WEALTH • STOCK - DERIVATIVES

บทเรียนหุ้น มอร์ รีเทิร์น (MORE) กฏเกณฑ์ที่ควรปรับปรุง

เหตุการณ์หุ้น MORE หรือ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) ที่มีการซื้อขายผิดปกติเมื่อวันที่ 10-11 พฤศจิกายน 2565 ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับวงการตลาดหุ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นวงกว้างไม่ใช่แค่เพียงแค่บริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์เท่านั้น โดยกระทบไปยังกลุ่มนักลงทุนที่ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ลงทุนในหุ้น MORE  เท่านั้น แต่เป็นนักลงทุนทั้งหมดในตลาดหุ้น และที่สำคัญคือ ผลกระทบด้านความเชื่อมั่น

สำหรับผลกระทบด้านความเชื่อมั่น ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่สามารถรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรูปแบบนี้ได้อย่างไรบ้าง เช่น ระบบการชำระราคาค่าซื้อและค่าขายหลักทรัพย์ (เคลียริ่ง)   เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (Net Capital Rule : NCR) ของบริษัทหลักทรัพย์มีเพียงพอหรือไม่  ตลอดจนระบบการตรวจสอบความผิดปกติในการซื้อขายสามารถทำได้รวดเร็วและเพียงพอหรือไม่

 

เกิดอะไรขึ้นกับหุ้น MORE

เหตุการณ์หุ้น MORE อ้างอิงข้อมูลจากเอกสารแถลงข่าวของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (สมาคมบล.) พบพฤติกรรมการซื้อขายที่ผิดปกติ โดยในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 พบว่าสภาพการซื้อขายผิดปกติ ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่เปิดตลาด +4.3% จากราคาปิดในวันก่อนหน้า ด้วยมูลค่าการซื้อขายทั้งวันที่สูงมากถึง 7,143 ล้านบาท (เฉลี่ย 30 วันก่อนหน้าอยู่ที่เพียง 360 ล้านบาท) ทั้งนี้ในช่วงที่เปิดตลาด มีปริมาณการซื้อขายสูงถึง 1,500 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ เกือบ 4,300 ล้านบาท

ขณะที่พบลักษณะของการส่งคำสั่งซื้อขายที่ผิดปกติ คือ ฝั่งซื้อ พบว่า เป็นการส่งคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อเพียง 1 รายผ่านบริษัทสมาชิกหลายแห่งที่ราคา 2.90 บาท ส่วนฝั่งขายพบว่ามีการส่งคำสั่งขายเป็นจำนวนมากจากผู้ขายหลายรายที่ระดับราคาใกล้เคียงกับราคาเสนอซื้อ โดยมีจำนวนที่สั่งขายตั้งแต่ประมาณ 70 ล้านหุ้นต่อราย ไปจนถึงประมาณ 600 ล้านหุ้นต่อราย

ทันทีเมื่อเปิดตลาด ได้เกิดการจับคู่ซื้อขายกับผู้ขายหลายรายผ่านบริษัทสมาชิก (โบรกเกอร์) หลายแห่ง หลังจากนั้น ภายในไม่ถึง 20 นาทีหลังเปิดตลาด ราคาได้ทยอยปรับตัวลงจนไปต่ำสุดที่ฟลอร์ ที่ราคา 1.95 บาท และปิดตลาดที่ราคาดังกล่าว ขณะที่ฝ่ายกำกับการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แจ้งเตือนโบรกเกอร์ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น

ถัดมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 หลังเปิดการซื้อขาย ราคาหลักทรัพย์ MORE เปิดตลาดที่ราคาฟลอร์ในทันทีที่ราคา 1.37 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขายเบาบาง โดยลดเหลือเพียง 134 ล้านบาท จากกว่า 7,000 ล้านบาทในวันก่อนหน้า

การดำเนินการร่วมกันของโบรกเกอร์ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย  และตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นมา ได้มีการทำงานร่วมกันระหว่างโบรกเกอร์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการรวบรวมข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE ที่เกิดขึ้นในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ทั้งหมด เพื่อที่จะร่วมกันทำการตรวจสอบธุรกรรมที่ต้องสงสัย

ภากร  ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า จากการตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแล ได้พบธุรกรรมที่ต้องสงสัย สำหรับธุรกรรมที่ได้ตรวจสอบแล้ว หากไม่พบความผิดปกติ โบรกเกอร์ก็ได้ดำเนินการจ่ายเงินให้แก่ลูกค้าไปแล้ว ส่วนธุรกรรมที่พบความผิดปกติ โบรกเกอร์ก็จำเป็นที่จะต้องทำการตรวจสอบลูกค้าอย่างเข้มข้น และได้มีการระงับการทำธุรกรรมในบัญชีดังกล่าวของลูกค้าระหว่างที่ทำการตรวจสอบ ซึ่งเป็นหน้าที่ของโบรกเกอร์ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  

ตำรวจ-ปปง. ผนึกตรวจสอบ อายัดบัญชีเทรดหุ้น

เหตุการณ์หุ้น MORE หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการประสานงานกันอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการประสานกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อให้เข้ามาทำการสอบสวน ก็ได้มีความคืบหน้าเป็นอย่างดี

เทพสุ บวรโชติดารา รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า ตามที่สำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว รายนายอภิมุข บำรุงวงศ์ (หนึ่งในผู้ถือหุ้น MORE ) กับพวก ซึ่งมีพฤติการณ์กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 จำนวน 34 รายการ (เงินหรือหลักทรัพย์ที่ซื้อต่อเนื่องจากเงินที่ได้จากการขายหุ้น MORE หรือ MORE-R) รวมมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 5,300 ล้านบาท พร้อมดอกผล มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน คือ นับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 นั้น

จากการสืบสวนสอบสวนขยายผลเพื่อดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดรวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ทั้งหมด พบว่า นายอภิมุข กับพวก เป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือมีสิทธิครอบครองในทรัพย์สินเพิ่มเติม สำนักงาน ปปง.จึงมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว (เพิ่มเติม) จำนวน 2 รายการซึ่งเป็นทรัพย์สินประเภทเงินหรือหลักทรัพย์ที่ซื้อต่อเนื่องจากเงินที่ได้จากการขายหุ้น MORE หรือ MORE-R รวมมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 19 ล้านบาท พร้อมดอกผล มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน คือ นับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566ในภาพรวมสำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ไว้ชั่วคราวในรายคดีนี้ 2 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 36 รายการ รวมมูลค่าประมาณ 5,319 ล้านบาท

           

กรณีหุ้น MORE มี 3 โจทย์ให้ตรึกตรอง

ด้านหน่วยงานกำกับตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดย รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ กล่าวว่า หลังจากเกิดกรณีการซื้อขายหุ้น MORE ที่ผิดปกติ ก.ล.ต. ถือว่าเรื่องนี้เป็นกรณีเร่งด่วน จึงได้ร่วมประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์ ฯ เพื่อตรวจสอบโบรกเกอร์ นอกเหนือจาก บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย เวลท์ 

นอกจากนี้ ก.ล.ต.ได้ตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจ เพื่อเป็นศูนย์กลางการตรวจสอบให้เกิดความรวดเร็ว เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีผลกระทบในวงกว้าง โดยได้มีการประสานงานกับกองบัญชาการตรวจสอบสวนกลาง และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) โดยมีผู้ช่วยเลขาธิการผ่านกฎหมาย ก.ล.ต. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า มี 3 โจทย์ใหญ่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการที่สืบเนื่องจากการซื้อขายหุ้น MORE ที่ผิดปกติ ประกอบด้วย 1. กรณีที่เกิดขึ้นเป็นธรรมหรือไม่ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ แยกจากเรื่องฉ้อโกงที่เป็นไปตามกฎหมายอาญา 2. บริษัทหลักทรัพย์ และ ตลาดหลักทรัพย์ฯ  ได้มีการปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ของตนเองตามกติกาหรือไม่อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาทาง ก.ล.ต. ได้มีการเข้าไปสอบถามพูดคุยกับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง และ 3. ก.ล.ต. ได้มีการพูดคุยกับตลาดหลักทรัพย์ฯ  เกี่ยวกับคุณภาพของหุ้น โดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็ก

ในด้านการกำกับดูแลของผู้ประกอบการธุรกิจหลักทรัพย์นั้น ก.ล.ต. มีการดูแลอยู่ทั้งหมด 3 มิติดังนี้ 1. ความมั่นคงทางด้านฐานะทางการเงิน  2. บุคลากร โดยเน้นไปยังกรรมการ ผู้บริหาร และผู้ที่ทำหน้าที่สำคัญๆ อาทิ ผู้แนะนำการลงทุน (IC) เป็นต้น  3. ระบบงาน ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับ บล.เอเชีย เวลท์ โดยมีส่วนงานที่สำคัญคือการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า

ทั้งนี้ กรณีของบล.เอเชีย เวลท์ ได้นำเงินของลูกค้าไปชำระเป็นค่าซื้อหุ้น MORE กับสำนักหักบัญชี โดยที่ลูกค้าไม่ได้มีคำสั่งหรือยินยอมให้ดำเนินการดังกล่าว ด้วยเงิน 157.99 ล้านบาท ขณะที่ก.ล.ต. ออกคำสั่งให้ บล.เอเชีย เวลท์ ระงับการดำเนินธุรกิจทุกประเภทชั่วคราว เนื่องจากดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) ต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งเกิดจากการได้รับความเสียหายที่สืบเนื่องจากการซื้อขายหุ้น MORE ที่ผิดปกติ ทำให้เงินกองทุนลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ติดต่อกัน 5 วันทำการ ในเบื้องต้นก.ล.ต.คาดว่าจะมีลูกค้าประมาณ 5,300 ราย ที่ได้รับผลกระทบ และคาดว่ามีทรัพย์สินที่ลูกค้าฝากไว้ประมาณ 300 ล้านบาท ที่จะต้องโอนย้ายไปยังโบรกเกอร์รายอื่น

 

บทเรียนจาก MORE จะนำไปสู่การแก้ไขอะไรบ้าง 

เสียงสะท้อนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และสมาคมบล. กับเหตุการณ์ซื้อขายผิดปกติของหุ้น MORE ในเบื้องต้นจะมีแนวทางการปรับปรุงกฏระเบียบต่าง ๆ เช่น อาจจะมีการตรวจสอบเครดิตบูโรของนักลงทุนที่เปิดบัญชีซื้อขายหุ้น และการทบวนเรื่องสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จิ้นโลน) ที่เรื่องนี้กล่าวโดยภากร  

ด้าน พิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า เรื่องกฎเกณฑ์ของ บล.ที่จะพัฒนาหลังจากนี้มี 2 เรื่องหลักๆ ได้แก่ 1.การพิจารณาวงเงินกู้ยืมให้แก่ลูกค้าว่าควรเป็นอย่างไร และ 2.อาจจะต้องมีตัวกลางหรือระบบกลางที่จะสามารถให้ข้อมูลวงเงินของลูกค้าโบรกเกอร์แต่ละรายหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องรอการพิจารณาร่วมกันอีกรอบว่ามีความจำเป็นหรือไม่

 

ทำความรู้จัก MORE ให้ถ่องแท้

บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ชื่อเดิม คือ บริษัท ดีเอ็นเอ 2002 จำกัด (มหาชน) หรือ DNA ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2555 ส่วนชื่อใหม่ (MORE ) เปลี่ยนเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2562 ปัจจุบันนายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งจำนวน 1,547 ล้านหุ้น หรือสัดส่วน 23.69%

ปัจจุบัน MORE  ประกอบธุรกิจ  3 กลุ่มหลัก 1. ธุรกิจจัดจำหน่ายอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับพลังงานทดแทน 2. ธุรกิจวางระบบน้ำประปาเพื่อบริหารจัดการน้ำประปาบนเกาะเสม็ด ซึ่งดำเนินการและบริหารจัดการโดยบริษัทย่อยคือ บริษัท เสม็ด ยูทิลิตี้ส์ จำกัด  และ 3. ธุรกิจด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ดำเนินการโดยบริษัทย่อยคือ บริษัท มอร์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ชื่อเดิม คือ บริษัท ดีเอ็นเอ เรฟโวลูชั่น จำกัด)

ส่วนบริษัท ดีเอ็นเอ 2002 จำกัด  (มหาชน) อ้างอิงข้อมูลจากรายงานประจำปี 2564 ของ MORE  จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลขึ้นเมื่อ 19 ปีก่อน หรือ 4 เมษายน 2546 ภายใต้ชื่อ บริษัท มีเดีย เน็ตเวิร์ก รีเทล จำกัด โดยนายสามารถ ฉั่วศิริพัฒนา (ปัจจุบันถือหุ้น MORE อันดับที่ 6 สัดส่วน 4.27% )

ในปี 2561 เคยมีข่าวคดีฉ้อโกงเงินดิจิทัล บิตคอยน์  คิดเป็นเงินประมาณ 797 ล้านบาท จากนักลงทุนชาวฟินแลนด์ โดยปริญญา จารวิจิต อดีตกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ DNA ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการใหญ่ในการวางแผนหลอกลวงนายเออาร์นี

ด้านผลการดำเนินงาน MORE งวดไตรมาส 3  สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 ขาดทุนสุทธิ 7.55 ล้านบาท โดยขาดทุนลดลง 96.38 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลดลงมาจากรายได้อื่นจากการกลับรายการค่าเผื่อประมาณการหนี้สินจากภาระค้ำประกันจำนวน 95.38 ล้านบาท

สำหรับงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 มีกำไรสุทธิ  21.57 ล้านบาท ลดลง 80.49 %  จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่ลดลงมาจากรายได้อื่นจากการกลับรายการค่าเผื่อประมาณการหนี้สินจากภาระค้ำประกันจำนวน 99.29 ล้านบาท