THE GURU • CRYPTOCURRENCY

Asset Tokenization อนาคตใหม่ของตลาดการเงิน?

บทความโดย: ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน

ถ้าพูดถึงสินทรัพย์ดิจิทัล สินทรัพย์แรกที่แว้บเข้ามาในหัวใครหลายๆ คนคงหนีไม่พ้น Bitcoin ที่เป็นสินทรัพย์ที่สร้างอยู่บนเทคโนโลยีที่เรียกว่า บล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแบบกระจายศูนย์ อันเป็นตัวจุดประกายให้เกิดการปฎิวัติการเงินและการลงทุนทั้งในกระบวนการออกสินทรัพย์ การจัดการ และการทำธุรกรรมทั่วโลก ซึ่งบล็อกเชนนี้ ถูกพัฒนาจนเรียกได้ว่ามีศักยภาพมากพอที่เปลี่ยนแปลงทิศทางในการลงทุนในสินทรัพย์พวก physical asset ได้เลย ซึ่งกระบวนนั้นถูกเรียกว่า Asset Tokenization

Asset Tokenization ถ้าให้พูดภาษามนุษย์ ก็คือ วิธีการแบ่งความเป็นเจ้าของสินทรัพย์จำพวก physical ให้อยู่ในรูปแบบของ digital token ซึ่งสามารถใช้โอนแลกเปลี่ยนความเป็นเจ้าของกันได้ง่ายภายใต้ระบบบล็อกเชน และไม่จำเป็นต้องผ่านคนกลาง โดยจุดประสงค์หลักเลย คือ การสร้างสภาพคล่องให้กับสินทรัพย์นั้นๆ ผ่านการแบ่งย่อยในรูปแบบของ Token สมมุติว่าเรามีสินทรัพย์อย่างตึกใบหยกที่เป็นตึกประกอบไปด้วยหลายห้อง และหลายชั้น โดยที่ในขณะนั้นเองเราต้องการเงินสดส่วนหนึ่งเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการธุรกิจส่วนตัว แต่เราดันไม่อยากจะขายทั้งตึกทิ้ง วิธีการดังกล่าวจะช่วยให้เราสร้างสภาพคล่องของสินทรัพย์โดยการแบ่งขายในรูปแบบของ Token ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องขายทั้งหมด แค่ขายส่วนหนึ่งและมอบความเป็นเจ้าของตึกให้ผู้ซื้อตามสัดส่วน Token ที่เขาถืออยู่ ผู้ที่ถือ Token เหล่านี้อาจจะได้บางส่วนจากผลประกอบการของตึกใบหยก หรือสามารถใช้ Token เข้าไปรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น สิทธิ์ในการพักฟรี หรือส่วนลดในการรับประทานอาหาร เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า Asset Tokenization สามารถประยุกต์ใช้กับสินทรัพย์ได้หลากหลายมากๆ เช่น การบริการ, งานศิลปะ, ทีมกีฬา, สินค้าโภคภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งตัวกระบวนการเองยังช่วยคนทั่วไปสามารถเข้าถึงสินทรัพย์ในเชิงการลงทุนเหล่านี้ได้ง่าย อีกทั้งยังยุติธรรม มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง สามารถตรวจสอบได้ ทำธุรกรรมได้สะดวก แถมสิทธิ์ยังอยู่ถาวรตราบเท่าที่ยังถือ Token โดย Token สามารถถูกแบ่งย่อยได้อีกหลายประเภท ขึ้นอยู่กับลักษณะของสินทรัพย์และสิทธิประโยชน์ เช่น Utility Token, Security Token, Investment Token และ NFT ซึ่งเราจะมาพูดถึงความแตกต่างของแต่ละ Token ในบทความต่อๆ ไป

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่ากฏหมายของหลายๆ ประเทศมีกฏระเบียบที่ไม่ชัดเจนในการทำ Asset Tokenization และในบางประเทศ อย่างประเทศไทย การทำ Tokenization มีข้อจำกัดเยอะมาก ในปัจจุบันโปรเจกต์หรือสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของ Token ได้นั้น จำเป็นต้องเป็นโปรเจกต์หรือทรัพย์สินที่สร้างเสร็จแล้ว มีรายได้ค่อนข้างคงที่ มั่นคง เพื่อปกป้องนักลงทุน ซึ่งด้วยข้อจำกัดต่างๆ เหล่านั้น ส่งผลให้การทำ Asset Tokenization เป็นไปด้วยความล่าช้า และใช้งบประมาณที่ค่อนข้างสูง เพราะต้องผ่านหลายกระบวนการจนเกินความจำเป็น ทั้งยังเป็นการจำกัดประเภทของสินทรัพย์ที่สามารถนำมาลงทุนได้ รวมถึงอาจเป็นการปิดกั้นโอกาสของโปรเจกต์ใหม่ๆ ที่มีโอกาสในการเติบโตสูง แต่มีเงินทุนจำกัดอีกด้วย

แน่นอนว่าไม่มีกระบวนการไหนที่มีแต่ข้อดีไปซะหมด ทุกอย่างย่อมมีข้อเสียและข้อจำกัดในตัวมันเอง อยู่ที่ปัจจุบันเราสามารถนำข้อดีของกระบวนการดังกล่าวมาพัฒนาและปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้มากขนาดไหน Asset Tokenization ก็เช่นกัน แต่เราก็มองเห็นข้อดีที่มากมายที่สามารถเกิดขึ้นได้หากมีการนำมาปรับใช้อย่างเหมาะสม แม้ว่าอาจจะกินเวลานานหลายปีกว่าจะสามารถทำให้เกิดการยอมรับได้ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น เกมการเงินของเราจะถูกเปลี่ยนไปตลอดกาลอย่างแน่นอน

เกี่ยวกับนักเขียน

ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน Co-Founder และ Advisor ของ Forward - Decentralized Derivatives Exchange และ Forward Labs - Blockchain technology labs

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน