโยชน์ให้กับแพลตฟอร์ม ซึ่งยิ่งชุมชนของโปรเจกต์สามารถแสดงความเห็นที่เป็นประโยชน์ และสื่อไปยังคนข้างนอกได้ดีเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสร้างผลในเชิงบวกกับโปรเจกต์มากเท่านั้น แต่หากตรงกันข้ามก็อาจจะกลายเป็นหายนะของโปรเจกต์ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะชุมชนที่เชียร์โทเคนหรือเหรียญในเชิงราคาอย่างเดียวแบบนี้อาจจะต้องระวังเป็นพิเศษ

 

Crypto Metrics : มาตรวัดที่ถูกใช้กันทั่วไปบนโลก DeFi และคริปโตเคอร์เรนซี เพื่อใช้เป็นตัวสะท้อนการเติบโตของแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Market Capitalisation, Volume Trade 24hr, Total-Value-Locked (TVL), Price, Active Address, จำนวนผู้ใช้ (Number of Users), All-time-high, All-time-low เป็นต้น

 

Business Model : อีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ส่งผลถึงความยั่งยืนของแพลตฟอร์ม คือ โมเดลธุรกิจ โดยเราต้องเข้าใจว่า DeFi นี้มีการสร้างผลิตภัณฑ์ที่แก้ปัญหาให้กับโลกการเงินจริงหรือไม่, สร้างรายได้เข้าแพลตฟอร์มด้วยวิธีไหน, มีการเติบโตอย่างยั่งยืนหรือไม่, มีต้นทุน รวมถึงค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นในระบบไหม และมีการชำระค่าใช้จ่ายพวกนี้ด้วยวิธีการไหน การที่เราเข้าใจ Business Model ของโปรเจกต์ จะช่วยให้เรารู้ว่าโปรเจกต์นั้นๆ ทำอะไร เห็นถึงจุดอ่อน จุดแข็ง และความยั่งยืนของโปรเจกต์ได้ 

 

Use Case : ในที่นี้จะเน้นไปยังการประยุกต์ไปใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมจริง (Real Sector) ซึ่งมันจะสอดคล้องกับ Business Model ด้านบน ที่จะต้องถูกออกแบบมาให้สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงได้แต่แรกด้วย เช่น แพลตฟอร์มที่เคลมว่ามีค่าธรรมเนียมที่ถูก แต่เมื่อเทียบกับอัตราการใช้บนระบบการเงินแบบดั้งเดิมกลับแพงกว่า ก็ไม่สามารถสร้างกรณีใช้งานที่ดีกว่าโลกการเงินปัจจุบันได้ หรือแม้แต่แพลตฟอร์มที่เคลมเรื่องความสะดวกสบายผ่านการใช้สกุลเงินดิจิทัลให้สามารถใช้ได้ในชีวิตจริง ก็ต้องมาดูว่าทำได้ดีกว่าของเดิมอย่างธนาคารที่ทำอยู่หรือเปล่า เป็นต้น ยิ่งแพลตฟอร์มมีอัตราการแจกรีวอร์ดเพื่อใช้เป็นแรงจูงใจลดลง แต่อัตราผู้ใช้มากขึ้นอย่างมีนัยยะ แพลตฟอร์มก็จะสามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนแน่นอน

 

Holder Benefits : ประโยชน์จากการถือเหรียญมีอะไรบ้าง ส่วนใหญ่ที่พบในตลาดจะมีสิทธิในการโหวตเพื่อกำหนดทิศทางของแพลตฟอร์ม, ให้สิทธิ์พิเศษเวลาใช้งานแพลตฟอร์ม เช่น ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมที่ถูกลง เป็นต้น, การแจกรีวอร์ดจากกำไรที่เกิดขึ้นจากโมเดลธุรกิจของแพลตฟอร์ม คล้ายกับปันผลหุ้น (ปัจจุบันยังไม่มีรูปแบบนี้), Buyback Mechanism เป็นการนำกำไรที่ได้จากการทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มไปซื้อเหรียญคืนในตลาด ไม่ว่าจะเพื่อใช้ในการเผาเหรียญในระบบเพื่อลดอุปทานของเหรียญ หรือเพื่อซื้อไปแจกเป็นรีวอร์ดให้กับผู้ใช้ที่กำไร staking อยู่ เป็นต้น ซึ่งผลประโยชน์เหล่านี้ต่างเป็นผลดีและจูงใจให้นักลงทุนอยากจะซื้อเหรียญ และเข้ามาใช้ระบบมากขึ้นนั่นเอง

 

ทั้งหมดนี้เป็นหลักการเบื้องต้นในวิเคราะห์แพลตฟอร์ม DeFi ด้วยวิธีการวิเคราะห์เชิงปัจจัยพื้นฐาน อย่างไรก็ตามยังมีข้อมูลอีกหลายมุมที่นักลงทุนจำเป็นต้องศึกษาโดยพิจารณาจากรูปแบบโปรโตคอลของแพลตฟอร์ม รวมไปถึงคู่แข่งที่ทำโปรโตคอลที่มีลักษณะคล้ายกันประกอบเพื่อช่วยในการตัดสินใจด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะสามารถใช้ต่อยอดเพื่อศึกษามุมมองเชิงลึกอื่นๆ ได้ไม่มากก็น้อย

 


References :

 

[1] The DeFi Economyst 1.0: Course A

[2] Tokenomics

[3] How to DYOR

[4] How to evaluate DeFi

 

 

เกี่ยวกับนักเขียน

ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน Co-Founder และ Advisor ของ Forward - Decentralized Derivatives Exchange และ Forward Labs - Blockchain technology labs

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน